นักออกแบบเพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย

ไปดูหน้างานเพื่อเข้าใจต้นตอของความเหลื่อมล้ำ

สมัยเรียนอยู่ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้น-สรรสร้าง ช่วยชู ได้มีโอกาสทำค่ายอาสาที่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล และได้รู้จักกับปัญหาการศึกษาในรูปแบบต่างๆ ทั้งนักเรียนที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะไม่เข้าใจว่าจะเรียนไปเพื่ออะไร โรงเรียนที่ไม่มีทั้งงบและไม่มีทั้งครู และครอบครัวที่ไม่สามารถสนับสนุนให้ลูกหลานเรียนสูงได้ เพราะไม่มีกำลังทรัพย์ เมื่อได้เห็นภาพสะท้อนของปัญหาการศึกษาไทยในเบื้องต้นแล้ว ต้นจึงเกิดความสงสัยและเข้าร่วมโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 8 เพื่อหาต้นตอของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย

จากการออกแบบบ้าน สู่การออกแบบบทเรียน

     แม้จะจบจากคณะสถาปัตย์แต่ต้นมองว่า “การสอนก็คือการออกแบบอย่างหนึ่งสำหรับผม ผมใช้วิธีคิด กระบวนการคิด คล้ายๆกับสิ่งที่เรียนมา เราดูพื้นฐาน ข้อจำกัดของนักเรียน และวัตถุประสงค์ของห้องเรียนนั้น จากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งหมดมาประกอบกัน เพื่อออกแบบวิธีการสอนให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ … เหมือนนักเรียนมาจ้างเราสร้างบ้าน เจ้าของบ้านก็คือนักเรียน ผมก็พยายามออกแบบบ้านให้มันตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัย” เมื่อต้นใช้แนวคิดทางสถาปัตย์มาประกอบกับความรู้ที่ได้จากการอบรม ทำให้ต้นสามารถสวมบทบาทครูวิชาคณิตศาสตร์ ที่โรงเรียนวังเหนือวิทยา จังหวัดลำปางได้อย่างราบรื่น

ทัศนคติใหม่ ทักษะใหม่ จากการเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง

     แต่อันที่จริงแล้ว ถ้าจะบอกว่าการสอนของต้นนั้นราบรื่นเสียตั้งแต่ต้นก็คงไม่ได้ เพราะการเข้ามาเป็นครูผู้นำฯในโรงเรียนที่มีบริบทท้าทายนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการเริ่มต้นด้วยการสอนออนไลน์ในช่วงเทอมแรกเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต้นเล่าว่า “ในคาบแรกๆเราก็ไม่ได้ทำได้ตามที่เราคิดไว้ทั้งหมด มันมีปัญหาหลายๆอย่าง นักเรียนก็ใหม่ ระบบต่างๆในโรงเรียนก็ใหม่ ซึ่งในคาบที่เราพานักเรียนไปไม่ถึงเป้าหมาย เราก็รู้สึกผิดหวัง แต่เราก็ได้เรียนรู้ที่จะยอมรับกับมัน และเรียนรู้ที่จะเอาความผิดพลาดมาพัฒนาการสอนของเราให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ” 

     นอกจากการเรียนรู้ที่จะยอมรับและพัฒนาจากข้อผิดพลาดแล้ว การเป็นครูผู้นำฯที่ต้องเจอกับนักเรียนหลากหลาย ยังช่วยให้ต้นเรียนรู้ที่จะชะลอการตัดสินคนซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นในบทบาทครูผู้นำฯหรือบทบาทใดก็ตามในอนาคต “ผมจะไม่ตัดสินนักเรียนของผมเลย ถึงเค้าจะเกเร หรือไม่ส่งงาน แต่ผมก็จะไม่หมดหวังกับเค้า แต่จะพยายามเข้าใจเค้ามากขึ้น อันนี้รวมถึงเพื่อนร่วมงาน หรือคุณครูท่านอื่นด้วย ที่เราอาจจะไม่ได้มีแนวคิดเหมือนเค้า เพราะเราไม่ได้ถูกสร้างมาในระบบเดียวกัน แต่เราก็พยายามเรียนรู้และปรับตัว” 

     ต้นไม่เพียงได้ปรับทัศนคติที่มีต่อตัวเองและผู้อื่น แต่เขายังได้พัฒนาทักษะมากมายจากการเป็นครูผู้นำฯ เช่น ทักษะในการรู้จัก ทันอารมณ์ ความรู้สึก และควบคุมตัวเอง โดยต้นอธิบายว่า “ครูก็เป็นมนุษย์คนนึง ที่มีอารมณ์ ความรู้สึก แล้วยิ่งเราต้องเจอกับนักเรียนห้องละ 30-40 คน ในหนึ่งคาบมันอาจจะมีหลายๆเหตุการณ์ที่เรามีความรู้สึกที่แตกต่างกันมาก บางทีดีใจอยู่ดีๆ  ก็อาจจะเกิดอะไรที่ทำให้เรารู้สึกแย่ เราก็ได้ฝึกที่จะรู้ทันและเข้าใจว่าเรารู้สึกอะไร เพราะอะไร และสามารถจัดการมันได้เร็วขึ้น” นอกจากนี้ บริบทที่แตกต่างไป ยังทำให้ต้นได้พัฒนาทักษะที่มีอยู่ก่อนแล้วขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งต้นเล่าว่า “เราก็มีทักษะการวางแผนอยู่แล้วจากคณะสถาปัตย์ เวลาทำ Project ก็ต้องวางแผน แต่พอมาเป็นงานสอน มันก็เป็นอีกแบบนึง บางทีมันก็มีกิจกรรมเข้ามาแทรก เราก็ต้องปรับโยกเนื้อหาบางส่วน ก็ต้องวางแผน แต่ก็ต้องยืดหยุ่น ปรับตัวได้มากขึ้น”

เรียนดี กีฬาเด่น

     ก่อนที่ต้นจะเดินออกจากโรงเรียนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ต้นอยากเห็นนักเรียนรู้จักตัวเอง รู้ว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบอะไร ถนัดอะไร มีแนวทางในการใช้ชีวิตหลังจากนี้อย่างไร ต้นยกตัวอย่าง เช่น “ถ้าเรียนไม่เก่ง แต่เล่นกีฬาดี ก็อยากให้เค้านำความสามารถทางกีฬาไปเปิดโอกาสอื่นๆให้ตัวเองต่อได้” นี่จึงเป็นสาเหตุให้ต้น รับบทโค้ชประจำชมรมบาส แต่ต้นก็พบว่าการที่นักเรียนมาเล่นกีฬานั้น อาจจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองเสมอไป ต้นเล่าถึงนักเรียนคนหนึ่งในชมรม ที่ต้นเล็งเห็นถึงความพยายามในการฝึกซ้อมตั้งแต่แรก แต่เขาต้องเดินมาขอออกจากชมรมเพราะผู้ปกครองมองว่าการเล่นกีฬานั้น เป็นเรื่องเสียเวลาและทำให้เสียการเรียน แต่ต้น ผู้ซึ่งมองเห็นประโยชน์ทั้งในแง่สุขภาพและสังคมที่ได้จากการเล่นกีฬา ตัดสินใจเดินเข้าไปคุยกับคุณพ่อของนักเรียนคนนี้ เพื่อขอโอกาสให้เขาได้เล่นบาสต่อ พร้อมสัญญาที่จะช่วยดูแลเรื่องการเรียน และทำให้เกรดอยู่ในระดับที่คุณพ่อคุณแม่คาดหวัง ซึ่งต้นขอเวลาหนึ่งเทอมในการพิสูจน์ให้ผู้ปกครองเห็น ดังนั้น “ทุกครั้งพอเล่นบาสเสร็จ ผมก็จะให้เค้าเอาการบ้านมานั่งทำเลย” ความมุ่งมั่นและพยายามของต้นร่วมกับนักเรียนคนนี้ ทำให้เกรดออกมาดี และ “ทุกวันนี้เลยยังได้เล่นบาสกันอยู่ เรียนก็ดีขึ้น” ต้นเล่าอย่างภูมิใจ

ออกแบบเพื่อการศึกษาไทยที่ดีกว่าเดิม

     ทักษะในการออกแบบที่ต้นได้จากคณะสถาปัตย์ มันมีคำนิยามที่มากกว่าแค่การออกแบบสิ่งก่อสร้าง ต้นมองว่ามันอาจจะเป็นการออกแบบระบบ รูปแบบ หรือกระบวนการ ต้นจึงอยากที่จะเอาทักษะนี้มาผนวกกับประสบการณ์การเป็นครู เพื่อที่จะเป็นอาชีพที่ได้ช่วยคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ มากกว่าที่จะไปช่วยคนที่มีพร้อมทุกสิ่งอย่างอยู่แล้ว ซึ่งแม้ต้นจะยังไม่ชัดเจนว่าอาชีพนั้นคืออะไร แต่ต้นมั่นใจว่า “ถ้ามีโอกาส ก็ยังอยากทำอะไรที่เกี่ยวกับการศึกษา หรือการผลักดันความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอยู่ ถ้าได้ออกแบบอะไรแล้วมันมีประโยชน์กับคนกลุ่มใหญ่ๆ ก็น่าจะดี”

ประสบการณ์ที่ทำให้รู้จักตัวเองและคนรอบตัว

     สำหรับต้นแล้ว เขามองว่าคนที่จะมาเป็นครูผู้นำฯได้ “ต้องมีความตั้งใจที่แน่วแน่ เพราะเข้ามาแล้วจะเจอกับความท้าทาย ทั้งจากโรงเรียนและนักเรียน มันเป็นงานที่ท้าทายมากจริงๆ แต่สุดท้ายแล้ว เราก็จะได้ประสบการณ์เยอะมาก จะเป็น 2 ปีที่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆทุกวัน” ส่วนคนที่จบสถาปัตย์มานั้น ต้นมองว่าการเข้าร่วมโครงการฯคือ “การมาเรียนรู้ชีวิต ทั้งชีวิตของตัวเอง และชีวิตของคนอื่นรอบตัว สถาปัตย์สอนให้เราออกแบบอาคาร หรือออกแบบบ้าน ซึ่งมันก็เกี่ยวกับการใช้ชีวิตอยู่แล้ว จริงๆแล้วมันเป็นอาชีพอีกหนึ่งอาชีพที่ต้องคำนึงถึงชีวิตของคนมากๆ การมาเป็นครูผู้นำฯก็เป็นโอกาสที่ทำให้เราได้เข้าใจคนมากขึ้น เผื่อวันนึงได้ออกแบบโรงเรียน การมาทำตรงนี้ก็จะมีประโยชน์มากๆ

ติดตามมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ใน Facebook และ Instagram เพื่อรับข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับการเปิดรับสมัครครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 11 หรือ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการผู้นำการเปลี่ยนได้ในเว็บไซต์ของเรา