ครูฟอง (อิชยา ธรรมสุวรรณ์)
ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 7

สถานีรถไฟเหาะ สายการพัฒนาตัวเอง

        คุณเคยภูมิใจตัวเองหลังจากลงมาจากรถไฟเหาะที่แสนตื่นเต้นไหม ? การพัฒนาตัวเองเป็นสิ่งที่หลายคนกำลังพยายามอย่างหนักเพื่อที่จะมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ตนเองได้ตั้งใจไว้ ถ้าหากเปรียบการพัฒนาตัวเองเสมือนรถไฟเหาะ ระหว่างเดินทางมีหลากหลายอารมณ์ทั้งความสุข ความตื่นเต้น ความกลัว และเส้นทางอลวนทั้งขึ้นและลงซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้ ดั่งเช่นการพัฒนาตัวเองก็ต้องเจอประสบการณ์หลากหลายอย่างที่จะทำให้เราเป็นตัวเราในรูปแบบที่พัฒนาขึ้น

        เมื่อมองออกไปจากขบวนระหว่างรถไฟเหาะสูงไปเรื่อย ๆ คุณจะสามารถมองเห็นทิวทัศน์ที่งดงาม หรือมุมมองแนวคิดที่แตกต่างจากที่เคยเห็น และสิ่งเหล่านั้นอาจทำให้เราได้เรียนรู้การพัฒนาตัวเองมากกว่าที่เคยเป็น สถานีรถไฟเหาะสายการพัฒนาตัวเองพร้อมเดินทางแล้วมารู้จัก ครูฟอง (อิชยา ธรรมสุวรรณ์) ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 7 ประจำโรงเรียนศรีมโหสถ ผ่านบทสัมภาษณ์ประสบการณ์การเดินทางชีวิตที่จังหวัดปราจีนบุรี  

ภาพแรกที่เราอธิบายการเข้ามาเป็นครูผู้นำคือ เป็นรถไฟเหาะโรลเลอร์โคสเตอร์ ชีวิตจะมีขึ้น ๆ ลงๆ
มันเป็นประสบการณ์ที่เราก็ต้องรับมือกับตัวเองให้ได้เป็นอย่างแรก นักเรียนเป็นปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ แต่ตัวเราเองเป็นสิ่งที่จะพัฒนาและผลลัพธ์มันเห็นได้ชัด ดังนั้นเราเริ่มต้นได้ที่ตัวเราเอง

ย้อนเวลากลับไปก่อนจะเข้ามาเป็นครูผู้นำ

        ครูฟอง (อิชยา ธรรมสุวรรณ์) จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สำนักวิชาศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ ปัจจุบันเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 7 อยู่ที่ โรงเรียนศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี สอนในรายวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐาน และภาษาอังกฤษเพิ่มเติม ระดับชั้นมัธยมต้น ม.2 และ ม.3

        ช่วงมหาวิทยาลัยครูฟองชื่นชอบการทำกิจกรรม เช่น พิธีกร สตาฟกิจกรรมดูแลรุ่นน้อง และเคยทำการเรียนการสอนเล็กๆ ในรายวิชาหนึ่งของมหาวิทยาลัยโดยได้ลองฝึกสอนนักเรียนจริง ๆ 1 ชั่วโมงด้วย หลังจากจบมหาวิทยาลัยก็เคยประกอบอาชีพเป็นคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) ของสายการบินจึงได้เรียนรู้การพูดทั้งภาษาไทยและอังกฤษ และย้ายมาเป็น Sale Coordinator ของโรงงานญี่ปุ่นด้วยความอยากเรียนรู้รูปแบบงานใหม่ๆ หลังจากนั้นก็ได้มาเป็นติวเตอร์ภาษาอังกฤษและได้สนใจการสอนมากขึ้นจนได้รู้จัก Teach For Thailad

เด็กคนหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจในการเข้ามาเป็นครูผู้นำ

        ครูฟองรู้สึกอยู่ตัวกับการเป็นติวเตอร์ภาษาอังกฤษจนกระทั่งมาเจอกับนักเรียนคนนึงที่เขาอยู่ระดับชั้นมัธยมปีที่ 5 ครูฟองเป็นติวเตอร์ให้เด็กคนนี้แต่พบว่าเด็กคนนี้ยังอ่านหนังสือภาษาอังกฤษไม่ค่อยออก ครูฟองเล่าว่า เด็กคนนี้ทำงานโดยการขายก๋วยจั๊บญวนแห้งแพ็คขาย โดยการนำเงินที่ทำงานนั้นมาเรียนพิเศษกับครูฟอง เพราะว่าเด็กคนนี้อยากเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพิ่มเติม ซึ่งในตอนนั้นยอมรับว่าค่าสอนของติวเตอร์ค่อนข้างสูง ครูฟองเองจริงๆ ต้องสอน 2 ชม. แต่การที่เห็นเด็กคนนี้ตั้งใจ ขยัน และมีคำถามสงสัยเสมอ ครูฟองก็สอนไปเพิ่มหลายชั่วโมง เด็กคนนี้บอกครูฟองว่า “ครูครับ ผมจ่ายเงินเพิ่มได้นะครับ” แต่ครูฟองไม่รับเงิน เด็กคนนั้นก็พูดหลังจากเรียนกับครูฟองว่า “ครูครับ ถ้าผมได้เรียนกับครูฟองแบบนี้ตั้งแต่แรก ผมคงเข้าใจและเก่งมากกว่านี้แน่ๆ“ วินาทีนั้นเองทำให้ครูฟองรู้ตัวเองว่าเราน่าจะลองสอนเด็กคนอื่น ๆ ในโรงเรียนดูบ้างเเพื่อที่จะได้ทำให้เด็กไทยเข้าใจบทเรียนในจำนวนที่มากกว่าการรอเด็กมาเรียนพิเศษด้วย ครูฟองอยากจะลดความเหลื่อมล้ำ ไม่อยากให้เด็กมาเสียเงินเรียนพิเศษ “เสียเงินเพื่อเรียนเพิ่มเติมความรู้ได้นะ แต่ไม่อยากให้เสียเงินให้สิ่งที่ขาดไปตั้งแต่แรกอยู่แล้ว” ครูฟองกล่าว

มีความคาดหวังในการพัฒนาเด็กแต่กลับได้พัฒนาตัวเองอย่างมาก

        ก่อนเข้ามาสอนครูฟองมีความคาดหวังที่จะพัฒนาเด็ก เพื่อให้เด็กอ่านออกเขียนได้ มีคุณภาพทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและอยากพัฒนาตัวเองเหมือนทุก ๆ คน สิ่งที่เกิดขึ้นคือจากแต่ก่อนที่ครูฟองเป็นคนไม่ค่อยกระตือรือร้น ครูฟองเป็นคนช้า ๆ แต่พอเข้ามาเป็นครูผู้นำฯ ต้องนำหน้าทุกอย่างก่อนเด็กนักเรียน เราต้องพัฒนาทักษะการวางแผน การจัดการตัวเองและการเรียนการสอนที่เด็กต้องการ บริหารพลังงานของตัวเองเสมอ และเราก็ต้องเรียนรู้บทบาทใหม่ๆ ของตัวเองด้วย

         “เหตุการณ์ที่ทำให้เราเรียนรู้ คือ ตอนเข้าไปสอน เรามั่นใจตัวเองมากเพราะเราก็จบเอกภาษาอังกฤษมา ความรู้ค่อนข้างแน่น พอลองอธิบายให้นักเรียนในโรงเรียนฟังครั้งแรก ผลสรุปคือเด็ก ๆ เงียบ ไม่เข้าใจ ซึ่งมันแตกต่างกับตอนเป็นติวเตอร์ที่เด็กจำนวนน้อยไม่เข้าใจเราก็จะค่อย ๆ อธิบายทีละคน แต่ทั้งห้องเรียนมีเด็กจำนวนเยอะมาก เราก็เลยกลับไปดูการสอนของติวเตอร์คนอื่น เข้าอบรม เพื่อไปเรียนรู้การสอนของคนอื่น วิธีการพูด การยกตัวอย่างเพื่อหาว่าวิธีไหนที่จะทำให้เด็กเข้าใจและสามารถสื่อสารกับเราง่ายที่สุด เราเคยคิดล่วงหน้าแม้กระทั่งคำถามที่เด็กจะถามเราว่าเราต้องอธิบายอย่างไร ถ้าเด็กไม่เข้าใจก็หาวิธีการให้เด็กถามให้ได้ เช่น ให้เด็กยกมือ ถ้าไม่กล้าก็ให้เด็กกระพริบตาจะได้อธิบายซึ่งต้องนำหน้าเด็ก 1 สเต็ปก่อนเสมอ ครูฟองได้เรียนรู้ถึงบริบทที่แตกต่างกันของเด็กนักเรียนทั้งสังคม วัฒนธรรมซึ่งไม่อยากเชื่อว่าเด็ก ๆ ที่อยู่ในประเทศเดียวกันก็มีความแตกต่างกันขนาดนี้ “

ความคาดหวังและการเรียนรู้บทบาทของครู

        สิ่งที่ไม่ได้คาดหวังแต่ได้เรียนรู้จากการเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง คือ ครูฟองเป็นคนชอบเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ อยู่แล้วได้เรียนรู้หลายอย่างมาก นอกจากเรื่องความกระตือรือร้นที่มากขึ้นแล้วข้างต้น ครูฟองได้เรียนรู้ระบบบริหารจัดการของครูฝ่ายวิชาการ เช่น เรื่องเอกสาร เรื่องแผนการสอน ดูแลพฤติกรรมของเด็ก มีอะไรหลายอย่างมากที่ครูต้องทำ ซึ่งเรื่องสำคัญของการเป็นครูคือเราต้องเรียนรู้ในการอย่าพึ่งตัดสินอะไรจากภูมิหลังของตนเอง (Holding Judgement) เมื่อเราต้องการตัดสินอะไรตรงหน้าไม่ใช่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเหมือนที่เราคิดเพราะเป็นสิ่งที่เคยได้ยินมา หรือ ต้องการให้เปลี่ยนแปลงได้ทันที ความเป็นจริงคือ เราต้องให้เวลากับมันและเข้าใจบริบท ปัญหา สภาพแวดล้อม ทั้งตัวนักเรียน ผู้ปกครอง บุคลากรในโรงเรียน ระบบการศึกษา เพื่อสนับสนุนทุก ๆ อย่างรอบตัวเราให้ได้มากที่สุด ครูฟองเข้ามาด้วยความคาดหวังที่สูงมากจนเคยนั่งร้องไห้ว่าทำไมมันไม่เป็นไปตามที่คิดแต่สุดท้ายแล้วเราได้เรียนรู้ว่าทุกอย่างสามารถค่อย ๆ เรียนรู้ได้ พอครูฟองเริ่มลดความคาดหวังลงเพื่อไม่นำตัวเองเป็นที่ตั้งทุกอย่างก็ดีขึ้นหมายความว่าเราต้องพยายามเข้าใจสิ่งรอบตัวมากขึ้น  

        อีกส่วนสำคัญที่ทำให้พัฒนาตัวเองมาก ๆ คือ การเป็นผู้นำโดยทำเป็นตัวอย่าง (Lead by Example) มันมีผลมาก ๆ กับพฤติกรรมของนักเรียน ยกตัวอย่างสถานการณ์ เช่น การที่เด็กๆ ไม่รู้ว่าจะแสดงความรู้สึกอย่างไรได้บ้างและจะเข้าใจคนอื่นได้อย่างไร ครูฟองลองพูดว่า ‘ตอนนี้ครูฟองโกรธระดับ 7’ เด็กๆ ก็จะเริ่มเงียบกัน มันเกิดขึ้นเพราะเรามีเหตุผล มีเกณฑ์ให้เขารับรู้ว่าความรู้สึกตอนนี้เป็นอย่างไร หลังจากนั้นเมื่อเด็กมีความรู้สึกอะไร เช่น รู้สึกไม่ดีกับเพื่อนหรือกับตัวเอง ก็เริ่มมาขอคำปรึกษาจากครูฟอง บอกระดับของความรู้สึกและอธิบายเหตุผลเหมือนที่ครูฟองทำ หรือแค่สถานการณ์การยกเก้าอี้ไม่มีใครยกตอนเลิกคาบเรียน ครูฟองเดินไปยกเอง พอเด็กๆ เห็นก็เดินมาช่วยยกทันทีเพราะเห็นครูฟองทำก่อนโดยที่ครูฟองไม่ได้เรียก สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าครูฟองเป็นตัวอย่างที่ใกล้ชิดเด็กนักเรียนมากที่สุดแล้ว แล้วมันจะติดตัวตามเขาไปจนพวกเขาโตขึ้น

การเป็นครูผู้นำทำให้กลับไปนึกถึงตอนตัวเองตอนเด็ก

        อย่างที่ได้กล่าวมา ครูฟองมีความคาดหวังที่สูงเพราะอยากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กและการเรียนรู้ของเด็กด้วย ครูฟองลองนั่งคุยกับนักเรียน ทำให้ครูฟองย้อนกลับไปคิดถึงตัวเองตอนเด็ก ๆ ว่าถ้าครูทำแบบไหนเราจะรู้สึก และเข้าใจไหม อย่างไรบ้าง ครูฟองได้เรียนรู้เรื่องการปรับตัวช่องว่างระหว่างอายุ จนเกือบลืมว่าเราเคยเป็นคนแบบไหนมา เพราะตอนนี้เราก็เป็นเราในเวอร์ชันที่ดีกว่าเมื่อวานแล้ว เด็กสมัยใหม่ก็มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ทั้งคำพูด ทัศนคติ ความคิด

        “เราก็เป็นเด็กซนคนหนึ่งเหมือนกันในอดีต เราเคยคุยกับเด็กซนคนนึง เราชอบเด็กซนมากเพราะเรานึกถึงตัวเอง เด็กคนนี้ดื้อแล้วก็ติด 0 หลายวิชา เราเข้าไปคุยเพราะอยากพัฒนาพฤติกรรม และเราก็คาดหวังให้เด็กไม่ทะเลาะ ไปท้าตีกับเพื่อน เราลองคุยเพื่อทำความเข้าใจถึงเหตุผล เด็กคนนั้นให้คำสัญญากับเรา ถึงวันต่อมาหน้าเด็กจะตึงมาก ๆ เพราะยังโมโหอยู่แต่ก็ไม่ทะเลาะกันแล้ว พยายามเงียบกับเพื่อนแล้วก็มาคุยกับเรา ทำให้เราเห็นว่าอย่างน้อยเด็กก็ได้พยายามแล้ว มันคงไม่ได้เปลี่ยนทันทีเหมือนที่เราคิดตอนแรก และเราก็ต้องพยายามเข้าใจบริบทของนักเรียน” ครูฟองเล่า

โรงเรียน ชุมชน มีส่วนร่วมในการพัฒนาของครูผู้นำ

        โรงเรียนให้อะไรเราเยอะมาก เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สนับสนุนและให้การพัฒนาตัวเอง ต้องขอบคุณโรงเรียนเพราะที่นี่ให้อิสระ “อยากลองพาไปแข่งใช่ไหม ทำได้เลย อยากทำอะไรทำเลย สร้างเลย” เราได้ยินแบบนี้มาตลอด ที่นี่เป็นหนึ่งในพื้นที่เพื่อการเติบโตของเรา บุคลากรทุกคนสนับสนุนตั้งแต่เข้ามาแรก ๆ ขนาดเราเจ็บคอ เพราะเราพูดเสียงดัง ก็หาไมค์มาให้ เคยพานักเรียนไปแข่งภาษาอังกฤษ AYC เราสอนแต่มัธยมต้นแล้วอยากได้เด็กมัธยมปลาย มีการต้องอยู่ซ้อมติวจนดึก คุณครูในโรงเรียนก็หาให้แล้วมาอยู่ด้วย ไม่ได้มีเราคนเดียวมาตลอด ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเลย

        พอเป็นออนไลน์เราโทรคุยกับผู้ปกครองเยอะมาก ตอนเด็กไม่เข้าเรียน ผู้ปกครองให้ความร่วมมือกับเราเยอะมาก เราได้เรียนรู้ว่าเด็กมีสังคมอย่างไร ภูมิหลังเป็นยังไง เคยคุยกับคุณตาของนักเรียนคนหนึ่งเกือบ 2 ชั่วโมง คุณแม่คนนึงถามว่า ทำไมลูกเขาดื้อขนาดนี้ ก็มาปรึกษาครูฟอง ครูฟองก็บอกว่าลองเชื่อใจในตัวเขาด้วย พอหลังจากนั้นคุณแม่เขาได้ลองทำตามคำปรึกษา ครอบครัวนั้นก็ดีขึ้น เข้าใจลูกมากขึ้น จริงๆ เราไม่เคยคิดถึงเรื่องการคบเพื่อนของนักเรียนเลยจนผู้ปกครองพูดขึ้นมาว่าอยากให้ดูการคบเพื่อนบ้าง ครูฟองได้ลองบอกเด็กๆ ว่า ‘ถ้าเราจะคบเพื่อนที่ดี เราก็ต้องเป็นเพื่อนที่ดี’ เด็ก ๆ ได้ทำความเข้าใจคำว่าเพื่อนที่ดีกันใหม่ เช่น เพื่อนเราติด 0 เยอะ ควรจะพากันไปแก้ 0 ไหม ? ครูฟองจำได้ขึ้นใจ มีเด็กคนนึงพูดว่า ‘ครูครับ ผมพาเพื่อนไปแก้ 0 แล้วนะ ผมอยากเห็นมันนั่งเรียนในห้องด้วย’ ทุกอย่างเป็นประสบการณ์ที่ดีมากจริงๆ ถึงจะไม่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมบ้านเพราะ Covid-19

ครูสอนนักเรียน Vs นักเรียนสอนครู ?

        กลายเป็นคนที่พัฒนาเรามากที่สุด คือ นักเรียน เราสร้างบรรยากาศในห้องเรียนตั้งแต่แรกว่า กล้าถาม กล้าตอบ กล้าแย้งเรา อยากเพิ่มเติมอะไรให้สื่อสารให้หมด ซึ่งสิ่งเหล่านั้นทำให้เราได้เรียนรู้ว่าบางทีนักเรียนก็เป็นคนเตือนครู เช่น เด็กมาบอกว่าตามไม่ทัน เรื่องนี้หนักไป เพราะเด็กต้องเรียนหลายวิชา เราได้เรียนรู้ในการที่จะพัฒนาเด็กในรูปแบบที่เด็กต้องการ “เอาจริงๆ คือ เด็กสอนเราเยอะมาก เซอร์ไพร์เราเยอะมาก เด็กเคยพาเราทัวร์บ้านออนไลน์ ที่บ้านเด็กทำเครื่องไม้ นักเรียนสอนวัฒนธรรมให้เรา แล้วก็เหมือนเด็กคอยเป็นโค้ชการสอนให้เราด้วยนะ มีเรื่องที่เราคาดหวังจะสอนเด็กคือการเข้าเรียนตรงเวลา พอผ่านไปปีนึงคือ รู้สึกว่าเด็กตรงเวลามากขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้นกับหน้าที่ของเขา นักเรียนเข้าเรียนตรงเวลา ครูฟองเคยเข้าห้องน้ำสายสองนาที นักเรียนก็แซว” ครูฟองเล่าปนหัวเราะ

        ตอนแข่งภาษาอังกฤษทำให้เรารู้ว่าไม่ใ่ช่เด็กกลัวกันอย่างเดียว เราก็กลัวด้วย ลุ้นตามเหมือนเราไปแข่งเอง กลัวเด็กจะเครียด เวลาเจอคนต่างประเทศหลายชาติ ตอนเราได้ติวภาษาอังกฤษให้เด็กไปแข่งเขาเป็นเด็กมัธยมปลายต่างระดับชั้น ด้วยความที่ไม่สนิทกัน เด็กก็ไม่ค่อยคุยกันครูฟองก็ลองพูดว่า “อยากให้ครูยิ้มไหม” และทิ้งระยะเวลาให้เด็กคุยกันเองออกจากห้องประชุมออนไลน์ไป สรุปคือตอนกลับมาเด็กได้พูดคุยทุกประเด็นและจดโน้ตไว้ว่ามีประเด็นใดบ้างครบ พร้อมมานำเสนอให้เราฟัง เราเซอร์ไพร์มากและก็ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าอย่างเด็กโตเขาอยากศึกษาอะไรด้วยตัวเอง โดยเราสามารถอำนวยความสะดวกให้นักเรียนได้ เด็กเป็นคนเล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนผมหรือหนูก็เคยเป็นแบบนี้ ๆ มาก่อนมาเล่าภูมิหลังให้ฟังเราก็ลองหาวิธีแก้ไขไป เคยให้ feedback ทีละคน เด็กก็กดดัน กลัว ซึ่งรูปแบบการติวแบบนั้นทำให้เด็กมีความกล้ามากขึ้น

ย้อนเวลากลับไปจะเลือกมาเป็นครูผู้นำไหม ?

        ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ก็จะเข้ามาเป็นครูผู้นำอยู่ดี วินาทีที่เรากดลงทะเบียนจะกดสมัครเข้ามาเราอยากเจอเด็กหลายๆ แบบ เด็กดื้อ เด็กดี ซึ่งเราก็ได้เจอจริง ๆ ได้เรียนรู้อะไรมากมาย ถ้าเป็นกราฟความคาดหวังคือพุ่งสูงมาก ถ้าให้เลือกบอกอะไรเราได้ในอดีต เราคิดว่าไม่บอกดีกว่า ถ้าเราสปอย เราก็คงไม่ได้เรียนรู้อยากให้เข้ามาเจอเอง แต่มีประโยคที่อยากบอกตัวเองคือ “ไม่เป็นไรเลย จะทำอะไรก็ทำเลย ไว้ใจตัวเอง ให้อภัยตัวเอง”

ทิ้งทายให้ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นต่อไป

        ต้องยอมรับว่าไม่มีเส้นทางใดโรยด้วยกลีบกุหลาบ ต้องมีความผิดพลาดถึงจะมีความสำเร็จเกิดขึ้นได้ ใครที่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร หรือเชื่อในเรื่องใด ให้ลองทำเลย ให้เชื่อว่ามันทำได้จริงๆ การศึกษามันไม่ได้เปลี่ยนง่ายๆ แต่ 2 ปีนี้มันเปลี่ยนแน่ๆ ด้วยมือเรา อยากให้เข้ามาเรียนรู้และเติบโต


เรียบเรียงโดย นางสาวณทิพย์ สุขตระกูล