ต่อยอดจากชุมชน เพื่อค้นหาที่ทางของตนเอง

ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงทุกคนมีไฟฝัน พวกเขาอยากเข้าใจการศึกษาในพื้นที่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม แต่การเปลี่ยนแปลงนั้น หลายครั้งไม่จำเป็นต้องเริ่มจากศูนย์ ข้อคิดนี้เราได้จากการคุยกับ คุณป่านแก้ว - ป่านแก้ว บุญใบชัยพฤกษ์ ครูผู้นำฯ ของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ รุ่น 7 ซึ่งได้ทำงานเป็นครูในโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง 2 ปี ที่โรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง และเป็นครูต่ออีกครึ่งปี ก่อนไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

Q: “ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่า ทำไมถึงมาสมัครเข้าโครงการผู้นำฯ ของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์”

A: “ป่านเรียนจบรัฐศาสตร์ แล้วอยากทำงานเกี่ยวกับการลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้  ตอนนั้นเชื่อว่าการศึกษาสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ ประกอบกับอยากเป็นครูอยู่แล้ว ก็เลยมาสมัครโครงการนี้”

จากคำถามนี้ เราได้เห็นอย่างชัดเจนว่าปัญหาที่คุณป่านแก้วเห็น เป็นปัญหาเดียวกับที่ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เล็งเห็นถึงความสำคัญมาตลอด จึงไม่รอช้า ถามเจาะลึกลงไปอีก

Q: “สำหรับคุณป่านแก้ว ความเหลื่อมล้ำหมายถึงอะไร”

A: “ความเหลื่อมล้ำเป็นผลกระทบจากระบบทุนนิยม มักจะมีปัญหามากในบ้านเราที่ไม่มีระบบมาป้องกันที่ดี  ยกตัวอย่างเช่น บริษัทต่างๆ ที่ไม่ให้เงินเดือนพนักงานอย่างเป็นธรรม เงินส่วนใหญ่กระจุกอยู่กับคนแค่ระดับ Top  เป็นระบบแบบ Top-Down ที่ทุกอย่างรวมอยู่แค่กับคนที่มีอำนาจ และการศึกษาเองก็ทำให้ความเหลื่อมล้ำยังคงอยู่”

ในมุมมองของคุณป่านแก้ว การไปทำงานกับการศึกษานั้น ส่วนหนึ่งเป็นเรื่อง “การหาที่ทางของตนเอง” ซึ่งเป็นมุมมองเชิงลึกจากคนหน้างานที่น่าสนใจมาก

Q: “คุณป่านแก้วเคยพูดว่า ‘ในการไปทำงานการศึกษา เราไม่จำเป็นต้องคิดโปรเจ็คใหม่อะไรตลอดเวลา หลายๆโรงเรียนมีโครงการเพื่อพัฒนาการศึกษาอยู่แล้ว เราแค่ต้องหาที่ของตัวเองและช่วยพัฒนาต่อไป’ ช่วยขยายความคำพูดตรงนี้หน่อย”

A: “มีคนในพื้นที่ทำกำลังทำงานตรงนี้มากกว่า Teac For Thailand เยอะ เช่น ป่านเองก็ทำงานในฝ่ายบุคคล หรือพูดง่ายๆ คือห้องปกครอง ต้องแก้ปัญหาและติดตามนักเรียน ซึ่งเราต้องทำงานกับครูฝ่ายปกครอง เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวก”

Q: “คุณป่านมีเรื่องประทับใจอะไรมาเล่าให้เราฟังบ้างไหม จากการไปเป็นครูในพื้นที่ 2 ปี”

A: “เรื่องที่ประทับใจ คือ ตอนไปทำทีมกีฬา เพราะเราชอบกีฬาอยู่แล้ว อยากให้นักเรียนได้เล่นกีฬาเป็นทีม เพราะช่วยพัฒนาความเป็นผู้นำ และการทำงานร่วมกับคนอื่น  เราทำงานกับครูพละ มีการแข่งทั้งฟุตซอล วอลเลย์บอล และจัดซ้อม พาทีมไปแข่งในรายการของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)”

“ความอยากเป็นครู” คือเป้าหมายหนึ่งที่เราเห็นในตัวคุณป่านแก้วอย่างต่อเนื่อง เราจึงถามถึงภารกิจในปัจจุบันของเธอ

Q: “จนถึงตอนนี้ คุณป่านแก้วก็ยังเรียนด้านครูต่ออีก อะไรคือแรงบันดาลใจให้ไปเรียนด้านนี้ ที่นี่”

A: “สาเหตุที่ไปเรียนก็เพราะว่า อยากไปเรียนเพิ่มเกี่ยวกับศาสตร์การเรียนการสอนที่ใช้ในโรงเรียนได้จริง”

Q: “ทำไมถึงอยากเป็นครู”

A: “เพราะเป็นอาชีพที่สนุก ไม่น่าเบื่อ มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อย่างในห้องเรียนมีตัวแปรล้านแบบ นักเรียนร้อยๆ คน ส่วนนึงอาจจะเพราะเราเป็นคนเบื่อง่าย ต้องการอะไรที่ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ก็เลยอยากทำอาชีพนี้”

ในภารกิจของการเป็นครู เชื่อว่า ประสบการณ์จาก ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ น่าจะมีประโยชน์ต่อเธอไม่น้อย และคำตอบของเธอก็ทำให้เห็นถึงมิติต่างๆที่กระทบกับการศึกษา ที่จะเห็นได้เมื่อลงไปทำงานในพื้นที่

Q: “2 ปีที่อยู่กับ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เปลี่ยนแปลงเราไปยังไงบ้าง”

A: “การอยู่ตรงนี้ทำให้เราเข้าใจอะไรหลายๆอย่าง จากไม่เข้าใจ เรามีความคิดตั้งต้นเกี่ยวกับระบบการศึกษาแบบหนึ่ง ซึ่งในนั้นมีหลายอย่างที่เรายังไม่รู้  อย่างเช่น ผลกระทบจากการเมืองท้องถิ่น และระบบเศรษฐกิจ เราก็ได้เข้าไปเรียนรู้เรื่องพวกนี้”

“และอีกอย่างคือ การได้รู้จักเพื่อนครูผู้นำฯด้วยกัน ที่มีความหลากหลาย แต่มีเป้าหมายเดียวกัน ก็ช่วยให้เราสะท้อนความคิดตัวเอง และเรียนรู้ไปพร้อมกับเพื่อนๆ”

คำถามก่อนสุดท้าย เราได้ให้เธอฝากถึงคนที่อยากเข้ามาเป็นครูผู้นำฯ เหมือนกับเธอ ซึ่งคุณป่านแก้วได้ให้มุมมองเชิงปฏิบัติไว้ สำหรับการเตรียมตัวเข้ามาเป็นครู 2 ปี ในพื้นที่ที่มีความต้องการสูง

 

Q: “อยากบอกอะไรกับคนที่จะมาสมัครเข้าโครงการของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์”

A: “อยากบอกว่า คนที่เข้ามาสมัครต้องเป็นคนที่อยากสอน อาจจะต้องชอบสอนในโรงเรียนอยู่บ้าง แล้วต้องมีความอดทน เพราะต้องมีการปรับตัวหลายอย่าง”

ตอนท้ายของการสัมภาษณ์ เราได้หยอดคำถามอีกคำถามหนึ่ง ซึ่งยังค้างอยู่ในใจ เป็นคำถามอันเกิดจากการเห็นเส้นทางการเป็นครูที่ต่อเนื่องของคุณป่านแก้ว และคำถามนี้ อาจเป็นเสมือนบทสรุปที่ทำให้เห็นภาพชัดเจน ว่า “ครูในอุดมคติ” ของเธอ คือครูแบบไหน

Q: “อะไรคือเป้าหมายของการเป็นครูของคุณป่านแก้ว”

A: “อยากเป็นครูที่ให้พื้นที่แก่นักเรียน และเรียนรู้สิ่งต่างๆไปพร้อมกับนักเรียน”

คำตอบนี้สะท้อนได้อย่างชัดเจน ถึงทฤษฎีความเป็นผู้นำหนึ่งของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ นั่นคือ การหาที่ยืนของตนเองในการส่งเสริมการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับเด็กทุกคน (Find One’s Place) ซึ่งคุณป่านแก้วนั้นได้นำความรู้และประสบการณ์ที่มีจากการเห็นปัญหาจริง มาสะท้อนเป็นความคิดของตนเองที่มีต่อวิชาชีพเธอเลือก เพื่อให้เธอสามารถสร้างผลกระทบได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ในการทำให้เด็กทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพ และสามารถบรรลุศักยภาพสูงสุดของตนเองได้ในวันหนึ่ง