“การก้าวออกจาก Comfort zone สู่ การเดินทางแห่งการพัฒนา”

“มันจะดีสักแค่ไหน ถ้าเด็ก ๆ กลุ่มนี้ได้รับโอกาสในการเรียนรู้เหมือนกับเด็ก ๆ ที่เราสอนพิเศษอยู่”

“มันจะดีสักแค่ไหน ถ้าเด็ก ๆ กลุ่มนี้ได้รับโอกาสในการเรียนรู้เหมือนกับเด็ก ๆ ที่เราสอนพิเศษอยู่”

     ชนิษฐ์ภัค ภูมิสูง (ไอเซ็น)  นักศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ เอกชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงมหาวิทยาลัย ไอเซ็นใช้เวลาส่วนหนึ่งในการสอนและพัฒนาศักยภาพนักเรียนผ่านการสอนพิเศษ ไอเซ็นมองว่าสเน่ห์ของการสอนคือการที่ได้ถ่ายทอดความรู้ หรือทริคในการเข้าใจเนื้อหาต่าง ๆ และทำให้เขาไปถึงเป้าหมายที่พวกเขาตั้งไว้ ถ้าย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของเส้นทางการเปลี่ยนแปลง เรามองว่าการศึกษาคือรากฐานของการพัฒนาประเทศ ซึ่งการศึกษาไทยยังมีหนทางอีกยาวไกลในการพัฒนา เราเลยอยากเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้ไปได้ไกลกว่านี้ รวมถึงอยากใช้โอกาสนี้ในการเสริมสร้างทักษะและประสบการณ์ให้เด็ก ๆ ในโรงเรียนขยายโอกาสอีกด้วย

“นักเรียน การเห็นความสำคัญของการศึกษา และทักษะที่ได้พัฒนาในเส้นทางนี้”

     สิ่งที่เข้ามาแล้วรู้สึกแปลกใจมาก คือมุมมองของนักเรียนที่มีต่อการศึกษา พวกเขาหลายคนยังไม่ได้มองว่าการศึกษาสำคัญหรือต่อยอดอนาคตเขาได้ หลายคนบอกว่าอยู่บ้านให้พ่อ-แม่เลี้ยงก็ได้ เรามองว่านักเรียนอาจจะไม่ได้เห็นโลกกว้าง หรือยังไม่ได้วางเป้าหมายในชีวิต ซึ่งไม่แปลกเพราะพวกเขาเองอาจจะไม่มีเวลาได้อยู่กับตัวเอง หรือโฟกัสสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งนั้นเป็นสิ่งที่เราอยากเข้าไปมีส่วนในการช่วยเขา เราไม่อยากให้เขาใช้ชีวิตอย่างประมาท 

 

     ถ้าพูดถึงทักษะที่ได้พัฒนา อย่างแรกเลยคือ ‘ทักษะการปล่อยวาง’  แต่ก่อนเราเป็นคนคาดหวังในตัวเองสูง เราจะต้องทำทุกอย่างให้ได้ตามที่เราหวังหรือวางแผนไว้ จนบางครั้งเราเผลอเอาความคาดหวังไปลงกับนักเรียน แล้วพอนักเรียนไม่สามารถทำได้ตามที่เราตั้งไว้ได้  เราก็จะรู้สึกทุกข์ใจมาก สุดท้ายเราจึงพยายามที่จะทำความเข้าใจพวกเขา แล้วหาทางพัฒนากันต่อไป ซึ่งทำให้เราและนักเรียนเข้าใจกันและกันมากยิ่งขึ้น 

     อีกสิ่งที่ทำให้เราได้พัฒนามาก คือการทำงานในโรงเรียน มันมีเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงเยอะมาก ซึ่งมันทำให้เราเป็นคนที่มีระเบียบแบบแผนมาก เราจึงต้องฝึกที่จะเรียนรู้และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในทุก ๆ วัน เพื่อให้งานของเราสามารถดำเนินต่อไปได้ ถ้าหากมองเส้นทางนี้เป็นเส้นทางแห่งการเรียนรู้ มันคงเป็นเส้นทางที่สอนให้เรารู้จักที่จะอดทนและพยายามให้ถึงที่สุดก่อน  ถ้าหากเราผ่าน 2 ปีนี้ไปได้ มันคงช่วยให้เราสามารถคิด ตัดสินใจ และควบคุมอารมณ์ในการทำงานในอนาคตได้อย่างแน่นอน

“บททดสอบท้ายคาบจากความพยายามของนักเรียน”

     ปกติเราจะสอนและใช้การเล่นเกมส์เป็นการประเมินผลท้ายคาบ โดยเราจะให้โอกาสเขาทบทวนผ่านการทำโจทย์ก่อน 2 รอบ เพื่อให้เขาได้เห็นโจทย์ผ่านตาแล้วจึงทดสอบจริง โดยปกติคะแนนเฉลี่ยทั้งห้องจะอยู่ที่ประมาณ 50%   ซึ่งจากพื้นฐานห้องนี้ เด็ก ๆ หลายคนค่อนข้างจะยอมแพ้อะไรง่าย ๆ แต่ในคาบเรียนนั้นเราตั้งเป้าหมายกับนักเรียนไว้ว่าถ้าคะแนนเฉลี่ยถึง 90% จะมีรางวัลให้ ซึ่งในการทดสอบนั้นมีนักเรียนบางคนที่ไปถึงเป้าหมาย 90% แต่ค่าเฉลี่ยห้องอาจจะไม่ถึงที่ตั้งไว้  คาบเรียนนั้นได้ให้บทเรียนกับเราอย่างมาก เพราะมันทำให้เราได้เห็นความพยายามของนักเรียน และทำให้เรารู้ว่าจริง ๆ แล้ว เด็ก ๆ ทุกคนก็อยากจะพัฒนาตัวเองเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น เพียงแค่ว่าในตอนนี้ พวกเขาอาจจะยังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนเท่านั้นเอง

“เราอยากเห็นโรงเรียนที่โอมอุ้มและไม่ทิ้งนักเรียนคนไหนไว้ข้างหลัง”

      ภาพสุดท้ายที่เราอยากเห็นกับการศึกษาไทย คือ เราอยากเห็นโรงเรียนที่โอบอุ้มนักเรียน มีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จากภาพการศึกษาที่เราเข้ามาเจอ เราพบว่ามันมีข้อจำกัดหลาย ๆ ด้านหลาย ๆ แง่มุม เช่น การโฟกัสที่ผลลัพธ์ หรือสร้างผลงาน โดยที่หลาย ๆ ครั้งอาจจะหลงลืมความต้องการของนักเรียนซึ่งควรจะเป็นศูนย์กลางไป อีกอย่างคือเราอยากเห็นนักเรียนของเรากล้าคิด กล้าทำ และกล้าฝัน กล้าที่จะมีเป้าหมายเป็นของตัวเอง รวมถึงพยายามไปให้ถึงจุดนั้น ในระยะเวลา 2 ปีนี้ เราจึงมองว่าเราอยากเป็นพื้นที่ปลอดภัยและรับฟังพวกเขาให้มากขึ้น เพื่อให้พวกเขากล้าที่จะยอมรับตัวตนของตัวเอง และหาเป้าหมายของตัวเองจนเจอ

“โครงการที่เหมาะกับคนที่อยู่ใน Comfort Zone และอยากจะก้าวออกมา”

      ถ้าหากคุณเป็นคนที่อยู่ใน Comfort Zone แต่ไม่เคยกล้าที่ก้าวออกมา  แล้วหาโอกาสในการเติบโตและก้าวออกจากมัน ส่วนตัวมองว่าโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงคือคำตอบ เพราะที่นี่ คือพื้นที่แห่งการเรียนรู้ นอกจากการที่คุณจะได้พัฒนาทักษะต่าง ๆ ผ่านการสอนแล้ว คุณยังได้เข้าใจสังคม เข้าใจมนุษย์มากขึ้นผ่านการทำงานในบริบทที่มีความหลากหลายของคนและสถานการณ์

 

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับการเปลี่ยนแปลงอนาคตการศึกษาไทย นักเรียนไทยนับร้อยและตัวคุณ ผ่าน ‘โครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ เป็นระยะเวลา 2 ปี ผ่านการสอน และ ทำงานร่วมกับเครือข่าย โรงเรียน ชุมชน ผู้ปกครอง 

สมัครได้แล้วตั้งแต่วันนี้ที่…https://tft-fellowship.org