20 ชีวิตเล็กๆกับพันธกิจยิ่งใหญ่ที่จะยุติความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย | Once And For All

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาทำให้ทีมงานของมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ต้องปรับตัวและ Work From Home กันจนเป็นเรื่องเคยชิน แน่นอนว่าในส่วนของผลการดำเนินงานนั้น ทุกทีมสามารถบรรลุเป้าหมายและสร้างผลกระทบให้แก่การศึกษาไทยได้อย่างน่าประทับใจ ทีมงานกว่า 20 ชีวิตนั่งจดจ่อหน้าจอคอมพิวเตอร์คู่ใจตั้งแต่เช้าจรดเย็น ด้วยความมุ่งมั่นหนึ่งเดียวคือการขับเคลื่อนครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงกว่า 130 คนให้ส่งเสริมการศึกษาให้แก่นักเรียนเกือบ 20,000 คนทั่วประเทศไทยในปีที่ผ่านมา

     ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาทำให้ทีมงานของมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ต้องปรับตัวและ Work From Home กันจนเป็นเรื่องเคยชิน แน่นอนว่าในส่วนของผลการดำเนินงานนั้น ทุกทีมสามารถบรรลุเป้าหมายและสร้างผลกระทบให้แก่การศึกษาไทยได้อย่างน่าประทับใจ ทีมงานกว่า 20 ชีวิตนั่งจดจ่อหน้าจอคอมพิวเตอร์คู่ใจตั้งแต่เช้าจรดเย็น ด้วยความมุ่งมั่นหนึ่งเดียวคือการขับเคลื่อนครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงกว่า 130 คนให้ส่งเสริมการศึกษาให้แก่นักเรียนเกือบ 20,000 คนทั่วประเทศไทยในปีที่ผ่านมา

     แต่ก็ต้องยอมรับว่าการนั่งทำงานในห้องสี่เหลี่ยมที่บ้านของตนเพียงลำพัง และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ร่วมอุดมการณ์ผ่านหน้าจอเพียงอย่างเดียวนั้น ต้องใช้แรงใจไม่ใช่น้อย บางคนเหนื่อย บางคนล้า บางคนสับสนและหลงทาง มูลนิธิฯจึงไม่รอช้า และใช้โอกาสช่วงปีใหม่ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เรียกทั้ง 20 กว่าชีวิตกลับมารวมตัวกันอย่างเป็นทางการอีกครั้ง เพื่อเติมพลัง เติมไฟ และเติมกำลังใจให้กันและกัน

“เรากำลังทำอะไร เราทำไปทำไม และเราทำไปเพื่อใคร?”

     ยังไม่ทันจะ 9 โมงเช้าดี แต่ทันทีที่ก้าวขาผ่านประตูออฟฟิศก็ได้ยินเสียงหัวเราะและพูดคุยกันอย่างสนุกสนานของทีมงานครบทีม บางกลุ่มยืนมุงอาหารประจำบ้านเกิดที่แต่ละคนตั้งใจไปเสาะหามาแบ่งปัน บางกลุ่มตั้งวงอวดชุดประจำจังหวัดที่จะใส่เข้าประกวดชิงรางวัล และบางกลุ่มก็เปิดวงสนทนาคุยกันทั้งเรื่องงานและเรื่องชีวิตกันอย่างจริงจัง 

     แต่ก่อนจะไปถึงกิจกรรมสานความสัมพันธ์ที่ได้วางแผนไว้ คุณตะ-วิชิตพล ผลโภค ผู้บริหารและผู้ก่อตั้งมูลนิธิฯ ได้ใช้เวลาครึ่งเช้าในการช่วยเติมพลังให้กับหลายคนที่กำลังเหนื่อยล้า โดยตั้งคำถามง่ายๆที่ว่า “เรากำลังทำอะไร เราทำไปทำไม และเราทำไปเพื่อใคร?”

     ซึ่งแท้จริงแล้ว คำตอบของคำถามเหล่านี้ ทุกคนรู้อยู่แก่ใจ เพียงแต่ไม่ได้มีเวลามาฉุกคิดถึงเป้าหมายใหญ่ระหว่างการเดินทางเท่านั้นเอง กิจกรรมช่วงเช้าจึงเป็นช่วงเวลาที่ทีมงานได้กลับมาสะท้อนที่มาและชีวิตของตัวเอง เราได้ฟังเรื่องราวของผู้ร่วมเดินทาง เราได้รู้จักผู้ร่วมอุดมการณ์มากกว่าแค่ภาพในจอ เราได้ภูมิใจกับความสำเร็จ และเราได้ร่วมร้องไห้เมื่อมองย้อนไปกลับไปถึงอุปสรรคที่ฝ่าฟันร่วมกันมาตลอดปี

เป้าหมายใหญ่ในวาระครบรอบ 10 ปี

     แต่ที่สำคัญคือเราได้เข้าใจถึงความสำคัญของเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ในปีนี้ที่เราจะมีอายุครบ 10 ปี เราได้เข้าใจว่าทำไมเราต้องเพิ่มเป้าหมายครูผู้นำเป็น 80 คน เพื่อเข้านักเรียนอีก 20,000 คน เราได้เห็นว่าการจะทำให้เด็กทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้นั้น เราต้องสร้าง “ผู้นำ” มากขึ้นในทุกๆปี เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ผู้นำที่มีทั้งประสบการณ์ตรงและความเข้าใจถึงปัญหาการศึกษาอย่างแท้จริงผ่านการทำงานจริง 

     ตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมานั้น ศิษย์เก่าผู้นำการเปลี่ยนแปลงกว่า 250 ชีวิต ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์จากโครงการสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่เด็กไทยกว่า 100,000 คนต่อปี แต่ปัญหาคือยังมีเด็กอีกเป็นล้านที่รอเราอยู่ 

     ซึ่งเห็นอย่างนี้แล้วบางคนอาจจะท้อใจ แต่กว่า 20 ชีวิตในออฟฟิศเล็กๆใจกลางถนนสุขุมวิทกลับยิ่งฮึกเหิมมีไฟ เพราะถือเป็นเกียรติและเป็นความภาคภูมิใจ ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตเราได้เป็นส่วนเล็กๆของพันธกิจยิ่งใหญ่ที่จะยุติความเหลื่อมล้ำการทางศึกษาไทย once and for all