2 เดือนนี้ ไม่ใช่การอบรมเพื่อให้สอนเป็นอย่างเดียวแต่อย่างใด

การแก้ไขปัญหาการศึกษาไทยนั้น เป็น “งานช้าง”

แน่นอนว่าคุณภาพและจำนวนของครูก็ส่วนหนึ่ง แต่อุปสรรคทางการศึกษาของเด็กไทยส่วนใหญ่มีมากมายหลายมิติ หากหลักสูตรไม่ร่วมสมัย ครูสอนเก่งแค่ไหน เด็กก็ไม่สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ หากระบบขนส่งสาธารณไม่ดี (หรือไม่มี) เด็กก็ไม่สามารถเดินทางมาโรงเรียนได้ หรือหากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง พ่อแม่ก็อาจจำเป็นต้องให้ลูกมาช่วยทำมาหากิน

ฉะนั้น ไม่ใช่ว่าการมีครูที่สอนเก่งในจำนวนเพียงพอแล้วจะแก้ไขปัญหาการศึกษาไทยได้ เราจึงมองว่าการแก้ปัญหาการศึกษาไทยต้องอาศัย “ผู้นำ”

     ผู้นำที่สามารถพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง

     ผู้นำที่สามารถหาที่ยืนที่เหมาะสมในการสร้างผลกระทบเชิงบวก

     ผู้นำที่สามารถตัดสินใจอย่างมีสติ

     ผู้นำที่สามารถสานสัมพันธ์ที่มีความหมายในคนหมู่มาก

     ผู้นำที่สามารถสร้างวิสัยทัศน์และความร่วมมือในการเปลี่ยนแปลงทั้งในและนอกห้องเรียน

     เมื่อเราใช้ความเป็นผู้นำเป็นตัวตั้ง การอบรม 2 เดือนที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา จึงถูกออกแบบมาเพื่อให้ว่าที่ครูผู้นำฯสามารถใช้ประสบการณ์ 2 ปีต่อจากนี้ ในการเรียนรู้ ฝึกฝน และพัฒนาความเป็นผู้นำของตนเองผ่านการทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับนักเรียน โรงเรียน และชุมชนอย่างใกล้ชิด เพื่อเข้าใจรากฐานของปัญหาการศึกษาไทยทั้งในและนอกห้องเรียน และสร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 


     ซึ่งว่าที่ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นนี้เข้าใจในจุดประสงค์ของโครงการฯ เป็นอย่างดี ดังที่ พร้อมพล นรินทรางกูล ณ อยุธยา ว่าที่ครูผู้นำฯ รุ่น ได้อธิบายให้ฟังว่า “ถ้าถามว่าเข้าใจปัญหาความเหลื่อมล้ำยังไง ทุกคนตอบได้ในภาพใหญ่ใน เชิงนโยบาย แต่ในเชิงหน้างาน ไม่มีใครตอบได้ ถ้าไม่ใช่ครู

     ตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เราได้สะสมความเชี่ยวชาญในการพัฒนาความเป็นผู้นำผ่านการเป็นครูในห้องเรียน เรามีเครือข่ายอาจารย์จากหลากหลายมหาวิทยาลัยที่มาพร้อมหลักสูตรและทฤษฎีการสอน เรามีเครือข่ายของโรงเรียนหลากหลายรูปแบบและบริบทเพื่อให้ว่าที่ครูผู้นำฯได้นำทฤษฎีมาฝึกสอนจริง เรามีวิธีการวัดประเมินว่าที่ครูผู้นำฯและนักเรียนอย่างชัดเจน

     ส่วนนอกห้องเรียนนั้น เราใช้ประสบการณ์การทำงานร่วมกับชุมชนอย่างเข้มข้นตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ในการสร้างหลักสูตรการรอบรมเพื่อให้ว่าที่ครูผู้นำฯเข้าใจวิธีพัฒนาความเป็นผู้นำผ่านการดึงชุนชมเข้ามามีร่วมกับการศึกษา เพื่อปลดล็อคศักยภาพสูงสุดของตัวเอง พร้อมสร้างผลกระทบเชิงบวกอย่างยั่งยืน

     “การเป็นครูมันไม่ใช่แค่ทักษะการสอน ถึงแม้ว่าพิมจะต้องไปสอนวิชาภาษาอังกฤษก็จริง แต่มันไม่ใช่ว่าสอนแต่ภาษาอังกฤษ มันต้องไปสอนวิชาชีวิตให้นักเรียนด้วย การจะสร้างเด็กคนนึงมันยาก … ยิ่งได้มาวันนี้ ก็เหมือนได้มาตอกย้ำอีกครั้งว่า ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ไม่ได้หาแค่ครูที่จะมาสอนวิชาต่างๆ แต่ต้องการผู้นำที่จะมาสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่จะได้เห็นจริงๆว่ามันเป็นยังไงหลังจากที่ได้อยู่หน้างาน” พิม-ภัทธิรา ศรีทอง ว่าที่ครูผู้นำฯ คนใหม่ของเราเล่าถึงความรู้สึกหลังจากที่เธอได้เข้าอมรบในวันแรกนี้

     ฝ้าย-จิราพร บุตรสาลี อีกหนึ่งว่าที่ครูผู้นำฯ ยัง ได้เสริมอีกว่า “มันคือการอบรมเพื่อให้เรามีความพร้อมที่จะเป็นผู้นำ เราไม่ใช่แค่จะไปสอนเฉยๆ ฝ้ายคิดว่าเราควรจะสอนเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ ได้เติบโต และเราก็จะได้เติบโตและพัฒนาตัวเองไปพร้อมๆกับเด็กด้วย” 

     ทั้งหมดนี้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม การอบรมเตรียมความพร้อมในครั้งนี้ จึงไม่ใช่แค่การอบรมเพื่อให้ว่าที่ครูผู้นำฯสามารถแค่สอนนักเรียนได้ดีเพียงอย่างเดียว 

     ครูผู้นำฯต้องสอนเพื่อพัฒนาตัวเอง ครูผู้นำฯ ต้อง “สอนเพื่อประเทศไทย”