“2 ปีแห่งการเข้าใจปัญหาการศึกษา การสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กไทย และเส้นทางงานการศึกษาที่ไม่มีที่สิ้นสุด”

ชนกานต์ ชูชีพชื่นกมล (ฝน) ศิษย์เก่าผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 2 ปัจจุบัน ฝนเป็นนักวิทยาศาสตร์ ในกรมวิทยาศาสตร์บริการ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กระทรวง อว.) นอกเหนือจากนั้น ฝนยังใช้เวลาว่างในการทำงานด้านการศึกษาเป็นที่ปรึกษาให้แก่กลุ่มนักเรียนในโครงการ Youth SDGs อีกด้วย

     ชนกานต์ ชูชีพชื่นกมล (ฝน) ศิษย์เก่าผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 2 ปัจจุบัน ฝนเป็นนักวิทยาศาสตร์ ในกรมวิทยาศาสตร์บริการ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กระทรวง อว.) นอกเหนือจากนั้น ฝนยังใช้เวลาว่างในการทำงานด้านการศึกษาเป็นที่ปรึกษาให้แก่กลุ่มนักเรียนในโครงการ Youth SDGs อีกด้วย

“จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงจากปัญหาเชิงระบบ”

     ชนกานต์ ชูชีพชื่นกมล (ฝน) จบการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ เอกเคมี มหาวิทยาลัยมหิดล จุดเริ่มต้นของเส้นทางการเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง คงต้องย้อนกลับไปตอนที่ฝนอยู่ ม.5  ฝนได้อ่านหนังสือและการเรียนพิเศษกับครูท่านหนึ่ง  ผู้ซึ่งออกจากระบบการศึกษาเพราะไม่สามารถสอนในเนื้อหาหรือแบบที่ต้องการอยากสอนได้ ครูท่านนั้นบอกว่า ระบบมันมีความซับซ้อนเกินกว่าที่จะเปลี่ยนหรือแก้ได้ มันเหมือนเป็นปมที่ผูกมัดกันไปหมด มันเลยติดใจเรา ทำให้เราอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับการเปลี่ยนแปลงการศึกษามาโดยตลอด จนหลังเรียนจบ เราจึงตัดสินใจสมัครโครงการ ‘ผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ เพราะเรามองว่า ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์สามารถสร้างพื้นที่ ที่ทำให้เราได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในแบบที่การทำงานในระบบไม่สามารถให้เราได้ เราจึงตัดสินใจสมัคร และได้ไปสอนวิชาคณิตศาสตร์ ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในสังกัด กทม.

“2 ปีกับการเข้าใจปัญหาเชิงระบบ”

     ก่อนเข้าไปสอนในโรงเรียน เราเข้าใจประมาณนึงว่า การศึกษาไทยมีปัญหาให้พัฒนาเยอะ แต่เราไม่เคยคิดว่ามันจะมีปัญหาที่เยอะแยะและหลากหลายขนาดนี้ เราเติบโตในโรงเรียนต่างจังหวัด ซึ่งเป็นการศึกษาในอีกมิตินึง หลายครั้งที่เราเห็นความเหลื่อมล้ำในระดับกรุงเทพ กับต่างจังหวัด เช่น การลงงบประมาณที่มากกว่า หรือหลักสูตรที่มีความหลากหลายมากกว่า แต่ถ้าหากมองย้อนกลับมาการศึกษาในโรงเรียนสังกัดกทม. เองก็มีปัญหาที่นักเรียนต้องเจอไม่น้อย เช่น ความแน่นของคาบเรียน หรือการที่โรงเรียนในสังกัดกทม. เปิดรับนโยบายที่มีความใหม่และหลากหลายที่ต้องมาปฎิบัติในโรงเรียน ซึ่งอาจส่งผลต่อความต่อเนื่องของหลักสูตร และอาจเป็นการเพิ่มภาระให้ทั้งครู ทั้งนักเรียน อีกหนึ่งสิ่งที่เรามองเห็นจากการเข้ามาทำงานตรงนี้ คือบทบาทของครู ก่อนหน้านี้เรามักจะเห็นการเรียกร้องจากคนภายนอกมากมายว่า อยากให้ครูทำแบบโน้น ทำแบบนั้น แต่พอเราเข้ามาอยู่ในระบบจริง ๆ เราพบว่า มีครูจำนวนมากที่พร้อมจะช่วยและสนับสนุนนักเรียน แต่ด้วยข้อจำกัดจากระบบหรือภาระงานมากมายที่ทำให้ครูกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือนักเรียนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เราเชื่อว่า ในระบบยังมีครูอีกจำนวนมากที่เขาพร้อมจะสนับสนุน ผลักดันนักเรียน หรือแม้แต่อยากสร้างสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นในระบบการศึกษา

“2 ปีกับการพัฒนาเขา จนกลายเป็นการพัฒนาเรา”

     สิ่งที่ประสบการณ์ 2 ปีหล่อหลอมเรามาก คือการพัฒนาทักษะ ‘การจัดการเวลา’ เพราะการสอนหนังสือ เราต้องทำหลายอย่างมาก ๆ ทั้งเตรียมการสอน หรือแม้กระทั้งงานอย่างอื่น แล้วยิ่งเรามีเวลา 2 ปี เราเลยอยากทำหลายอย่าง ๆ ให้มันเกิดขึ้น และเห็นผลในเวลาจำกัด

    มากไปกว่านั้น ‘การวางแผน’ นับเป็นอีกทักษะที่เราได้พัฒนาใน 2 ปีนี้อย่างชัดเจน เพราะในการทำงานทุก ๆ วัน เราต้องอาศัยการวางแผนอย่างมาก ในช่วงแรกเราวางแผนการสอนวันต่อวัน จนพอเราสอนไปสักระยะ เราอยากให้นักเรียนเขาได้รับการเรียนเต็มที่ เราจึงใช้เวลาในการวางแผน วางระบบ ออกแบบกิจกรรม การเรียนรู้ จนทุกวันนี้แผนที่วางไว้ก็ยังใช้อยู่  

    หลังจบ 2 ปี อีกหนึ่งบทบาทที่ติดมากับตัวเรา คือการเป็น ‘นักสู้’ เรารู้สึกไม่กลัวสิ่งที่มันจะเกิดขึ้น เราไม่กังวลที่จะเจอสิ่งใหม่ ๆ ไปอยู่ในที่ใหม่ ๆ หรือทำความรู้จักคนใหม่ ๆ มันกลายเป็นส่วนนึงของชีวิตเราไปแล้ว จนวันที่เราได้ไปเรียนต่อ เรากลายเป็นคนที่ไม่กลัวอะไร รู้สึกสนุกกับความท้าทายที่จะเจอสิ่งใหม่ ๆ ไปแล้ว

 

“เปลี่ยนอนาคตคุณ ที่เปลี่ยนอนาคตเขา”

    วันที่เราจบจากโครงการและออกจากโรงเรียน เราไม่รู้สึกเสียดายกับอะไรที่ผ่านมาเลย วันสุดท้ายมีนักเรียนกลุ่มนึงที่เดินเข้ามาหาเราแล้วสัญญาว่าพวกเขาจะตั้งใจเรียนให้มากขึัน ทั้ง ๆ ที่เขาเคยเป็นเด็กที่ไม่เชื่อมั่นในตัวเอง และวันนี้เขาเริ่มเชื่อมั่นในตัวเองแล้ว รวมถึงนักเรียนอีกคนที่เรารู้สึกชื่นชมเขามาก จากนักเรียนที่ไม่เชื่อมั่นในตัวเอง แต่ด้วยคำคมที่ให้กำลังใจเขาในวันนั้นว่า “ก่อนวิ่งเราต้องเคยเดิน และ ก่อนเดินได้ต้องเคยล้ม” มันบอกเขาว่า แต่ละคนมีเวลาที่เติบโตและสำเร็จไม่พร้อมกัน เพียงแค่พยายามต่อไป จนเมื่อไม่นานมานี้เรากลับไปเจอเด็กคนนี้ใน Instagram จนมีโอกาสได้คุยกัน  ทุกวันนี้เขาเรียนจบ ปวช. และ สามารถทำงานหาเลี้ยงตัวเองได้แล้ว

     หากพูดถึงนักเรียนที่ประทับใจที่สุด คงไม่พ้นนักเรียนหลังห้องคนหนึ่ง ที่มักจะไม่ตั้งใจเรียนและบอกตัวเองอยู่เสมอว่า เขาไม่สามารถพัฒนาได้ จนเราได้เข้าไปคุยกับเขา เสริมแรงเขาจนเขากล้าที่จะเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้เราฟัง เราเริ่มเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขา จนเขาอยากเรียนต่อในสายวิชาชีพ เราก็ส่งเสริมเขาเต็มที่บอกให้เขาเรียนในสิ่งที่เขาชอบและมีความสุขกับมัน นอกจากเราส่งเสริมทางความคิด เราเชื่อมั่นในความเป็นนักสู้ในตัวเขา ในบางครั้งเมื่อมีโอกาสเราก็มีสนับสนุนเรื่องค่าเทอมให้บ้าง จนนักเรียนคนนี้สามารถเรียน ปวช. ทำงานฝีมือจนหาเลี้ยงตัวเองได้ประมาณนึง และ ได้ทุนการศึกษา จนทุกวันนี้นักเรียนคนนั้นสามารถเรียนจบ ปวส. และกำลังวางแผนที่จะศึกษาต่อในระดับชั้นปริญญาตรี ทุกวันนี้เรายังพูดคุยและมองการเติบโตของนักเรียนคนนี้อยู่เสมอ ยังพาเขาไปมหกรรมวิทยาศาสตร์เพื่อให้เขาได้ไปดูเครื่องกลที่เขาชอบในทุก ๆ ปี ยังเชื่อมั่นในตัวเขาเสมอ เรารู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการจุดไฟความเป็นนักสู้ในตัวเขา

“เส้นทางงานการศึกษาที่ไม่มีที่สิ้นสุด”

     หลังจากจบ 2 ปี เรามองว่าในยุคนั้นงานด้านการศึกษายังไม่ได้เปิดกว้างเท่ากับทุกวันนี้ เราจึงตัดสินใจกลับมาทำงานสายวิทยาศาสตร์ที่เราเรียนจบมา และได้รับทุนไปศึกษาต่อที่ KTH Royal Institute of Technology ประเทศสวีเดน เหมือนโชคชะตากำหนดให้เรากลับมาทำงานด้านการศึกษาอีกครั้ง เราไปเจอครูคนไทยที่อยู่ที่นั้น ทำให้เราได้มีโอกาสในการร่วมออกแบบกระบวนการสอนภาษาไทยที่นั้น รวมถึงสอนคณิตศาสตร์ให้กับนักเรียนต่างชาติเช่นกัน

     การทำงานราชการเป็นอีกขั้นของการเติบโต และด้วยเวลาการทำงานที่ชัดเจน มันทำให้เราได้กลับมาทำสิ่งที่เรารักซึ่งคืองานการศึกษาอีกครั้ง เราได้กลับมาช่วยงาน  Youth SDGs   โดยเราได้รับบทบาทเป็นที่ปรึกษาให้กับน้อง ๆ ที่ร่วมกลุ่มเพื่อพัฒนาและแก้ไขประเด็นสังคมที่พวกเขาสนใจ ซี่งในบทบาทนี้ เหมือนเราได้กลับไปเป็นครูอีกครั้ง ได้ให้คำปรึกษา ได้เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับน้อง ๆ ในทีม ถึงแม้ว่า เราอาจจะไม่ได้กลับไปทำงานการศึกษาเต็มตัว แต่เรามองว่า การที่ได้พัฒนาศักยภาพเด็กหรือเยาวชนที่กำลังจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้าก็นับเป็นการพัฒนาการศึกษาไทยในรูปแบบนึงเช่นกัน

“โครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง =
พื้นที่ในการพัฒนาตัวเองของ First Jobber ”

     ส่วนตัวมองว่า งานนี้เหมาะกับ First Jobber ที่มองหาพื้นที่ในการพัฒนาตัวเอง เพราะการทำงานในโรงเรียนเป็นเหมือนภาพจำลองของสังคมที่จะทำให้คุณได้เจอกับการทำงานกับคนที่หลากหลาย สภาพปัญหาที่หลากหลาย หรือเสริมสร้างทักษะความเป็นผู้นำจากการที่คุณต้องนำนักเรียนนับสิบในห้องเรียน หรือจัดการวางแผนเพื่อทำงานต่าง ๆ ให้สำเร็จ  รวมถึงการทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ซึ่งนับเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ งานนี้จะเป็นงานที่ทั้งหล่อหลอมความคิดและทักษะให้กับตัวคุณ อาจจะมีวันที่สำเร็จบ้าง หรือมีวันที่ล้มเหลวบ้าง แต่เชื่อว่า หลังจากที่คุณเดินออกจากโครงการ คุณจะเป็นคนใหม่อย่างแน่นอน อย่างน้อย ๆ คุณอาจได้ปลุกความเป็น ‘นักสู้’ ในตัวคุณก็เป็นได้

     ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับการเปลี่ยนแปลงอนาคตการศึกษาไทยนักเรียนไทยนับร้อยและตัวคุณ ใน ‘โครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ เป็นระยะเวลา 2 ปี ผ่านการสอน และการทำงานร่วมกับเครือข่าย โรงเรียน ชุมชน และผู้ปกครอง 

สมัครได้แล้วตั้งแต่วันนี้ที่…https://tft-fellowship.org