เรียนรู้โลกกว้าง เพื่อกำหนดอนาคตตนเอง

“เรารู้แค่ว่า ถ้าเขาอยากไปร่วมกิจกรรมดาราศาสตร์ เขาต้องได้ไป”

ความมุ่งมั่นของครูคนหนึ่งแสดงออกมาจากน้ำเสียง ขณะที่เขาพูดถึงการช่วยให้นักเรียนคนหนึ่งได้เข้าร่วมกิจกรรมดาราศาสตร์ที่จัดขึ้นไม่บ่อยนัก การเข้าร่วมกิจกรรมนี้ต้องใช้ทุนทรัพย์จำนวนหนึ่ง เขาจึงกระจายข่าวไปในกลุ่มเพื่อนๆ และครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง ของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ จนได้รับทุนจำนวนหนึ่งมาสมทบกับทุนของทางโรงเรียน – สุดท้าย น้องปั้น นักเรียนของเขาก็ได้ไปดูงานกิจกรรมนั้นจริงๆ

“เด็กไทยกับปัญหาในการกำหนดอนาคตตนเอง”

     ครูคนนี้ชื่อว่า ครูปู สุวรรณา จำแนกวงษ์ ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ รุ่นที่ 6 เขาได้ใช้เวลา 2 ปี ทำงานเป็นครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่โรงเรียนโพรงมะเดื่อวิทยาคม จังหวัดนครปฐม ในระหว่างที่สอนที่นั่น เขาได้จัดโครงการมากมายที่ช่วยให้นักเรียนได้ค้นหาตนเอง และเรียนรู้เกี่ยวกับเส้นทางชีวิตหลังเรียนจบ สาเหตุหนึ่งที่ครูปูให้ความสนใจกับเรื่องนี้ อาจเป็นเพราะบริบทของเด็กๆในหลากพื้นที่ที่ครูปูได้เรียนรู้มา

     ครูปูได้รับแรงบันดาลใจที่จะสมัครมาเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง จากการสังเกตเห็นปัญหาของเยาวชน  สมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ครูปูได้ไปทำค่ายอาสาหลายๆที่ และสังเกตเห็นว่า เด็กในบางพื้นที่ไม่ได้รับการพัฒนามากเท่าที่ควร ในการที่เขาจะกำหนดอนาคตที่แตกต่างไปจากพื้นเพเดิมของทางครอบครัว

   “ปูได้ไปทำค่ายหลายๆที่ เรียกได้ว่า ถ้าประเทศไทยมี 77 จังหวัด ก็ไปมาแล้วครึ่งหนึ่ง  มีครั้งหนึ่งไปที่พังงา ได้คุยกับน้องคนหนึ่ง ถามเขาว่า โตขึ้นไปอยากเป็นอะไร  เขาบอกว่าอยากเป็นชาวประมง  พอถามว่าทำไม เขาก็บอกว่า เพราะเขาเห็นพ่อแม่ทำอยู่ตรงนั้น”

   “พอถามไปเรื่อยๆเจอว่า เด็กกว่า 70% อยากเป็นชาวประมงเพราะเห็นพ่อแม่ทำ ปูก็เกิดความสงสัยว่าทำไมเป็นแบบนั้น จนกระทั่งมาเป็นครูอาสาที่ Saturday School

   “คราวนี้ได้เจอกับเด็กๆที่อยู่ในตัวเมือง แต่พบว่าบริบทคล้ายๆกับเด็กๆจังหวัดอื่นที่เราเคยเจอมาเลย  คือ ต่อให้อยู่ใกล้เมือง แต่ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่คนไม่ให้ความสำคัญ เด็กก็ยังไม่ถูกพัฒนาในมุมที่เขาควรจะเป็น”

“ค้นหาตนเองเพื่อช่วยกำหนดอนาคต”

   โรงเรียนโพรงมะเดื่อวิทยาคมที่ครูปูเข้าไปสอนในระหว่างเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เป็นโรงเรียนขนาดกลางประจำตำบลแห่งหนึ่ง ซึ่งแม้จะอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมากนัก แต่ผู้ปกครองของนักเรียนส่วนใหญ่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงาน และมีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ทำงานอยู่บ่อยครั้ง  นักเรียนจำนวนหนึ่งเรียนอยู่ที่โรงเรียนได้เพียงไม่นานก็ต้องย้ายออกไป ทำให้มีปัญหาความต่อเนื่องในการเรียนอยู่บ้าง ในระหว่างที่ครูปูสอนที่นี่ ครูปูได้ทำโครงการเกี่ยวกับการแนะแนวอาชีพให้กับนักเรียนถึง 3 โครงการด้วยกัน

  • โครงการ Young มีอาชีพ เป็นการแนะแนวให้นักเรียนรู้จักอาชีพติวเตอร์ และการขายของออนไลน์ ผลที่เกิดคือนักเรียนบางคนนำความรู้ไปช่วยครอบครัวในการขายสินค้า เปลี่ยนจากขายหน้าร้านมาขายออนไลน์ สามารถเพิ่มรายได้ให้ครอบครัวได้
  • โครงการ Young Online มีแนวคิดต้องการช่วยนักเรียนที่จะหลุดจากระบบการศึกษาและขาดแคลนทุนทรัพย์ จึงจัดอบรมนักเรียน 30 คน ให้พัฒนาทักษะการเขียน Content ออนไลน์  การตลาดออนไลน์ และขายของออนไลน์ และให้นักเรียนได้ใช้ทักษะที่เรียนไปทำงานกับผู้ประกอบการจริงๆ
  • โครงการ Identity Individual Education เป็นการให้เยาวชนได้ค้นหาตนเองผ่านการเรียนรู้เรื่องการทำร้านกาแฟ

   ในการทำโครงการเหล่านี้ ครูปูได้ให้ความสำคัญกับการให้นักเรียนได้สะท้อน และการถอดบทเรียนจากกิจกรรมที่ได้ทำ เขาเล่าว่า “ก่อนเข้ามาที่ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ปูไม่เคยรู้จักการสะท้อนและเรียนรู้ แต่พอเข้ามาที่นี่ เราได้รู้วิธีการทำให้เกิด learning ซึ่งเป็นประโยชน์มาก”

   ในจำนวนนักเรียนที่ครูปูได้มีปฏิสัมพันธ์ด้วย น้องปั้น เป็นนักเรียนที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่ง เขาได้เล่าความประทับใจเกี่ยวกับตัวครูปูไว้ว่า

   “การได้เรียนกับครูปูทำให้ได้ออกไปเจอกับสังคมมากขึ้น และการคุยกับครูปูก็เหมือนทำให้ได้รับมุมมองใหม่ ๆ จากคนที่ใกล้เคียงกัน ได้ใกล้ชิดมากกว่าครูคนอื่นเพราะอายุไม่ต่างกันมาก”

   “ครูปูมักจะคอยนำโครงการดีๆ กิจกรรมดีๆมายื่นให้ ถ้าเราสนใจก็สามารถไปได้ ผมได้ลองทำอะไรหลายอย่าง เช่น ไปลองทำเพลงกับโครงการ Today at Apple Creative Studios Bangkok ที่ Saturday School ร่วมกับ Apple และค่าย Universal Music, What The Duck, Hypetrain รวมถึงคลื่นวิทยุ Cat Radio  หรือไปเข้าค่ายนักดูดาวของ National Astronomical Research Institute of Thailand ที่จังหวัดเชียงใหม่”

   แม่ของน้องปั้นได้เล่าว่า ครูปูช่วยให้เธอกับน้องปั้นสามารถสื่อสารกันได้อย่างเข้าใจมากขึ้น เป็นเหมือนตัวกลางที่คอยประสานระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง 

   “ครูปูเป็นเหมือนคนที่คอยเอาความคิดของน้องปั้นมาเล่าให้คุณแม่ฟัง และก็เอาความคิดของคุณแม่ไปเล่าให้น้องปั้นฟัง ทำให้เราได้คุยกัน และเข้าใจกันมากขึ้น นอกจากนั้นครูปูยังคอย support นักเรียนทุกคน  มีอะไรก็สามารถคุยกับครูปูได้ทุกเรื่อง เพราะครูปูรับฟังความคิดเห็นและไม่ปิดกั้น  และไม่เคยปล่อยมือนักเรียน”

   ปัจจุบันน้องปั้นศึกษาอยู่ชั้น ม.6 เพิ่งสอบติดคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ความฝันของเขาคืออยากเป็นครูแนะแนวในโรงเรียน เพราะอาชีพนี้สามารถช่วยให้นักเรียนได้ค้นพบตนเองได้  นั่นอาจไม่ต่างจากที่ครูปูช่วยให้เขาค้นพบตนเอง

“ก้าวแรกที่ปลอดภัยในการเรียนรู้สิ่งใหม่”

   การเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพื่อที่จะมองไปข้างหน้าได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ยังอยู่ใน DNA ของครูปูเสมอ เห็นได้ชัดจากที่หลังจบจากโครงการ 2 ปี เขายังคงทำงานเกี่ยวกับการเรียนรู้ของเยาวชน  ตอนนี้ครูปูเป็น Co-Founder ของ Fundamy พื้นที่การเรียนรู้เพื่อเยาวชนในจังหวัดนครปฐม

   “เราคิดว่าจะเป็นยังไงถ้าเด็กๆสามารถมีพื้นที่เรียนรู้ที่อยู่ในจังหวัดของตัวเองได้ โดยไม่ต้องเข้าไปถึงกรุงเทพ เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยให้เด็กๆได้มารวมกัน”

   กิจกรรมหลักของ Fundamy เริ่มจากการให้เยาวชนได้มาฝึกอบรมเพื่อพัฒนา Soft Skills โดยตอนนี้โครงการได้เข้าไปอยู่ใน Incubation ของสมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) และมีเป้าหมายจะกลายเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ในที่สุด คนที่ทำงานกับ Fundamy ส่วนใหญ่ก็คือเพื่อนๆ Fellow จาก Teach For Thailand ซึ่งมีวิสัยทัศน์ตรงกัน

   “เราตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายใน 5 ปี นครปฐมต้องกลายเป็นต้นแบบของพื้นที่การเรียนรู้สำหรับเยาวชน”

   ภารกิจของครูปูทั้งในปัจจุบัน และในช่วงเวลา 2 ปีแห่งการลงพื้นที่นั้น อาจเป็นส่วนสะท้อนที่ชัดเจนของวิสัยทัศน์ของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ที่ต้องการเห็นเด็กไทยทุกคนเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม เพื่อให้พวกเขากำหนดอนาคตของตนเองได้  การที่ครูปูสังเกตเห็นปัญหา ลงมือทำเพื่อช่วยนักเรียนค้นหาตนเอง และสร้างพื้นที่เรียนรู้ให้กับเยาวชนอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างผลกระทบเพื่อความเท่าเทียมทางการศึกษา ซึ่งผู้นำการเปลี่ยนแปลงของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ต่างได้เข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ในภาคส่วนต่างๆของสังคม ตามความเชี่ยวชาญของตนเอง