ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 8

ห้องเรียนที่การเล่น = การเรียนรู้

ธรรมชาติของเด็กย่อมอยากเล่นสนุกมากกว่าเรียนหนังสือ เด็กบางคนติดโทรศัพท์มือถือมากจนไม่สนใจเรียน ครูก้านตอง (จิรชัย แสวงแก้ว) ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 8 จึงพยายามเข้าใจเด็กๆ และลองผิดลองถูกจนค้นพบวิธีที่ทำให้นักเรียนเล่นสนุกและได้ความรู้ไปพร้อมกัน

เราเจอปัญหาว่า นักเรียนสนใจโทรศัพท์มือถือมากกว่าการเรียนในห้องเรียน

ทำความรู้จักครูก้านตอง

ครูก้านตอง (จิรชัย แสวงแก้ว) มีบ้านเกิดที่จังหวัดนครปฐม จบการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบัน เข้าร่วมโครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 8 ของมูลนิธิ Teach For Thailand โดยสอนวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมต้น ที่โรงเรียนเสด็จวนชยางค์กูลวิทยา จังหวัดลำปาง

แรงบันดาลใจในการเป็นครูทีช

ครูก้านตองเล่าว่า เมื่อมองย้อนไปในสมัยเป็นนักเรียนช่วงประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ตนได้เข้าเรียนในโรงเรียน 3 แห่ง ที่มีพื้นฐานแตกต่างกันมาก ได้แก่ โรงเรียนเอกชนที่มุ่งเน้นวิชาการความรู้ทางภาษาอังกฤษ ทำให้ชื่นชอบการเรียนภาษอังกฤษ  แต่ต่อมาเมื่อย้ายไปโรงเรียนประจำจังหวัดของรัฐ ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นวิชาการด้านอื่นๆ มากกว่า ทำให้เลิกชอบภาษาอังกฤษไป และเมื่อได้ย้ายไปเรียนในโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ก็พบว่าเป็นโรงเรียนที่มุ่งเน้นด้านวิทยาศาสตร์ซึ่งมีความพร้อมทั้งด้านการสอน ด้านห้องเรียน และด้านทุนการศึกษา พอเปรียบเทียบโรงเรียนทั้งสามแห่งแล้วก็พบความแตกต่างเหลื่อมล้ำกันในด้านต่างๆ หลายด้าน จนอดคิดไม่ได้ว่าโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจะต้องเผชิญกับข้อจำกัดแบบไหนบ้าง

ครูก้านตองยังเล่าด้วยว่า “สมัยที่เรียนมหาวิทยาลัย เราได้ทำกิจกรรมในชมรมศึกษาและพัฒนาชุมชน ซึ่งเปิดโอกาสให้ได้ขึ้นไปศึกษาวิถีชีวิตชาวบ้านบนดอย ทำให้เห็นว่าความพร้อมในการสอนของโรงเรียนบนดอยต่างจากโรงเรียนในเมืองมากๆ ทั้งด้านวิชาการและสื่อการเรียนการสอน เราได้มีประสบการณ์ลองสอนเด็กๆ ทำให้เข้าใจเด็กๆ มากขึ้น และมองเห็นว่า เด็กบนดอยก็มีความฝันเหมือนกัน แต่มีข้อจำกัดและขาดโอกาสในการทำตามความฝัน”

พอช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยปีที่ 4 ก็ได้สอนพิเศษเด็กๆ แถวบ้านซึ่งเป็นจุดที่ทำให้อยากเป็นครู จึงมองหาโครงการที่เปิดโอกาสให้คนที่ไม่ได้จบครูมาโดยตรงได้เป็นครู และผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง

โรงเรียนเสด็จวนชยางค์กูลวิทยา จังหวัดลำปาง

โรงเรียนที่ครูก้านตองสอน เป็นโรงเรียนขยายโอกาสขนาดกลาง ตั้งอยู่ที่ ตำบลบ้านเสด็จ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ที่ตั้งของโรงเรียนค่อนข้างห่างจากตัวเมือง และนักเรียนส่วนใหญ่มากจากชุมชนโดยรอบหรือตำบลใกล้เคียง สภาพแวดล้อมในโรงเรียนค่อนข้างเป็นกันเอง คุณครูในโรงเรียนคอยให้ความช่วยเหลือ แนะนำครูคนใหม่อย่างอบอุ่น

ช่วงที่ผ่านมา ครูก้านตองเล่าว่าต้องปรับแผนการสอนอยู่ตลอดเวลาตามสถานการณ์โควิด ซึ่งทำให้โรงเรียนต้องเปลี่ยนจากการสอนในห้องเรียนเป็นการสอนออนไลน์ สลับกันไปมาเมื่อพบว่ามีนักเรียนติดโควิด

“พอสอนออนไลน์ นักเรียนก็เข้าถึงยากขึ้น ทำให้เราต้องวางแผนใหม่ โรงเรียนประกาศเปิดปิดรวดเร็ว เราต้องวางแผนหลายรูปแบบตลอดเวลา และเพิ่มวิธีแก้ปัญหา ด้วยการทำสรุปเนื้อหาส่วนที่นักเรียนไม่เข้าใจให้ นัดติวเพิ่มนอกเวลา เช่น นัดช่วงเย็น นัดสอนออนไลน์ เพราะเวลาสอนออนไลน์ช่วงเช้า บางทีเด็กๆ เข้าไม่ครบ เราก็พยายามนัดติวเพิ่มให้ตามเวลาที่เด็กๆ สะดวก” ครูก้านตองเล่าถึงการเรียนการสอนในเทอมที่ผ่านมา

ห้องเรียนคณิตศาสตร์สร้างสรรค์

“เราเจอปัญหาว่า นักเรียนสนใจโทรศัพท์มือถือมากกว่าการเรียนในห้องเรียน” ครูก้านตองเล่าถึงปัญหาแรกที่พบ

“เมื่อเผชิญปัญหา เราก็พยายามหารูปแบบในการเรียนการสอนที่เหมาะสมเพื่อให้นักเรียนสนใจเรียนมากขึ้น ให้ความร่วมมือกับครูมากขึ้น เรารู้ว่าเด็กๆ ชอบเล่นเกม จึงนำเกมมาประยุกต์ใช้ให้นักเรียนสนใจ เปิดใจ และเล่นกับเรามากขึ้น ทำให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาวิชาการได้ดีขึ้น”

ครูก้านตองเล่าว่า เกมที่นำมาใช้เป็นเกมที่เกี่ยวกับทักษะคณิตศาสตร์ และการทบทวนความรู้ที่เรียนไปในแต่ละครั้ง เช่น เกมกระดาน หรือการใช้สื่อนำเสนอ ร่วมกับอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เกมล่าสมบัติ โดยคิดสถานการณ์จำลองและบทบาทสมมติให้นักเรียนได้ร่วมกันแก้ปัญหา

กว่าจะออกมาเป็นเกมที่เด็กๆ เล่นสนุกและได้ความรู้ ครูก้านตองได้มีการศึกษาและลองถูกลองผิดว่า อะไรจะทำให้นักเรียนสนใจเรียนมากขึ้น การสอนรูปแบบต่างๆ จะทำให้นักเรียนสนใจระดับไหน โดยมีการหาข้อมูลตามแหล่งความรู้ ดูจากเนื้อหาที่รุ่นพี่รุ่นก่อนๆ ทำไว้ แล้วดูว่าประยุกต์ใช้อย่างไรได้บ้าง รวมทั้งการพูดคุยกับครูในโรงเรียนและนักศึกษาฝึกสอน ช่วยกับปรับช่วยกันแก้ ทำให้นำไปใช้ได้ดียิ่งขึ้น

ในภาคการศึกษาถัดไป ครูก้านตองมีแผนจะจัด ‘ห้องเรียนคณิตศาสตร์สร้างสรรค์’ ซึ่งเป็นห้องเรียนที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อให้นักเรียนเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ได้อย่างสนุกสนานและมีประสิทธิภาพ โดยมีสื่อการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการทำกิจกรรม และรูปแบบการจัดห้องเรียนที่ช่วยให้นักเรียนทำกิจกรรมกลุ่มได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีบอร์ดเกมต่างๆ ที่ครูก้านตองเตรียมมาให้เด็กๆ ได้ฝึกทักษะด้วย

เปิดใจเด็กๆ ให้เปิดรับการเรียนรู้

ครูก้านตองพยายามแก้ปัญหาเด็กไม่ตั้งใจเรียนด้วยการลองสอนรูปแบบต่างๆ ลองถูกลองผิด จนนำเกมมาใช้ ซึ่งก็ได้ผลตอบรับที่ดี นักเรียนสนใจมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร “เราก็เลยหาวิธีอื่น ด้วยการเปิดใจพูดคุยกับเค้า ชวนคุยเรื่องอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องเรียนอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องเกมบ้าง เรื่องชีวิตประจำวันบ้าง ทำให้เด็กเปิดใจที่จะคุยกับเรา พอถึงคาบเรียนจริงๆ เด็กๆ ก็ตั้งใจเรียนมากยิ่งขึ้น” ครูก้านตองเล่าถึงวิธีการที่ค้นพบและนำมาใช้ได้ผล “ครูท่านอื่นมาคุยกับเราว่ามีนักเรียนที่โดดเรียน ซึ่งเด็กเหล่านี้ไม่เคยโดดเรียนวิชาเรา พอเราไปคุยและถามสาเหตุว่าทำไมถึงโดดเรียน แล้วลองชวนให้เขาเข้าเรียนดู ด้วยการอธิบายว่าครูท่านอื่นก็พยายาม ตั้งใจ และทุ่มเทในการสอนเหมือนกัน และมันเป็นประโยชน์กับตัวนักเรียนด้วย เด็กๆ ก็กลับไปเข้าเรียน”

ครูก้านตองค้นพบว่า ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับนักเรียนที่นอกเหนือจากการให้ความรู้ มีส่วนช่วยให้เด็กๆ มีความสนใจบทเรียน และตั้งใจเรียนมากขึ้น ซึ่งครูก้านตองจำชื่อนักเรียนที่สอนได้หมดทุกคน

ม. 1 ห้อง 1 – 4 มีจำนวน 77 คน เราก็จำชื่อได้หมด โดยจะเริ่มจากจำชื่อเล่นก่อนพร้อมกับจำหน้า ซึ่งก็พยายามจำให้ได้ตั้งแต่ช่วงแรก ประมาณ 2 อาทิตย์ก็จำได้ทุกคน ยิ่งพอเราจำเด็กได้ เรียกชื่อถูก เด็กๆ ก็รู้สึกภูมิใจที่ครูจำได้ เมื่อเด็กๆ ไว้ใจเรา พอมีเรื่องอะไรก็จะมาปรึกษาเรา

เปิดพื้นที่ในการคิด วิเคราะห์ เรียนรู้ สื่อสาร และสร้างความเข้าใจ

นอกจากสอนวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นแล้ว ครูก้านตองยังขอสอนวิชา IS หรือวิชาการศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 อีกด้วย

ครูก้านตองเล่าถึงที่มาว่า “มีช่วงหนึ่งที่ได้สังเกตการณ์สอน แล้วก็เป็นครูที่ปรึกษาชั้นม. 5 แล้วเห็นว่าหัวข้อของนักเรียนส่วนใหญ่ยังเป็นหัวข้อไกลตัวที่เด็กไปค้นมาจากอินเตอร์เน็ต เช่น การทำเทียนหอม เลยเกิดแรงบันดาลใจว่าอยากสอนวิชานี้ แล้วคิดวิธีการสอนเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ที่จะวิเคราะห์และศึกษาประเด็นปัญหาได้อย่างเป็นระบบ เช่น สอนให้เด็กๆ เริ่มมองปัญหาใกล้ตัวก่อน เช่น ปัญหาในชุมชน ปัญหาที่บ้าน แล้วให้ลองนำมาศึกษาดู เพื่อวิเคราะห์ว่า จะแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง เป็นการฝึกและส่งเสริมให้เด็กๆ ได้คิดวิเคราะห์ และสื่อสารกับผู้ปกครอง โดยอาจจะให้เริ่มจากสโคปเล็กแล้วค่อยๆ สโคปใหญ่ขึ้น เพื่อให้เขาได้เรียนรู้อะไรมากขึ้น”

profile

ฝากถึงครูทีชรุ่นใหม่และผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ

ครูก้านตองฝากข้อความเป็นกำลังใจถึงเพื่อนครูทีชรุ่นใหม่ว่า “อย่าเพิ่งคิดว่าตนเองทำไม่ได้ ถ้ายังไม่ได้ลองทำ การทำสิ่งต่างๆ คือการลองถูกลองผิด อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นแล้วเป็นสิ่งที่ดีเสมอ อย่างน้อยเราก็ได้เรียนรู้ว่า ทำอะไรแล้วมีผลลัพธ์อย่างไร และเราจะแก้ปัญหาอย่างไร ไม่มีใครสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ให้ลองทำไปก่อนแล้วทำให้ดีที่สุด”

สำหรับคนที่สนใจและกำลังตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้ ครูก้านตองก็อยากให้ได้ลองดู เพราะการทำงานในฐานะครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงเป็นโอกาสในการพัฒนาตนเองและพัฒนาสังคมไปพร้อมๆ กัน

บทสัมภาษณ์ ครูก้านตอง (จิรชัย แสวงแก้ว) ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 8 

โรงเรียนเสด็จวนชยางค์กูลวิทยา จังหวัดลำปาง