ถอดบทเรียนเพื่อก้าวสู่ ปี 2565

ปี 2564 ยังคงเป็นอีกปีที่สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสังคมในทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการศึกษา ถึงแม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะเริ่มลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง แต่หลายโรงเรียนยังงดการเรียนการสอนในห้องเรียน และเลือกทำการเรียนการสอนออนไลน์แทน วิกฤติทางการศึกษาที่เรื้อรังส่งผลกระทบให้เด็กนักเรียนหลายล้านคนเสี่ยงต่อสภาวะการเรียนรู้ถดถอย รวมถึงเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาด้วย

“สถานการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เราเห็นว่างานของครูเป็นงานที่ยากและซับซ้อนมาก ครูทุกคนต้องทำงานหนักเพื่อให้นักเรียนเข้าถึงการศึกษาได้ไม่ว่าสถานการณ์ จะเป็นอย่างไรก็ตาม มันทำให้เราต้องกลับมาคิดกันว่า เราจะช่วยครูกับนักเรียนได้อย่างไร การศึกษาที่จะตอบโจทย์โลกยุคใหม่ควรเป็นอย่างไร การบ่มเพาะนักเรียนที่มีคุณภาพไม่ได้ขึ้นอยู่กับการสอนของครูเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชนที่มีวิสัยทัศน์เดียวกันด้วย เราจะสร้างวิสัยทัศน์ร่วมจากทุกฝ่ายเพื่อที่จะสนับสนุนเด็กๆ ยุคใหม่ได้อย่างไร”

คุณวิชิตพล ผลโภค ผู้ก่อตั้ง และ CEO มูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เล่าเพื่อสะท้อนภาพการทำงานในปีที่ผ่านมา

ท่ามกลางวิกฤติ เราได้เห็นความพยายามจากหลายภาคส่วนที่ร่วมกันแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่านนวัตกรรมมากมาย ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์หลายคนได้ร่วมมือกับองค์กร หน่วยงาน และภาคีเครือข่าย ทั้งในระดับชุมชนและระดับนานาชาติ เพื่อสร้างสรรค์สื่อการเรียนการสอนให้เข้าถึงเด็กนักเรียนได้มากขึ้น เช่น ครูโบร์-สกุลรัตน์ ร่วมมือกับเพจวิชานอกเส้น ในการจัดทำกล่องการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ (Eduhealtion Box) เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้เนื้อหาผ่านใบงานและกิจกรรมสร้างสรรค์ภายในกล่อง ในขณะที่ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่น 6 อีกกลุ่มได้สร้างกล่องการเรียนรู้วิชาภาษาอังกฤษ (Learning Box) และจัดส่งไปรษณีย์ให้นักเรียนถึงบ้าน เพื่อให้นักเรียนเป็นเจ้าของสื่อการเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องอาศัยอินเตอร์เน็ต นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มครูอีกส่วนที่ร่วมมือกับทีมวิจัยในสหรัฐอเมริกา เพื่อพัฒนาโปรแกรมส่งเสริมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ Darsel ซึ่งเอื้อให้นักเรียนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้โดยไม่ต้องมีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนวัตกรรมอีกมากมายที่ครูผู้นำของเราพยายามทำเพื่อที่จะลดช่องว่างทางเทคโนโลยี และสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDG ที่ 4 โดยการพัฒนาเทคโนโลยีทางการศึกษาที่มีต้นทุนไม่สูงและไม่ต้องอาศัยอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง

ปีที่ผ่านมาทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ประสบความท้าทายในการระดมทุนสนับสนุน เนื่องจากทุกภาคส่วนต่างมุ่งเน้นความสำคัญไปที่ด้านสาธารณสุขซึ่งเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และยังมีประเด็นสำคัญอื่นๆ อีก เช่น ปัญหาสภาวะโลกร้อน ปัญหาด้านเศรษฐกิจ “การศึกษาเป็นสิ่งที่หลายคนคิดถึงเป็นอันดับท้ายๆ เพราะการศึกษาไม่ใช่ประเด็นที่ทำปุ๊บจะเห็นผลทันที แต่ต้องใช้เวลาถึง 10-15 ปี ถึงจะเห็นผล ซึ่งมีน้อยคนที่พร้อมจะรอ แต่ปัญหาการศึกษาเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขจึงถือเป็นความท้าทายขององค์กรว่าจะทำอย่างไรให้ทุกคนเห็นความสำคัญตรงนี้” คุณตะกล่าวย้ำ

จากการถอดบทเรียนในปีนี้ เป้าหมายของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ในปี 2565 คือการทำงานเชิงลึกมากขึ้นในทุกด้าน เพื่อเพิ่มความสามารถในการปรับตัวและรองรับกับความท้าทายที่เกิดขึ้น ได้แก่ การสนับสนุนให้ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงร่วมทำงานกับผู้ปกครองและชุมชนมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ได้ริเริ่มโครงการคัดเลือกครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงโดยชุมชนที่เปิดโอกาสให้ ครู ผู้ปกครอง นักเรียน และผู้นำชุมชน ร่วมคัดเลือกครูที่ชุมชนต้องการ อีกเป้าหมายหนึ่งคือการดึงภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพราะภาครัฐเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ซึ่งทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ประสบความสำเร็จในการลงนามบันทึกความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการและมหาวิทยาลัยต่างๆ

นอกจากนี้ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ยังมีแผนในการส่งเสริมเครือข่ายศิษย์เก่าเพื่อสร้างความร่วมมือและร่วมทำงานเชิงลึกยิ่งกว่าเดิม “เราวางแผนเชิงลึกเพื่อสนับสนุนคนที่ทำงานสายนโยบาย คนที่ทำงานในวงการการศึกษา หรือสนใจเป็นครูในระบบ เราสนับสนุนคนที่อยากสร้างองค์กรเพื่อสังคมของตนเอง และเราพยายามหาทุนการศึกษาโดยจับมือกับสถาบันต่างๆ เช่น การลงนามบันทึกความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาปริญญาโทให้ศิษย์เก่าของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ให้มีคุณวุฒิที่จำเป็นในการขับเคลื่อนการศึกษาต่อไป” คุณตะเล่าถึงแผนงานที่วางไว้

ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ จะก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 ในปีหน้า และยังคงมุ่งมั่นสร้างเครือข่ายผู้นำที่จะทำงานอย่างแข็งขันเพื่อให้เด็กไทยทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมแม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์หรือบริบททางสังคมที่มีความท้าทายสูง แต่ทุกคนในทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนและพัฒนาการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายและวิสัยทัศน์ที่องค์กรกำหนดไว้ตั้งแต่วันแรกของการดำเนินงาน