เอกลักษณ์ บรรดาล (ใหม่) ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 7
สริภัทร เอี่อมสอาด (เนส) ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 7

ถ้าการศึกษาไทยที่ไม่มี….

เมื่อเกาที่ไม่มีเจ และ เจที่ไม่มีเกา แล้วกลายเป็น
หนัง fast and feel love

แล้วถ้าการศึกษาไทย ไม่มีผู้คนเหล่านี้ จะเกิดอะไรขึ้น

เมื่อ เกาที่ไม่มีเจ และ เจที่ไม่มีเกา แล้วกลายเป็นหนัง fast and feel love , แล้วถ้าการศึกษาไทย ไม่มีผู้คนเหล่านี้ จะเกิดอะไรขึ้น

-การศึกษาไทยที่ไม่มีนักเรียน ก็คงไม่มีโรงเรียนเกิดขึ้น และคงไม่มีความหวัง ความฝัน ของประเทศชาติอีกต่อไป
-ถ้าไม่มีครู คงไม่มีคนที่คอยสร้างแรงบันดาลใจและเติมไฟให้กับนักเรียน เพื่อก้าวข้ามอุปสรรคของเขา

ถ้าหากมองการศึกษาไทย หลายๆคนอาจจะนึกถึงแค่ ครูและนักเรียน แต่ความเป็นจริงแล้วยังมีองค์ประกอบอีกมากมายในระบบการศึกษาไทยที่ไม่ควรมองข้าม เช่น นักเรียน บุคลากรทางการศึกษา ผู้อำนวยการ ผู้ปกครอง และ องค์กรภายนอก เป็นต้น
วันนี้ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์จะชวนทุกคนลองจินตนาการว่าถ้าขาดกลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นอย่างไรและส่งผลอย่างไรบ้าง

ถ้าการศึกษาไทย....ไม่มีนักเรียน

การศึกษาไทย ที่ไม่มี….นักเรียน
– ก็คงไม่มีโรงเรียนให้นักเรียนได้เรียนรู้อีกต่อไป
– ก็คงไม่มีอาชีพครูอย่างที่เราเห็นกันต่อไป

นักเรียน ที่ไม่มี….การศึกษาไทย
-นักเรียนก็จะไม่มีทักษะ องค์ความรู้ เพื่อพัฒนาต่อยอดให้ตัวเอง
นักเรียนก็จะไปไม่ถึงความฝันที่ตนเองตั้งไว้

   สิ่งแรกก็คือถ้าไม่มีนักเรียนก็อาจจะไม่มีหน่วยงานการศึกษาต่างๆที่เราเห็นในปัจจุบัน ทั้งระดับประถมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือโรงเรียนขนาดเล็กอาจถูกยุบหรือควบรวม สาเหตุมาจากมีนักเรียนไม่เพียงพอส่งผลต่อการบริหารหรือนโยบายในการสนับสนุนต่างๆ เช่น งบประมาณ สิ่งเหล่านี้จะสร้างผลกระทบให้เกิดความเหลื่อล้ำทางการศึกษาที่มากขึ้น เช่น เมื่อโรงเรียนถูกยุบนักเรียนอาจต้องหาสถานที่เรียนใหม่ หรือ ส่งผลต่อการเดินทาง ค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ภาระผู้ปกครองที่มากขึ้น สุดท้ายแล้วอาจส่งผลให้นักเรียนหลุดออกจากระบบมากขึ้น

   หากไม่มีนักเรียนก็อาจจะไม่เกิดอาชีพครูอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบันหรืออาจส่งผลต่อจำนวนบุคลากรทางการศึกษาที่ลดน้อยลงไปด้วย คงปฏิเสธไม่ได้ว่าครูส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากราชการ หากไม่มีนักเรียนส่งผลให้โรงเรียนถูกยุบ ควบรวม ก็จะส่งผลต่อการจัดจ้างครูให้มาทำหน้าที่ในโรงเรียน จึงนำไปสู่ปัญหา การขาดแคลนบุคลากร และ ภาระงานครูที่มากขึ้น

   อีกส่วนหนึ่งคือรอยยิ้มและแรงบันดาลใจในการพัฒนานักเรียนของครูนั้นส่วนหนึ่งเกิดมาจากพฤติกรรมของนักเรียนที่หล่อหลอมและสร้างแรงบันดาลในการพัฒนาตัวตนความเป็นครู เพราะอาชีพครูไม่ได้มีหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนแต่อยางเดียวแต่การพัฒนาทักษะดูแลนักเรียนก็เป็นอีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญในการสร้างแรงผลักดันแรงบันดาลใจให้นักเรียนก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ รอยยิ้มและประสบการณ์ต่างๆจากครูสู่นักเรียนและนักเรียนสู่ครูคือแรงผลักดันให้ครูด้วยเช่นกันเพราะครูก็เรียนรู้จากนักเรียนเช่นเดียวกัน

   เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเด็กในวันนี้คือผู้สร้างชาติในวันข้างหน้าส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหลายๆมิติส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยี อาชีพต่างๆ ส่วนหนึ่งล้วนแล้วแต่เกิดมาจากความคิดสร้างสรรค์ องค์ความรู้ ที่เกิดมาจากฝีมือของมนุษย์ ซึ่งบุคคลเหล่านั้นย่อมเคยเป็นนักเรียนมาก่อนและได้นำความรู้ที่ได้จากประสบการณ์จากสถานศึกษาต่างๆมาต่อยอดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆให้กับโลกใบนี้ เพราะนักเรียนคือจุดศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการศึกษาและปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก่อเกิดอาชีพใหม่ๆ ในที่นี้อาจหมายรวมถึงอาชีพทางการศึกษา สถานศึกษาในรูปแบบใหม่ๆ ตัวอย่างเช่น โรงเรียนทางเลือก โรงเรียนกวดวิชา สถาบันพัฒนาฝีมืออาชีพต่างๆ ล้วนเกิดจากความหลากหลายของนักเรียนและกระแสเศรษฐกิจโลก

ถ้าการศึกษาไทย....ไม่มีผู้ปกครอง

การศึกษาไทย ที่ไม่มี….ผู้ปกครอง
– ก็คงขาดแรงสนับสนุนที่ยิ่งใหญ่ สำหรับนักเรียน โรงเรียน และงานต่าง ๆ
– ไม่มีการใครนำนักเรียนสมัครเข้าโรงเรียน
– ขาดมุมมองอีกหลายด้านที่โรงเรียนอาจหลงลืมไปในโลกชีวิตจริง

ผู้ปกครอง ที่ไม่มี….การศึกษาไทย
-คงต้องแบ่งเวลางานส่วนหนึ่งในการดูแลลูก
-ขาดมุมมองของบุคคลภายนอกที่ผู้ปกครองอาจมองข้ามไป
-มีกลุ่มปรึกษาการเรียนรู้ของลูกมากขึ้น (ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องดีก็ได้)

   เชื่อว่าหลาย ๆ คน เคยได้ยินประโยคที่ว่า “ฝากลูกกับครูด้วยนะครับ/ค่ะ เต็มที่เลย จัดการได้ 100%” แต่ในความเป็นจริงนั้น 100% ของโลกการเรียนรู้ของนักเรียนคนหนึ่ง คงไม่ใช่โรงเรียนทั้งหมด หากคิดเวลาที่อยู่โรงเรียนนั้น เป็นเพียง 8 ชั่วโมง ส่วน 16 ชั่วโมงที่เหลือ คือที่บ้าน ฉะนั้น หากดูจากอัตราส่วนชั่วโมงแล้วนั้น บ้าน ครอบครัว ผู้ปกครองเองก็เป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่สำคัญไม่แพ้โรงเรียน นอกจากพื้นที่การเรียนรู้แล้ว ยังเป็นอีกพื้นที่ ที่หากผู้ปกครองและนักเรียนเรียนรู้ที่จะเข้าใจกัน ส่งเสริมกันแล้วนั้นจะก่อให้เกิดเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ร่วมกระตุ้นการเรียนรู้ และเป็นกำลังใจให้นักเรียนในวันที่การเรียนที่โรงเรียนอาจยากเกินไปสำหรับนักเรียน


   หากขยายผลกระทบของการไม่มีผู้ปกครองให้กว้างขึ้น ก็จะค้นพบว่า งานโรงเรียนกับผู้ปกครองนั้นมีการทำงานร่วมกันอย่างสม่ำเสมอตลอดภาคการเรียน เช่น การสอบถามข้อมูลนักเรียน การจัดงานปีใหม่ หรืองานชุมชนต่าง ๆ ที่อาศัยการร่วมแรงร่วมใจของผู้ปกครองและชุมชน หากไม่มีผู้ปกครอง กิจกรรมต่าง ๆ ทั้งภายนอกและภายในโรงเรียน คงขาดมุมมองและกำลังที่สำคัญที่ส่งผลให้กิจกรรมเหล่านั้น สำเร็จดังที่คาดหวังไว้ได้

ถ้าการศึกษาไทย.... ไม่มีผู้อำนวยการ

การศึกษาไทย ที่ไม่มี….ผู้อำนวยการโรงเรียน
– ก็คงขาดคนนำประชุม และคนเปิดงาน
– ไม่มีคนคอยกระตุ้นให้ครูเลื่อนวิทยฐานะ
– ขาดผู้ผลักดันนโยบายที่ส่งเสริมให้โรงเรียนพัฒนาต่อได้

ผู้อำนวยการโรงเรียน ที่ไม่มี….การศึกษาไทย
-ไม่มีโรงเรียนให้คอยอำนวยความสะดวก
-ไม่เจอคุณครูและบุคลากร ที่สร้างสีสันในชีวิตการทำงาน
-ไม่ต้องกังวลเรื่องผลประเมินสถานศึกษาจนเกินไป

    ทุกการตัดสินใจ ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งการตัดสินใจที่จะส่งผลกับผู้คนที่เกี่ยวข้องมากมายแล้วนั้น คงเป็นงานที่ยากมากพอตัว หากมองเข้าไปในโรงเรียน ผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็นตำแหน่งสำคัญที่ต้องคอยตัดสินใจเรื่องราวต่าง ๆ ในโรงเรียน ซึ่งมองได้จากเอกสารที่ออกในนามโรงเรียนล้วนต้องผ่านการลงลายเซ็นจากผู้อำนวยการทั้งสิ้น
   นอกจากนี้ ผู้อำนวยการโรงเรียนยังเป็นผู้คอยสังเกต และผลักดันนโยบายสถานศึกษา เพื่อให้โรงเรียนพัฒนาต่อไป ถึงอย่างนั้นการพัฒนาที่ต้องส่งผลกับนักเรียน ย่อมต้องพัฒนาผ่านคุณครู เพราะฉะนั้น เบื้องหลังคุณครูที่คอยสอนนักเรียน ต้องมีแรงสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมของผู้อำนวยการโรงเรียนผสมอยู่ไม่มากก็น้อย

   อีกสิ่งสำคัญ หากการศึกษาไทย ไม่มีผู้อำนวยการโรงเรียน คือขาดผู้จัดการความต้องการของหลาย ๆ ฝ่าย เช่น กระทรวงศึกษาธิการ บุคลากรในโรงเรียน นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน เป็นต้น เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจ และ กำหนดทิศทางของเป้าหมาย สถานศึกษาและการพัฒนานักเรียน ที่ทำให้การทำงานในโรงเรียนนั้นมีวิสัยทัศน์เดียวกันนั่นเอง

   ทุกคนคงทราบดีว่า การเดินทางในยุคสมัยนี้นั้น สะดวกสบายและเข้าใจง่ายขึ้นด้วยระบบ GPS การทำงานในโรงเรียนก็เช่นเดียวกัน ผู้อำนวยการโรงเรียนเปรียบเสมือน GPS ที่คอยนำทาง และอำนวยความสะดวกในการทำงานของโรงเรียน ถึงแม้จะมีบางครั้งที่ GPS อาจจะพาไปทางที่ดีบ้าง ลัดไปทางที่ยากลำบากบ้าง แต่การมีสิ่งที่ช่วยชี้นำทางนั้น ย่อมช่วยเราได้ในทางใดทางหนึ่งแน่นอน 

ถ้าการศึกษาไทย....ไม่มีบุคลากรทางการศึกษา

การศึกษาไทย ที่ไม่มี….บุคลากรทางการศึกษา
– คงทำงานไม่ได้ เพราะหัวใจหลักคือผู้คนที่ดูแลนักเรียน
– ต้องเหนื่อยอีกหลายเท่าเพราะจำนวนคนไม่พอ
– โรงเรียนอาจไม่สะอาดอย่างที่เคยเป็น

บุคลากรทางการศึกษา ที่ไม่มี การศึกษาไทย
– ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับการศึกษา
– อาจไม่ได้เจอผู้คนที่พูดคุยถูกคอ และรักในการพัฒนานักเรียนเช่นกัน

   หลายคนอาจเคยได้ยินว่า “แอสการ์ดไม่ใช่สถานที่ แต่เป็นผู้คน” ซึ่งอาจคล้ายกับการศึกษาไทย โรงเรียนอาจไม่ใช่โรงเรียน หากไม่มีครู นักการ หรือบุคลากรทางการศึกษา ที่ล้วนเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนานักเรียน และเป็นคนผลักดันกิจกรรมต่าง ๆ ให้สำเร็จไปได้ด้วยดี

   จากหลายๆข่าวที่ระบุว่ามีการจ้างคุณครูอัตราจ้างเป็นเพราะปัญหาขาดแคลนครู หลายโรงเรียนต้องจัดงานผ้าป่าการศึกษา หรือ ขอสนับสนุนจากเขตพื้นที่การศึกษาของตนเอง เพื่อให้นักเรียนของเขา ได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ นอกจากการที่มีคุณครูเพิ่มนั้นจะส่งผลให้นักเรียนได้เรียนกับคุณครูที่มีความสามารถในสาขาวิชาแล้ว ยังส่งผลดีต่อการจัดการงานเอกสาร และเพิ่มกำลังคนในการดำเนินการต่าง ๆ อาทิเช่น งานปีใหม่ การประชุมผู้ปกครอง งานวิชาการ เป็นต้น

   หลายคนอาจมีคำถามว่า ทำไมครูไทยต้องจัดการงานเอกสาร คำตอบคือเพราะไม่ใช่ทุกโรงเรียนจะมีตำแหน่ง ธุรการ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่จำเป็นมากในโรงเรียน เพราะงานเอกสารบางอย่าง การติดต่อประสานงาน จำเป็นต้องใช้ความชำนาญที่คุณครูเองไม่เคยได้เรียนรู้มาก่อน หากโรงเรียนใดมีธุรการ จะเป็นการเสริมกำลังที่ดีอย่างมาก เพราะธุรการมีเวลาให้ความสำคัญกับงานเอกสาร ซึ่งแตกต่างจากคุณครูที่ต้องสอนด้วย และแบ่งเวลาส่วนหนึ่งมาทำงานเอกสารด้วย

   สุดท้าย ต้องพูดถึงกำลังสำคัญที่ขาดไม่ได้ หากขาดไปโรงเรียนคงไม่สะอาดตา หรือปลอดภัยเช่นเคย นั่นคือ เหล่านักการ แม่บ้าน และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หากโรงเรียนที่มีการสอนที่ดี มีนักเรียนที่พร้อม แต่ไร้ซึ่งความปลอดภัย ไร้ซึ่งความสะอาด คงขาดสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่ดี ที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีพัฒนาการตามที่คาดหวังไว้ได้

   จะเห็นได้ว่า ทุก ๆ คน ล้วนมีความสำคัญไม่มากก็น้อย ทุกคนล้วนเป็นส่วนช่วยขับเคลื่อน ให้ทุก ๆ วันของการเรียน เต็มไปด้วยความสุข ไม่ว่าจะครูที่ตั้งใจสอน ธุรการที่ตั้งใจติดต่อประสานงาน นักการที่ตั้งใจทำให้โรงเรียนสะอาด หรือลุงยาม ป้ายามที่ตั้งใจดูแลความปลอดภัยของทุกคน หากขาดบุคลากรเหล่านี้ไป โรงเรียนและการศึกษาไทยอาจไม่ใช่สถานที่แห่งความสุขเช่นเคย เพราะ โรงเรียนไม่ใช่เพียงสถานที่ แต่เป็นผู้คน

ถ้าการศึกษาไทย....ไม่มีเครือข่ายการศึกษาภายนอก

การศึกษาไทย ที่ไม่มี….องค์กรภายนอก
– ขาดแรงสนับสนุนที่่ช่วยผลักดันการศึกษาให้พัฒนามากขึ้น
-อาจไม่ได้เห็นความหลากหลายในมิติการศึกษาอย่างเช่นปัจจุบัน

องค์กรภายนอก ที่ไม่มี….การศึกษาไทย
– ก็คงไปผลักดันเรื่องอื่น ที่ไม่ใช่เรื่องการศึกษา
– อาจไม่เห็นภาคีเครือข่ายที่ร่วมผลักดันทิศทางการศึกษาไทย

   ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการศึกษาในหลายๆด้านและยังคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในระยะสั้นๆ ซึ่งบางปัญหาอาจสะสมมานานและส่งผลกระทบต่อเด็กไทยโดยตรง เช่น คุณภาพการศึกษาพื้นฐานตกต่ำเมื่อเทียบกับระดับนานาชาติ ปัญหาของครูที่ขาดแคลน ภาระงานที่เกินความจำเป็นจนส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอน งบประมาณที่ไม่เพียงพอต่อการสนับสนุน เกิดความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ เช่น นักเรียนหลุดออกจากระบบไม่จบการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไข เปลี่ยนแปลง พัฒนาให้ดีขึ้น ดังนั้น การได้รับความร่วมมือจากองค์การศึกษาภายนอกจึงเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่จะเข้ามามีบทบาทหน้าที่ขับเคลื่อนการศึกษาเพื่อสร้างความเสมอภาค

   เพราะปัญหาการศึกษานั้นไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดมาจากใครคนใดคนหนึ่ง การสร้างความร่วมมือจากองค์กรภายนอกจึงช่วยขับเคลื่อนวิสัยทัศน์และนโยบายของโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างองค์กร การสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือกับภาคีภายนอกเหล่านี้นอกจากจะช่วยเสริมสร้างสันติภาพและส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาแล้วยังมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาท้าทายร่วมกัน ทั้งปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงจากระดับชาติไปจนถึงชุมชนรวมทั้งช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของนักเรียน

   เหตุใดโรงเรียนถึงต้องการความหลากหลาย เพราะความหลากหลายจะทำให้เกิดมุมมองและวิธีการที่แตกต่างที่เป็นประโยชน์ซึ่งมาจากประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกันที่จะช่วยส่งเสริมและพัฒนากระบวนการ มีความร่วมมือที่ยอดเยี่ยมกว่าเดิม เป็นเครื่องมือในการสื่อสารชั้นดีในโรงเรียน เช่น การสะท้อนสาเหตุของปัญหาในหลายๆด้านนำมาซึ่งกระบวนการในการพัฒนาการแก้ไขปัญหาที่หลากหลายและทันสมัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การหาทางออกอย่างสร้างสรรค์และช่วยให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ง่ายขึ้น

   หากพูดถึงกลุ่มเครือข่ายที่มุ่งสร้างแรงบันดาลใจและเติมไฟให้การศึกษาไทยคงหนีไม่พ้นองค์กรเพื่อการศึกษาซึ่งองค์กรเหล่านี้มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือในการสนับสนุนกับภาคส่วนต่างๆเพื่อมุ่งขจัดความเหลื่อมล้ำในบริบทต่างๆต่อการศึกษาไทย เช่น ความยากจน สนับสนุนเงินทุน เครื่องมือต่างๆให้กับโรงเรียนเป็นต้น แต่หากพูดถึงเครื่องมือหรือองค์ประกอบที่สำคัญ บุคลากรที่มีบทบาทสำคัญในที่นี้หมายรวมถึง ครูนอกระบบ ครูอาสา ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ซึ่งกลุ่มครูเหล่านี้คือกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางประสบการณ์อาจจะไม่ได้จบครูมาแต่อย่างใดแต่มีแรงบันดาลใจ ความเสียสละ ความมุ่งมั่นที่ต้องการจะพัฒนานักเรียนหรือตนเองไปพร้อมๆกันเพื่อที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในแวดวงการศึกษาไทย ประสบการณ์อันหลากหลายส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในหลายๆด้าน เช่น การพัฒนาการเรียนการสอนที่ทันสมัยที่สอดคล้องกับเนื้อหาทางวิชาการควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะต่างๆเข้ากับบริบทของชุมชนมากยิ่งขึ้นมีความทันสมัยรวมทั้งการสร้างแรงบันดาลใจการเติมไฟให้กับนักเรียนได้มีเป้าหมาย มีโลกทัศน์ที่กว้างผ่านมุมมองและประสบการณ์ที่หลากหลาย เปรียบเสมือนการสร้างเวทีติดอาวุธและมีมุมต่อการศึกษาที่ดีขึ้น นอกจากนี้กลุ่มครูเหล่านี้ยังมีความเป็นผู้นำสูงในด้านการเปลี่ยนแปลงการศึกษาให้ดีขึ้นเพราะการมุ่งเน้นนักเรียนเป็นจุดศูนย์กลางของการเรียนรู้ ช่วยแบ่งเบาภาระครูด้านการเรียนการสอน การให้คำปรึกษา สนับสนุนงานด้านอื่นๆให้กับโรงเรียนเกิดประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้นส่งผลต่อชุมชนนั้นๆได้อีกทาง จากที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความจำเป็นว่าเหตุใดโรงเรียนไทยจึงจำเป็นได้รับความร่วมมือจากองค์กรภายนอก

   เพราะการศึกษานั้นมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์และกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการดำรงชีพ รวมทั้งการเรียนรู้ตลอดชีวิตยังสร้างความได้เปรียบในการประกอบอาชีพที่ต้องแข่งขันกันในทุกๆด้านส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติด้วย สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนให้เกิดความหลากหลายทางการศึกษาเพื่อตอบรับการสถานการณ์ในปัจจุบันอย่างที่เราเห็นกันในทุกวันนี้

   องค์ประกอบที่สำคัญอย่าง นักเรียน ผู้ปกครอง บุคลากรทางการศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน และองค์กรภายนอก เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ที่หากขาดหายไปแม้แต่เพียงองค์ประกอบเดียว คงส่งผลต่อการศึกษาไทยอย่างมาก เพราะในปัจจุบันระบบการศึกษากำลังเผชิญกับปัญหาด้านต่างๆ เช่น นักเรียนหลุดออกจากระบบ บุคลกากรที่ไม่เพียงพอ ปัจจัยด้านเงินทุนการศึกษา ปัญหาสังคมที่อาจมาจากหลาย ๆ มิติ ปัญหาทางบ้าน ครอบครัว หรือความเหลื่อมล้ำในสังคม

   เชื่อว่าหลายๆคนที่ได้อ่านบทความนี้ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบการศึกษาไทย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อยากชวนทุกคนมาร่วมขับเคลื่อนการศึกษาไทย เพราะการศึกษาไทยไม่ใช่ปัญหาเฉพาะครู นักเรียน หรือโรงเรียน แต่การศึกษาไทยเป็นปัญหาของสังคม ที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาได้

เรียบเรียงโดย เอกลักษณ์ บรรดาล (ใหม่) และ สริภัทร เอี่อมสอาด (เนส) ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 7