ครูเต้ (พิฆเนศ จันทรา) ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 8

ทำอย่างไรให้เด็กๆ อยากเรียนหนังสือ

เด็กส่วนใหญ่ในวัยมัธยมต้นต่างชอบเล่นซนมากกว่าตั้งใจเรียน หลายคนไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องเรียนคณิตศาสตร์ ทำไมต้องท่องสูตรคูณ การทำให้เด็กๆ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาและเรียนรู้ที่จะวางเป้าหมายของตนเองจึงเป็นเป้าหมายแรกของครูเต้ในการเริ่มสอนเทอมแรกที่โรงเรียนทุ่งช้าง จังหวัดน่าน

โรงเรียนทุ่งช้าง

            โรงเรียนทุ่งช้าง จังหวัดน่าน เป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนในอำเภอห่างไกลที่รายล้อมด้วยป่าไม้และขุนเขา ทั้งโรงเรียนมีนักเรียนประมาณ 400 คน และครูผู้สอนประมาณ 30 คน นักเรียนมาจากหลากหลายวัฒนธรรม ทั้งคนพื้นเมือง คนในพื้นที่ กลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งการเอาใจใส่จากผู้ปกครองอาจจะไม่เหมือนกัน ผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่มีเวลาดูแลบุตรหลาน และหวังให้โรงเรียนช่วยดูแล

ประสบการณ์เข้าห้องเรียนเทอมแรก

            “ตอนนั้นนึกไว้เสมอว่า เราเคยเป็นเด็กมาก่อน เมื่อก่อนผมเรียนในโรงเรียนชายขอบที่แม่สาย ทำให้มีเพื่อนหลากหลาย บางคนก็มาจากพม่า บางคนเป็นคนพื้นเมือง หรือกลุ่มชาติพันธุ์ ผมก็คุ้นชินระดับหนึ่ง” ครูเต้เล่า

            ในตอนแรกนักเรียนยังไม่สนิทใจกับครูคนใหม่ จึงต้องมีการปรับตัวเข้าหานักเรียน และทำความรู้จักกันก่อน ครูเต้นึกย้อนไปสมัยวัยเด็กว่า ตนเองก็เคยเป็นเด็กซน และไม่ได้รู้สึกว่าครูเป็นคนที่ยิ่งใหญ่สำคัญ ดังนั้นเมื่อเข้าหาเด็กๆ ครูเต้จึงเริ่มต้นจากการแสดงให้เด็กๆ เห็นว่าตั้งใจมาช่วยดูแลเด็กๆ อย่างแท้จริง

            “ผมเริ่มจากจุดที่ว่าเราไม่ได้มาเพื่อสร้างบุญคุณ เรามาเพื่อมาช่วยดูแล การเข้าหาจะเป็นอีกแบบ เราไม่ได้วางว่าเงื่อนไขสุดท้ายเราจะเป็นผู้มีพระคุณสำหรับเขา แต่เราตั้งใจจะผลักดันเขาให้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้” ครูเต้กล่าว

นักเรียนของครูเต้

              การจัดการการสอน ต้องเข้าใจพื้นฐานของนักเรียนก่อน ครูเต้สอนวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นม. 1 – ม. 3 ซึ่งครูเต้ค้นพบว่า นักเรียนในห้องเรียนของครูเต้มีหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่เรียนรู้ช้าและเรียนรู้เร็ว กลุ่มที่อยากเรียนรู้ และกลุ่มที่ไม่อยากเรียนรู้ นักเรียนบางส่วนมีพื้นฐานความรู้ไม่สอดคล้องกับระดับชั้นที่เรียน

              “เรามีการช่วยติวเด็กๆ นอกคาบให้มีพื้นฐานวิชา เพื่อให้มาเรียนในห้องเรียนได้ ผมสอนม. ต้น มีเด็กที่ท่องสูตรคูณไม่ได้ ก็ต้องใช้เวลาในการทำให้เขาเชื่อว่า เขาทำได้” ครูเต้กล่าว

              ครูเต้เริ่มต้นจากการวางเป้าหมายเล็กๆ ให้เด็กๆ เช่น ให้การบ้านเป็นการท่องสูตรคูณหนึ่งแม่ โดยที่ไม่มีการสอบท่องสูตรคูณ แต่ผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ก็เริ่มสอนการแก้สมการที่ต้องใช้สูตรคูณ กลุ่มเด็กที่ทำการบ้านก็จะภูมิใจที่แก้สมการได้ “เราก็ชี้ให้เด็กตระหนักว่าการรับผิดชอบต่อเป้าหมายเล็กๆ เป็นเรื่องสำคัญ”

การฝึกให้นักเรียนตระหนักรู้ และวางเป้าหมาย

              ครูเต้พยายามผลักดันเด็กให้มีการตระหนักรู้ในตัวเองและบริบทรอบข้าง รู้จักตั้งคำถามว่าเขาเป็นคนอย่างไร สิ่งรอบข้างเป็นอย่างไร โดยตั้งใจให้เด็กๆ ตระหนักรู้ก่อน แล้วการลงมือทำค่อยตามมา เพราะเมื่อเด็กๆ ตระหนักรู้ว่า ตนเองคือใคร เป้าหมายคืออะไร เด็กๆ จะเชื่อว่าเขาพัฒนาตนเองได้และเก่งขึ้นได้

              “เด็กบางคนไม่ได้เห็นความสำคัญของการศึกษาและรีบใช้ชีวิตแบบผู้ใหญ่ ทำตัวตามวัยรุ่นที่โตแล้ว กินเหล้า สูบบุหรี่ ผมจะบอกนักเรียนอยู่เสมอว่า จะรีบใช้ชีวิตแบบนั้นทำไม พอเรียนจบแล้ว ยังมีเวลาอีกทั้งชีวิตที่จะทำแบบนั้น”

              การฝึกวางเป้าหมายใหญ่ ต้องสอนให้เด็กๆ เรียนรู้ที่จะรับผิดชอบ และฝึกให้คิดอย่างเป็นระบบ ถ้าคุณวางเป้าหมายแล้วปล่อยให้เป็นไปตามโชคชะตา ต้องอาศัยโชคดีมากๆ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดี ดังนั้นจึงต้องฝึกให้เขาคิด เช่น ถ้าเด็กอยากจะเป็นนักกฎหมาย นักวิทยาศาสตร์ ครู พยาบาล ต้องทำอย่างไรถึงจะไปถึงเป้าหมายนั้น

              “ผมจะไม่ถามเด็กว่าจะเป็นไปได้ไหม แต่จะถามว่าต้องทำอย่างไร เช่น ถ้าอยากเป็นนักกฎหมาย ต้องคิดอย่างมีตรรกะ ก็ต้องรู้จักอ่านหนังสือแล้วคิดตาม โดยเริ่มจากการอ่านหนังสือเล่มเล็กๆ แล้วฝึกทำความเข้าใจประโยคทีละนิด เราค่อยๆ กระตุ้นให้เด็กเห็นภาพแล้วก้าวไปใกล้เป้าหมายทีละนิด” ครูเต้กล่าว

ความภาคภูมิใจในเทอมแรกของครูเต้

              หลังจากปลูกฝังเด็กๆ ให้มีการตระหนักรู้ในตัวเองและบริบทรอบข้าง ก็ได้เห็นพฤติกรรมนักเรียนที่เปลี่ยนแปลงไป “มีอยู่วันหนึ่งที่อากาศร้อนมาก แล้วเด็กๆ เพิ่งลงแปลงเกษตรมา ผมต้องสอนคณิตศาสตร์คาบบ่าย ระหว่างสอนเด็กคนหนึ่งก็ยกมือขออนุญาต แล้วออกไปนั่งพักหน้าห้อง เขาแสดงออกให้เห็นถึงความเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจตัวเองและกล้าขออนุญาต เมื่อรู้สึกว่าไม่ไหว ต้องการพัก” ครูเต้เล่า

              อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของครูเต้ คือ ผลลัพธ์ในแบบทดสอบหลังการเรียนของนักเรียน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับแบบทดสอบก่อนเรียนแล้ว ถึงแม้คะแนนอาจจะไม่ต่างกันมาก แต่เด็กๆ เขียนอธิบายคำตอบในแบบทดสอบหลังเรียนได้อย่างละเอียดชัดเจน แสดงให้เห็นว่า พวกเขามั่นใจในความรู้ที่มีอย่างแท้จริง

             “ผมจำคำพูดของอาจารย์ท่านหนึ่งได้ว่า เราเรียนเพื่อให้มั่นใจในความรู้ ถ้าเรียนแล้วไม่มั่นใจในความรู้นั่นไม่ใช่การเรียนที่ดี ดังนั้นทุกคาบในการวางแผนการสอน ผมจะปักธงความรู้ไว้ก่อน เพื่อให้เด็กๆ มั่นใจในความรู้ แล้วเลือกได้ว่าความรู้ไหนจำเป็นสำหรับเขา” ครูเต้กล่าวอย่างภูมิใจ

แรงผลักดันในการตัดสินใจเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง

              ครูเต้เป็นบัณฑิตจบใหม่จาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรวิศวกรรมปิโตรเคมี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเหตุผลที่ตัดสินใจสมัครเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ครูเต้เล่าว่า “ผมอยู่โรงเรียนรัฐ พอโตมาในระบบก็กลายเป็นเด็กที่หลงทาง หาตัวเองไม่เจอ ตอนม. 6 ก็ยังไม่แน่ใจว่าอยากทำอะไร หรือเป็นอะไร เป้าหมายอาชีพในอนาคตผมเปลี่ยนมาตลอด ไม่รู้ว่าชอบอะไร หรืออยากทำอะไรจริงๆ พอเรียนจบแล้วต้องเลือกว่าจะเริ่มทำงานอะไรเป็นอาชีพหลัก กับ การไปค้นหาตนเอง ผมเลือกที่จะค้นหาตนเอง เพราะอยากรู้ว่า เราอยากทำอะไร

              แล้วผมก็คิดว่า เด็กรุ่นถัดๆ ไป ก็คงจะหลงทางไม่ต่างจากผม ผมจึงตัดสินใจเข้าทีช เพราะมีช่วงหนึ่งในโรงเรียนที่ผมรู้สึกดีเวลาได้สอนคนอื่น ได้ติวหนังสือ เลยอยากรู้ว่าเราจะชอบทางนี้หรือเปล่า ซึ่งตอนทำแรกๆ เป็นช่วงปรับตัว คงยังตอบไม่ได้ ต้องลองทำสักระยะหนึ่งก่อน เพราะการเริ่มต้นเป็นสิ่งที่ยากลำบาก เป้าหมายแรกคือการค้นหาตนเอง เป้าหมายที่สองคือการช่วยเหลือคนอื่น”

ฝากถึงครูทีช รุ่น 9

              ครูเต้ฝากบอกว่า “วันที่เจอปัญหาที่หนัก ขอให้ยังมีอุดมการณ์อยู่เคียงข้าง ยังพร้อม ยังเต็มที่ ยังเชื่อมั่นว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศไทย เหมือนวันแรกที่เราเข้ามา”

              และยังฝากบอกคนที่สนใจเข้าร่วมโครงการของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ว่า “ถ้าคุณรู้สึกเบื่อหน่ายกับการที่มองออกไปแล้วเจอปัญหาการศึกษาแล้วได้แต่บ่น แล้วคุณอยากเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลง และได้ลงมือทำจริงๆ ก็อย่ารอช้าครับ”

บทสัมภาษณ์ ครูเต้ (พิฆเนศ จันทรา) ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 8