Collective Vision (วิสัยทัศน์ร่วม): การศึกษาในชุมชนต้องไปต่อได้ แม้ไม่มี Teach For Thailand

Collective Vision หรือ วิสัยทัศน์ร่วม เป็นแนวคิดที่คล้ายประโยคที่ว่า “ต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน เพื่อเลี้ยงเด็กหนึ่งคน” การสร้างสภาพแวดล้อมในชุมชนสำคัญไม่น้อยในการช่วยให้เด็กมีการศึกษาที่ดี ซึ่งในกระบวนการสร้างความร่วมมือนี้ Teach For Thailand ให้ความสำคัญกับเสียงของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถบรรลุถึงการศึกษาในฝันของลูกหลานทุกครอบครัวในท้องถิ่น

     “เคยมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร อย่างเช่น ครูกับ ผ.อ. ไม่ถูกกัน ซึ่งมีอยู่แล้วในทุกโรงเรียน ครูเองก็แสดงความคิดเห็นแรงๆในบางเรื่อง ส่วน ผ.อ. ก็ใส่สุดในบางเรื่อง ก็ต้องตกลงกันก่อนว่า เราในฐานะคนอยู่หน้าเวที หรือน้องๆ Fellow ที่ต้องนำกิจกรรม จะทำยังไงให้เขาแลกเปลี่ยนความเห็นกันได้”

   

     ธนะรัชต์ ไชยรัชต์ (เอก) เจ้าหน้าที่อาวุโสพัฒนาความเป็นผู้นำของ Teach For Thailand ผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชน ตั้งแต่การจัดพื้นที่ให้คนในชุมชนได้คุยกันถึงอนาคตของลูกหลาน ไปจนถึงประสานเหตุขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเวที ดูเหมือนว่า “ความสัมพันธ์” จะเป็นสิ่งที่ช่วยเชื่อมโยงทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรลุถึง Collective Vision ของ Teach For Thailand ไปด้วยกัน

   

Q: “หากให้นิยาม Teach For Thailand ด้วยคำสามคำ คุณเอกจะนิยามว่าอะไร”

A: “คงจะเป็น การศึกษา Collaboration และ Vision ซึ่งสองคำหลังนั้นสื่อถึง Collective Vision ของเราด้วย”

 

Q: “ถ้าเปรียบเทียบกับการสร้างบ้าน Collective Vision เปรียบเสมือนส่วนไหนของบ้าน”

A: “คงจะเหมือนกับหลังคา เพราะเป็นเป้าที่อยู่สูงที่สุด เป็นภาพไกลที่สุดที่อยากจะเห็น”

Q: “Collective Vision คืออะไร”

A: “ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า Fellow ของ Teach For Thailand จะลงไปทำงานในชุมชนแค่ 2 ปี จากนั้นจะมี Fellow หน้าใหม่เข้าไป ซึ่งทำให้ขาดความต่อเนื่อง  โจทย์คือจะทำอย่างไรให้เราผนวกสิ่งเดิมให้เกิดความต่อเนื่องในชุมชน…โดยสุดท้ายแม้ไม่มี Teach For Thailand การพัฒนาการศึกษาในชุมชนนั้นก็ยังไปต่อได้”

“เรารวมตัวคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชนมาให้ความเห็น เป็นเจ้าของทิศทางการศึกษาในชุมชน ถ้าทำไปด้วยกันจะเกิด impact มากกว่า ต้องสร้างพื้นที่ให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น”

 

“ปกติแล้วทั้งโรงเรียน Teach For Thailand และชุมชน จะมีวิสัยทัศน์ของตัวเอง ทำยังไงจะสามารถรวม Vision เหล่านี้ สร้างเป็นภาพใหญ่ร่วมกันได้”

คำถามสร้างการเปลี่ยนแปลง

 

Q: “คำถามประเภทไหนที่เราตั้ง เพื่อให้ทุกคนมาร่วมกันสร้าง Collective Vision”

A: “เราถามในสิ่งที่เขาแคร์ เช่น ภาพฝันที่อยากให้เป็นของนักเรียน โรงเรียน และชุมชน คืออะไร หรือ ตอนที่เราเป็นนักเรียน อะไรที่ผลักดันและเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ของเรา ให้เขานึกย้อนถึงสิ่งที่เคยเจอมา เพื่อนำมาปรับใช้กับสถานการณ์ที่มี”

 

Q: “แล้วเรามีวิธีทำยังไงให้ความคิดเห็นของทุกคนถูกนำมาใช้จริง”

A: “เราฟังทุกคน แต่เราไม่สามารถทำทุกอย่างได้อยู่แล้ว เราจะเลือกสิ่งที่สำคัญ ทำได้เลย และมีกรอบเวลาลงมือ เช่น 3 ปี 5 ปี 8 ปี อย่างสำหรับนักเรียนบางคน เขาพูดถึงปัญหาตอนที่เขาอยู่ ม. 5 แล้ว ถ้าเราวางกรอบเวลาแก้ปัญหานานไป เขาก็จะเรียนจบก่อน เราจะพยายามเลือกสิ่งที่เห็นผลก่อน นอกจากนั้นยังต้องมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน”

 

Q: “ยกตัวอย่างการวัดผลที่เห็นได้จริงให้ฟังหน่อย”

A: “เช่นโรงเรียนที่ห้วยกระเจา มีความเห็นว่า อยากให้โรงเรียนปลอดภัย มีพื้นที่พักผ่อน ทำกิจกรรมมากขึ้น ทางโรงเรียนก็ระดมทุน และสักพักก็มีพัดลมมาติดเพิ่มขึ้นที่โรงเรียน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทันที”

ความเป็นไปได้ที่เกิดจากคนข้างล่าง

Q: “ในการจัดเวทีให้คนมาแสดงความคิดเห็น เคยมีช่วงเวลาประทับใจ หรือที่ติดอยู่ในใจบ้างไหม”

A: “ช่วงเวลาที่ประทับใจคือ มีครั้งหนึ่ง เรารู้ล่วงหน้าแค่อาทิตย์เดียวว่าจะจัดเวทีที่โรงเรียนเก้าเลี้ยววิทยา ทุกคนก็รีบเตรียมตัว แล้วในครั้งนั้น Fellow ของเราสามารถนำกิจกรรมได้เองทั้งหมด โดยไม่ต้องพึ่งทีมงาน นี่เป็น Collective Vision แรกที่ทำขึ้นโดย Fellow”

Q: “เห็นแบบนี้แล้วเรารู้สึกยังไง”

A: “มันทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะถ้าจะให้ยั่งยืน คนข้างล่างต้องนำได้เอง  นอกจากนั้นยังเห็นความเป็น Fellowship ของสิ่งที่พวกเขาทำด้วย”

ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น ช่วยสร้างเป้าหมายร่วม และผสานความขัดแย้ง

ในท่ามกลางความคิดเห็นจากหลายฝ่าย ดูเหมือนว่า การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี จะเป็นเครื่องมือหนึ่งซึ่งทำให้เอกสามารถเข้าถึงได้ทั้ง Fellow ครู ผู้อำนวยการ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  

Q: “เรามีวิธีสื่อสาร หรือเครื่องมืออะไรที่ทำให้ทุกคนอยากร่วมมือกันในการสร้าง Collective Vision”

A: “เราเชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้ทุกคนอยากร่วมมือ คือ ความสัมพันธ์ ยิ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีมากเท่าไหร่ ยิ่งได้รับความร่วมมือ อย่างเช่น เวลาที่เราไป School Visit เราจะคุยกับ ผ.อ. ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ คุยกันสารพัด ไม่ว่าจะเป็น ปัญหา สถานการณ์ในโรงเรียน คุยว่า Fellow ของเราเป็นยังไงบ้าง เขาอยากได้อะไรเพิ่มเติมมั้ย”

Q: “เคยมีปัญหาหรือความท้าทายเกิดขึ้นไหม เวลาที่เราเปิดเวที”

A: “ความท้าทาย เช่น เราจัดกิจกรรมในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ทุกคนรู้ว่ากิจกรรมดี แต่จะทำยังไงให้ผู้เข้าร่วมไม่เสียดายเวลาที่มาเข้าร่วม  เราก็ใช้วิธี Empathy ให้เขาได้พูดสิ่งที่อยู่ในใจออกมา รับฟังเขาระบาย ทำให้เขารู้สึกว่าได้ Contribute อะไรบางอย่าง ก็จะทำให้เขาก้าวข้ามความหงุดหงิดในวันหยุดไปได้”

 

“หรือบางครั้งมีปะทะกันในเวที เกิดจาก ผ.อ. กับครูไม่ถูกกัน ซึ่งมีอยู่ในทุกโรงเรียน ครูก็ใส่สุดกันในบางเรื่อง หรือ ผ.อ. ก็ใส่สุดในบางเรื่อง เราก็ต้องคุยกับทีมงานให้เข้าใจว่าจะทำยังไงดี”

 

Q: “แล้วเราทำยังไง สมมติว่ามีการปะทะกัน พูดใส่กันในเวทีตรงนั้น”

A: “เราใช้วิธีแก้หลังบ้าน หลังจัดกิจกรรมเสร็จ เราทานข้าวร่วมกันกับครู ผู้อำนวยการ เทคนิคคือ คุยเรื่องอื่นก่อน ถามเข้าว่ารู้สึกยังไงกับกิจกรรมที่เกิดขึ้น อยากให้พวกเราช่วยเหลือตรงไหน ทำอะไรเพิ่มมั้ย แล้วก็สร้างความเข้าใจกัน มีครั้งหนึ่งที่ขัดแย้งกัน ผู้อำนวยการก็ได้เปิดใจว่าตัวเองพูดไปแบบนั้นเพราะหวังดี ตำแหน่งของเราจะทำให้เข้าถึงผู้อำนวยการได้มากกว่า ในขณะที่ Fellow จะเข้าถึงครูได้มากกว่า”

มองภาพเดียวกันตั้งแต่ต้น เพื่อเป้าหมายที่ตรงกัน

 

Q: “เราทำอย่างไรให้ผู้เข้าร่วมกล้าแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา”

A: “เราใช้วิธี Set Norm ตั้งแต่ต้น ทำให้เขาเข้าใจตรงกันว่า สิ่งที่เราทำอยู่ มีเป้าหมายอะไรและเช็คความเข้าใจตลอด”

 

Q: “ดูเหมือนจะมีคำอย่างการ เช็คความเข้าใจ ซึ่งส่วนนี้เป็นวัฒนธรรมขององค์กรที่เน้นด้านการสอนด้วยใช่ไหม เหมือนกับการเช็คความเข้าใจนักเรียน”

A: “ตรงนี้เขาเรียกว่า Check for Understanding ซึ่งมีเครื่องมือให้เลือกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ADDIE Model (Analysis, Design, Development, Implementation, and Evaluation) หรืออาจจะเป็น Design Thinking มาช่วยในการทำกระบวนการ ซึ่งเราใช้ให้เหมาะกับแต่ละกรณี”

 

ในปี 2022 ที่ผ่านมา Teach For Thailand ได้ร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อสร้างวิสัยทัศน์ร่วมแล้วใน 7 โรงเรียน โดยมีเป้าหมายตลอดปี 2023 ที่จะสร้างวิสัยทัศน์ร่วมในอีก 18 โรงเรียน เราเชื่อว่าวิสัยทัศน์ร่วมจะทำให้งานของเรายั่งยืน และสร้างผลกระทบในเชิงบวกได้อย่างแท้จริง