คุณค่าของ “ประสบการณ์” จากโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง

แม้จะจบการศึกษามาจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แต่ก้านตองมีความฝันที่อยากจะเป็นครู เพื่อพัฒนาการศึกษาและช่วยเหลือน้อง ๆ ที่บ้านเกิดของตนเอง

     แม้จะจบการศึกษามาจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แต่ก้านตองมีความฝันที่อยากจะเป็นครู เพื่อพัฒนาการศึกษาและช่วยเหลือน้อง ๆ ที่บ้านเกิดของตนเอง 

 

    ในช่วงปี 4 ก่อนที่จะเรียนจบ ก้านตองได้มีโอกาสไปสอนพิเศษให้กับน้อง ๆ แถวบ้านที่จังหวัดนครปฐม จากความตั้งใจแรกที่เพียงอยากไปลองหาประสบการณ์ ก้านตองกลับชื่นชอบการสอนอย่างจริงจัง จึงเริ่มต้นหาช่องทางที่จะเป็นครู ประกอบกับที่ก้านตองเองเป็นคนที่ชอบทำกิจกรรมจิตอาสามาก ๆ ทำให้ได้เคยไปออกค่ายอาสาต่าง ๆ จึงได้เห็นความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาของสังคมไทยที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น นี้เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่ทำให้อยากลองมาเป็นครู เพื่อที่จะหาช่องทางในการช่วยพัฒนาสังคมไทยและชุมชนของตนเอง จนได้มาพบกับโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงของมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ที่เปิดโอกาสให้เด็กคณะวิทย์อย่างก้านตองได้มาลองสนามจริงผ่านบทบาท “ครู” เป็นเวลาเต็ม ๆ ถึง 2 ปี

“ประสบการณ์” ที่ทำให้เข้าใจคนเป็นครู และรางวัลของการเป็นครู

ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี ในฐานะครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 8 ณ โรงเรียนเสด็จวนชยางค์กูลวิทยา จังหวัดลำปาง ก้านตองได้เรียนรู้อะไรมากมายในทุก ๆ วัน

 

“เราได้รู้ว่า การเป็นครู มันไม่ได้เป็นกันได้ง่าย ๆ ต้องเตรียมแผน เตรียมสอน เตรียมสื่อ เราต้องคิดตลอดเวลาว่า ทำยังไงนักเรียนถึงจะเข้าใจสิ่งที่เราสอน หรือทำยังไงนักเรียนถึงจะบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่เราและนักเรียนตั้งร่วมกันไว้” 

 

แต่ถึงแม้จะมีอุปสรรคหรือความท้าทายมากมายเพียงใด ความตั้งใจในการเป็นครูของก้านตองก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง เพราะก้านตองเองก็ได้เรียนรู้ว่า รางวัลของการฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านี้มีค่าต่อใจเพียงใด “ผมเข้ามาก็ได้เจอแจ็คพ๊อตเลยครับ ได้เจอนักเรียนแสบมาก ๆ ไม่ค่อยเรียน ไม่ค่อยทำงาน … ผมจึงใช้ใจเข้าไปเพื่อทำความรู้จักพวกเขาให้มากขึ้น คอยช่วยเหลือเขาในสิ่งที่เราช่วยได้ ให้เขารู้ว่า เราพร้อมที่จะช่วยเหลือและเป็นที่พึ่งของเขาได้ เขาก็เลยเปิดใจ ยอมคุยกับเรามากยิ่งขึ้น หลัง ๆ คือวันครูก็มาเซอร์ไพรส์ วันเกิดก็มาเซอร์ไพรส์ คือทุกเทศกาลจะมีของมาให้” ก้านตองเล่าถึงความสัมพันธ์ของเขาและเหล่านักเรียนสุดแสบอย่างมีความสุข และภูมิใจที่เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวนักเรียนของเขา 

 

     ถ้าพูดถึงทักษะที่ได้พัฒนา อย่างแรกเลยคือ ‘ทักษะการปล่อยวาง’  แต่ก่อนเราเป็นคนคาดหวังในตัวเองสูง เราจะต้องทำทุกอย่างให้ได้ตามที่เราหวังหรือวางแผนไว้ จนบางครั้งเราเผลอเอาความคาดหวังไปลงกับนักเรียน แล้วพอนักเรียนไม่สามารถทำได้ตามที่เราตั้งไว้ได้  เราก็จะรู้สึกทุกข์ใจมาก สุดท้ายเราจึงพยายามที่จะทำความเข้าใจพวกเขา แล้วหาทางพัฒนากันต่อไป ซึ่งทำให้เราและนักเรียนเข้าใจกันและกันมากยิ่งขึ้น 

     อีกสิ่งที่ทำให้เราได้พัฒนามาก คือการทำงานในโรงเรียน มันมีเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงเยอะมาก ซึ่งมันทำให้เราเป็นคนที่มีระเบียบแบบแผนมาก เราจึงต้องฝึกที่จะเรียนรู้และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในทุก ๆ วัน เพื่อให้งานของเราสามารถดำเนินต่อไปได้ ถ้าหากมองเส้นทางนี้เป็นเส้นทางแห่งการเรียนรู้ มันคงเป็นเส้นทางที่สอนให้เรารู้จักที่จะอดทนและพยายามให้ถึงที่สุดก่อน  ถ้าหากเราผ่าน 2 ปีนี้ไปได้ มันคงช่วยให้เราสามารถคิด ตัดสินใจ และควบคุมอารมณ์ในการทำงานในอนาคตได้อย่างแน่นอน

“ประสบการณ์” ที่ทำให้ได้เติบโต พัฒนา และรู้จักศักยภาพของตัวเอง

     นอกเหนือจากการได้เข้าใจบริบทและความท้าทายของอาชีพครูแล้ว ก้านตองยังได้พัฒนาทักษะอีกมากมายตลอดการเดินทางที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นทักษะการจัดการ เพราะต้องทั้งจัดการงาน จัดการเวลา หรือจัดการคน หรือ ทักษะการแก้ไขปัญหา “นักเรียนหลายคนคิดแค่ว่าจบ ม.3 ก็คงพอแล้ว ไม่ได้มีเป้าหมายหรือความฝันในสิ่งที่ตนเองอยากจะทำจริง ๆ ทำให้เราต้องมาคิดว่าจะทำยังไงให้นักเรียนกลุ่มนี้เขาได้รับในสิ่งที่เขาต้องการ แล้วมันโอเคกับเขา แล้วก็โอเคกับเราด้วย ในมุมที่ว่า เราพัฒนาเขาได้อย่างไร หรือทำยังไงให้เขามองเห็นเป้าหมายของตนเองมากขึ้น เราก็ต้องหาวิธีต่าง ๆ เทคนิคการสอนที่โอเคสำหรับเขา หรือกิจกรรมที่มาสอดแทรกเพิ่มเติมให้กับเขาได้”

 

     แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของการได้ลองมาเป็นครู 2 ปี คือการได้พัฒนา และรู้จักถึงศักยภาพของตัวเอง ผมได้เรียนรู้ว่า ผมสามารถจัดการหลาย ๆ อย่างได้ด้วยความพยายามของตัวเอง ได้เรียนรู้ว่าถ้าเราพยายามมันก็ทำได้นะ”  ตอนนี้ผมกำลังเรียน ป. บัณฑิตไปด้วย ทำงานไปด้วย คือ 5 วันทำงาน 2 วันเรียน ไม่ได้พักยาวเลย ยกเว้นจะมีวันหยุดนักขัตฤกษ์ เหมือนเป็นการท้าทายตัวเอง ว่าถ้าเราอยากที่จะเป็นครูจริง ๆ เราต้องมีความพยายามที่จะเรียนหรือศึกษาเพิ่มเพื่อพัฒนาตนเอง แล้วจึงจะมาพัฒนานักเรียนของเราต่อไปได้”

“ประสบการณ์” ที่เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางการพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง

ก้านตองมองว่า ช่วงเวลาหลังเรียนจบ ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในการหาประสบการณ์ที่จะส่งผลต่ออนาคตในระยะยาว “มันมีงานอื่น ๆ ที่มีความมั่นคงมากกว่า งานสายตรงที่เราเรียนจบมาอาจจะมั่นคงมากกว่านี้ด้วยซ้ำ เงินเดือนอาจจะมากกว่านี้ด้วยซ้ำ แต่ความตั้งใจของเราคือเราอยากหาประสบการณ์ ก่อนที่จะไปทำสิ่งที่อยากทำจริง ๆ …ซึ่งโครงการนี้ก็ไม่ใช่โครงการจิตอาสาอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ เพราะเป็นโครงการที่มีทั้งสวัสดิการ มีเงินเดือน และเป็นโครงการที่เราจะได้พัฒนาทั้งนักเรียน โรงเรียน และชุมชน นอกจากนี้ยังได้พัฒนาตัวเองไปพร้อม ๆ กันด้วย เราจะได้เห็นตัวเองมากขึ้น ได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น”

 

ทั้งประสบการณ์ การเรียนรู้ และทักษะที่ก้านตองได้รับตลอด 2 ปี กลายเป็นก้าวสำคัญในการสานฝันอันยิ่งใหญ่ของก้านตอง “ช่วงนี้ผมอยากได้ประสบการณ์ไกล ๆ บ้านก่อน แต่พอได้จังหวะแล้ว อยากกลับไปพัฒนาชุมชนของตัวเอง ในระยะยาวอยากเป็นผู้บริหารโรงเรียน และอยากจะชวนเพื่อน ๆ เปิดสถาบันช่วยเหลือเด็กที่เขาไม่มีความพร้อมในด้านต่าง ๆ ให้ได้มาเรียนรู้เพิ่มเติมนอกห้องเรียนฟรี ทั้งด้านวิชาการ และด้านทักษะอื่น ๆ ตามความสนใจของพวกเขา แล้วก็อยากจะขยายสาขาด้วยถ้ามีทุนทรัพย์พอจริง ๆ ซึ่งอันนี้เป็นความตั้งใจตั้งแต่แรกแล้ว

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับการเปลี่ยนแปลงอนาคตการศึกษาไทย นักเรียนไทยนับร้อยและตัวคุณ ผ่าน ‘โครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ เป็นระยะเวลา 2 ปี ผ่านการสอน และ ทำงานร่วมกับเครือข่าย โรงเรียน ชุมชน ผู้ปกครอง 

สมัครได้แล้วตั้งแต่วันนี้ที่…https://tft-fellowship.org