รับฟังจากใจจริง เพื่อชุบชีวิตเป้าหมายในตัวนักเรียน
“อาจารย์ ผมยังไม่อยากออกจากโรงเรียนตอนนี้ ผมยังอยากสนุกกับเพื่อนๆ และอยากเรียนอยู่ ถ้าผมออกจากโรงเรียนผมก็จะไม่มีใครคุยด้วย ไม่มีใครเล่นด้วย”
เสียงสะท้อนจากนักเรียนคนหนึ่งที่มีเรื่องชกต่อยกับเพื่อน ดังเข้าหูครูกิ่ง ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงของ Teach For Thailand ที่สอนภาษาอังกฤษอยู่ที่โรงเรียนหนองใหญ่ศิริวรวาทวิทยา* จังหวัดชลบุรี นักเรียนคนนี้เข้าห้องปกครองเพราะเรื่องชกต่อยอยู่บ่อยครั้ง แต่แม้ใครๆจะเห็นว่าเด็กคนนี้เกเร เมื่อครูกิ่งมองไปที่เขา เธอกลับเห็นเด็กที่ขาดความใส่ใจจากเพื่อน ครู และผู้ปกครอง
“อาจารย์ ผมยังไม่อยากออกจากโรงเรียนตอนนี้ ผมยังอยากสนุกกับเพื่อนๆ และอยากเรียนอยู่ ถ้าผมออกจากโรงเรียนผมก็จะไม่มีใครคุยด้วย ไม่มีใครเล่นด้วย”
เสียงสะท้อนจากนักเรียนคนหนึ่งที่มีเรื่องชกต่อยกับเพื่อน ดังเข้าหูครูกิ่ง ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงของ Teach For Thailand ที่สอนภาษาอังกฤษอยู่ที่โรงเรียนหนองใหญ่ศิริวรวาทวิทยา* จังหวัดชลบุรี นักเรียนคนนี้เข้าห้องปกครองเพราะเรื่องชกต่อยอยู่บ่อยครั้ง แต่แม้ใครๆจะเห็นว่าเด็กคนนี้เกเร เมื่อครูกิ่งมองไปที่เขา เธอกลับเห็นเด็กที่ขาดความใส่ใจจากเพื่อน ครู และผู้ปกครอง
“ตอนที่รู้เรื่อง เราก็เข้าไปถามว่าทำไมถึงต่อยกัน เข้าไปรับฟัง ชวนคุย ตั้งใจฟังเขา และสะท้อนกลับ” ครูกิ่งบอก “เราบอกว่าพ่อแม่เขาต้องมาพบครู เขาก็เลยร้องไห้ บอกว่าไม่อยากออกจากโรงเรียน”
ครูกิ่งตั้งคำถามให้เด็กย้อนคิดถึงพฤติกรรมและเป้าหมายของตัวเอง “เราถามเขาว่า ถ้าไม่อยากให้เป็นแบบนั้น ลองปรับพฤติกรรมดูมั้ย” เธอวิเคราะห์ว่า “สิ่งที่เขาขาดคือสิ่งกระตุ้น และแรงบันดาลใจในการเรียน”
หลังจากพูดคุย รับฟัง และตั้งคำถาม นักเรียนคนนั้นก็เริ่มส่งงานมากขึ้น และมานั่งเรียนหน้าห้อง
“เราบอกเขาว่า ครูขอบคุณหนู ครูดีใจมากเลยที่หนูตั้งใจเรียน และส่งงาน พอถึงวันต่อมา เขาก็ส่งงานอีก”
เมื่อเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ครูกิ่งก็ท้าทายให้นักเรียนไปไกลกว่านั้น “เราบอกเขาว่ายังเหลืองานอีกแค่สามช่องเอง ใกล้จะครบแล้ว และอยากให้ความตั้งใจของหนูในคาบนี้มีผลถึงคาบอื่นด้วย”
การช่วยนักเรียนที่ใกล้หลุดจากระบบการศึกษาให้กลับเข้ามาอยู่ในระบบได้อีกครั้ง
เป็นงานท้าทาย เธอเริ่มจากกลุ่มนักเรียนที่มีความเสี่ยงมากก่อน โดยชวนตั้งเป้าหมาย และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเรียน นอกจากนั้น เธอยังต้องร่วมมือกับครูที่ปรึกษา ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ยากเช่นกัน
“ครูที่ปรึกษาเป็นกำลังสำคัญที่จะอยู่กับนักเรียนไปจนจบ จากตอนแรกเราคิดว่าจะทำคนเดียว เราได้หันกลับมาโฟกัสกับครูที่ปรึกษาในฐานะตัวช่วย”
“สิ่งสำคัญคือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับตัวคุณครูเองด้วยว่าเขาเปลี่ยนแปลงอะไรๆได้”
ครูกิ่งมักให้นักเรียนเขียนทบทวนตนเอง เช่น ในช่วงปีใหม่ ได้ให้นักเรียนเขียนทบทวนว่าปีที่ผ่านมาตัวเองเป็นอย่างไร และปีหน้าตั้งเป้าหมายไว้ว่าอย่างไร ยิ่งเมื่อครูที่ปรึกษาช่วย เด็กๆก็เริ่มได้แสดงความคิดเห็นในคาบโฮมรูม และผู้ปกครองก็ได้รับรู้ความสำคัญของการเรียนต่อด้วย
“มีเด็กคนหนึ่ง พอให้ตั้งเป้าหมาย เขาบอกว่า ไม่มี ไม่รู้ พอเราถามว่าทำไมไม่มี เขาก็บอกว่า ไม่รู้จะเรียนไปทำไม ไม่มีแรงบันดาลใจ อยากออกจากโรงเรียนไปช่วยพ่อแม่กรีดยาง”
“เราถามเขาต่อว่า กรีดยางหรือมาโรงเรียน อันไหนสนุกกว่า เขาก็บอกว่า ไม่รู้เหมือนกัน รู้แต่ว่ากรีดยางแล้วได้ตังค์”
ครูกิ่งถามต่อจนได้รู้ว่า เป้าหมายของนักเรียนคือ เขาอยากให้พ่อมีเงินเลี้ยงดูครอบครัว วินาทีนั้นได้จุดประกายความเข้าใจที่เธอมีต่อนักเรียนทันที
“ไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนไม่มีเป้าหมาย เพียงแต่ไม่มีใครคุย ทำความเข้าใจเขาจริงๆ”
การพูดคุย รับฟังมุมมองและความต้องการของนักเรียน เป็นส่วนหนึ่งในทฤษฎีความเป็นผู้นำของ Teach For Thailand นั่นคือ การพัฒนาวิสัยทัศน์ร่วม (Develop Collective Vision) ครูกิ่งได้สร้างพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียน ให้ทุกคนรู้สึกว่าสามารถแสดงความคิดเห็นของตัวเองได้
“ทุกครั้งที่เข้าห้องเรียน เราจะบอกว่าห้องเรียนนั้นเป็นห้องเรียนของทุกคน ให้ตั้งกฎขึ้นมา และรักษาความเป็นห้องเรียนของพวกเราไว้ จะไม่มีการล้อเลียนถ้าตอบผิด และถ้าใครยกมือขึ้นมา พวกเราจะชมด้วยความจริงใจ”
ความรู้สึกปลอดภัย ยังช่วยผลักดันให้นักเรียนออกจาก Comfort Zone ซึ่งเมื่อครูกิ่งเห็นนักเรียนทำได้ เธอก็กล้าที่จะออกจาก Comfort Zone ของตัวเองเช่นกัน นี่คือทฤษฎีความเป็นผู้นำในด้าน การพัฒนาความสามารถเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวก (Develop Oneself)
“เรื่องหนึ่งที่เครียดแต่ก้าวข้ามมาได้ คือตอนที่ตัดสินใจไปคุยกับครูที่ปรึกษา ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่เราต้องให้เขาช่วย เพื่อให้มันยั่งยืน”
การตัดสินใจอย่างมีสติไปสู่วิสัยทัศน์ (Make the Right Decision) เป็นอีกหนึ่งในทฤษฎีความเป็นผู้นำที่ครูกิ่งได้ใช้ เพื่อเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก ต้องตัดสินใจอย่างปราศจากอคติ และเข้าใจข้อมูลตามความเป็นจริง
“หลักในการตัดสินใจของเราก็คือ ต้องรู้ว่าเราไม่ใช่คนเดียวที่สร้างผลกระทบในเชิงบวกได้ ครูกับชุมชนต้องอยู่กับนักเรียนไปตลอด เราเป็นแค่จุดเริ่มต้นเล็กๆในการเชื่อมโยงให้เกิดสิ่งดีๆต่อไป”
นอกจากนั้น ครูกิ่งยัง สร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมาย (Nurture Relationships and Culture) ได้ ผ่านการสร้างความเชื่อใจร่วมกันระหว่างนักเรียน คุณครู และคนในพื้นที่
“เคยมีครั้งนึง เราต้องไปเป็นพิธีกรพูดออกไมค์ ก็เลยไปคุยกับนักเรียน ถามว่า ครูไม่มั่นใจเลย ทำยังไงจะรู้สึกมั่นใจ ซึ่งตรงนี้ทำให้นักเรียนได้เห็นว่าเราเป็นคนธรรมดาคนนึงเหมือนกัน คนที่ยังไม่เคยขึ้นเวทีจับไมค์ ซึ่งทำให้เราได้เรียนรู้ร่วมกัน”
“หรือตอนที่ขอความร่วมมือจากครูที่ปรึกษา เราก็เข้าไปคุยบ่อยๆ สื่อสารเจตนาที่ดีให้เขารู้ว่าเรารักห้องนี้ เราอยากช่วย และบอกว่าเราเองก็เชื่อว่าเขามีส่วนสำคัญ เรายังเชื่อใจในเขาเลย ทำไมเขาจะไม่เชื่อใจในตัวเอง”
“เด็กหลายคนเริ่มสามารถแก้ ร. แก้ มส. ของตัวเองได้ และครูคนอื่นๆก็มาบอกว่าเขาตั้งใจเรียนวิชาอื่นมากขึ้นด้วย เช่น มานั่งหน้าห้อง”
“นักเรียนบางคนอาจจะไม่เคยได้รับคำชมมาเลยทั้งชีวิต และต้องการแค่คนเข้าใจเขา”
ประโยคที่เพราะที่สุด อาจไม่ใช่ประโยคที่ยืดยาวหรือมีรายละเอียดมากมาย แต่อาจเป็นแค่เวลาที่ครูกิ่งบอกให้นักเรียนตั้งใจกับวิชาอื่นๆ นอกจากวิชาของเธอเอง แล้วนักเรียนตอบกลับมาว่า “จะพยายามครับ”
“เราอยากทำให้เขาเห็นว่า เขามีความสำคัญกับการทำงานในชีวิตนึงของเราเหมือนกัน และทำให้อาจารย์กล้าขึ้นไปได้ด้วยเหมือนกัน ใครๆก็บอกว่าเราเป็นคนมาสร้างแรงบันดาลใจ มาสอนให้นักเรียนเติบโต แต่จริงๆแล้ว เราเองกลับได้รับแรงบันดาลใจกลับไปทุกวัน”
สมัครได้แล้วตั้งแต่วันนี้ที่…https://tft-fellowship.org
นี่เป็นเพียงหนึ่งในเรื่องราว จากหนึ่งคนต้นเรื่องและหนึ่งห้องเรียน ของครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงจาก Teach For Thailand ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา หลายคนได้เข้าไปสร้างผลกระทบเชิงบวกในโรงเรียนกว่า 92 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 18 จังหวัดทั่วประเทศ สามารถติดตามเรื่องราวดีๆแบบนี้ได้อีก ที่ /เรื่องเล่าจากห้องเรียน
*โรงเรียนในอำเภอเล็กๆ ซึ่งผู้ปกครองของเด็กในโรงเรียนนี้เกิน 80% มีฐานะยากจน เด็กหลายคนมีปัญหาที่บ้าน เช่น พ่อแม่หย่าร้าง หรือต้องอยู่กับตายายที่รับจ้างทำงานเกษตรกรรม หรือรับจ้างรายวัน