ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 1

Leadership In Teach
For Network –
สัมภาษณ์ครูใหม่ รุ่น 1

ครูใหม่ (บุญศิริ จุติดำรงค์พันธ์)

By หมิวกัลยรัตน์ อภิวัฒโนดม

ผู้นำที่ดีต้องไม่กลัวที่จะเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

ใหม่ บุญศิริ จุติดำรงค์พันธ์ – ศิษย์เก่าครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นบุกเบิกของ Teach For Thailand

ใหม่-บุญศิริ จุติดำรงค์พันธ์ หนึ่งในศิษย์เก่าครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่น 1 ของ Teach For Thailand ซึ่งถือเป็นรุ่นบุกเบิกของโครงการ และการทำงานเป็นครูของเธอในโรงเรียน ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการค้นพบความฝันของตัวเองด้วยว่า เธอชอบที่จะสอนภาษาอังกฤษ นำไปสู่เส้นทางการเรียนต่อเกี่ยวกับการสอนภาษาอังกฤษ ก่อน come back กลับมาอีกครั้งในฐานะครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง

ด้วยบทบาทของการเข้าไปเป็น ‘ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ นั้น ทำให้นอกเหนือจากการสอนในห้องเรียนปกติ และการทำงานร่วมกับชุมชนแล้ว พี่ใหม่ยังมีโครงการที่ทำร่วมกับเพื่อนครูผู้นำฯ ต่างโรงเรียน โดยเริ่มมาจากความสนใจที่เหมือนกัน คือ การชอบออกไปเปิดโลกกว้าง และนั่นนำไปสู่การพานักเรียนของพวกเขา ‘ออกไปสู่โลกกว้างไกลถึงสิงคโปร์’ เลยทีเดียว

จากประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้สั่งสมมา กลายเป็นเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านบทสัมภาษณ์นี้ โดยเฉพาะในมุมมองของการเป็นผู้ริเริ่มการเข้าไปแก้ปัญหา หรือริเริ่มโครงการอะไรใหม่ ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอได้เรียนรู้ว่าเป็นหนึ่งในทักษะของการเป็นผู้นำที่ดี 

หลังจบโครงการ 2 ปีแล้ว ไปทำอะไรบ้าง?

หลังจบโครงการ เราค้นพบว่าตัวเองชอบการสอนภาษาอังกฤษ เพราะตอนนั้นเราเป็นครูสอนภาษาอังกฤษเนอะ เราเลยอยากจะเข้าใจเทคนิคหรือทฤษฎีเพิ่มเติมว่า กว่าคนๆ หนึ่งจะพูดหรือเขียนออกมาได้เนี่ยเขาทำอย่างไร เลยหาโอกาสไปเรียนต่อเพิ่มเติม ซึ่งพี่ได้ทุนของรัฐบาลนิวซีแลนด์ สุดท้ายก็ได้ไปเรียนปริญญาโทที่ Victoria University of Wellington เกี่ยวกับ Teaching English to Speakers of Other Languages (TESOL) คือ การสอนภาษาอังกฤษให้คนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง เรียนอยู่ประมาณ 1 ปีครึ่ง

หลังจากเรียนจบ เราก็กลับมามองเป้าหมายชีวิตตัวเองว่า เราอยากสอนภาษาอังกฤษ อยากเป็นครู แล้วก็ยังอยากเป็นคนที่สามารถเทรนคนอื่นเรื่องการสอนภาษาอังกฤษได้ด้วย เลยคิดว่า เราน่าจะต้องมีประสบการณ์ในห้องเรียนเพิ่มเติม ตอนนี้เลยทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ ตอนนี้ก็ได้รับบทบาทเป็น Supervisor ในทีมสอนภาษาอังกฤษด้วย คือ ได้เริ่มเข้ามาสู่วงการ Professional Development ของคุณครูด้วยค่ะ

ในฐานะที่พี่ใหม่ถือเป็นรุ่นบุกเบิกของครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง อยากรู้ว่านิยามของ ‘Leadership’ หรือ ‘ความเป็นผู้นำ’ สำหรับพี่คืออะไร?

เรามองว่ามี 2 ด้าน ด้านแรกคือทักษะต่างๆ เช่น การสื่อสาร การทำงานร่วมกับผู้อื่น การคิดวิเคราะห์ รวมๆ แล้วมันก็คือการมีความเป็นผู้นำแบบหนึ่ง อีกด้านหนึ่งเรามองว่าเป็นเรื่องของใจ ในแง่ว่าเราไม่กลัวที่จะเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง อยากจะมีประโยชน์กับผู้อื่น หรือการทำอะไรแล้วไม่ย่อท้อ มีใจสู้ต่อไปให้สุด เพราะฉะนั้นมันก็มีหลายด้านในมิติของความเป็นผู้นำที่เราต้องนำมาปรับใช้ในการทำงาน

อย่างตอนนี้ที่พี่ทำงาน ถ้าพี่เห็นอะไรไม่เวิร์ค มันน่าจะพัฒนาได้ พี่ก็ต้องสื่อสารออกไป และต้องแนะนำทางแก้ปัญหา วิธีพัฒนาไปให้ด้วย ซึ่งมันก็ใช้ความกล้าอยู่เหมือนกันนะ เป็นความกล้าที่สะสมมาจากประสบการณ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ทำงานที่ Teach for Thailand นี่แหละ

จากประสบการณ์ของครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง 2 ปี ช่วยพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำของพี่ยังไงบ้าง?

ส่วนที่ตัวพี่เองได้พัฒนาและนำมาปรับใช้กับการทำงานเยอะ คือเรื่องการสะท้อนคิด (Reflection) ที่เราจะได้ทำทุกครั้งที่มีworkshop ต่าง ๆ ทำให้เราได้ตั้งคำถามกับตัวเองเสมอว่า เรากำลังรู้สึกอะไร เราได้เรียนรู้อะไร ซึ่งก่อนหน้านั้น มันไม่ค่อยมีใครมาถามเราหรอกว่าเรารู้สึกยังไง นึกออกปะ (หัวเราะ) แต่การที่เราได้ฝึกสะท้อนคิดกับตัวเอง มันทำให้เราได้เห็นตัวเองมากขึ้นว่า วันนี้เราทำอะไรได้ดี เราอยากพัฒนาอะไรเพิ่มเติม ซึ่งเราก็ได้นำเรื่อง reflection ไปใช้กับนักเรียนในห้องเรียนด้วย เพื่อฝึกให้เขาได้มองเห็นตัวเองมากขึ้น หรืออย่างตอนที่ทำงานปัจจุบัน เวลาคุยกับคุณครูด้วยกัน เราจะมีการ check-in กันก่อนว่า วันนี้เป็นยังไง? มีปัญหาอะไรมั้ย? ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องจริงจังก็ได้ เพียงแค่การที่เราได้ฝึกสะท้อนคิดกับตัวเองแล้วพูดออกมา แค่นี้บางทีมันก็ช่วยให้เราปิ๊งแวบอะไรขึ้นมาในหัวได้

สิ่งที่เราได้มากับการสะท้อนคิดก็คือ การได้รับฟังผู้อื่นให้เป็น ฟังอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสินเขา ฟังโดยไม่ต้องคิดว่าเราจะต้องตอบเขาว่าอะไรดี เพียงแค่ฟังความรู้สึกและปัญหาของเขาจริงๆ (Active Listening) ซึ่งทักษะการฟังอย่างตั้งใจเนี่ย ตั้งแต่ตอนที่เราทำงานเป็นครูที่ทีชฟอร์ไทยแลนด์ เราก็นั่งฟังนักเรียนจริงๆ บางครั้งเราก็แก้ปัญหาให้เขาไม่ได้หรอก แต่การที่เด็กคนหนึ่งรู้สึกว่ามีใครรับฟังเขาจริงๆ มันก็ทำให้เขาอุ่นใจ โล่งใจระดับหนึ่งแล้ว และเราเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับผู้นำ เพราะก่อนที่เราจะไปนำใคร เราก็ควรที่จะเข้าใจปัญหาของคนๆ นั้น และเข้าไปอยู่ในใจของคนๆ นั้นให้ได้ก่อน

นอกจากทักษะ Reflection และ Active Listening แล้ว มีอะไรอีกที่ได้ฝึกตอนทำงานในโครงการ 2 ปี?

ตอนที่เราขึ้นปีที่สองของการทำงานที่ทีชฟอร์ไทยแลนด์ ทางโครงการแนะนำว่า ‘หลังจากคุณครูได้เข้าไปทำงาน เข้าใจชุมชนในระดับนึงแล้ว อยากจะหยิบปัญหาอะไรขึ้นมาทำเป็น Community Project เพื่อแก้ไขมั้ย?’ ซึ่งเราก็รู้สึกว่า ‘โอเค งั้นเราจะพัฒนา leadership ของเราขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งก็แล้วกัน’ คือเราจะเป็นคนที่ริเริ่มอะไรสักอย่างหนึ่งขึ้นมา อย่างตอนนั้นก็มีเพื่อนเฟลโล่วที่สนิทกัน แต่สอนอยู่โรงเรียนอื่น ประมาณ 4 คน ซึ่งพวกเรามีความชอบเหมือนกัน คือ ชอบที่จะเปิดหูเปิดตา ท่องโลกกว้าง แล้วเราก็รู้สึกว่า นักเรียนของเรา แค่ขึ้นรถไฟฟ้ายังถือว่าแพงสำหรับเขา แล้วเราจะมีโอกาสให้เขาเปิดหูเปิดตาได้ยังไง? ให้เขารู้ว่าโลกมันกว้างใหญ่กว่านี้ ‘ให้เขารู้ว่าฝันที่ไม่กล้าฝันมันเป็นไปได้ว่ะ’ อะไรแบบนี้

ตอนนั้นเราก็เลยร่วมกันทำโครงการ Learners To Leaders ขึ้นมา ต้องขอบคุณเพื่อนที่ชื่อ กานต์ มากๆ เค้าเป็นตัวตั้งตัวตีชวนทุกคนมาปั้นโครงการนี้ให้เป็นรูปเป็นร่าง เป้าหมายของโครงการคือ ต้องการพัฒนาความเป็นผู้นำของนักเรียน และอยากให้เขาได้สัมผัสจริงๆ ว่า สิ่งที่เขาคิดว่าเป็นไปไม่ได้เนี่ย มันเป็นไปได้ เราเลยมองว่า การไปทัศนศึกษาต่างประเทศมันเป็นฝันที่เป็นไปไม่ได้เลยสำหรับเขา เราก็เลยแบบ ‘เฮ้ย เราจะทำให้ได้’ เราก็ตั้งเป้าว่า จะพานักเรียนไปทัศนศึกษาที่สิงคโปร์ แล้วเราก็มีเวลาประมาณ 4-5 เดือนที่จะทำโครงการนี้ หาเงินทุน ทำกิจกรรมพัฒนา leadership ในโรงเรียนก่อนเพื่อคัดเลือกนักเรียน มีการให้นักเรียนมาเข้าค่าย leadership กัน และพานักเรียนไปโรงเรียนอื่นๆ แต่ในระหว่างนั้นเราก็ยังต้องสอนหนังสืออยู่ดีนะ (หัวเราะ) ซึ่งตอนนั้นมันก็เกิดความสั่นไหวในใจครูเหมือนกันว่า ‘เฮ้ย แล้วสิ่งที่มันเป็นไปไม่ได้ มันจะเป็นไปได้ได้ยังไงนะ?’ (หัวเราะ) ซึ่งสุดท้ายเราก็ทำได้ เราไปทัศนศึกษาที่สิงคโปร์ ตอนนั้นถ้าจำไม่ผิดน่าจะ 4 วัน 3 คืน

สรุปก็คือ เราได้ตกตะกอนกับตัวเองว่า เราแค่ต้องกล้าที่จะลงมือทำในสิ่งที่มันดูเป็นไปไม่ได้ แล้วพอเรารู้ว่า ฉันทำอันนี้ได้นะ ฉันทำอันนั้นได้นะ ดังนั้นพอเรามาอยู่ที่โรงเรียนหรือทำงานอื่นๆ เราก็เชื่อว่า ถ้าเราจะทำเนี่ย มันทำได้ทุกอย่างเลย มันเกิดความเชื่อนี้มาเรื่อยๆ เป็นความเชื่อว่า ถ้าฉันตั้งใจทำ ฉันจะสามารถทำมันได้สำเร็จ

ฟังแล้วประทับใจกับเรื่องราวที่พี่ทำมาก เพราะรู้สึกว่ามันดูเป็นไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะการพานักเรียนไปทัศนศึกษาที่ต่างประเทศ

ตอนนั้นด้วยความมี collaboration กับเพื่อนด้วยแหละ พอวันนี้เรารู้สึกดาวน์ บ่นว่า ‘แก มันทำไม่ได้หรอก’ เพื่อนอีกคนก็จะให้กำลังใจว่า ‘เฮ้ย แก มันทำได้’ มันก็จะเกิดเป็นมิตรภาพและความสัมพันธ์ที่ทุกคนช่วยกันพาไปให้ถึงเป้าหมาย การที่อยู่ใน Teach For Thailand มันทำให้เราได้เจอกับคนที่มี mindset ใกล้ๆ กัน มีใจที่อยากจะทำให้การศึกษาไทยดีขึ้นเหมือนกัน มันก็ทำให้เป้าหมายสำเร็จได้ง่ายขึ้น

คิดว่าคนที่มีทักษะความเป็นผู้นำที่ดี ได้เปรียบกว่าคนที่ขาดทักษะนี้ยังไงบ้าง?

พี่มองว่าคนที่มีความเป็นผู้นำ เขาจะมีความกล้าหาญที่จะลงมือทำอะไรสักอย่าง ทำให้นำมาซึ่งประสบการณ์ในการทำงานและการแก้ปัญหา และเมื่อเรามีประสบการณ์เยอะ มันก็จะนำมาซึ่งทักษะและความเชี่ยวชาญต่างๆ แล้วพอเรามีความเชี่ยวชาญมากขึ้น มันก็จะนำมาสู่ความเชื่อที่ว่า เราสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ ซึ่งถ้าเราไม่ได้มีประสบการณ์ตรงนี้ มันก็อาจจะทำให้เรามีทักษะน้อยลง และไม่เชื่อว่าตัวเองสามารถทำอะไรได้เลย อีกอย่างคือ มันทำให้เราได้เป็นคนริเริ่มอะไรใหม่ๆ ที่จะช่วยให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้

มาถึงคำถามสุดท้าย พี่ใหม่คิดว่า ‘หัวใจสำคัญของผู้นำที่ดี’ คืออะไร?

เริ่มจากการฟังก่อน คือ ฟังตัวเองให้เข้าใจ (Self-awareness) ว่าเรากำลังคิดหรือรู้สึกอะไร เรามีวิธีจัดการกับตัวเองยังไง เรามีจุดแข็งจุดอ่อนอะไร ยกตัวอย่างง่ายๆ เลยคือ สมมติเราอยู่ในห้องเรียนแล้วเกิดปรี๊ดขึ้นมา แล้วเราไม่รู้ตัวว่าตอนนี้เรากำลังจะระเบิดแล้วนะ แล้วเราจัดการตัวเองได้มั้ย ดังนั้นพี่ว่าการฟังตัวเองให้เป็นนี่แหละที่สำคัญ แล้วต่อมาก็ต้องฟังผู้อื่นให้เป็นด้วย เพราะเวลาที่เราเป็นผู้นำ เราจะต้องทำงานร่วมกับคนอื่น การฟังเขาให้เข้าใจจะช่วยซื้อใจเขาได้ ทำให้เขารู้สึกว่าเราอยู่ข้างๆ เขา 

อีกส่วนหนึ่งก็คือ มันทำให้เราได้คิดวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งขึ้น เหมือนเราได้นำความคิดเห็นคนอื่นมาคิดก่อนที่เราจะตัดสินใจอะไร เพราะสมมติเราจะตัดสินใจอะไรสักอย่าง แล้วเราเลือกแค่ความคิดของเรามันก็ไม่ได้ เราก็ต้องฟังทุกคนในวง ซึ่งเราก็ต้องฟังลึกเข้าไปจริงๆ ว่า คนนี้พูดแบบนี้ แต่จริงๆ เขาอาจจะไม่ได้คิดแบบนี้ เพราะเขาอาจจะมีความกลัวอะไรบางอย่างอยู่ข้างใน แต่ถ้าเราฟังอย่างผิวเผิน เช่น ‘อ๋อ คนนี้ไม่อยากทำแบบนี้ จบ’ เราก็อาจจะไม่ได้เห็นปัญหาที่มันลึกไปกว่านั้น

ทำให้คนที่พูดรู้สึกว่าเสียงของเขาถูกรับฟังใช่ไหมคะ

ใช่ พี่คิดว่า ทุกวันนี้คนเราพูดกันเยอะ แต่ฟังกันน้อยนะ แต่ละคนมีความคิดเห็นของตัวเองเต็มไปหมดเลย แต่มีใครที่ฟังกันจริง ๆ บ้าง

การที่เราสามารถฟังคนอื่นได้อย่างลึกซึ้งมากกว่าสิ่งที่เขาพูดออกมา รู้ว่าจริงๆ แล้วเขาอาจจะมีความกลัวบางอย่างซ่อนอยู่ในใจ แล้วถ้าเราถามเป็น เราอาจจะพบว่ามีวิธีช่วยให้เขากล้าที่จะเผชิญหน้ากับความกลัวของตัวเองได้ ซึ่งจะช่วยให้เรากลายเป็นผู้นำที่ส่งต่อความกล้าให้ผู้อื่น ให้เขากล้าริเริ่ม หรือลุกขึ้นมาเป็นผู้นำที่ดีได้ในอนาคตเช่นกัน