กระบวนการสร้าง “วิสัยทัศน์ร่วม” ณ โรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง ปราจีนบุรี

Teach For Thailand ร่วมจัดกิจกรรมการดึงการมีส่วนร่วมของชุมชนและการสร้าง “วิสัยทัศน์ร่วม” หรือ “Collective Vision” ณ โรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง จังหวัดปราจีนบุรี

เรามุ่งมั่นขจัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาออกจากประเทศไทยผ่านการสร้าง “เครือข่ายผู้นำ” ที่เข้าไปสร้างความเปลี่ยนแปลงในห้องเรียน โรงเรียน และในภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม

ที่มาของการจัดการประชุมการดึงการมีส่วนร่วมของชุมชน (วงใหญ่)

จากการประชุมร่วมกันระหว่างทีมผู้บริหารจากทาง Teach For Thailand  และผู้อำนวยการโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง ทำให้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการดึงองค์กรในทุกภาคส่วนของชุมชน รวมถึง กลุ่มผู้ให้การสนับสนุน อันได้แก่ มูลนิธิใจกระทิง และ บีจีซี ปราจีนบุรีกล๊าส เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาและเด็กนักเรียนในชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจและมีเป้าหมายที่ตรงกันต่อการพัฒนา เพราะการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ด้วยภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งเพียงภาคส่วนเดียว หากแต่ต้องเป็นการดึงเอาบทบาทจากทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสียมามีส่วนร่วม และแลกเปลี่ยนความคาดหวังและวิสัยทัศน์ในการพัฒนานักเรียน รวมถึงต้องกำหนดบทบาทจากทางภาคส่วนต่าง ๆ ในชุมชนให้มีความชัดเจนเพื่อการพัฒนาการศึกษาและนักเรียนในโรงเรียนที่ยั่งยืน

ผู้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวล้วนแต่เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชน (Stakeholder) ประกอบไปด้วย 9 กลุ่ม ได้แก่

  1. องค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี
  2. ผู้บริหารและคณะครูโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง
  3. ครูผู้นำจากมูลนิธิ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์
  4. กลุ่มผู้ปกครองจากหลากหลายอาชีพ
  5. ตัวแทนศิษย์เก่า
  6. นักเรียนปัจจุบัน
  7. กลุ่มสัจจะออมทรัพย์และเกษตรอินทรีย์
  8. กลุ่มบุคลากรในชุมชน
  9. กลุ่มผู้ให้การสนับสนุน (Donor) ได้แก่ มูลนิธิใจกระทิง และ บีจีซี ปราจีนบุรีกล๊าส

ทั้ง 9 กลุ่มนี้ ถือเป็นตัวแทนจากทุกภาคส่วนในชุมชนที่ล้วนมามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นว่าแต่ละภาคส่วนมีเป้าหมายในการพัฒนาการศึกษาของเด็กนักเรียนและชุมชนว่าอย่างไร โดยมีความคิดเห็นดังนี้

1. ภาคบริหารส่วนจังหวัด เช่น อบจ.

มีความคิดเห็นในส่วนของการทำแผนพัฒนาของทางโรงเรียนเพื่อให้ภาคส่วนต่าง ๆ ในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดทำให้โรงเรียนได้เป็นศูนย์กลางทางการศึกษา และเป็นสถานที่ที่นักเรียนจะสามารถเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากแหล่งความรู้นี้ได้อย่างเต็มที่ เพราะการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืนจะต้องร่วมแรงร่วมใจในทุกภาคส่วนของพื้นที่ให้เข้ามามีบทบาท และเมื่อการศึกษาเกิดการพัฒนาขึ้นจากการร่วมมือในหลายภาคส่วน ชุมชนและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนเองก็จะเป็นสถานที่ที่เกิดเป็นแหล่งความรู้และพัฒนาตามขึ้นมาด้วยเป็นภาพใหญ่ต่อไป โดยในภาคส่วนของการบริหารจังหวัดอย่าง อบจ. ก็จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการมีส่วนร่วมและช่วยพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนต่อไปได้

"ดีใจที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษา ได้มองเห็นความมุ่งมั่นและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพราะการจะพัฒนาได้มันต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนจริง ๆ และกิจกรรมนี้จะทำให้เราได้เห็นภาพของชุมชนที่พร้อมจะผลักดันการศึกษาไทยให้เกิดการพัฒนา" รองนายกอบจ. ปราจีนบุรีกล่าว

2. บุคลากรในชุมชน ได้แก่ กลุ่มสัจจะออมทรัพย์และเกษตรอินทรีย์ ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรทางภาครัฐ

ได้แสดงความคิดเห็นหลักต่อการพัฒนาเด็กในแง่ของความต้องการให้มีการปลูกฝังเรื่องพื้นฐานของคุณภาพชีวิต เช่น การออมทรัพย์ การมีความรู้เรื่องการทำการเกษตรเพื่อการดำรงชีวิต และการมีสุขภาพที่ดี เป็นต้น โดยมุ่งเน้นในส่วนของหลักการใช้ชีวิตของเด็กที่ยังคงขาดอยู่ เพราะเด็กควรได้รับการเสริมทักษะการใช้ชีวิตเบื้องต้นโดยเริ่มจากหลักการออม การปลูกผัก และสุขอนามัยเบื้องต้นเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในชีวิตประจำวันแล้ว จึงจะสามารถส่งผลกระทบอันดีและส่งเสริมเรื่องการศึกษาในโรงเรียนได้ เด็กก็จะสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเด็กมีทั้งความเป็นอยู่ที่ดีและได้รับการเรียนรู้จากระบบการศึกษา เด็กนักเรียนก็สามารถที่จะนำเอาทักษะที่ตนเองเรียนรู้มาบอกต่อกับคนในชุมชน คนรอบข้าง หรือคนในครอบครัวให้มีความรู้ในเรื่องนั้น ๆ มากขึ้นได้ และชุมชนเองก็จะได้รับการพัฒนา

3. บุคลากรในโรงเรียน ได้แก่ คณะครูและผู้อำนวยการ ครูผู้นำจาก Teach For Thailand นักเรียน และศิษย์เก่า

มีความเห็นว่าโรงเรียนควรเป็นศูนย์กลางในการเป็นแหล่งความรู้ของชุมชน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ภายนอกโรงเรียนเองก็ควรเป็นแหล่งพื้นที่ที่ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้เช่นกัน เพราะการเรียนรู้นั้นสามารถเกิดได้ทุกที่ทุกเวลา และในขณะเดียวกัน นอกจากโรงเรียนจะเป็นฐานในการพัฒนาการศึกษาแล้ว ทางบุคลากรในชุมชนและผู้ปกครองเองก็ควรต้องมีส่วนในการพัฒนาเด็กนักเรียนควบคู่ไปด้วยกัน อีกทั้ง เด็กแต่ละคนก็มีความถนัดที่หลากหลายแตกต่างกันไป โรงเรียนสามารถเป็นแหล่งความรู้ทางวิชาการ และหากชุมชนสามารถเป็นแหล่งพัฒนาทักษะทางการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพได้ เด็กนักเรียนเองก็จะมีทางเลือกที่จะเรียนรู้ได้หลายทาง เพราะการจะส่งเสริมนักเรียนให้ก้าวหน้าไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนไม่สามารถพึ่งพาแค่โรงเรียนได้อย่างเดียว แต่องค์กรต่าง ๆ จะต้องเข้ามาช่วยกันทำให้เกิดการพัฒนา และต่อยอดแนวคิดการมีวิสัยทัศน์ร่วมให้เกิดขึ้นจริงได้ต่อไป

"คุณค่าศักยภาพของเด็กทุกคนแตกต่างกัน แต่สำคัญเท่ากัน ขอให้พวกเราได้มีส่วนในการทำให้ความคิดเห็นในวันนี้ไม่ใช่แค่จุดเริ่มต้น แต่พัฒนาไปสู่ความยั่งยืนได้ ให้โรงเรียนแห่งนี้เป็นศูนย์กลางความรู้และพลังใจ และเป็นความยั่งยืนในชุมชนของเรา” ผอ. สาลี่ เชิดชู กล่าว

4. ผู้ปกครอง

ถือเป็นตัวแทนของสถาบันครอบครัวซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถาบันหลักในการพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยแสดงความเห็นในเรื่องทักษะการประกอบอาชีพและการใช้ชีวิตของเด็กนักเรียน โดยมองว่านอกจากโรงเรียนจะเป็นพื้นที่ที่ให้ความรู้ด้านวิชาการแล้ว โรงเรียนก็ควรจะเป็นพื้นที่ที่เสริมต่อความถนัดในทักษะต่าง ๆ ของเด็กนักเรียนอีกด้วย เพราะเด็กแต่ละคนนั้นต่างก็มีความหลากหลาย การจะพัฒนาเด็กนักเรียนให้เติบโตได้อย่างมีคุณภาพจึงควรส่งเสริมในสิ่งที่เด็กแต่ละคนมีความถนัดตามความเหมาะสม โดยอาจเป็นการมีบุคลากรในหลากหลายอาชีพมาให้ความรู้ หรือศิษย์เก่าเองที่จบออกไปก็สามารถเข้ามารับบทบาทการเป็นผู้นำในชุมชน และเอาความรู้ที่ได้มาสอนเด็กนักเรียนในโรงเรียนให้ตระหนักถึงสายอาชีพที่สามารถประกอบได้ในอนาคตเช่นกัน เพราะนอกเหนือจากความรู้ทางด้านวิชาการแล้ว เด็กนักเรียนก็ควรที่จะได้ถูกปลูกฝังในเรื่องของการนำทักษะที่แต่ละคนมีมาใช้ได้ในชีวิตจริง เพื่อที่นอกจากตัวเด็กเองจะเกิดการพัฒนา ชุมชนที่เต็มไปด้วยเด็กที่มีทักษะวิชาการและการใช้ชีวิตก็จะพัฒนาตามขึ้นไปด้วย

5. กลุ่มผู้ให้การสนับสนุน ได้แก่ มูลนิธิใจกระทิง และ บีจีซี ปราจีนบุรีกล๊าส

มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการเข้าร่วมประชุมเพื่อทำการสะท้อนมุมมองและแนวคิดต่อการพัฒนาการศึกษาของเด็กนักเรียนในชุมชน โดยเห็นว่าเด็กนักเรียนควรมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ประกอบอาชีพ ขยัน และเอาความรู้ความสามารถที่มีกลับมาใช้เพื่อพัฒนาตนเองและพัฒนาชุมชน เพราะเมื่อเด็กนักเรียนมีความเชื่อมั่นในด้านวิชาความรู้และทำให้เกิดประโยชน์ได้แล้ว พวกเค้าก็จะมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเองและสะท้อนกลับมาเป็นภาพใหญ่ในการพัฒนาชุมชน และความเชื่อมั่นที่ได้รับต่อ ๆ กันมาก็จะหลอมรวมเป็นหนึ่งในที่สุด

“การศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม เราทำทุกอย่างใน 3 ข้อนี้ โดยจะเน้นเรื่องการศึกษามาก เพราะเด็กทุกคนไม่ได้มีโอกาสที่เท่ากัน แต่เด็กทุกคนล้วนแต่มีคุณค่าเหมือน ๆ กัน ทุกคนมีศักยภาพ ซึ่งการจะพัฒนาเด็กก็เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะทำให้พวกเค้าได้เติบโตขึ้นในพื้นที่ปลอดภัยและชุมชนที่เข้มแข็ง” ตัวแทนมูลนิธิใจกระทิงกล่าว

ภาพรวมของกิจกรรม

คำถามนี้เป็นหัวข้อหลักในการให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการแสดงออกทางความคิดในกิจกรรมกลุ่มย่อย ซึ่งในแต่ละกลุ่มประกอบไปด้วยผู้ที่มาร่วมกิจกรรมในแต่ละภาคส่วน ประมาณ 8 – 9 คน จำนวน 5 กลุ่ม ทุก ๆ คนจะได้มีโอกาสใการเขียนสิ่งที่แต่ละคนอยากให้เกิดขึ้นจริงลงในโพสอิท และนำไปติดไว้บนกระดานเพื่อที่ทางกระบวนกร  รวบรวมคำตอบที่ทั้งเหมือนและแตกต่างกัน เพื่อที่จะทำการจัดกลุ่มความคิดที่เหมือนกันให้เกิดเป็นเป้าหมายร่วมที่คนในกลุ่มมองตรงกัน และขยายความความคิดที่แตกต่างอย่างเปิดกว้างเพื่อให้กิจกรรมกลุ่มนี้ เป็นพื้นที่ที่จะได้เปิดมุมมองและสร้างความเข้าใจในการตระหนักถึงบทบาทของทุก ๆ คนต่อการพัฒนาการศึกษาของนักเรียนและชุมชน โดยหลังจากที่มีการพูดคุย รวบรวม และทำความเข้าใจในความคิดต่างแล้ว ทุกคนในกลุ่มจะต้องร่วมกันสรุปในสิ่งที่ได้ทำการพูดคุยกันไป เพื่อให้เกิดเป็นวิสัยทัศน์ร่วมที่มีร่วมกันและครอบคลุมในทุกประเด็นที่แต่ละคนมีความเข้าใจและคาดหวังตรงกัน หลังจากนั้น ตัวแทนจากแต่ละกลุ่มจะทำหน้าที่ให้การนำเสนอวิสัยทัศน์ของกลุ่มตัวเองในกิจกรรมกลุ่มใหญ่ และขยายความถึงวิสัยทัศน์ที่ได้ผ่านกระบวนการคิดและตกลงกันมาว่ามีความครอบคลุมต่อการพัฒนาการศึกษาของเด็กนักเรียนตลอดจนถึงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ในชุมชนอย่างไรบ้าง และแต่ละภาคส่วนในชุมชนเองมีบทบาทอย่างไรต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ และเมื่อนำเสนอจนครบ ก็จะเป็นการนำวิสัยทัศน์ของแต่ละกลุ่มมาดูและหาจุดร่วมที่เหมือนกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายหลักของการจัดประชุมซึ่งคือ การสร้างวิสัยทัศน์ร่วม (Collective Vision) นั่นเอง

วิสัยทัศน์ร่วม หรือ Collective Vision

       หลังจากกิจกรรมกลุ่มย่อยที่ได้มีการรวบรวมและสรุปถึงวิสัยทัศน์ร่วมของทั้ง 5 กลุ่มนั้น ก็ได้เกิดเป็น 5 วิสัยทัศน์ ดังนี้

  1. เด็กยุคใหม่ ใฝ่เรียนรู้ กล้าคิดกล้าทำอย่างสร้างสรรค์ ชุมชนเข้มแข็งเป็นแรงผลักดัน สถานศึกษามุ่งมั่น สานฝันสู่ความสำเร็จ
  2. ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนานักเรียนให้เป็นคนดี มีศักยภาพตามความถนัดของตนเอง มีส่วนร่วมในการอยู่ในสังคมได้
  3. เรียนดี มีอิสระในการเรียนรู้ ควบคู่คุณธรรม โดยมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อนำมาสู่การปฏิบัติจริง
  4. มีวินัย มีศีลธรรม มีเป้าหมาย และเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยได้รับการสนับสนุนจากชุมชน
  5. นักเรียนเก่งดี มีคุณธรรม เชี่ยวชาญในวิชาการและทักษะอาชีพ นำความรู้กลับมาพัฒนาชุมชน และใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้

     ทั้ง 5 วิสัยทัศน์ที่ได้จากการนำเสนอในกิจกรรมกลุ่มใหญ่ สามารถเห็นได้ถึงจุดร่วมของแต่ละวิสัยทัศน์ทั้งในเรื่องของการมุ่งเน้นให้เด็กนักเรียนตระหนักถึงการมีคุณธรรมในการเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต การเข้ามามีส่วนร่วมของภาคชุมชนในการพัฒนาการศึกษา การส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้นอกโรงเรียนให้ทุกพื้นที่เป็นสถานที่ที่เด็กนักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ เพื่อให้เกิดความเท่าทันในสถานการณ์โลกในปัจจุบัน โดยจุดรวมศูนย์กลางการเรียนรู้ก็คือโรงเรียนนั่นเอง เพราะเด็กนักเรียนทุก ๆ คนมีความหลากหลายทางด้านความถนัด บางคนถนัดทางด้านวิชาการ บางคนถนัดทางสายอาชีพ ดังนั้น การศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญในการมอบทางเลือกให้นักเรียนเพื่อเสริมให้พวกเค้าได้รับสิ่งที่ตนเองถนัดและพัฒนาต่อยอดต่อไปได้ ยิ่งไปกว่านั้น การปรับตัวในสังคมยุคปัจจุบันก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน เพราะสถานการณ์ปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การรับมือต่ออนาคตที่ไม่แน่นอนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่การศึกษาควรปลูกฝังให้นักเรียนมีภูมิต้านทานและเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับการใช้ชีวิตต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัดดึงเอาทุกภาคส่วนของชุมชนมาระดมความคิดร่วมกัน การจะทำให้กระบวนการทำให้วิสัยทัศน์ร่วมและความคิดเห็นจากการประชุมเกิดขึ้นได้จริงนั้น จำเป็นต้องอาศัยเวลาและการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ทางผู้อำนวยการโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง จึงนัดหมายในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนกันยายน เพื่อติดตามการทำงานตามวิสัยทัศน์ร่วมอีกครั้ง