ครูดิว (สุคนธา นิลหยก) ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 7

บทบาทของครูที่ไม่จบแค่ในห้องเรียน

            เพราะหน้าที่หลักของครูคือผู้ให้ความรู้ แต่ความรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน ครูดิว (สุคนธา นิลหยก) ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 7 ซึ่งสอนภาษาอังกฤษ ที่โรงเรียนภัทรญาณวิทยา จังหวัดนครปฐม จึงมุ่งมั่นในการตั้งคำถามและค้นหาคำตอบ เพื่อนำมาพัฒนาการเรียนการสอนให้เด็กๆ เรียนภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการทำวิจัย การดำเนินโครงการต่างๆ พร้อมทั้งแสวงหาโอกาสให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา

การสังเกต การตั้งคำถาม และการค้นหาคำตอบ

            ช่วงสองภาคเรียนที่ผ่านมาซึ่งอยู่ระหว่างการเกิดสถานการณ์โควิด การเรียนการสอนที่โรงเรียนเป็นระบบออนไลน์ทั้งหมด ครูดิวเล่าว่า เด็กนักเรียนห้องหนึ่งมีประมาณ 30 คน จากการสำรวจ มีเด็ก 2-3 คนที่แจ้งว่าไม่สะดวกเรียนออนไลน์ และขอรับใบงานไปทำ เพราะฉะนั้น ควรจะมีเด็กเข้าเรียนออนไลน์ประมาณ 27-28 คน แต่พอถึงเวลาเข้าเรียน กลับพบว่า มีเด็กเข้าสูงสุด 15 -17 คนต่อคาบ บางครั้ง ต่ำสุดมีเด็กเข้าแค่คนเดียว โดยส่วนใหญ่แต่ละคาบที่สอนจะมีเด็กเข้าเรียนประมาณ 6-7 คน

ครูดิวเล่าว่า “เราต้องกลับมาถามตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะเราปรับเปลี่ยนวิธีการสอน และวิธีการดึงดูดนักเรียนให้เข้าเรียน เราทำเต็มที่ในส่วนของเรา เราเลยตั้งคำถามเพื่อนำไปสู่การวิจัยว่า หรือว่าคนที่บ้านของนักเรียนไม่เข้าใจว่าเราทำอะไรอยู่ เพราะช่วงที่นักเรียนอยู่บ้าน ผู้ปกครองจะใกล้ชิดกับเด็กมากกว่าตอนมาโรงเรียน”

            เมื่อตั้งคำถามแล้ว ครูดิวก็เลือกที่จะทำวิจัยเพื่อหาคำตอบ โดยได้ตั้งหัวข้อการวิจัยว่า “ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสื่อดิจิทัลและเทคโนโลยีของผู้ปกครองมีผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนหรือไม่” จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการวิจัย โดยได้รับความอนุเคราะห์จากโรงเรียนที่อนุญาตให้ทำการวิจัย ครูดิวเลือกทำสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ปกครองจำนวน 17 คน ซึ่งมีการตั้งคำถามที่แบ่งเป็นสองส่วน คือ

  1. ส่วนที่เป็นปัจจัยพื้นฐาน ได้แก่ ทรัพยากรในการเข้าถึงการเรียนออนไลน์ เช่น ค่าอินเตอร์เน็ต อุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น มือถือ แท็ปเล็ต
  2. ส่วนที่เป็นความรู้ความเข้าใจของผู้ปกครอง โดยจะให้ชื่อแอพพลิเคชั่นต่างๆ เช่น Google Meet, Google Classroom, Zoom, Youtube, Twitter, Instagram, Tiktiok โดยถามว่าผู้ปกครองรู้จักหรือไม่ ถ้ารู้จักให้อธิบายการใช้งานพอสังเขป

            นอกจากนี้ยังมีการสอบถามว่า ผู้ปกครองทำอย่างไรในการให้ความช่วยเหลือนักเรียนในการเรียนออนไลน์ และมีคำถามปลายเปิดให้อธิบายอุปสรรคพบ สิ่งที่อยากแบ่งปัน

            ครูดิวเล่าถึงสิ่งที่ค้นพบว่า ผู้ปกครองทั้ง 17 คนตอบว่าไม่มีปัญหาด้านปัจจัยพื้นฐาน ทุกคนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ มีอุปกรณ์และมีรายได้สนับสนุน ส่วนด้านความรู้ความเข้าใจ มีผู้ปกครองถึง 15 คนที่ไม่รู้จัก Google Meet, Google Classroom หรือ Zoom  ทั้งที่ ครูส่วนใหญ่ใช้แอพพลิเคชั่นเหล่านี้ในการสอน ส่วนคนที่ตอบว่ารู้จัก ก็รู้จักไม่ละเอียด

            ในส่วนการช่วยเหลือนักเรียนถ้านักเรียนไม่เข้าใจ ก็แบ่งเป็น 2 วิธีการ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ใช้วิธีแรกคือให้กำลังใจ บางส่วนใช้วิธีที่ 2 คือการแนะนำให้ใช้ google ค้นหาข้อมูล ซึ่งเป็นการค้นหาแบบง่าย มีผู้ปกครองเพียงคนเดียวที่อธิบายเกี่ยวกับการทำ bookmark และดูประวัติการค้นหาข้อมูลได้

            ครูดิวสรุปว่า “พอเราเจอข้อเท็จจริงก็รู้สึกว่าน่าสนใจ ปัญหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะ  Search Engine เช่น Google เรามองว่าผู้ปกครองสามารถสนับสนุนเด็กอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ เราจึงวางแผนนำเสนอข้อเท็จจริงให้ Google ฟัง เพื่ออาจจะร่วมกันหาทางออกหรือให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อครูหรือผู้ปกครอง ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการเรียบเรียงข้อมูลเพื่อนำเสนอ”

“เรามองว่า ครูเป็นผู้ให้บริการด้านการศึกษา ดังนั้น เราต้องคิดค้นเครื่องมือที่ทำให้ผู้ปกครองกับนักเรียนได้สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกัน และพัฒนาประสิทธิภาพในการเรียนได้” ครูดิวกล่าวถึงหน้าที่ของครูที่กว้างกว่าการสอนในห้องเรียน

การสร้างเครือข่ายเพื่อสนับสนุนและสร้างโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้นอกห้องเรียน

            นอกจากความสัมพันธ์ที่ดีกับครูและผู้บริหารของโรงเรียนแล้ว ครูดิวมีเครือข่ายกับทางมหาวิทยาลัยที่เรียนจบมาซึ่งมีการส่งเสริมด้านสังคม โดยมหาวิทยาลัยมีหน่วย Digital Center ที่สนับสนุนทักษะด้านดิจิทัล และมีการจัดโครงการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้เด็กผู้หญิงร่วมกับสหประชาชาติ ในโครงการ International Girls in ICT Day ที่ใครจะเข้าร่วมก็ได้ ไม่มีการปิดกั้น ระยะเวลาโครงการประมาณ 1 เดือน โดยแต่ละอาทิตย์จะมีเนื้อหาต่างๆ กันไป

            ทางมหาวิทยาลัยได้ติดต่อครูดิวในฐานะครูทีช ให้ร่วมส่งนักเรียนหญิงไปเรียนรู้ด้านดิจิทัลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ครูดิวส่งตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนไปเข้าร่วมโครงการ ซึ่งเด็กๆ ก็ขอบคุณโครงการนี้ที่ทำให้เขาได้เปิดโลก และมีนักเรียนจำนวน 6 คนที่ได้เป็นตัวแทนส่งคำถามเพื่อพูดคุยกับวิทยากรจากไมโครซอฟท์ และสหประชาชาติ รวมถึงมีนักเรียน 1 คนที่ได้รับการคัดเลือกไปตอบคำถามเกี่ยวกับอุปสรรคปัญหาของนักเรียนไทยในภาพรวม

การจัดโครงการ Englishable เพื่อให้นักเรียนใช้ภาษาอังกฤษเป็นใบเบิกทางในการทำตามความฝันของตนเอง

            โครงการ Englishable เป็นโครงการที่ครูดิวเริ่มก่อตั้งร่วมกับรุ่นน้องร่วมคณะ ซึ่งเป็นโครงการห้องเรียนภาษาอังกฤษที่เปิดให้นักเรียนที่สนใจเข้าร่วมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

            ปัจจุบัน มีนักเรียนโรงเรียนภัทรญาณวิทยา จำนวน 15 คนเข้าร่วมในทุกวันเสาร์เป็นเวลา  1 ชั่วโมงครึ่ง “เราตั้งใจให้นักเรียนได้เรียนภาษาอังกฤษแบบที่ไม่เคยเรียนมาก่อน โดยจะเสริมทักษะชีวิต ทักษะที่จำเป็น และทักษะภาษาอังกฤษ โดยคาดหวังว่านักเรียนจะกลับไปสู่ห้องเรียนแล้วเป็นผู้นำในวิชาภาษาอังกฤษได้”

            ครูดิวเล่าว่า ที่มาของโครงการ Englishable เริ่มจากการรับฟังเด็กๆ จำนวนมากบอกเล่าอุปสรรคในการเรียนภาษาอังกฤษ ทำให้รู้สึกว่าน่าจะทำโครงการที่ช่วยติวเสริมหรือเสริมความมั่นใจในการใช้ภาษาอังกฤษให้นักเรียน

            “มีเด็กม.3 มาถามเราว่า ทำไมชื่อเขา ธนพัทธ์ ถึงต้องสะกดด้วย TH เพราะเด็กไม่เข้าใจเรื่องการออกเสียง แต่เด็กก็กำลังใจดี สนใจที่จะเรียนรู้ เรารู้สึกว่า เขาเปรียบเสมือนสายหูฟังที่ยังพันกันอยู่แล้วหาทางแก้ไม่เจอ ถ้าเราส่งเขาเข้าม. ปลายโดยที่ยังเป็นหูฟังที่พันกันยุ่งเหยิง มันก็จะพันกันยิ่งกว่าเดิม เพราะเขาไม่มีความรู้พื้นฐาน” ครูดิวเล่าถึงที่มาของการจัดโครงการ

             โครงการ Englishable มีจุดมุ่งหมายให้นักเรียนใช้ภาษาอังกฤษเป็นใบเบิกทางในการทำตามความฝันของตนเอง โดยไม่ได้เสริมแค่วิชาการ แต่มีการสร้างเสริมให้นักเรียนได้ทักษะเพิ่มเติม คือมีจิตนาการ มีความกลาหาญ กล้าใช้ กล้าพูด ปัจจุบันเริ่มมา 5 ครั้ง ในช่วงนำร่อง โดยโครงการจะจัดการเรียนการสอนทั้งหมด 12 ครั้ง มีทั้งการเรียนออกเสียง การเรียนด้านคำนาม คำสรรพนาม การใช้ Tense มีเด็กนักเรียนเข้าร่วมตั้งแต่ระดับม. 1-5 เพราะเป็นโครงการที่ตั้งใจปรับความรู้พื้นฐานภาษาอังกฤษให้นักเรียน

การมุ่งมั่นพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

              ครูดิวเล่าว่า การเข้าร่วมโครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง ของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์เปิดโอกาสให้ได้เป็นคุณครูในโรงเรียน ทำให้ได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะและความสามารถหลายด้าน

              ด้านแรก คือ การฝึกความละเอียดถี่ถ้วน  ซึ่งการทำงานกับครูและระบบราชการ ฝึกให้ต้องใส่ใจในการใช้ภาษา รูปแบบการติดต่อสื่อสาร การจัดทำรายงานและเอกสารราชการ ทำให้มีทักษะการสื่อสารที่ดีขึ้น

              ด้านที่สอง คือ การฝึกวางโครงสร้างการสอน การย่อยข้อมูล การทำสื่อการสอน การเลือกใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อถ่ายทอดบทเรียน การหาวิธีการนำเสนอที่ดี

              “มองย้อนไปที่สื่อหรือการนำเสนอของตนเองเทอมแรกๆ จะเห็นได้ชัดว่า ยังมีส่วนที่พัฒนาได้ ทั้งลำดับขั้นตอน และวิธีการ จนถึงตอนนี้เรามีรูปแบบแล้วว่า ขั้นแรก คือการบอกวัตถุประสงค์การเรียนรู้ โดยนักเรียนจะได้อ่านพร้อมกับเรา ขั้นสองเราจะเตรียมความพร้อมเด็กก่อนเริ่มเรียนผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น เตรียมรูปภาพให้เด็กเชื่อมโยงกับบทเรียน ตัวอย่างเช่น การสอน Past Tense เรานำรูปศิลปินวง BTS กำลังนอนหลับมาให้เด็กดู ซึ่งเด็กๆ ชอบศิลปินวงนี้มาก แล้วอธิบายว่าเมื่อคืนเขานอน ต้องใช้ verb ช่อง 2 เป็นต้น ซึ่งเราก็มีการพัฒนากระบวนการสอนทุกเทอม” ครูดิวเล่า

              นอกจากนี้ ครูดิวยังขออนุญาตโรงเรียนในการจัดตารางสอน เพื่อขอติดตามเด็กนักเรียนที่สอนอยู่ โดยเทอมแรกครูดิวสอนชั้น ม. 1 เทอม 2 เทอมต่อๆ มาก็สอนเด็กห้องเดิม ในชั้นม. 2 ทำให้เห็นพัฒนาการของเด็กๆ ตลอด

              “ม. 1 เราวางแผนให้เด็กเปิดใจ เพราะเด็กส่วนใหญ่ มีทัศนคติไม่ดีต่อวิชานี้ ไม่ชอบเพราะอ่านไม่ออก ม. 2 เราก็สนับสนุนให้เขากล้า สร้างห้องเรียนที่ปลอดภัยเพื่อให้นักเรียนกล้าแสดงความคิดเห็น พอ ม. 3 เราจะเพิ่มความท้าทายให้เขาเป็นคนสร้างอะไรบางอย่างเอง เพราะเราดูแลเขามาประมาณหนึ่ง ม. 3 จะเป็นการดึงศักยภาพ ซึ่งผลตอบรับจากนักเรียนก็ดี เพราะ เด็กๆ จำได้ว่าเคยสอนอะไรไป” ครูดิวเล่า

4

ฝากถึงผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการและครูทีชรุ่นใหม่​

ในตอนท้าย ครูดิวฝากถึงผู้สนใจเข้าร่วมโครงการว่า ไม่ว่าสุดท้ายแล้วจะได้ทำด้านการศึกษาหรือไม่ แต่ถ้ามีความสนใจเรื่องสังคมและโครงสร้างสังคม การเข้าร่วมโครงการจะทำให้เห็นโครงสร้างที่ชัดเจนมาก และได้เสริมสร้างทักษะความเป็นผู้นำผ่านการเป็นครู และเป็นประสบการณ์ที่ดี

“สำหรับคนที่เข้ามาแล้ว ช่วงระยะเวลาการสอน 4 เทอม อยากให้ลองวางแผนว่า อยากทำอะไร ต้องการค้นหาตัวเองในมุมมองไหน ใช้เวลาให้เต็มที่บนพื้นฐานของความสบายใจของเราด้วย ไม่กดดันตนเองมากเกินไป เพราะโครงการหลายอย่างของดิวเองก็มาเริ่มตอนเทอม 3 ซึ่งก็รู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม” ครูดิวกล่าว

 

บทสัมภาษณ์ ครูดิว (สุคนธา นิลหยก) ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 7

โรงเรียนภัทรญาณวิทยา จังหวัดนครปฐม