ให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย ตอบโจทย์ในใจนักเรียน

ในการทำงานกับโรงเรียนและชุมชน ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ได้ลงมือจัดกิจกรรมสร้างวิสัยทัศน์ร่วม (Collective Vision) อย่างต่อเนื่อง กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสีย ตั้งแต่ระดับนักเรียน ผู้ปกครอง ครู ผู้บริหารโรงเรียน และคนในชุมชน ได้ออกความเห็นเกี่ยวกับภาพการศึกษาที่ตนเองอยากให้เป็น

     สำหรับโรงเรียนวังเหนือวิทยา จังหวัดลำปาง ได้มีการจัดกิจกรรมสร้างวิสัยทัศน์ร่วมขึ้น ในวันที่ 21 มีนาคม 2566 และผลตอบรับเป็นไปในเชิงบวก คือ ทุกฝ่ายได้สื่อสารในสิ่งที่ตั้งใจไว้ โดยเฉพาะเสียงจากนักเรียนที่ได้รับการรับฟัง และนำความเห็นไปพัฒนาต่อ

     ดวงสุภา ตานาคา นักเรียนชั้น ม. 5 โรงเรียนวังเหนือวิทยา ได้สะท้อนความคิดเห็นต่อกิจกรรมดังกล่าวไว้ว่า

     “ประทับใจที่ได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับคนอื่นๆ แม้คนในวงจะมีอายุที่ต่างกัน แต่ก็รับฟังกันดีมากค่ะ”

     “อยากให้คุณครูในโรงเรียนเข้าใจนักเรียน เคารพนักเรียน ในขณะเดียวกัน นักเรียนก็ต้องมีจิตอาสา มีสำนึก ตั้งใจเรียน และเคารพคุณครูด้วย”

     ดูเหมือนว่า ในความคิดของดวงสุภา การทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่ครูและเด็กสื่อสารกันอย่างเข้าใจ จะต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งสองฝ่าย

     “โรงเรียนในสมัยก่อน ยังไม่มีเทคโนโลยีสื่อต่างๆให้เข้าถึง และครูก็เข้มงวดมาก แต่ในสมัยนี้ มีเทคโนโลยี มีสื่อต่างๆ เด็กได้เสพสื่อก็เกิดการต่อต้าน และนักเรียนบางคนก็ไม่ค่อยฟังครู” ดวงสุภาแสดงความเห็น “ส่วนนี้เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องปลูกฝังนิสัยที่ดีให้เด็ก และเด็กก็ต้องปฏิบัติดีต่อคุณครูด้วย”

     จากการระดมความเห็นอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ค้นพบคือ ทุกคนต้องการให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้แก่นักเรียน แต่ตระหนักว่าครูส่วนใหญ่ยังขาดทักษะด้านการสื่อสารและรับฟังเด็กอยู่

     “กระบวนการคุยเพื่อรับฟังความเห็น จะแบ่งคำถามเป็น 3 หัวข้อใหญ่” ธนิต แคล้วโยธา ผู้จัดการทีมภูมิภาคสัมพันธ์ (ภาคเหนือ) ของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เล่าถึงการเปิดวงพูดคุยที่โรงเรียนวังเหนือฯ “คือ อะไรคือการศึกษาที่ดี สิ่งสำคัญที่ควรทำเป็นอย่างแรกที่โรงเรียนคืออะไร และบทบาทของแต่ละคนที่จะทำให้สิ่งที่ต้องการเกิดขึ้นได้คืออะไร”

     “จากการรับฟังความคิดเห็น พบว่า เด็กๆที่นั่นมีความเครียดจากการไปโรงเรียน รู้สึกว่าครูไม่เข้าใจ อยากให้ทั้งครูประจำชั้นและในรายวิชาเป็นผู้ฟังที่ดี ไม่ใช่แค่ครูแนะแนวเท่านั้น” ธนิตเสริม “สิ่งที่โรงเรียนต้องการจึงเป็นทักษะที่จะเสริมให้แก่คุณครู”

     จากข้อสังเกตและความต้องการข้างต้น ทางโรงเรียนจึงได้เชิญ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ มาจัดการอบรมเพื่อพัฒนาครูทั้งโรงเรียน ใน 3  ด้านด้วยกัน คือ รับฟังเป็น ให้คำแนะนำได้ทันยุคสมัย และสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่เด็กนักเรียน ให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย มีครูที่รับฟังและสื่อสารกับเด็กด้วยความเข้าใจอย่างแท้จริง

     ซึ่งความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นตั้งแต่ในชั่วโมงการรับฟังความเห็นแล้ว

     “สิ่งที่น่าสนใจในเวทีรับฟังความเห็น คือ เด็กๆกล้าที่จะพูด กล้าแสดงความเห็น ในที่ชุมชน” ครูวันเพ็ญ คิดอ่าน ครูประจำวิชาเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ สะท้อนความคิด “อย่างความเห็นบางอย่างของเด็กก็มีประโยชน์ เช่น บางรายวิชาเรียนเยอะเกินไป ครูจริงจังเกินไปจนเครียด”

     สำหรับในมุมของผู้ปกครอง ก็ได้รับรู้ความต้องการ และความคาดหวังที่นักเรียนมีให้แก่ครูและผู้ปกครองเช่นกัน

     “เด็กๆอยากให้ครูเข้าใจบริบทของนักเรียน ใจเย็น พูดจาอย่างมีเหตุผล และเป็นแบบอย่างให้นักเรียน” สุเทพ อวดเขตต์ ตัวแทนผู้ปกครองกล่าว “ในมุมของผู้ปกครอง เราเองก็ต้องสนับสนุนนักเรียนในด้านดี สนับสนุนทักษะที่เขามีอยู่ และเสริมด้านคุณธรรมและจริยธรรมไปพร้อมๆกัน”

     การลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้ร่วมกับนักเรียน โรงเรียน และชุมชน ทำให้ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ได้รับทราบปัญหาของนักเรียนในเชิงลึก เพื่อใช้ความรู้ดังกล่าวพัฒนาการดำเนินงานต่อไป ในขณะที่ทางนักเรียน โรงเรียน และชุมชน ก็ได้ค้นพบว่า มีสิ่งใดที่ยังขาดไปบ้างในสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ และสามารถทำอย่างไรบ้างเพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาด  ในกรณีของโรงเรียนวังเหนือวิทยา เส้นทางแห่งการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียนได้เริ่มขึ้นแล้ว และเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่นักเรียน ผู้ปกครอง ครู โรงเรียน และชุมชน ต้องจับมือเดินไปด้วยกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย