งานนี้มีความหมาย เด็กอักษรฯ เอกการละคร ผู้อยากเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย
“เรียนจบไปแล้วจะไปทำไรอ่ะ?” เป็นคำถามที่ถูกโยนกลับมาเมื่อครั้งที่นิสิตจุฬาฯปี 2 ที่ชื่อ มิ้นท์-ภารดี เลิศวริทธิ์ กลับบ้านไปประกาศกร้าวว่า “ฉันจะเรียนเอกการละครที่คณะอักษร” ความเป็นห่วงเป็นใยของพ่อแม่ในอนาคตการทำงานของลูกสาว ทำให้เกิดการทะเลาะกันใหญ่โต แต่มิ้นท์เองก็สู้ไม่ถอย โดยเธอเล่าว่า “มิ้นท์ก็ไปขายเค้าแหละ ว่ามันไม่ได้สำคัญหรอกว่าจบคณะไหน สายไหน เพราะถ้าเรารู้จักที่จะเอาความรู้และทักษะมาประยุกต์กับการทำงาน ยังไงก็หางานได้ ยังไงลูกก็มีงานทำ จงเชื่อในตัวเรา เพราะเราก็เชื่อในตัวเองว่า ไม่ว่าจะจบอะไร เดี๋ยวหางานได้ … เค้าก็เลยยอม”
เพื่อพิสูจน์ตัวเองให้ครอบครัวเห็น นิสิตอักษรฯ เอกการละครคนนี้ จึงมุ่งมั่นเก็บเกี่ยวความรู้และทักษะที่หลากหลายในรั้วมหาวิทยาลัย และด้วยความที่ตารางเรียนของเธอนั้นค่อนข้างยืดหยุ่น มิ้นท์จึงเอาเวลาว่างจากการเก็บประสบการณ์ฝั่งงานละครมาทำกิจกรรม โดย “ปี 1 เราก็ทำกิจกรรมในคณะ ปี 2 เราก็ขึ้นมาเป็นพี่เชียร์ ปี 3 ก็มาเป็นรองประธานฝ่ายพัฒนาสังคมและบำเพ็ญประโยชน์ ปี 4 ก็ได้ขึ้นเป็นประธาน ส่วนค่ายอาสานี่ทำตลอด 4 ปี ทำให้ได้รู้จักค่ายหลากหลายแบบ จนมาตกตะกอนได้ตอนปี 4 ว่าเราชอบค่ายสอนมากที่สุด เพราะพอกลับมาจากค่าย โรงเรียนจะโทรหาทันที เพื่อถามว่า ‘ปีหน้าจะมาอีกมั้ย? รู้มั้ยว่าที่คณะอักษรมา O-Net เด็กขึ้นทั้งโรงเรียนเลย’ มันทำให้รู้สึกว่าการทำงานกับเด็ก การทำงานด้านการศึกษา มันส่งผลกระทบระยะยาว”
งานแรกกับการเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง
เมื่อใกล้จบปี 4 มิ้นท์จึงมาถึงทางแยกของชีวิตระหว่างสายการละครกับสายการศึกษา แต่การตัดสินใจเลือกเส้นทางเดินชีวิตของเธอกลับไม่ยากอย่างที่คิด เมื่อรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัย ผู้ซึ่งเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงของมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ในตอนนั้น ส่งข้อความมาทักทายพร้อมขายตรงในวันที่มิ้นท์กำลังมองหางาน
“แก … หางานอยู่รึป่าว งานนี้เหมาะกับแก”
ความสงสัยจึงเกิดขึ้นในหัวของมิ้นท์ทันทีทันใด ว่าครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงคืออะไร และมันจะเหมาะกับเธออย่างไร แต่เมื่อเธอได้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมพูดคุยกับทีมงานของมูลนิธิฯนั้น “ก็คือขายติดอย่างรวดเร็ว … มิ้นท์ไม่ได้เห็นภาพตัวเองเป็นครูขนาดนั้นเลยนะ แต่แค่รู้สึกว่าอยากทำงานด้านการศึกษา แล้วพอเจอโครงการฯ นี้ ก็รู้สึกว่ามันเหมาะกับเด็กจบใหม่อย่างเราจังเลย ได้ทั้งพัฒนาตัวเองใน 2 ปี และได้ทำงานที่มันเติมเต็ม passion เราในการเปลี่ยนแปลงการศึกษา เป็นงานที่มันมีความหมายกับเรา และเป็นงานที่มันมีคุณค่ากับสังคม เลยตัดสินใจเลือกทีช ฟอร์ ไทยแลนด์เป็นงานแรกหลังเรียนจบ” มิ้นท์เล่าถึงวันที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 3 ด้วยเสียงสดใส
แน่นอนว่าหน้าที่หลักของครูผู้นำฯตลอดระยะเวลา 2 ปีของโครงการฯ คือการพัฒนานักเรียนในช่วงเปิดเทอม แต่ในช่วงปิดเทอมนั้น มิ้นท์เลือกที่จะโฟกัสในการพัฒนาตัวเองผ่านการฝึกงานกับมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ซึ่งมิ้นท์เล่าว่า “ตอนที่มาฝึกงานก็ได้เรียนรู้งานหลังบ้าน แล้วก็ได้มาเจอพี่ๆในออฟฟิศ ซึ่งทำให้เริ่มสนใจการทำงานกับมูลนิธิฯ เพราะรู้สึกว่าการทำงานที่นี่มันสนุก แล้ว staff แต่ละคน ก็เป็นคนเก่งมากๆ เป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีมากๆ พี่ๆทุกคนให้พลังงานดีๆกับเรา เรารู้สึกว่าคุยกับเค้าแล้วเรามีไฟในการทำงาน เราชอบบรรยากาศ ชอบ Culture ของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ในฐานะองค์กร”
2 ปี มันไม่พอ
เมื่อมูลนิธิฯประกาศหาสมาชิกใหม่เข้าร่วมทีมในช่วงที่มิ้นท์กำลังจะจบโครงการฯ เธอจึงตัดสินใจส่งใบสมัคร ซึ่งด้วยความรู้และทักษะจากคณะอักษรศาสตร์ รวมถึงประสบการณ์ตรงจากการเป็นครูผู้นำฯ ทำให้ในปี 2561 นั้น มูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ได้เจ้าหน้าที่ทีมสรรหาและคัดเลือกคนใหม่มาร่วมงานอย่างไม่ยากเย็น
โดยตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมานั้น มิ้นท์สร้างผลงานได้อย่างน่าประทับใจ เธอเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของทีมในการคัดสรรครูผู้นำฯ ตั้งแต่รุ่น 6-10 รวมกว่า 300 คน จนเธอได้เลื่อนตำแหน่งมาเป็นเจ้าหน้าที่ทีมสรรหาและคัดเลือกอาวุโสในปีนี้ ซึ่งแม้การสกรีนคนหลักพันจะฟังดูเหมือนเป็นงานหนัก แต่สำหรับมิ้นท์แล้ว สิ่งที่เติมพลังใจให้เธอได้เสมอมา คือการได้พูดคุยกับคนรุ่นใหม่ที่สนใจแก้ปัญหาการศึกษาไทย ได้แชร์เป้าหมาย และได้สร้างความสัมพันธ์ต่อกันและกัน
มิ้นท์เล่าว่า “ล่าสุดมีผู้สมัครโครงการฯ คนนึงที่เค้าคาดว่าเค้าอาจจะไม่ผ่านการสัมภาษณ์ แต่เค้าก็ยังส่งแชทยาวมากมาหาเรา บอกว่าหนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้เค้าสมัครเข้ามาถึงมารอบนี้ได้ ก็เป็นเพราะมิ้นท์นะ มิ้นท์ค่อยช่วย support และทำให้เค้ามั่นใจ ไม่ว่าเค้าจะได้หรือไม่ได้ แต่เค้าก็ยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยด้วยกัน ไม่ทางใดทางนึง ซึ่งมิ้นท์อ่านแล้วมิ้นท์ก็รู้สึกดีนะ คือต่อให้เค้าไม่ได้มาเป็นครูผู้นำฯ แต่สิ่งที่เราทำตลอดเส้นทางการสมัครเข้าโครงการฯของเค้า มันทำให้เค้าเห็นเป้าหมายของตัวเอง เห็นศักยภาพของตัวเอง แค่นี้เราก็รู้สึกดีมากแล้ว มันเหมือนตอนที่เราได้คุยกับนักเรียนสมัยที่เป็นครูผู้นำฯ แล้วทำให้นักเรียนได้เห็นความฝัน เห็นเป้าหมายของตัวเอง”
ความหมายของชีวิตนักเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย
การอยู่องค์กรนี้มาถึง 5 ปีทำให้มิ้นท์ได้เจอพนักงานที่สลับสับเปลี่ยนเข้ามาทำงานในองค์กรตลอดเวลา แต่ความรู้สึกต่อเพื่อนร่วมงานของมิ้นท์นั้น ยังไม่เคยเปลี่ยนแปลงไป “คนใหม่ที่เข้ามา ไม่ว่าจะ senior หรือ เด็กกว่าเรา ก็มีไฟ มี passion มีเป้าหมายในการมาทำสิ่งนี้ แล้วทุกคนไม่ใช่คนที่เป็นน้ำเต็มแก้ว แม้แต่คนที่มีประสบการณ์สูง ทำงานมาหลายที่ แต่พอเค้าเข้ามาที่นี่ ก็ยังเปิดใจ พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ แล้วก็อยากเติบโต อยากพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ ซึ่งมันเลยกลายเป็นวัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้เราอยากจะเป็นคนที่พัฒนาตัวเอง เพราะเราได้รู้ว่า การที่เราพัฒนาตัวเอง ผลมันไม่ได้แค่กับตัวเราคนเดียว แต่มันได้พัฒนาองค์กร พัฒนาการศึกษา และพัฒนาเด็กไทยให้ดีขึ้น เราเลยได้เห็นความหมายของการมาพัฒนาตัวเองที่นี่”
ฉะนั้น หากให้ย้อนกลับไปตอบคำถามที่ว่า “เรียนจบไปแล้วจะไปทำไรอ่ะ?” ณ วันนี้ มิ้นท์คงสามารถพูดได้อย่างภาคภูมิใจว่า “ฉันจะเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย ร่วมกับมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์”
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้ที่ https://t.ly/aNBd
หรือร่วมนำประสบการณ์และศักยภาพของคุณมาเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยกับทีมงานของเรา ดูตำแหน่งงานที่เปิดรับได้ที่ https://l8.nu/t42x