นักกำหนดอาหาร ที่ขอกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง

ช่วงที่มด-ธมนวรรณ อั๋นประเสริฐ เรียนอยู่ที่คณะสาธารณสุขศาสตร์​ มหาวิทยาลัยมหิดลนั้น เธอได้มีโอกาสไปฝึกงานในโรงพยาบาล และให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยในเรื่องของโภชนาการอยู่บ่อยครั้ง แต่ประสบการณ์การฝึกงาน กลับทำให้เธอพบว่ายังมีผู้คนอีกมากมาย ที่ขาดความรู้พื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต เมื่อผนวกกับความต้องการส่วนตัวในการพัฒนาทักษะใหม่ให้แก่ตนเองเพื่อนำมาต่อยอดในอาชีพการงานแล้ว เธอจึงนึกถึงโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง และตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯในรุ่นที่ 6 ทันที

ช่วงที่มด-ธมนวรรณ อั๋นประเสริฐ เรียนอยู่ที่คณะสาธารณสุขศาสตร์​ มหาวิทยาลัยมหิดลนั้น เธอได้มีโอกาสไปฝึกงานในโรงพยาบาล และให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยในเรื่องของโภชนาการอยู่บ่อยครั้ง แต่ประสบการณ์การฝึกงาน กลับทำให้เธอพบว่ายังมีผู้คนอีกมากมาย ที่ขาดความรู้พื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต เมื่อผนวกกับความต้องการส่วนตัวในการพัฒนาทักษะใหม่ให้แก่ตนเองเพื่อนำมาต่อยอดในอาชีพการงานแล้ว เธอจึงนึกถึงโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง และตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯในรุ่นที่ 6 ทันที

พัฒนาตัวเองและเข้าใจผู้อื่น

นักโภชนาการและนักกำหนดอาหารคนนี้ จึงรับบทบาทเป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ ณ โรงเรียนเก้าเลี้ยววิทยา จังหวัดนครสวรรค์ อยู่ 2 ปีเต็ม ซึ่งมดได้พัฒนาหลากหลายทักษะอย่างที่ตัวเองหวังไว้ตั้งแต่เริ่มโครงการฯ เช่น ทักษะสื่อสารกับคนทุกเพศทุกวัยที่ได้เธอมองว่าเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับทุกสายอาชีพ และทักษะการบูรณาการความรู้ที่ได้จากคณะสาธารณสุขศาสตร์​ มาทำประโยชน์ให้คนอื่น โดยมดอธิบายว่า “เพราะเราไม่ได้จบครูมา ทำให้ตอนแรกไม่มั่นใจเลยว่าจะสอนคณิตได้ แต่ก็ได้เรียนรู้และฝึกฝนที่จะประยุกต์ความรู้ทางโภชนาการและการกำหนดอาหารมาดึงความสนใจของเด็ก เช่น สอนเด็กคิดคำนวณน้ำหนัก ส่วนสูงของตัวเอง”

 

นอกจากนี้เธอยังได้คำตอบของคำถามที่เธอสงสัยมาตั้งแต่ก่อนเริ่มโครงการฯว่า “ทำไมเรื่องแค่นี้ ถึงไม่รู้?” ซึ่งมดอธิบายว่า การมาเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้เปลี่ยนเธอจากผู้พูดเป็นผู้ฟัง โดยมดจะฟังจนเกิดความเข้าใจ และได้คำตอบว่า “จริงๆแล้วเรื่องความรู้ทางโภชนาการก็เรื่องนึง แต่บางคนไม่ใช่ไม่รู้ แต่เลือกที่จะไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” มดจึงได้นำเอาประสบการณ์นี้มาเป็นบทเรียนให้แก่ตัวเองว่า เราไม่ควรจะด่วนตัดสินคนก่อนรับฟังและพยายามทำความเข้าใจในที่มาที่ไปของแต่ละการกระทำ

กำหนดอาหาร กำหนดชะตาชีวิตฉัน กำหนดชะตาชีวิตเธอ

แต่มากกว่าทักษะและบทเรียนนั้น มดมองว่า 2 ปีกับการเป็นครูผู้นำฯนั้น “เป็นประสบการณ์การที่ทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น รู้ว่าตัวเองถนัดอะไร มีความสนใจแบบไหน สามารถต่อยอดในงานต่อไปยังไงได้บ้าง เพราะถ้าเราไม่รู้ว่าเราชอบอะไร เราก็ไม่สามารถกำหนดอนาคตของตัวเองได้” แต่ก็เป็นที่น่าสงสัยว่าการเป็นครูนั้น จะช่วยในการรู้จักตัวได้อย่างไร ซึ่งมดขยายความว่า “หลายคนในรุ่นเดียวกันกับเรา อาจจะถูกปลูกฝังมาว่าจะต้องทำตามความคาดหวังของครอบครัว และไม่ได้มีชุดความรู้เกี่ยวกับเรื่อง Self Awareness แต่พอเข้าร่วมโครงการฯกับทีช ฟอร์ ไทยแลนด์แล้ว จะได้ทำ Workshop เรื่องนี้ แล้วทำให้เราได้สะท้อนตัวเองอยู่ตลอด ทำให้เรากล้าที่จะยอมรับว่าเรารู้สึกยังไง คิดยังไง และทำให้เรากล้าตัดสินใจที่จะเลือกเส้นทางของตัวเองได้ มากกว่าที่จะไปฟังคนอื่นว่าต้องทำแบบนั้นแบบนี้


ซึ่งมดเองได้นำเอาแนวคิดนี้ ไปใช้กับนักเรียนของเธอเองอีกด้วย โดยมดและเพื่อนครูผู้นำฯในโรงเรียนอีก 2 คน มุ่งเน้นการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนา Self Awareness และ Growth Mindset นอกเวลาเรียน เพราะเธอมองว่า “เด็กๆในโรงเรียนถูกปูพื้นฐานเรื่องนี้มาจากรุ่นพี่ (ครูผู้นำฯรุ่น 4) อยู่แล้ว ถ้าเราเสริมต่อเรื่องนี้ เด็กจะมีทางเลือกในเรื่องของการเรียนต่อได้มากขึ้นกว่าเดิม มากกว่าที่จะเรียนจบ ม. 3 แล้วไปช่วยงานที่บ้านต่อ เค้าอาจจะเปลี่ยนใจ อยากเรียน ม.ปลาย แล้วไปทำอาชีพอื่นๆที่เค้าใฝ่ฝันอยากทำ”

Footprint ที่ฝากไว้ที่โรงเรียน

ในวันที่มดก้าวออกมาจากโรงเรียนเก้าเลี้ยววิทยาหลังจบโครงการฯนั้น สิ่งที่เธอภูมิใจที่สุด คือการที่หลายๆสิ่งที่เธอร่วมคิด ร่วมทำกับเพื่อนครูผู้นำฯและเพื่อนครูในโรงเรียน ยังคงอยู่ในรั้วโรงเรียนไม่เปลี่ยนแปลง “เราจะทำงานร่วมกับครูในโรงเรียน เราจะสื่อสารกันตลอด ว่าคุณครูทุกคนสามารถการพัฒนาเด็กได้ แม้ว่าคุณครูจะไม่ใช่คุณครูรุ่นใหม่ก็ตาม คุณครูทุกคนสามารถที่จะเรียนรู้และปรับตัวไปพร้อมๆเด็กได้ วันที่ต้องออกจากโรงเรียน คุณครูก็ยังนำเอาสิ่งที่ช่วยกันคิด ช่วยกันทำกับพวกเรา ไปทำกับเด็กต่อ ซึ่งหลายอย่างใช้กันทั้งระดับชั้นและบางเรื่องก็ต่อยอดไปยังคุณครูฝ่ายต่างๆอีกด้วย

เป็นตัวเองในแบบที่ดีกว่าเดิม

ปัจจุบันนี้ มดเป็นนักโภชนาการอยู่ที่โครงการ FOOD FOR GOOD ของมูลนิธิยุวพัฒน์ เพราะเธอ “อยากเอาสิ่งที่เรียนมา มาปรับใช้ และเราก็ยังอยากพัฒนาการศึกษาไทยไปด้วย ซึ่งโครงการนี้ตอบโจทย์ใน Value ที่เรายึดถือ … ตอนเป็นครูผู้นำฯ บทบาทคือการสอนนักเรียน พอมาอยู่ FOOD FOR GOOD ก็จะเปลี่ยนบทบาทมาเป็นคนที่ให้ความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคุณครูในโรงเรียนแทน เป็นคนส่งต่อเครื่องมือให้ครู แล้วครูก็เอาไปพัฒนาเด็ก โดยจะเน้นในเรื่องโภชนาการและสุขภาพเป็นหลัก” 


ประสบการณ์ 2 ปีในบทบาทครูผู้นำฯจึงมีประโยชน์อย่างมากในหน้าที่การงานปัจจุบันของเธอ โดยมดเล่าว่า “การเป็นครูผู้นำฯมันค่อยๆหล่อหลอมให้เราสามารถเป็นตัวเองใน Version ที่ดีขึ้น ตอนแรกเรามีความรู้อยู่แล้ว แต่เราไม่รู้จะสื่อสารมันออกมายังไง ช่วงที่เราได้เป็นครูผู้นำฯเลยเข้ามาปิดช่องว่างให้เราสามารถสื่อสารสิ่งที่เรารู้อยู่ให้คนแต่ละวัยเข้าใจได้” หรือสรุปง่ายๆว่าเป็นการปลดล็อกศักยภาพในตัวเองของเธอเองเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั่นเอง

ไม่มีคำว่า “ทำไม่ได้”

“เราไม่มีทางรู้เลยว่า เราเข้าโครงการฯมาแล้วเราจะสามารถพัฒนาตัวเอง หรือพัฒนาการศึกษาได้มั้ย ถ้าเราไม่ได้ลองทำเลย” มดจึงมองว่าคนที่ยังลังเลที่จะสมัครโครงการฯนั้น ไม่ควรจะลังเลอีกต่อไป ส่วนคนที่เรียนสาธารณสุขศาสตร์​มานั้น มดคิดว่า “แม้เราจะไม่ได้จบสายการศึกษามาโดยตรง แต่สิ่งที่เราเรียนมา มันสามารถนำมาปรับใช้ เราสามารถเอาความรู้ที่เรียนมา มาพัฒนาคนอื่นได้ ไม่ต้องกลัวเลยว่าเราไม่ได้จบสายการศึกษามาแล้วจะทำไม่ได้” 

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับการเปลี่ยนแปลงอนาคตการศึกษาไทย นักเรียนไทยนับร้อยและตัวคุณ ผ่าน ‘โครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ เป็นระยะเวลา 2 ปี ผ่านการสอน และ ทำงานร่วมกับเครือข่าย โรงเรียน ชุมชน ผู้ปกครอง 

สมัครได้แล้วตั้งแต่วันนี้ที่…https://tft-fellowship.org