“ความอยากรู้” เท่านั้น ที่จะพาข้ามทุกอุปสรรค

“เราสงสัยว่า ทำไมการเรียนรู้ในระดับประถม มัธยมไม่เคยมีความรู้สึก Curious (อยากรู้อยากเห็น) แบบนี้ จะเป็นไปได้มั้ยถ้าเราทำให้เด็กๆในโรงเรียนอยากรู้อยากเห็น หรือว่า เราจะเอาสิ่งที่เรียนในมหาวิทยาลัยไปใช้ในโรงเรียนได้บ้างมั้ย”

ครูณัท ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ รุ่นที่ 6 พูดถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เธออยากเข้าร่วมโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันเธอเป็น Learning Experience Designer ของ EdTech ที่ชื่อว่า Conicle

“งานของณัทเป็นการออกแบบประสบการณ์เรียนรู้ให้แก่องค์กรต่างๆที่ต้องการมาใช้แพล็ตฟอร์มของทางบริษัท มีทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์”

    จุดเริ่มต้นของการอยากทำงานด้านการศึกษาของครูณัท เกิดขึ้นขณะที่เธอเรียนอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ“ก่อนที่ณัทจะเข้าอักษรฯ จุฬาฯ ณัทได้เรียนโรงเรียนทางเลือกมา ซึ่งเนื้อหาก็อาจจะไม่ได้เข้มข้นมาก  พอเรียนมหาวิทยาลัย เป็นครั้งแรกที่ณัทรู้สึกสนุก ตื่นเต้น เกิดความสงสัย และเรียนเพราะอยากรู้จริงๆ”

“การเรียนรู้ที่จุดประกายความฝัน”

   จุดเริ่มต้นนั้นทำให้ครูณัทอยากทำความรู้จักการศึกษาไทยให้มากกว่าเดิม  เมื่อถูกถามว่า เธอได้ทำตามเป้าหมายนั้นไหม คำตอบก็คือ “ได้เห็นภาพการศึกษาไทย แต่ไม่ทั้งหมด และ 2 ปีที่อยู่ตรงนั้นได้เจอเรื่อง Surprise เยอะมาก แต่ก็ยังไม่หมดความ Surprise ยังมีสิ่งที่เราต้อง Explore (ค้นหา) ต่อไปอีก”

   เรื่อง Surprise เรื่องแรกอาจเป็นการที่เธอได้เห็นว่า ครูไทยมีภาระงานอย่างอื่นนอกจากการสอนเยอะ จนทำให้ไม่ได้อยู่ในห้องเรียนเท่าที่ควร   

   ส่วนอีกเรื่อง Surprise ก็คือ โรงเรียนสะเมิงพิทยาคมที่เธอสอนที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถานที่ที่ทำให้เธออยากตื่นเช้าไปโรงเรียนทุกวัน

   “โรงเรียนที่สะเมิงเป็นโรงเรียนที่รายล้อมด้วยภูเขา และธรรมชาติ และนอกเหนือจากการเรียนรู้ เด็กๆยังใช้ชีวิตเก่งมาก เช่น เขาปีนต้นไม้เก่ง เขารู้ว่าจะเล่นลำธารที่ไหน และบางคนที่ว่ายน้ำไม่เป็นก็รู้วิธีการเล่นน้ำอย่างปลอดภัย  เขามี Skill การเอาตัวรอดสูง อย่างเวลาไปค่ายลูกเสือ เดินป่าก็ทำได้ดี”

   Project แรกที่ครูณัทได้เจอตอนไปที่โรงเรียนครั้งแรก คือการให้ปลูกสตรอว์เบอร์รี่ ซึ่งทำให้เธอไปไม่เป็นอยู่แค่สักพักเท่านั้น เพราะคนที่ยื่นมือเข้ามาช่วยคือเด็กๆ

   “พ่อแม่ของเด็กๆในพื้นที่ทำการเกษตรอยู่แล้ว ทำให้เขามีทักษะ ตอนณัทไปครั้งแรกมีเด็ก 5-6 คนมาสอนปลูกสตรอว์เบอร์รี่ สอนว่าต้องรดน้ำยังไง ไหลสตรอว์เบอร์รี่คืออะไร จนสุดท้ายผ่านไปก็มีสตรอว์เบอร์รี่ที่ออกดอกออกผล ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือทักษะการใช้ชีวิต”

   นอกจากนั้นแล้ว 2 ปีที่เธออยู่กับโครงการยังเป็นสองปีที่อบอุ่นมาก และทำให้เธอได้รับรู้ถึงสายสัมพันธ์อันเหนียวแน่นของผู้คนในสะเมิง

   “ณัทรู้สึกว่า 2 นี้เป็น 2 ปีที่ณัทรู้สึกอบอุ่นมาก ไม่เคยเหงาเลย เพราะสะเมิงเป็นชุมชนที่เข้มแข็งมาก หลายๆคนที่มาสะเมิงไม่ว่าจะเป็นเพื่อน Fellow TFT หรือสต๊าฟ ก็จะพูดว่า ทำไมสะเมิงถึงเข้มแข็งจัง เวลามีเรื่องราวอะไรในสะเมิง เช่น ในอินเตอร์เน็ต คนในพื้นที่ก็จะบอกว่า นี่คือสะเมิงนะ ให้ลองมาสะเมิงดูสิ”

   แต่ก่อนที่จะมีความรู้สึก Surprise ครูณัทก็ได้พบกับความสงสัยในใจตัวเองอยู่บ้าง

   “ตอนแรกที่เข้าไปก็กลัวว่าเราจะแปลกแยกมั้ยที่เป็นคนนอก พูดภาษาเหนือยังไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่กลายเป็นว่าทุกคนต้อนรับมาก เราได้ไปร่วมกิจกรรมกีฬาสี งานประจำอำเภอ หรือว่างานเทศกาลต่างๆ”

“สังเกต และทำสิ่งใหม่ให้ดีกว่าเดิม”

   ดูเหมือนว่า “ความอยากรู้อยากเห็น” และ “สังเกตในสิ่งต่างๆ” จะเป็นสารตั้งต้น ที่ผลักดันให้ครูณัทได้ลงมือทำโปรเจกต์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การช่วยคนในพื้นที่ขายอะโวคาโดในช่วง Covid 

   “คนในสะเมิง นอกจากปลูกสตรอว์เบอร์รี่แล้วเขายังปลูกอะโวคาโดด้วย แต่เราเห็นว่าคนในสะเมิงปลูกแต่อาจจะไม่ได้ชอบกินอะโวคาโดมากขนาดนั้น เราก็เลยเอาอะโวคาโดไปขายให้กับเพื่อนจุฬาฯ เรากับครูสะเมิงก็ได้มาช่วยกันแพ็คอะโวคาโดอยู่สักพักหนึ่ง”

   หรืออีกโปรเจกต์แห่งความภูมิใจของครูณัท คือการช่วยเปิดแผนการเรียน ศิลป์-อังกฤษ

   “ตอนนั้นที่โรงเรียนยังไม่มีศิลป์-อังกฤษ จะมีแค่ศิลป์-จีน วิทย์เกษตร และสายช่าง ณัทก็เลยเข้าไปคุยกับ ผอ. ว่าจะทำ ศิลป์-อังกฤษ ช่วย Design ออกแบบหลักสูตร”

   “ผอ.คนนี้เป็น ผอ. คนเก่าที่ปัจจุบันย้ายไปแล้ว ท่านมีไอเดียอยากเปิดศิลป์-อังกฤษมานาน แต่ไม่ได้ลงมือทำสักที พอเราได้เข้าไปเลยช่วยกันระดมสมองกับทั้ง ผอ. และคุณครู และได้นำหลักสูตรวิชาภาษาอังกฤษที่เคยเรียนจากอักษรฯ จุฬาฯ มาปรับใช้ด้วย เช่น ให้เด็กๆได้เรียนการเขียน และวรรณกรรม”

   “นักเรียนของสายนี้รุ่นแรกณัทก็เป็นคนสอนร่วมกับคุณครูท่านอื่นๆ ปีนี้กำลังจะเรียนจบพอดี  จากวันแรกที่เราได้ออกแบบมาจนถึงวันนี้ มีนักเรียนเข้าศิลป์-อังกฤษ มากกว่า 50 คน ที่ถ้าไม่มีสายนี้อาจจะต้องย้ายโรงเรียน หรือไปที่อื่น และต้องเลือกเรียนสายที่ไม่ได้สนใจ การเปิดสายนี้ก็เป็นอีกโอกาสหนึ่งที่ทำให้เด็กมีตัวเลือกมากขึ้น”

“ความฝันที่เป็นจริงเร็วกว่าที่คิด”

   ความอยากรู้ของครูณัทยังทำให้เธอก่อตั้งเพจ Schoolniverse ขึ้นมา เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวการเรียนรู้

   “จริงๆตอนแรกมันมีชื่อเพจว่า Good Morning English Worksheet ซึ่งวัตถุประสงค์ของการทำเพจคือการแชร์เวิร์คชีท แต่พอทำไปเรื่อยๆเริ่มรู้สึกว่าอยากแชร์มากกว่าแค่เวิร์คชีท ก็เลยเปลี่ยนเป็น Schoolniverse ทำเป็นคอมมิวนีตี้เล็กๆที่เราสามารถมาแลกเปลี่ยนเรื่องราวเกี่ยวกับการเรียนรู้ได้ เช่น มาแลกเปลี่ยนกับครู ผู้ปกครอง แชร์งานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับการศึกษา หรือเรื่องอื่นๆในโลกแห่งการเรียนรู้”

   ครูณัทเปิดเผยว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้เธออยากทำเพจนี้ขึ้นมา คือการที่เธอ ‘Home Sick’ คิดถึงสะเมิงมาก ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็น ‘School Sick’

   “ตอนแรกที่ณัททำเพจนี้ณัททำแบบ Anonymous คือไม่เปิดเผยว่าเราเป็นใคร เพราะเราอยากรู้ว่า ถ้าเราทำเพจแบบเงียบๆของเราแบบนี้ มันจะมีวันที่มันจะส่งไปถึงครูสะเมิงมั้ย มันจะมีวันที่ครูสะเมิงมาแชร์เพจเรา หรือเด็กมากดไลค์เพจเรามั้ย”

   “ถ้าวันไหนที่ครูสะเมิงแชร์เพจของเราก็หมายความว่าเราสำเร็จแล้ว ซึ่งณัทคิดไว้ว่าน่าจะหลายปี แต่ปรากฎว่าผ่านไปแค่ 3 เดือน ก็มีครูสะเมิงมากดแชร์เนื้อหาของเราจริงๆ”

   จากจุดเริ่มต้นในเพจ Schoolniverse ทำให้ครูณัทได้เป็นวิทยากรแบ่งปันความรู้ ได้รับเชิญโดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ และนั่นทำให้เธอได้รับฟีดแบ็คเชิงบวกมากมายอย่างคาดไม่ถึง

   “มีคนรวบรวมฟีดแบ็คมาให้ 364 ข้อความ ยาว 15 หน้า จากเด็กและผู้ปกครองทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการ ทำให้เรารู้ว่าโปรเจกต์นี้ของเรามันไม่ใช่แค่กระแสแล้วมั้ง มันไปไกลมาก ทำให้ได้ Connect กับนักเรียนและผู้ปกครองจริงๆ” ปัจจุบันเพจนี้มีผู้ติดตามกว่า 37,000 คนและกำลังโตขึ้นเรื่อยๆ

   เมื่อถูกถามว่า ถ้าขอพรให้เปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยได้ข้อหนึ่ง ครูณัทจะขออะไร เธอบอกว่า ขอให้เด็กไทยมีความอยากรู้อยากเห็น “เพราะถ้าเรารักการเรียนรู้ สนุกกับการเรียนรู้ ช่างสงสัย ช่างตั้งคำถาม ในวันที่โลกเปลี่ยนแปลงไปก็จะไม่มีอะไรที่น่ากลัว เพราะเราปรับตัวได้ตลอดเวลา”

   ความอยากรู้อยากเห็นมีอำนาจผลักดันมนุษย์มากกว่าที่คิด และอาจเป็นแรงผลักดันเบื้องหลังความก้าวหน้าต่างๆ ดังที่ครูนัทได้ใช้ความอยากรู้ขับเคลื่อนตนเองให้ทำโครงการต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างหลักสูตรศิลป์-อังกฤษ หรือเพจแบ่งปันความรู้ด้านการศึกษา Schoolniverse  สิ่งต่างๆเหล่านี้อาจดูเหมือนเป็นสิ่งเล็กๆ แต่เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ส่งเสริมให้เด็กไทยเข้าใกล้ความฝันที่จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม ดังวิสัยทัศน์ของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ที่เชื่อว่าสักวันหนึ่ง เด็กไทยทุกคนจะสามารถกำหนดอนาคตของตนเองได้