เดินออกจากพื้นที่ปลอดภัย เพื่อเติบโตและพัฒนาตัวเอง

ก่อนหน้าที่จะมาเข้าร่วมโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงกับมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์นั้น ปัทม์-รุจิกร พันธรักษ์ ยอมรับตามตรงว่าเป็นคนไม่ชอบความท้าทาย และมักจะทำสิ่งเดิมๆ ที่ตัวเองถนัดเสมอมา แต่หลังจากที่เรียนจบและได้รู้จักกับโครงการผู้นำฯแล้ว ปัทม์ก็ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า หากชีวิตนี้ไม่ลองท้าทายตัวเอง ไม่ลองกล้าออกจากพื้นที่ปลอดภัย เขาก็จะไม่มีการเติบโตและการพัฒนาใดๆ

ยิ่งเมื่อได้ไปศึกษารายละเอียดโครงการผู้นำฯ และพบว่ามีแนวทางในการพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำผ่านการเป็นครูโดยไม่จำเป็นต้องจบครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์แล้วด้วย ปัทม์จึงไม่รอช้า ส่งใบสมัครเข้ามาเป็นหนึ่งในครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 8 ทันที

เรียนรู้และพัฒนาไปด้วยกัน

     เนื่องจากปัทม์จบเอกวิชาภาษาอังกฤษ จากสาขาศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ความเชี่ยวชาญและทักษะในการใช้ภาษาจึงช่วยส่งเสริมบทบาทการเป็นครูสอนวิชาภาษาอังกฤษ ที่โรงเรียนห้วยกระเจาพิทยาคม จังหวัดกาญจนบุรี ได้เป็นอย่างดี จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้นักเรียนอยากพัฒนาทักษะวิชาภาษาอังกฤษไปด้วย 

 

     โดยหนึ่งในนักเรียนของเขานั้น ถึงขั้นอาสาขึ้นมาเป็นผู้เข้าแข่งขันเล่าเรื่องในภาษาอังกฤษ ซึ่งการเข้าร่วมการแข่งขันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องมีการฝึกซ้อมเป็นประจำ ทำให้นักเรียนท้อบ้าง เหนื่อยบ้าง แต่ปัทม์เน้นย้ำกับนักเรียนเสมอว่า “คุณครูไม่ได้คาดหวังให้หนูต้องได้ที่ 1 ที่ 2 นะ แต่ครูอยากให้หนูมีประสบการณ์มากกว่า นี่เป็นครั้งแรกของหนู และนี่ก็เป็นครั้งแรกของครูเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเรามาเรียนรู้ไปด้วยกัน” 


กำลังใจจากปัทม์ ทำให้นักเรียนของเขามุ่งมั่นฝึกฝน จนสุดท้าย นอกจากจะได้รางวัลเหรียญเงินแล้ว ยังติดใจอยากเข้าร่วมการแข่งขันอีกในปีถัดไป ซึ่งปัทม์ภูมิใจเป็นอย่างมากเพราะ “เค้าเรียนกับเราแล้ว อยากพัฒนาภาษาอังกฤษมากขึ้น เหมือนเราเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เค้าชอบภาษาอังกฤษ ที่ทำให้เค้าอยากพัฒนาตัวเอง”

เติบโตในแบบของครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง

     การก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยมาเป็นครูผู้นำฯในโรงเรียนส่งผลให้ปัทม์ได้พัฒนาภาวะความเป็นผู้นำดังใจหวัง “ผมตีความหมายว่า การเป็นผู้นำ คือ การที่มีความกล้าในการเผชิญปัญหามากขึ้น” ซึ่งปัญหาที่ต้องพบเจอจากการเป็นครูผู้นำฯนั้น ทำให้ปัทม์ได้พัฒนาคุณสมบัตินี้จนสามารถเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันนอกโรงเรียนได้ ปัทม์ยกตัวอย่างว่า “หากคุยกันในกลุ่ม เราจะมีความเป็นผู้นำในวงมากขึ้น เป็นผู้เจรจา เป็นผู้วางแผน และริเริ่มหาทางออกในทุกปัญหา


     แต่นอกเหนือจากการเติบโตในฐานะผู้นำแล้ว การเป็นครูผู้นำฯยังส่งผลให้ปัทม์เกิดการเติบโตในแง่มุมความคิดและความเข้าใจในปัญหาการศึกษาไทยอีกด้วย “เรารู้มาตลอดว่าปัญหาศึกษามีอะไรบ้าง ปัญหาเรื่องโครงสร้าง เราก็พอรู้มาคร่าวๆ แต่พอมาเป็นครูผู้นำฯ เราได้รู้ลึกถึงบริบทของชุมชน เช่น เราได้เข้าใจว่าบางครั้งที่เราสื่อสารกับพ่อแม่แล้วไม่ได้ผล เพราะอันที่จริงนักเรียนอาศัยอยู่กับปู่ย่า ส่วนพ่อแม่ทำงานอยู่ในเมือง มันทำให้เราเห็นและเข้าใจปัญหาจากมุมมองที่กว้างมากขึ้น

เป้าหมายที่ตั้งไว้สำหรับนักเรียนและสำหรับตัวเอง

     ก่อนจะจบโครงการผู้นำฯไป ปัทม์อยากเห็นนักเรียนมีความฝันและทำตามฝันของตัวเองได้ โดยปัทม์มองว่าถ้านักเรียนมีความฝันอันแรงกล้าแล้ว ก็จะมีเป้าหมายและแนวทางในการดำเนินชีวิต อันเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง ซึ่งการทำให้นักเรียนไปถึงจุดนั้นได้ ปัทม์เริ่มต้นง่ายๆโดยการส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักตัวเอง รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ไม่ชอบอะไร จุดแข็งและจุดด้อยของตัวเองคืออะไร เพื่อที่จะพัฒนาได้อย่างตรงจุด


     หลังจากจบโครงการผู้นำฯแล้ว ปัทม์อยากเข้ารับข้าราชการครู เพราะ “ถึงแม้เราจะเข้าไปเป็นส่วนเล็กๆ แต่หากสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เราก็ยินดี ดีกว่าไม่มีใครไปทำเลย” ซึ่งประสบการณ์และความเข้าใจในบริบทปัญหาการศึกษาไทยจากเป็นครูผู้นำฯจะช่วยส่งเสริมให้ปัทม์ก้าวต่อไปในสายอาชีพครูได้เป็นอย่างดี

คุ้มค่าประสบการณ์ 2 ปีในการพัฒนาตัวเอง

     เพราะภาษาอังกฤษมีความสำคัญและเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว ปัทม์มองว่าการเข้าร่วมโครงการผู้นำฯจะเป็นโอกาสที่ดีให้คนที่จบเอกวิชาภาษาอังกฤษ นำเอาทักษะทางด้านภาษามาทำให้เด็กไทยเห็นว่าวิชาภาษาอังกฤษก็สามารถเป็นวิชาที่สนุกได้ นอกเหนือจากนั้น ปัทม์แนะนำว่า “ถ้าอยากจะท้าทายตัวเอง พัฒนาตัวเองขึ้นไปอีกขั้น อยากให้ลองมาเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง แล้วคุณจะได้รับประสบการณ์ 2 ปีที่คุ้มค่าจริงๆ”

ติดตามมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ใน Facebook และ Instagram เพื่อรับข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับการเปิดรับสมัครครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 11 หรือ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการผู้นำการเปลี่ยนได้ในเว็บไซต์ของเรา