ครูผู้นำนักฟังที่พร้อมจะยืนเคียงข้างนักเรียนโดยไม่ด่วนตัดสิน

ในช่วงปีสุดท้ายที่คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ฝ้าย-ชนันญา น้อยสันเทียะ ได้ไปฝึกงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณครู แต่หลังจากลองฝึกงานได้สักพัก ฝ้ายรู้สึกว่าก่อนที่จะไปพัฒนาครูนั้น ฝ้ายต้องเข้าใจก่อนว่าวันๆคุณครูทำอะไรกันบ้าง แล้วนักเรียนเป็นอย่างไรอยู่แล้วบ้าง ประจวบเหมาะกับการที่ได้ฟังข้อมูลโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงจากศิษย์เก่าโครงการ ฝ้ายจึงรู้สึกว่าโครงการนี้ตอบโจทย์ ฝ้ายจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการของมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ในฐานะครูผู้นำรุ่นที่ 8

ในช่วงปีสุดท้ายที่คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ฝ้าย-ชนันญา น้อยสันเทียะได้ไปฝึกงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณครู แต่หลังจากลองฝึกงานได้สักพัก ฝ้ายรู้สึกว่าก่อนที่จะไปพัฒนาครูนั้น ฝ้ายต้องเข้าใจก่อนว่าวันๆคุณครูทำอะไรกันบ้าง แล้วนักเรียนเป็นอย่างไรอยู่แล้วบ้าง ประจวบเหมาะกับการที่ได้ฟังข้อมูลโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงจากศิษย์เก่าโครงการ ฝ้ายจึงรู้สึกว่าโครงการนี้ตอบโจทย์ ฝ้ายจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการของมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ในฐานะครูผู้นำรุ่นที่ 8

 

เอาชนะใจเด็กทั้งในและนอกห้องเรียน

ถ้าในห้องเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ณ โรงเรียนห้วยยางศึกษา จังหวัดระยองนั้น ครูฝ้ายเป็นครูที่ใจเย็นและใจดี รับฟังปัญหาการเรียนของเด็กๆโดยไม่ด่วนตัดสิน ค่อยเป็นค่อยไป สอนแล้วสอนอีกจนกว่าจะเข้าใจ จนเอาชนะใจและเปลี่ยนใจนักเรียนหลายๆคนให้มาชอบวิชาเลขไปโดยปริยาย “ตอนแรกไม่ชอบวิชานี้เลย แต่ครูที่ทำให้ผมอยากเรียนคณิต” ฝ้ายเล่าถึงคำพูดของนักเรียนของเธอ ซึ่งฝ้ายมองว่าความชอบเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะฝ้ายเชื่อว่า “ถ้าเรียนไม่เก่งแต่อย่างน้อยอยากเรียน สุดท้ายแล้วก็ต้องทำได้” ทัศนคตินี้ทำให้นักเรียนหลายๆคนของฝ้ายสอบผ่านฉลุย แถมเอาคะแนนมาอวดครูฝ้ายตั้งแต่เทอมแรกเลยทีเดียว

ส่วนนอกห้องเรียนนั้น ฝ้ายใช้สิ่งที่เรียนมาจากมหาลัยมาปรับใช้จนกลายเป็นนักฟังตัวยง นักฟังที่ไม่ตัดสินผู้พูด การเป็นนักฟังที่ดีของฝ้ายนั้น ทำให้เด็กเกิดความสบายใจและเข้าหาครูฝ้ายไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งเรื่องเรียน ครอบครัว ความรัก การเงิน เรียกว่าฝ้ายรู้หมด 

แต่ฝ้ายไม่ได้นั่งฟังอย่างเดียวเท่านั้น ฝ้ายเลือกที่จะสอนโดยการปฏิบัติตัวเป็นตัวอย่างผ่านหลากหลายกิจกรรมที่เธอเข้าร่วมตลอดเวลา “ถ้าว่างก็ออกมาเล่นกีฬา เล่นไม่เป็นก็จะเล่น แล้วมันได้เรียนรู้ว่า พอเราได้ลองทำอะไรที่เราไม่ค่อยได้ทำ มันก็ทำได้ แล้วเราก็อยากให้เด็กเห็นว่า เราก็ไม่ได้เก่ง แต่เราก็ทำมันได้

นักเรียนทุกคนต้องรอด

แต่การเดินทางของฝ้ายนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะนักเรียนแต่ละกลุ่มมีจุดประสงค์ในการมาเรียนไม่เหมือนกัน บางคนก็มาเรียนเพื่อหาเพื่อนเข้าสังคม บางคนมาเรียนเพราะโดนบังคับ แต่บางคนก็มีความฝัน แต่ถ้าถามถึงความฝันของครูฝ้ายสำหรับนักเรียนของเธอนั้น เธอมองว่า “จบไปแล้วดูแลตัวเองได้ ก็เพียงพอแล้ว สำหรับเด็ก ม.ต้น ก็หวังให้อย่างน้อยนักเรียนมีวุฒิ ม. 3 เพื่อให้ไปต่อได้ ให้เค้าได้รู้ว่าอย่างน้อยความสำเร็จหนึ่งก้าวมันได้เกิดขึ้นแล้ว” 


ซึ่งต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนที่บริบทท้าทาย แต่ฝ้ายเองก็ยืนยันหนักแน่นว่า ไม่ว่านักเรียนจะมาโรงเรียนเพื่ออะไร จะก่อเรื่องหรือจะแสบแค่ไหน ฝ้ายก็เลือกที่จะไม่ตัดสินและจะยืนหยัดอยู่เคียงข้างพวกเขา “เราก็ยังอยากจะอยู่ตรงนี้ อยากเห็นพวกเค้าไปรอด เพราะเค้าก็คือเด็กที่เราสอน”

2 ปีแห่งการสะสมความรู้ และพัฒนาทักษะสำคัญเพื่ออาชีพในอนาคต

ฝ้ายมองว่าความเข้าใจในแนวคิด และมุมของนักเรียนที่ฝ้ายได้เก็บเกี่ยวจากการเป็นที่ปรึกษาจำเป็น เป็นฐานข้อมูลที่ฝ้ายมั่นใจว่าจะมีประโยชน์กับการเป็นนักจิตวิทยาโรงเรียน ซึ่งเป็นอาชีพที่ฝ้ายเล็งไว้หลังจากจบโครงการ “พอเรามาอยู่ตรงนี้ เราได้อยู่กับเด็ก ได้เห็นเค้าในหลายๆแบบที่แตกต่างกัน มันทำให้เรารู้สึกว่าเราก็เจอมาประมาณนึงแล้วนะ เราก็พอจะมองเห็นภาพเค้าชัดขึ้น ถ้าเราไปอยู่ในโรงเรียนอีกรอบ เราจะมองเห็นได้ว่าเรื่องแบบนี้ มันเกิดขึ้นจากอะไรได้บ้าง ก่อนจะคุยหรือแก้ปัญหาให้เค้า”

นอกเหนือจากความรู้และประสบการณ์ที่จะนำไปต่อยอดแล้วนั้น ฝ้ายยังได้ทักษะสำคัญอีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะในการสื่อสารที่ฝ้ายใช้คำว่า “เลิศมาก” เพราะต้องพูดทั้งในและนอกห้องเรียนเป็นชีวิตประจำวัน ฝ้ายเล่าว่า “คณิตมันเป็นวิชาที่เราชอบ แต่การที่จะมาสอนคนอื่นมันอาศัยความชอบอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องคิดว่าจะย่อยให้เค้าฟังยังไง ตอนนี้รู้สึกว่าพูดอะไรออกมาแล้วมันเป็นคำที่เข้าใจมากขึ้น” เรียกว่าได้พัฒนาการสื่อสารข้อมูลหลายแบบ ให้กลุ่มผู้ฟังที่หลากหลายสามารถเข้าใจได้

เตรียมตัวเพื่อเป็นผู้ให้ เตรียมตัวเพื่อเป็นผู้รับ

ฝ้ายมองว่าโครงการนี้ เหมาะกับคนที่มองหาพื้นที่ในการทำความรู้จักและพัฒนาเด็ก ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีเพราะทุกคนต่างรู้ดีว่าเด็กเป็นอนาคตของชาติ และสำหรับรุ่นน้องในคณะจิตวิทยา โดยเฉพาะกลุ่มที่สนใจช่วงพัฒนาการนั้น การเข้าร่วมโครงการจะเปิดพื้นที่ให้เห็นพัฒนาการของเด็กอย่างแน่นอน “ถึงแม้ว่าจะเป็นแค่ช่วงวัยรุ่น แต่ถ้าเค้าเจอเรื่องอะไรมา คือเราได้รับรู้ทั้งหมด เพราะเค้าจะเล่าเราฟัง ที่นี่จะให้เราได้ลงมือทำให้สิ่งที่เรียนมา” แต่ที่สำคัญที่สุดนั้น ฝ้ายแนะนำว่า “ถึงแม้ว่าเราจะเข้ามาเรียนรู้จากพวกเค้า แต่เราก็ต้องเตรียมตัวมาให้ดีพอเพื่อให้เค้าได้เรียนรู้อะไรจากเราบ้าง”

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับการเปลี่ยนแปลงอนาคตการศึกษาไทย นักเรียนไทยนับร้อยและตัวคุณ ผ่าน ‘โครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ เป็นระยะเวลา 2 ปี ผ่านการสอน และ ทำงานร่วมกับเครือข่าย โรงเรียน ชุมชน ผู้ปกครอง สมัครได้แล้วตั้งแต่วันนี้ที่…https://tft-fellowship.org