โรงเรียนเปลี่ยนได้ เริ่มจากการรับฟังและพัฒนาอย่างเป็นระบบ

ในกิจกรรมสร้างวิสัยทัศน์ร่วม (Collective Vision) ที่โรงเรียนวังเหนือวิทยา จังหวัดลำปาง นับเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้จัดการศึกåษาของโรงเรียน เช่น ผู้อำนวยการ ครู ผู้บริหารด้านการศึกษา จะได้รับฟังเสียงจากนักเรียน ผู้ปกครอง และคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อขับเคลื่อนให้โรงเรียนพัฒนาต่อได้ กิจกรรมนี้จัดขึ้นในวันที่ 21 มีนาคม 2566โดยมี ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เป็นผู้อำนวยความสะดวก

     เธวิญ เย็นใจ ผู้อำนวยการโรงเรียนวังเหนือวิทยา ได้เล่าว่า ทางโรงเรียนเคยทำวิสัยทัศน์ในรูปแบบอื่นมาแล้ว แต่ไม่ตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้เสียเท่าที่ควร เพราะเป็นการทำงานแบบจากบนลงล่าง หรือ Top-Down ไม่ได้มาจากคนที่เป็นกลไกสำคัญอย่างแท้จริง

     “ผมเป็นผู้อำนวยการมาสิบปี เวลาทำวิสัยทัศน์ มักจะนำไปพัฒนาไม่ได้ เพราะพอมันมาจากฝั่งบริหารอย่างเดียว มันเป็นการตอบเข้าข้างตนเอง” ผอ. เธวิญกล่าว “มันไม่ได้มาจากกลไกสำคัญที่ทุกคนมีส่วนร่วม และคำตอบก็เป็นอุดมคติเสียส่วนใหญ่ เช่น ทำให้โรงเรียนเป็นมาตรฐานสากล ซึ่งการตีความมันกว้างมาก”

     “พอ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ มีกิจกรรม เราเลยคิดว่า อยากลองทำเพื่อได้วิสัยทัศน์ที่นำไปปฏิบัติได้จริง”

     ในการรับฟังผู้เกี่ยวข้องในเวที ผอ. เธวิญ ได้เจอข้อสังเกตที่น่าสนใจหลายอย่าง

     “ผมสังเกตเห็นว่า นักเรียนที่เข้าร่วมกระตือรือร้น กล้าให้ข้อมูล และเป็นตัวของตัวเอง” ผู้อำนวยการโรงเรียนวังเหนือวิทยาบอก “ส่วนอีกข้อสังเกตคือ ครูมีความคาดหวังบางอย่าง ซึ่งอาจจะขัดแย้งกับนักเรียน เพราะครูยังมี Mindset อยู่ว่านักเรียนต้องมีระเบียบวินัย ซึ่งนักเรียนอาจจะเห็นว่าเป็นการบังคับ”

     “นักเรียนกล้าเสนอว่า อยากให้ครูเข้าใจนักเรียน ลดช่องว่างระหว่างกัน เขามีความคิดของตัวเองที่อยากให้ครูเข้าใจ”

     “และนักเรียนก็อยากให้ครูสอนให้เข้าใจง่าย ไม่ให้การบ้านเยอะจนเกินไป”

     ด้วยเหตุนั้น เป้าหมายในระยะนี้ที่โรงเรียนวังเหนือสรุปได้จากการรับฟังความคิดเห็น จึงเป็นดังที่ ผอ. เธวิญบอกไว้ว่า

     “สิ่งที่เราต้องการทำให้เกิดคือ ทำยังไงให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย และให้นักเรียนเรียนได้อย่างมีความสุข”

     จากความต้องการของโรงเรียน ทางโรงเรียนจึงได้ให้ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เข้าไปจัดกิจกรรมอบรมครู เพื่อให้ครูรู้วิธีรับฟังนักเรียน และสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่นักเรียน

     ครูวันเพ็ญ คิดอ่าน ครูคนหนึ่งที่ได้เข้าร่วมทั้งกิจกรรมสร้างวิสัยทัศน์ร่วม และกิจกรรมอบรมครู ได้สะท้อนความเห็นว่า

     “ในทั้งสองกิจกรรม ได้เห็นความร่วมมือกับทุกคนที่อยากทำให้โรงเรียนดีขึ้น และประทับใจในความร่วมมือของทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง”

     ผอ. เธวิญได้เล่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการที่ควรดำเนินต่อไป ว่าแบ่งเป็น 3 ระดับ

     “แนวทางพัฒนาจะแบ่งออกเป็นสามแนว คือ อย่างแรก บทบาทครู ต้องปรับการเรียน เปลี่ยนการสอน อย่างที่สอง ผู้ปกครองต้องเข้ามามีส่วนร่วมเกี่ยวกับการเรียนของเด็ก และอย่างที่สาม คือ ผู้เรียนต้องมีวินัย มีระเบียบ รับผิดชอบตนเอง จึงจะขับเคลื่อนได้”

     ในเวทีสร้างวิสัยทัศน์ร่วม ได้มีการให้แต่ละฝ่ายแบ่งบทบาทกัน ในการทำให้วิสัยทัศน์เกิดขึ้นจริง  เช่นตัวอย่างของการตกผลึกที่เกิดกับตัวแทนผู้ปกครอง สุเทพ อวดเขตต์

     “ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญในบทบาทต่อนักเรียน ต้องสนับสนุน เอาใจใส่ ดูแลความต้องการ และติดตามผลการเรียนของนักเรียนว่าดีขึ้นหรือแย่ลง และเป็นเพราะปัจจัยอะไรบ้าง”

     “เราต้องเข้าไปสนิท เรียนรู้กับเขา และทำให้เขาไว้ใจ กล้าคุยกับเรา”

    การลดช่องว่างระหว่างนักเรียนและผู้ปกครอง ครู รวมทั้งผู้จัดการศึกษาอื่นๆ เป็นงานสำคัญที่ต้องทำให้เกิดขึ้น เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพ และมีสุขภาพจิตที่ดี อาจเป็นดังภาพที่ครูเฟรนด์ ชัยวิญญ์ สุทธิบุญ ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 8 ของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ วาดไว้

     “ครูต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยและทัศนคติให้กับเด็ก ทำยังไงให้เด็กอยากเข้ามีปรึกษาเรา และรู้สึกว่าครูคือคนที่คุยได้”

     “ครูหลายคนอยากให้เด็กเข้ามาหาอยู่แล้ว และก็สงสัยว่าทำไมเด็กไม่เข้ามา” ครูเฟรนด์เสริม

     “ในการปรับเรื่องนี้ ครูต้องมีทัศนคติเป็นบวกก่อน และยินยอมที่จะปรับภาพลักษณ์ของตนเอง”

     การรับฟังของผู้บริหาร และผู้จัดการเรียนการสอน เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้โรงเรียนวังเหนือก้าวเข้าสู่เส้นทางของการเปลี่ยนแปลง จากเดิมเป็นการพัฒนาแบบบนลงล่าง (Top-Down) ได้เปลี่ยนเป็นแบบล่างขึ้นบน (Bottom-Up) ซึ่งเน้นการทำความเข้าใจผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆที่ไม่ใช่ฝ่ายบริหารอย่างลึกซึ้ง โรงเรียนที่เป็นพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันอย่างปลอดภัยของนักเรียน ครู และผู้บริหารการศึกษา เป็นภาพในอุดมคติที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนวังเหนือวิทยาอยากให้เกิดขึ้นในครั้งนี้ และเป้าหมายนั้นก็ได้เข้าสู่ขั้นแรกเริ่มในการพัฒนาให้สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ โดยขั้นแรกของการพัฒนาเริ่มจากการรับฟังอย่างเป็นระบบ เข้าใจ และมีเจตนาที่ดี