Growth Mindset ทัศนคติปิดตายความกลัว เพื่อเปิดโลกทั้งใบ

เชื่อว่าโควิด-19 น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนของอาชีพการงานของหลายๆคน ซึ่งหยก-ธีรภัทร แก้วลำใย ก็เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น เพราะเมื่อเขาได้รู้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีนักเรียนหลุดออกจากระบบมากมาย หยกจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

เชื่อว่าโควิด-19 น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนของอาชีพการงานของหลายๆคน ซึ่งหยก-ธีรภัทร แก้วลำใย ก็เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น เพราะเมื่อเขาได้รู้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีนักเรียนหลุดออกจากระบบมากมาย หยกจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ทัศนคติที่เปลี่ยนไป

แม้จะจบจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และไม่มีประสบการณ์การสอนนักเรียนหน้าห้องแต่อย่างใด แต่หยกสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 8 ผู้ซึ่งสอนวิชาคณิตศาสตร์ อยู่ที่โรงเรียนน้ำพองศึกษา จังหวัดขอนแก่น ได้อย่างราบรื่น เพราะนอกเหนือจากการอบรมเตรียมความพร้อมก่อนเข้าโรงเรียน และการอบรมช่วงปิดเทอมเพื่อเติมความรู้แล้วนั้น สิ่งที่หยกได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมโครงการผู้นำฯ คือทัศนคติด้านการพัฒนาตัวเอง หยกเล่าว่า “โครงการได้เสริมสร้างทัศนคติทางด้าน Growth mindset ว่าทุกคนสามารถพัฒนาได้ ถ้ามีความพยายาม พอได้ตรงนี้มา เหมือนมันเป็นรากฐานว่า เราสามารถพัฒนาทุกอย่างได้นะ ถ้าเราต้องการ

เก็บเกี่ยวทักษะใหม่ๆตลอดการเดินทาง

การที่หยกมีความเชื่อมั่นในศักยภาพในการพัฒนาตัวเองนั้น ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หยกสามารถเก็บเกี่ยวทักษะใหม่ๆได้มากมาย ซึ่งทักษะแรกที่เขาได้นั้น คือเรื่องการวางแผน ซึ่งก่อนหน้านี้ เขาไม่รู้เลยว่าการวางแผนที่ดีคืออะไร แต่การมาร่วมโครงการผู้นำฯทำให้เขา “ได้เรียนรู้ว่าการวางแผนที่ดีต้องมีความชัดเจน ต้องวัดผลได้ เป็นไปได้ และเกี่ยวข้องกับเป้าหมายระยะยาว”

อีกทักษะที่หยกได้รับการจากเป็นครูผู้นำฯคือความกล้าแสดงออก “วันแรกผมงงมาก ว่าผมต้องยืนตรงไหน ต้องสอนอะไร ต้องพูดแบบไหน เพราะเราไม่เคยฝึกสอนมาก่อน เราไม่เคยยืนอยู่หน้าชั้นเรียนมาก่อน เมื่อก่อนนำเสนอ 5-10 นาทีก็ลงจากเวที แต่พอสอนมาเรื่อยๆ ก็ทำให้รู้ว่าต้องทำอย่างไร และกล้าที่จะทำมากขึ้น จนมาวันนี้ที่ผมต้องพูดต่อหน้าผู้ปกครอง 40 กว่าคน พูดต่อหน้าคณะครูร้อยกว่าคน ผมก็ไม่ได้มีความตื่นเต้นแล้ว”

ทักษะสำคัญสุดท้ายที่หยกเอ่ยถึงคือการพัฒนาตัวเองผ่าน Feedback ซึ่ง “เมื่อก่อนจะไม่กล้ารับฟังความเห็นของคนอื่นที่มีต่อตัวเองเท่าไหร่ เพราะจะรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ทำให้กลัวมาก แต่ ณ วันนี้ เรารู้ว่า Feedback ที่ดีมันควรจะเป็นอย่างไร และ Feedback ที่ดีจะทำให้เราเติบโตขึ้นได้อย่างไร

รู้เวลา เข้าใจหน้าที่

แต่การมาเป็นครูผู้นำฯในโรงเรียนที่มีบริบทท้าทายนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย หยกเองได้รับมอบหมายให้เป็นครูประจำชั้น ห้อง ม.1/10 ซึ่งเป็นห้องที่เรียกง่ายๆว่านักเรียนมีพลังงานในการเล่นมากกว่าในการเรียน และไม่ค่อยมีระเบียบวินัยเท่าไหร่นัก หยกจึงเน้นสอนให้นักเรียนห้องนี้รู้จักเวลา เวลาเล่นก็เล่นให้เต็มที่เลย เวลาเรียนก็เรียนเต็มให้เต็มที่ ส่วนเวลาทำเวรก็ต้องทำตามหน้าที่ ซึ่งความมุ่งมั่นของหยกนั้นใช้เวลา แต่สุดท้ายก็เห็นผลจนได้ เขาเล่าว่า ถ้าเปรียบเทียบต้นเทอมกับท้ายเทอมนั้นจะเห็นความแตกต่างชัดเจน “ต้นเทอมนี่ถ้าผมไม่ไปจู้จี้ จะไม่มีใครทำเวรเลย แต่พอผมได้เน้นย้ำเรื่องเวลาและหน้าที่ตลอดเทอม ปรากฏว่าท้ายเทอมเจอว่าห้องเป็นระเบียบมาก โต๊ะไม่เคลื่อนเลย ไม่มีขยะแม้แต่ชิ้นเดียวในห้อง กระเป๋าเรียงเป็นระเบียบหน้าห้อง มันทำให้รู้ว่า สิ่งที่เราทำมา มันส่งไปถึงนักเรียนนะ” 

 

นอกจากปัญหาเด็กไม่รู้เวลาและหน้าที่ของตนเองแล้ว อีกสิ่งที่หยกค้นพบคือปัญหาการสื่อสารระหว่างนักเรียนและครู “ผมอยากเห็นครูกับนักเรียนพูดคุยกัน จะได้เข้าใจความต้องการของกันและกัน เพื่อจะได้ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด” และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว หยกวางแผนจะนำเสนอในที่ประชุมโรงเรียนเพื่อแนะนำให้ครูใช้แผนผังความก้าวหน้าเป็นสื่อกลางในการสื่อสารกับนักเรียน เพื่อให้นักเรียนเข้าใจเป้าหมายของตัวเอง และเข้าใจว่าต้องทำอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งหยกค้นพบว่าวิธีนี้ได้ผลดี เพราะเขาได้ลองมากับตัวเองแล้วว่าเมื่อเขาใช้แผนผังความก้าวหน้าเป็นสื่อกลาง และให้นักเรียนดูแผนผังความก้าวหน้าของตนนั้น นักเรียนต่างมีความกระตือรือร้น อยากส่งงานและอยากตั้งใจเรียนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ทั้งหมดทั้งมวลนั้น หยกเชื่อว่าเมื่อนักเรียนรู้หน้าที่ของตนเอง และปฏิบัติตาม พร้อมได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่รอบตัว จะช่วยส่งผลให้พวกเขาเติบโตและมีอนาคตที่ดีได้

ความกลัวที่ไม่มีอยู่จริง

ส่วนแผนในอนาคตหลังจากจบโครงการผู้นำฯไปนั้น หยกอยากกลับไปทำงานด้านการเงินการลงทุน ซึ่งหยกมองว่า “ทักษะที่ได้จากการทำงานมา 2 ปีจะช่วยได้มาก โดยเฉพาะในเรื่อง Growth Mindset และความพยายาม เพราะทักษะที่ผมไม่เคยกล้าลอง การลงทุนที่ผมไม่กล้าที่จะเข้าไป ไม่กล้าที่จะเปิด port จริง มันไม่มีอีกแล้ว ผมเห็นว่าทักษะตรงนี้มันเป็นทักษะเล็กๆนะ แต่มันสำคัญมากๆ เพราะถ้ามันมีอะไรที่ต้องเรียนรู้เพิ่ม ต้องศึกษาเพิ่ม ผมก็จะไม่มีความกลัวที่จะไปศึกษามัน และมันจะเปิดโลกให้ผมได้หลังจากนี้” และหากมีโอกาสในอนาคต ในวันที่เขามีความรู้ด้านการเงินที่จะสามารถถ่ายทอดให้กับนักเรียนได้ หยกอยากมีส่วนในการพัฒนาการศึกษา ผ่านการเป็นอาสาสมัครในการสอน หรือการจัดกิจกรรมต่างๆให้กับนักเรียน เพื่อให้ความรู้ด้านการเงินการลงทุนต่อไป 

รู้จักตัวเอง เพื่อเป็นตัวเองในแบบที่ดีที่สุด

หยกให้คำแนะนำสำหรับคนที่สนใจสมัครโครงการผู้นำฯว่า “ถ้าพร้อมที่จะท้าทายตัวเอง หาประสบการณ์ใหม่ๆ ผมคิดว่าคิดโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการเริ่มต้นทำงาน เป็นองค์กรที่ช่วยให้คนที่มาสมัครมีพื้นฐานที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นทัศนคติ ทักษะต่างๆ การวางแผน การปรับตัว เพื่อที่หลังจากจบ 2 ปีไปแล้วจะมีพื้นฐานในการทำงานที่ดีขึ้น” และสำหรับคนที่เรียนเศรษฐศาสตร์ ซึ่งสามารถไปได้หลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นสายลงทุน ไปทำงานธนาคาร หรือกระทรวงการคลังนั้น หยกมองว่า “โครงนี้มันตอบโจทย์สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่าจะไปในแนวทางไหน เพราะโครงการนี้สอนให้เราสะท้อนตัวเอง และทำให้เราได้รู้จักตัวเอง เช่น ทำให้เรารู้ว่าเราชอบการวิเคราะห์นะ ทำให้เรารู้ว่าเราชอบการพูดคุยนะ ทำให้เรารู้ว่าเรามีจุดแข็งด้านการจัดการนะ ซึ่งพอเราเข้าใจตัวเองในจุดนี้ จะทำให้เราตัดสินใจได้ว่า เราจะไปเป็นตัวเองที่ดีที่สุดในแนวทางไหน

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับการเปลี่ยนแปลงอนาคตการศึกษาไทย นักเรียนไทยนับร้อยและตัวคุณ ผ่าน ‘โครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ เป็นระยะเวลา 2 ปี ผ่านการสอน และ ทำงานร่วมกับเครือข่าย โรงเรียน ชุมชน ผู้ปกครอง 

สมัครได้แล้วตั้งแต่วันนี้ที่…https://tft-fellowship.org