2 ปีเพื่อตอบคำถาม คลายปมในใจ และ รับบท “ผู้ให้” ในสังคม

สมัยเรียนอยู่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เอิร์น-จินต์ศุจี ขวัญโพก มีโอกาสได้เรียนวิชาปรัชญาการศึกษา และต้องเขียนวิพากษ์การศึกษาอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเอิร์นเองได้แต่วิพากษ์ในมุมคนนอก โดยปราศจากความเข้าใจในข้อจำกัดต่างๆที่ทำให้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ความค้างคาใจในต้นตอของปัญหาการศึกษาจึงเป็นเหตุผลให้เอิร์นตัดสินใจเข้าร่วมโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 8 เพื่อค้นหาความเป็นจริงจากมุมมองคนใน

สมัยเรียนอยู่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เอิร์น-จินต์ศุจี ขวัญโพก มีโอกาสได้เรียนวิชาปรัชญาการศึกษา และต้องเขียนวิพากษ์การศึกษาอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเอิร์นเองได้แต่วิพากษ์ในมุมคนนอก โดยปราศจากความเข้าใจในข้อจำกัดต่างๆที่ทำให้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ความค้างคาใจในต้นตอของปัญหาการศึกษาจึงเป็นเหตุผลให้เอิร์นตัดสินใจเข้าร่วมโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 8 เพื่อค้นหาความเป็นจริงจากมุมมองคนใน

ค้นหาข้อจำกัดของการศึกษาไทยจากมุมคนในวงการ

การทำงานในฐานะครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ ณ โรงเรียนพยุหะพิทยาคม จังหวัดนครสวรรค์ ทำให้เอิร์นเห็นและเข้าใจในทุกข้อจำกัดหน้างานตามที่หวังไว้ เอิร์นเล่าจากประสบการณ์ตรงว่า “มันคือปัญหาเชิงระบบ มันเป็นเรื่องของโครงสร้าง การที่ครูไม่มีเวลาใส่ใจเด็กอย่างเต็มที่เพราะภาระงานเค้าเยอะมาก มันเพราะเค้าต้องอิงเรื่องการวัดประเมินผลจาก ผอ. ซึ่ง ผอ. ก็รับมาจากเขตอีกทีนึง เขตก็รับมาจากนโยบายอีกทีนึง” ความเข้าใจนี้ทำให้เอิร์นเห็นชัดเจนว่าปัญหาการศึกษาไทยนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ได้ง่ายๆในเร็ววัน แต่ต้องอาศัยทั้งเวลา และความร่วมมือจากทุกฝั่งทุกฝ่าย

ใช้โรงเรียนเป็นพื้นที่ในการช่วยเด็กค้นหาตัวเอง

นอกจากความเข้าใจในต้นต่อของปัญหาการศึกษาแล้ว การเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงเปิดโอกาสสำคัญให้เอิร์นได้คลายปมในใจในฐานะ “เด็กซิ่ว” คนหนึ่ง เอิร์นเล่าว่าค่านิยมของคนในโรงเรียนมัธยมของเธอนั้นคือ ถ้าเรียนเก่งต้องไปเรียนสายวิทย์สุขภาพ เอิร์นจึงตัดสินใจสอบเข้าคณะดังกล่าว “โดยไม่ได้หันมาถามตัวเองว่าเราชอบมันมั๊ย ซึ่งพอเข้าไปเรียน มันก็เรียนได้ แต่มันรู้สึกว่าไม่มีความสุข ทำให้รู้สึกว่าที่จริงแล้ว เราไม่รู้จักตัวเองเลย เราไปยึดคุณค่ากับการประเมินของคนภายนอก คือเราจะรู้สึกว่ามีคุณค่าต่อเมื่อคนมาถามว่าเรียนคณะอะไร ซึ่งเรารู้สึกว่ามันไม่โอเคแล้วที่เราเป็นแบบนี้ เราอยากจะรู้ว่าเราชอบอะไรกันแน่ เราสนใจอะไร ที่เราทำมันแล้วเรามีความสุขเหนือการประเมินของคนภายนอก ซึ่งพอมองย้อนกลับไปแล้วรู้สึกว่าส่วนหนึ่งที่จะทำให้ค้นหาตัวเองได้คือโรงเรียน เลยมองว่าหากมีโอกาสได้เข้าไปในพื้นที่ที่ช่วยให้วัยรุ่นได้ค้นหาตัวเองบ้าง ก็น่าจะดี”

 

เมื่อได้โอกาสมาเป็นครูในโรงเรียนจริง เอิร์นจึงมักจะหาโอกาสสอดแทรกคำถามให้เด็กนักเรียนของเธอได้คุยกับตัวเองเสมอ “คิดว่าตัวเองเรียนไปทำไม คิดว่าตัวเองชอบอะไร และนอกจากถาม ก็ให้ข้อมูลด้วยว่า แต่หากปฏิเสธที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบไม่ได้ อย่างน้อยเราก็จะได้ฝึกในการมีความรับผิดชอบ” เพราะความหวังสูงสุดของเอิร์นก่อนเดินออกจากโรงเรียนนี้คือการเห็นนักเรียนรู้จักตัวเองและรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองรัก สิ่งที่ตัวเองชอบ

ใช้โรงเรียนเป็นพื้นที่ในการต่อยอดทักษะและความรู้ของตัวเองให้เกิดประโยชน์

การเข้ามาเรียนในคณะสังคมสงเคราะห์ทำให้เอิร์นไม่ได้แตะวิชาคณิตศาสตร์ซึ่งเป็นความชอบและความถนัดตั้งแต่สมัยมัธยม ด้วยความคิดถึงและเสียดาย เอิร์นจึงมองหาหนทางที่จะเอากระบวนการความเป็นสังคมสงเคราะห์มาประกอบกับทักษะทางวิชาคณิตที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในวิชาชีพ ซึ่งการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ตอบโจทย์เธอพอดิบพอดี 

แต่นอกเหนือจากกระบวนการความเป็นสังคมสงเคราะห์ที่เอิร์นได้นำมาสอนเด็กในโรงเรียนแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดจากคณะที่เอิร์นได้นำมาประยุกต์ใช้ในฐานะครูผู้นำฯคือทัศนคติในการมองคน “คณะสอนมาตลอดว่า คนทุกคนเท่ากันนะ เราต้องเคารพในความแตกต่างหลากหลายของบุคคล ในการช่วยเขา ให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้” 

ทัศนคตินี้ ทำให้เอิร์นไม่เคยมองว่าเด็กเรียนเก่งคือเด็กที่มีความเป็นคนสูงกว่าเด็กที่เรียนไม่เก่ง เธอรู้สึกว่าทุกคนมีคุณค่าเท่ากัน เพราะฉะนั้น เมื่อต้องสอนเด็กที่เรียนไม่ได้ดีเท่าคนอื่น เอิร์นจะพยายามทำความเข้าใจและหันมาปรับที่ตัวเองเพราะเธอเข้าใจว่า “เด็กทุกคนคงไม่ชอบคณิตหรอก ก็เหมือนเรา เราก็มีบางวิชาที่เราไม่ชอบ แต่เราจะทำยังไง ให้เหตุผลยังไง วางเนื้อหายังไง ให้เค้ามีแรงจูงใจในการเรียนได้” แนวคิดนี้จึงทำให้เอิร์นเลือกที่จะพัฒนาการสอนของตัวเองทุกวันเพื่อที่จะไม่ทิ้งเด็กคนใดคนหนึ่งไว้ข้างหลังเพียงลำพัง

หลากหลายทักษะเพื่ออนาคตที่เก็บเกี่ยวจากประสบการณ์ 2 ปี

เมื่อถามถึงสิ่งที่ได้จากการเป็นครูผู้นำฯ เอิร์นมองว่ามีหลากหลายทักษะที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในอนาคตได้ “แน่ๆเลยคือทักษะการสื่อสาร เพราะการสอนเด็กนั้น เราต้องอธิบาย ต้องพูดให้รู้เรื่อง” ทักษะที่สองคือเรื่องการประนีประนอมเพราะ “เป้าหมายของเราในการสอน อาจจะไม่ได้ตรงกับของครูท่านอื่นๆ บางทีเราก็ต้องทำตามเค้าเพราะเป็นมันเป็นนโยบาย แต่จะให้ทำตามไปเลยโดยที่ไม่ทำอะไรเลยกับเป้าหมายของตัวเอง เราก็รับตัวเองไม่ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราต้องมาหาตรงกลาง ว่าจุดไหนที่เราพอจะรับได้ แล้วเอาไปสื่อสารให้เค้าเข้าใจในมุมเรา โดยที่ไม่ขัดแย้งกัน … แต่การจะประนีประนอมได้ เราต้องทำความเข้าใจในมุมเค้า ทำให้อีกทักษะคือเรื่องการชะลอการตัดสินใจหรือ Holding Judgement” และทักษะสุดท้ายคือเรื่องความสามารถในการดึงตัวเองกลับขึ้นมาจากจุดตกต่ำเพราะ “มันเหมือนเราตกหลุมบ่อยมาก สอนไปหลายๆครั้งมันก็ไม่ตรงตามที่เราคิดไว้ แต่มันก็ต้องดึงตัวเองขึ้นมาในทุกๆวัน เพราะเราก็ต้องสอนเด็กในทุกๆวัน

เรื่องราวดีๆที่จำได้ขึ้นใจ

เอิร์นต้องคุมนักเรียนแก้เกรดศูนย์หลายครั้ง และเธอยังจำได้ดีถึงนักเรียนหญิงคนหนึ่ง ที่ตอนแรกต้องให้คำนิยามว่าเป็นคนที่ “ไม่เอาอะไรเลย” จนเอิร์นวางแผนให้เด็กนักเรียนหญิงคนนี้มาโรงเรียน 5 วันเต็มเพื่อแก้ศูนย์ โดยวันแรกนั้น เธอมาสายพร้อมประท้วงใหญ่โต “หนูมันไม่ได้หรอก หัวหนูมันไม่ไปเลย” แต่เอิร์นก็คะยั้นคะยอพร้อมให้กำลังใจ ซึ่งแรกๆนั้น เด็กก็ทำโจทย์ผิด แต่ก็มีพัฒนาชัดเจนจนเริ่มทำโจทย์ได้วันถัดๆมา “วันที่ 3 คือมาก่อนเพื่อน มาตรงเวลา แล้วทำเสร็จก่อนใคร แล้ววันที่ 5 คือทำถูกหมด ให้ทำ 40 ข้อ ก็ทำถูกหมด” สุดท้ายเอิร์นจึงทดลองให้นักเรียนเขียนสะท้อนกับตัวเอง ซึ่งเด็กนักเรียนหญิงคนดังกล่าวเขียนใส่กระดาษส่งให้เธอเอาไว้ว่า “อยากปรับปรุงความคิดตัวเอง ที่ไม่สนใจเรื่องเรียนให้กลับมาสนใจให้ได้ เปลี่ยนความคิดของตัวเองที่พูดว่าทำไม่ได้ ทั้งๆที่ยังไม่ได้ลองฝึกมันก่อน” ซึ่งเอิร์นจำทุกคำได้ขึ้นใจ

อย่าทำงานไปวันๆ

เอิร์นมองว่า “ถ้าสนใจในประเด็นเรื่องการศึกษา การพัฒนาคนและอยากทำงานเพื่อสังคม ก็ควรสมัคร เพราะถ้าไปทำงานที่เราไม่ได้อยากเรียนรู้กับมัน ไม่ได้สนุกที่จะทำมัน มันก็เหมือนแค่เป็นการทำงานไปวันๆ” ที่สำคัญนั้น การเข้าร่วมโครงการผู้นำฯจะเป็นโอกาสในการเรียนรู้ และค้นหาตัวเองไปด้วย เพราะนอกเหนือจากการสอนแล้ว ช่วงปิดเทอมก็จะมีโอกาสได้ไปฝึกงานตามที่ต่างๆทั้ง 2 ปี ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการผู้นำฯได้ทดลองทำงานที่หลากหลายมากกว่าแค่การสอนในห้องเรียนอย่างแน่นอน

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับการเปลี่ยนแปลงอนาคตการศึกษาไทย นักเรียนไทยนับร้อยและตัวคุณ ผ่าน ‘โครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ เป็นระยะเวลา 2 ปี ผ่านการสอน และ ทำงานร่วมกับเครือข่าย โรงเรียน ชุมชน ผู้ปกครอง 

สมัครได้แล้วตั้งแต่วันนี้ที่…https://tft-fellowship.org