จากเด็กสายช่างสู่ผู้ชนะโครงงานวิทยาศาสตร์

ในฐานะครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 8 จิรชัย แสวงแก้ว หรือ ก้านตอง ไม่ได้มีบทบาทหน้าที่แค่การเป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เท่านั้น เพราะโรงเรียนเสด็จวนชยางค์กูลวิทยา ได้มอบหมายให้ก้านตองได้สอนในรายวิชา Independent Study (IS) ซึ่งเป็นวิชาที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้าในหัวข้อที่ตนเองสนใจ และทำการทดลองหรือลงมือทำด้วยตนเอง และวิชานี้เองก็ได้นำพาให้ก้านตองมารู้กับเด็กที่เรียนทางสายช่างกลุ่มหนึ่ง ผู้ซึ่งยังไม่ประสบความสำเร็จกับการทำโครงงานชิ้นนี้เสียที

     เมื่อเห็นว่าท่าไม่ดี ครูก้านตองจึงไม่รอช้ารีบยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ ก่อนที่เด็กสายช่างกลุ่มนี้จะถอดใจไปเสียก่อน โดยก้านตองมองว่า พื้นที่รอบโรงเรียนมีปัญหาน้ำเสียอย่างหนัก ก้านตองจึงชักชวนให้เด็กกลุ่มนี้มาลองสวมหมวกเด็กวิทย์เข้าสักวัน และหาวิธีในการบำบัดน้ำเสีย

     ซึ่งการโยนไอเดียเพียงเล็กน้อยกลับจุดประกายความตื่นตัวอย่างน่าประหลาดใจ ก้านตองเล่าว่า “พอพูดไปเค้าก็บอกว่าสนใจ อยากลองทำดู เค้ามีความกระตือรือร้น ในการไปหาข้อมูลมาเพื่อช่วยกันลองดูว่าถ้าอยากบำบัดน้ำเสีย จะใช้สารตัวไหน หรือใช้วิธีการยังไงดี สุดท้ายเราก็คุยกันว่าจะใช้วิธีทางชีวภาพบำบัด เพราะจะได้ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนักเรียนกลุ่มนี้ก็ได้ใช้กล้วย ที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตนเอง มาใช้ในการทำโครงงานครั้ง ซึ่งจะใช้สารตัวหนึ่งในเปลือกกล้วย ที่ชื่อว่าสารแทนนิน เด็ก ๆ เค้าจึงนำเอาเปลือกกล้วยมาสกัดเพื่อให้ได้สารสกัดตัวนี้ และนำมาทดสอบกับน้ำเสียดู”

     ซึ่งจากการทดสอบโดยการวัดค่า pH และค่า DO ของน้ำได้พิสูจน์ว่า สารสกัดที่ได้จากเปลือกกล้วยสามารถนำมาประบปรุงคุณภาพของน้ำเสียได้จริง เด็ก ๆ และก้านตองจึงพาโครงงานนี้เข้าประกวดในระดับโรงเรียน ซึ่งการประกวดนั้น ได้สร้างความตื่นเต้นให้ทุกคนไม่ใช่น้อย และเด็ก ๆ ต่างเตรียมตัวกันอย่างแข็งขัน เพราะทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่าต้องทำงานหนักกว่าเด็กสายวิทย์ที่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์อยู่ก่อนแล้วหลายเท่าตัว

     ก่อนการประกวด เด็ก ๆ หมั่นเข้ามาปรึกษาก้านตองเพื่อเตรียมตัวตอบคำถามอย่างต่อเนื่อง จนสุดท้ายผลงานของนักเรียนกลุ่มนี้ ต่างได้รับคำชมอย่างไม่ขาดปากในวันแข่งขัน “กลุ่มนี้ตอบดีที่สุด” เพื่อนครูที่ได้เข้าชมการแข่งขันยืนยันกับก้านตอง

     ความสนใจ ความตั้งใจ และการเตรียมตัวมาอย่างดี ทำให้เด็กนักเรียนสายช่างของก้านตองชนะการประกวดสายวิทยาศาสตร์อย่างเหนือความคาดหมายของทุกคนในโรงเรียน

     แต่ที่สำคัญกว่าความคิดเห็นของคนอื่นนั้น คือการที่ครูก้านตองเชื่อในตัวเด็ก และช่วยเปิดโอกาส อันนำมาซึ่งประสบการณ์และมุมมองใหม่ที่เด็กกลุ่มนี้ได้เห็นตัวเองหลังจากการชนะการแข่งขัน เพราะเด็กๆ ทุกคน “รู้สึกว่าเค้าทำได้ เค้ารู้สึกภูมิใจ” ซึ่งเป็นทัศนคติสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้พวกเขาเกิดความเชื่อว่าการกำหนดอนาคตให้แก่ตัวเองนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป