จากคณะเศรษฐศาสตร์ สู่ครูคณิตศาสตร์ ผู้สร้างแรงบันดาลใจ

สมัยเรียนอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น ซิวเวอร์-ณัฐพงษ์ ปฐมพรชัยวงษ์ มีโอกาสได้ออกค่ายอาสาเพื่อทำงานกับเด็กในจังหวัดต่างๆอยู่บ่อยครั้ง และเขาพบว่ามีเด็กอีกมากมายที่ยังหาตัวเองไม่เจอ ซึ่งประสบการณ์นี้ทำให้เขาต้องย้อนคิดถึงประสบการณ์ของตัวเขาเอง ผู้ซึ่งกว่าจะเข้าใจถึงความสำคัญในการค้นหาตัวเอง ก็เมื่อเรียนจบปริญญาตรีไปแล้ว “ผมก็เป็นคนนึงที่เรียนตามสังคมบอกมา ตอนเลือกคณะนี่แทบไม่ได้เลือก ผมเลือกตามเพื่อน เผอิญสอบได้ก็เรียนมา แต่ก็เริ่มสงสัยว่าทำไมเราไม่ได้ค้นหาตัวเองตั้งแต่ตอนเรียนนะ ทำไมไม่มีใครมาบอกเรา เลยรู้สึกว่าอยากจะเป็นคนคนนั้นให้นักเรียน ที่ช่วยให้เด็กรู้ว่าโลกนี้มันกว้างใหญ่แค่ไหน แล้วตัวตนของเขาควรจะอยู่ตรงไหนในโลกใบนี้” หน้าที่หลักของซิวเวอร์ในค่ายอาสาจึงเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ซึ่งเขาพบว่า “เราชอบอะไรแบบนี้ พอได้เห็นประกายในตาเด็กแล้วมันมีความสุข”

คุณค่าของชีวิตที่ทำประโยชน์ให้คนอื่น

     เมื่อเรียนจบแล้ว ซิวเวอร์ตัดสินใจเริ่มต้นสายอาชีพทางด้านการเงินการลงทุนอยู่เกือบ 5 ปี เพื่อใช้ความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่ร่ำเรียนมา แต่เขากลับรู้สึกว่าประโยชน์ที่เห็นนั้น เป็นเพียงตัวเลขที่ส่งผลดีแต่แค่กับตัวของเขาเอง “แต่ชีวิตเรามันน่าจะมีคุณค่า น่าจะสร้างประโยชน์ให้คนอื่นได้มากกว่านี้” เมื่อผนวกกับความสามารถเฉพาะตัวในการเป็นวิทยากร ซิวเวอร์จึงอยากนำเอาความต้องการและความสามารถส่วนตัวมาสร้างประโยชน์ให้เด็กไทยผ่านการเข้าร่วมโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 9

เศรษฐศาสตร์กระแสรองและการประยุกต์ใช้ในโรงเรียน

     เนื่องจากซิวเวอร์เลือกเรียนเศรษฐศาสตร์กระแสรองสมัยอยู่มหาวิทยาลัย เขาจึงได้เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์สถาบัน เศรษฐศาสตร์ครอบครัว และเศรษฐศาสตร์จิตวิทยา จนหล่อหลอมให้เขามีทักษะในการอ่านคน วิเคราะห์คน และหากระบวนการเพื่อขับเคลื่อนนิสัยอันพึงประสงค์ ซิวเวอร์มองว่า “ผมเข้าใจคน เข้าใจผู้ฟัง ว่าถ้าเป็นคนแบบนี้ เราควรจะใช้วิธีไหน หากเราอยากให้นักเรียนประพฤติตัวดีขึ้น เราควรจะกำกับเค้ายังไง ผมมีแผนชัดเจนเพื่อให้เด็กได้ความรู้กลับไปจากห้องเรียนของผม” บทบาทครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ ณ โรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บํารุง จังหวัดปราจีนบุรี จึงเป็นโอกาสให้เขาได้ประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะที่ได้จากรั้วมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี

ทักษะและบทเรียนจากการเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง

     โดยปกติแล้วซิวเวอร์จะเป็นคนที่ทำงานตามขั้นตอนทุกอย่างเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ แต่ความท้าทายจากการที่มี “เพื่อนร่วมงาน” เป็นเด็ก ทำให้เขาเรียนรู้ทักษะการปรับตัวและยืดหยุ่น เพื่อให้ตัวเองสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสบายตัวและสบายใจ ซึ่งส่งผลดีต่อประสิทธิภาพในการทำงานและความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานในระยะยาว


     นอกจากนี้ การได้เข้ามาเป็นครูผู้นำฯ ยังทำให้ซิวเวอร์ได้เรียนรู้ว่าบริบทของสังคมนั้น มีส่วนในการเติบโตของคนมากกว่าที่เขาคิดไว้ เช่น บางครั้งเด็กอยากที่จะเรียนสูงขึ้น อยากเข้ามหาวิทยาลัย แต่ผู้ปกครองไม่เห็นด้วย เพราะรู้สึกว่า “แค่นี้ก็พอแล้ว เพราะเค้าก็อยู่แค่นี้ จบ ม.6 ก็ทำงานได้แล้ว ทำไมต้องไปต่อ แค่นี้ก็อยู่ได้ ลูกเค้าก็ต้องอยู่ได้ซิ” แต่ความต้องการที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงทำให้ซิวเวอร์มองหาทางเลือกอื่นๆให้นักเรียนของเขา “ผมจะประสานงาน เรื่องของทุนการศึกษาให้เด็กถ้าเด็กอยากจะไปต่อจริงๆ และก็ไปคุยกับผู้ใหญ่บ้านเพื่อให้เค้าช่วยพูดอีกแรง”

“อยากเรียนกับครูซิวเวอร์ คิดถึงครูซิวเวอร์มาก”

     ความท้าทายของซิวเวอร์ไม่ได้จบอยู่ที่แค่สังคมรอบตัวของนักเรียนเท่านั้น เพราะการมาสอนในโรงเรียนที่มีบริบทท้าทาย ทำให้เขาต้องเจอกับนักเรียนทุกรูปแบบ รวมไปถึงนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือ Learning Disorder (LD) ด้วย ซึ่งซิวเวอร์เองก็ไม่ได้มีความรู้เฉพาะทาง แต่เขาก็อาศัยการความจริงจัง ความจริงใจ และใช้คำถามเพื่อกระตุ้นความคิด “เราไม่ได้ดุนะ แต่ผมอยากให้เค้าทำอะไรได้ด้วยตัวเอง ผมจึงเน้นใช้คำถาม ซึ่งเค้ากดดันจนร้องไห้ ผมเลยคิดว่าเด็กคนนี้คงไม่อยากเรียนกับผมแล้ว แต่ตั้งแต่เปิดเทอมมาจนวันนี้ เค้าพูดกับผมทุกวันเลยว่า ‘อยากเรียนกับครูซิวเวอร์ คิดถึงครูซิวเวอร์มาก’ มันทำให้ผมรู้ว่าสิ่งที่เราทำมามันก็ไม่ได้แย่นี่หว่า เหมือนเค้าเข้าใจว่าเราต้องการอะไร และเหมือนเค้ารู้ตัวว่า ถ้าเค้าได้เรียนกับเราแล้วมันจะดีกับตัวเค้าเอง”

ไม่มีคำว่าโง่ในห้องเรียนของครูซิวเวอร์

     ซิวเวอร์ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่วันแรกที่สอนแล้วว่า ในวันที่เขาเดินออกจากโรงเรียนในอีก 2 ปีนั้น เขาอยากจะเห็นนักเรียนของเขาสามารถที่จะตอบกับตัวเองได้ว่า “ณ เวลานี้ต้องทำอะไร อยากทำอะไรเพื่อตัวเค้าเอง ที่ไม่ใช่การรอให้ครูมานั่งบอก หรือว่าถ้ามีอะไรที่เค้าไม่รู้ เค้าต้องทำยังไง ผมต้องการแค่นี้เลย เพราะว่าถ้านักเรียนสามารถทำแบบนี้ได้ เค้าจะไม่มีทางตันในชีวิต เค้าจะรู้ว่าต้องไปหาคำตอบยังไง ว่าเค้าจะอยู่นิ่งไม่ได้ มันจะไม่มีคำว่า ‘ไม่รู้’ ออกมาจากปากของเค้า” และเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว ซิวเวอร์จึงมุ่งมั่นสร้างบรรยากาศในห้องเรียนเพื่อให้นักเรียนรู้สึกว่าการพูด การถาม การหาคำตอบนั้น ไม่ใช่เรื่องผิด “ผมจะเน้นเป็นผู้ฟัง ครูมาเพื่อมาเป็นผู้ฟัง ใครมีอะไรพูดออกมาได้เลย แล้วครูจะตอบทั้งหมด จะไม่มีคำว่าโง่ แล้วผมก็ทำแบบนั้นจริงๆ” ซึ่งซิวเวอร์ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะ “อย่างเทอมนี้เด็กกล้าพูดกับผมมากๆ ทุกคนจะพูดหมด แข่งกันพูด”

สร้างแรงบันดาลใจต่อเนื่อง

     แม้จะเหลือเวลาอีกกว่า 1 ปี แต่ซิวเวอร์มองเห็นภาพชัดเจนว่า หลังจากจบโครงการฯไปแล้วนั้น เขาอยากจะทำงานอะไร “ผมอยากจะไปทำงานสายวิทยากร อยากอบรมสร้างแรงบันดาลใจตามต่างจังหวัด เพื่อที่จะได้เจอเด็กหลายๆแบบ” ซึ่งการมาทำงานเป็นครูผู้นำฯจะเป็นประโยชน์อย่างมากในสายงานนี้ เพราะประสบการณ์จากการได้ทำงานใกล้ชิดกับนักเรียนที่โรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บํารุง ทำให้ซิวเวอร์เข้าใจว่าแต่ละคนนั้น มีความต้องการที่แตกต่างกัน นิยายของความสำเร็จก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งความเข้าใจในความแตกต่างนี้ จะช่วยให้เขาสามารถวางแผนการอบรม และกิจกรรมได้ตอบโจทย์ผู้ฟังมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

ประสบการณ์คือรากฐานของการเติบโต

     หากใครที่ยังลังเล ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะสมัครโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงดีหรือไม่นั้น ซิวเวอร์แนะนำว่า “โอกาสมันไม่ใช่สิ่งที่รอกันได้ ถ้ามีเพียงเศษเสี้ยววินาทีที่จะคว้าโอกาสนั้น ผมก็คิดว่าควรจะรีบคว้าไว้ เพราะไม่ว่าสุดท้ายคุณจะทำมันได้หรือไม่ได้ มันก็จะเป็นประสบการณ์ เป็นรากฐานให้คุณเติบโตอยู่ดี … คนที่จบเศรษฐศาสตร์มาเป็นนักคิดอยู่แล้ว เราถูกฝึกมาให้เป็นนักแก้ไขปัญหา ซึ่งโครงการฯนี้เกิดขึ้นมาได้เพราะสังคมมีปัญหาที่ยังต้องการการแก้ไข เราต้องการนักคิดที่มีกรอบความคิดอย่างเป็นระบบมาช่วยกันแก้ไข และพัฒนาการศึกษาไทยไปด้วยกัน”

ติดตามมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ใน Facebook และ Instagram เพื่อรับข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับการเปิดรับสมัครครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 11 หรือ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการผู้นำการเปลี่ยนได้ในเว็บไซต์ของเรา