ครูปั๊ม (ปภาวิชญ์ จริงจิตร) ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 7

ห้องเรียนกลางดอย

เมื่อการศึกษามีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความกินดีอยู่ดีของผู้เรียน แล้วการศึกษาแบบไหนถึงจะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ห้องเรียนที่ดีควรเป็นอย่างไร และความรู้อะไรที่นักเรียนควรได้รับ แล้วห้องเรียนแต่ละแห่งทั่วประเทศควรสอนสิ่งเดียวกันหรือไม่ ร่วมค้นหาคำตอบผ่านเรื่องเล่าและการทำงานของครูปั๊ม ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่น 7 โรงเรียนอนุบาลแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

“อยากเป็นครูมาตั้งแต่ม. ปลายครับ เพราะชอบพรีเซนต์งานหน้าห้อง ชอบติวหนังสือให้เพื่อน แต่พอมาสอนจริง เรายืนอยู่หน้าห้อง แต่นักเรียนไม่ฟังเราเลย” ครูปั๊มเล่าให้ฟังพลางหัวเราะ

ทำความรู้จักครูปั๊ม

            ครูปั๊มจบจากคณะสังคมศาสตร์ สาขาจิตวิทยาชุมชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลังจบการศึกษาได้เป็นผู้ช่วยวิจัยกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย และมีเพื่อนๆ แนะนำให้สมัครเข้าร่วมโครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์

            ครูปั๊มเล่าว่า การได้ทำงานในชุมชนเป็นการเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้วิถีชุมชนและความสัมพันธ์ของผู้คนอย่างละเอียดลึกซึ้ง เพราะสมัยที่เรียนมหาวิทยาลัยก็มีการทำวิจัยและศึกษาเกี่ยวกับชุมชน แต่เป็นเพียงการเรียนรู้แค่เปลือกนอกที่ไม่เหมือนการได้เข้ามาอยู่ในชุมชนและทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง การได้ใกล้ชิดและทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การเข้าโบสถ์ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในชุมชน ทำให้มองเห็นปัญหาและสภาพของชุมชนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

โรงเรียนอนุบาลแม่ฟ้าหลวง

            โรงเรียนอนุบาลแม่ฟ้าหลวงตั้งอยู่ท่ามกลางอ้อมกอดของขุนเขาในจังหวัดเชียงราย เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 นักเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กๆ จากในชุมชนและหมู่บ้านรอบโรงเรียนซึ่งมีชนกลุ่มน้อยรวมอยู่ด้วย

            ครูปั๊มเล่าว่า ชาวบ้านบอกว่าปีที่ครูมาสอนเป็นปีที่หนาวที่สุดในรอบ 5 ปี โดยทั่วไปเด็กๆ ที่นี่ไม่ค่อยใส่ชุดนักเรียน ส่วนใหญ่จะใส่ชุดพละกับเครื่องกันหนาวมาโรงเรียน

            “เด็กๆ ต้องการความรู้รอบตัวเพื่อให้เขานำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ความรู้ที่เรียนในห้องเรียนปัจจุบันเอาไปต่อยอดในชีวิตประจำวันได้ยาก เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ เด็กๆ ต้องเรียนและท่องชื่อเมฆประเภทต่างๆ ซึ่งมันห่างไกลจากชีวิตจริงของพวกเขา” ครูปั๊มเล่าจากประสบการณ์การสอนวิทยาศาสตร์ใน 3 ภาคการศึกษาที่ผ่านมา

ความท้าทายในการเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง

           “การเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่นี่ เราต้องทำงานร่วมกันกับหลายฝ่าย ได้แก่ ทางทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ซึ่งตั้งโจทย์ให้เราสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ส่วนทางโรงเรียน ให้เราสอนวิชาด้านสังคม ดนตรี และทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ให้เราสอนวิชาที่เสริมสร้างทักษะทางอาชีพ” ครูปั๊มเล่าถึงโจทย์ตั้งต้นที่ต้องเผชิญ

           หลังจากหาข้อมูลต่างๆ ศึกษาปัจจัยในท้องถิ่น และคิดวิเคราะห์เพื่อวางแผนการสอนแล้ว ครูปั๊มก็เลือกที่จะสอนให้นักเรียนเรียนรู้การแปรรูปอาหาร โดยสอดแทรกความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในระหว่างที่ฝึกทักษะให้นักเรียนเรียนรู้ด้านการแปรรูปอาหารไปด้วย ซึ่งครูปั๊มได้เลือกสอนการทำแยมลูกหม่อน เพราะเป็นผลิตผลที่มีในท้องถิ่น

ห้องเรียนของครูปั๊ม

            ในห้องเรียนทำแยมลูกหม่อน ครูปั๊มสอดแทรกบทเรียนวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย โดยให้นักเรียนได้ทำการทดลองผ่านการทำแยมที่แตกต่างกัน 4 สูตร โดยมีตัวแปรคือ ความเข้มข้นของน้ำตาล (ใส่น้ำตาลกับไม่ใส่น้ำตาล) และอุณหภูมิ (เก็บรักษาในตู้เย็นกับวางไว้ด้านนอก) เพื่อให้นักเรียนศึกษาเปรียบเทียบว่า ตัวแปรอะไรมีผลต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบ้าง และมีผลอย่างไร ซึ่งต่อมาทางมูลนิธิมีสับปะรดให้ ก็ได้ทำแยมสับปะรดเพิ่มขึ้นด้วย

            นอกจากนี้ ยังมีการสอดแทรกบทเรียนเกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยมีการเตรียมรูปแบบบรรจุภัณฑ์ต่างๆ มาให้นักเรียนช่วยกันเลือกและออกความคิดเห็น ซึ่งขั้นต่อไป ครูปั๊มวางแผนที่จะนำเสนอกับทางมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อขอความร่วมมือในการร่วมกันพัฒนาโครงการ ซึ่งในอนาคตอาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับนักเรียน

            ครูปั๊มยังสอดแทรกวิชาดนตรีไปในบทเรียนด้วย “มีเด็กคนหนึ่งเข้ามาขอบคุณที่สอนให้เขาเล่นกีต้าร์เป็น เรารู้สึกประทับใจที่เราเป็นคนจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจ ให้เขากล้าที่จะเรียน กล้าที่จะลอง” ครูปั๊มเล่าถึงนักเรียนของตน

ฝากถึงครูทีชรุ่นใหม่และผู้สนใจเข้าร่วมโครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง

             มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ครูปั๊มจบมามุ่งมั่นให้ผู้คนมีความกินดีอยู่ดี ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาสได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย ดังนั้นบัณฑิตที่จบมาควรใช้ความรู้ที่มีในการพัฒนาประเทศ เพราะยังมีเด็กอีกมากมายที่ต้องการความรู้และโอกาส

             การที่มีผู้คนจากหลากหลายสาขามาปฏิบัติหน้าที่ครูผู้สอนเป็นการเพิ่มมุมมองใหม่ๆ ให้กับวงการการศึกษา ครูในระบบเองก็ได้สัมผัสกับประสบการณ์และมุมมองใหม่ๆ ครูปั๊มเองก็ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านมุมมองของครูและคนที่ทำงานในวงการการศึกษาไปด้วย ถือเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเปิดมุมมองเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

profile

บทสัมภาษณ์ ครูปั๊ม (ปภาวิชญ์ จริงจิตร) ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 7

โรงเรียนอนุบาลแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย