ถอดบทเรียนกับ “ครูบีม” ศิษย์เก่าครูผู้นำการ เปลี่ยนแปลงรุ่น 6

ครูบีม (ณัฐธิดา สร้อยคำ)

ความเข้าใจและความเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเองและผู้อื่น
นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาไทยได้อย่างแท้จริง

จากความเชื่อว่า เด็กนักเรียนทุกคนในประเทศไทยควรได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและโอกาสในการกำหนดความฝันของตัวเอง ไม่ว่าพวกเขาจะมาจากบริบททางสังคมแบบใดก็ตาม ได้ก่อกำเนิดองค์กรเพื่อการศึกษาในชื่อ Teach For Thailand ซึ่งดำเนินงานและสร้างครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อขับเคลื่อนไปสู่ความเสมอภาคทางการศึกษารุ่นแล้วรุ่นเล่า เป็นระยะเวลา 9 ปีเต็ม

ด้วยปณิธานและเป้าหมายที่ชัดเจนของ Teach For Thailand ทำให้ “ครูบีม-ณัฐธิดา สร้อยคำ” ผู้ต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียนและการศึกษาไทยไปพร้อมกับการพัฒนาตัวเอง ตัดสินใจเข้าโครงการคัดเลือกครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง เมื่อผ่านการคัดเลือกครูบีมได้ทำหน้าที่เป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่น 6 ณ โรงเรียน ปิยะบุตร์ จังหวัดลพบุรี เป็นเวลา 2 ปีเต็ม

แม้วันนี้บทบาทในการเป็นครูผู้นำฯ ของครูบีมจะจบลงแล้ว แต่ตลอดระยะเวลา 2 ปี นอกจากจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาไทยควบคู่ไปกับการพัฒนาตัวเองอย่างที่ตั้งใจแล้ว เธอยังพบว่า การทำหน้าที่ “ครู” จาก Teach For Thailand ได้มอบประสบการณ์ และเปิดโลกทัศน์ให้เธอเข้าใจระบอบการศึกษาไทยอย่างแท้จริง

“จากวันแรกที่ตั้งใจสมัครเป็นครูทีชฯ เราคิดแค่ว่า สิ่งนี้น่าจะเป็นใบเบิกทางให้ได้ฝึกทักษะความเป็นครูสอนหนังสือเหมือนครูทั่วไป เพราะเราไม่ได้เรียนจบมาทางนี้โดยตรง แต่อยากมีส่วนในการพัฒนาการศึกษาในโรงเรียน เลยอยากหาประสบการณ์ด้านนี้”

ครูบีมเท้าความกลับไปถึงเหตุผลแรกเมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งเธอบอกว่าเมื่อก้าวเข้ามาทำหน้าที่ครูผู้นำฯ สิ่งแรกที่ทำให้เธอตระหนักคือ เรื่องของความเชื่อมั่นในศักยภาพของความเป็นมนุษย์

“ความที่นักเรียนในโรงเรียนปิยะบุตร์ส่วนใหญ่มีฐานะค่อนข้างยากจน บริบทแวดล้อมอาจไม่เอื้อกับการศึกษาสักเท่าไหร่ ความสามารถทางด้านวิชาการจึงค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาที่เรารับผิดชอบทำหน้าที่สอนที่นี่ สิ่งที่เราพบคือ เด็กม. 1 โรงเรียนนี้นอกจากจะท่องสูตรคูณยังไม่ได้แล้ว แม้แต่เรื่องการลบเลขก็ยังไม่ได้เช่นกัน ซึ่งมีโอกาสสูงมากที่ทำให้เราตัดสินพวกเขาตั้งแต่เริ่มต้นว่า เขาไม่เก่งหรือไม่มีศักยภาพมากพอ แต่ด้วยความเป็นครูผู้นำฯ การที่เราได้ผ่านการอบรมเตรียมความพร้อมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงก่อนทำหน้าที่ครูอย่างเต็มตัว ทำให้เราเปิดใจที่จะเรียนรู้ และสัมผัสถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียน เราจึงได้รู้ว่าเพราะเหตุใดเด็กๆ ถึงไม่สามารถแสดงศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่”

ครูบีมนำทักษะความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ฝึกอบรมมาปรับใช้ในห้องเรียน ด้วยวิธีการสอนที่เริ่มต้นจากการสร้างความเข้าใจให้เด็กรู้จักคิด วิเคราะห์ แยกแยะ โดยไม่ยึดติดในความเป็นวิชาคณิตศาสตร์

สิ่งที่ทำให้การเรียนการสอนประสบความสำเร็จได้มาจากความร่วมมือระหว่างครูกับนักเรียน เราจะไม่ใช้วิธีการเดิมๆ ด้วยการสอนหน้าห้อง เขียนกระดานแสดงวิธีทำ แก้โจทย์ตามบทเรียน แต่เราสอนให้เขารู้จักคิด ด้วยการตั้งคำถามที่สามารถเชื่อมโยงกับสิ่งที่เขาสนใจได้

เช่น ในบทเรียนเรื่องจำนวนร้อยละ เปอร์เซ็นต์ เราจะไม่บอกว่าร้อยละคืออะไร อ่านโจทย์แล้วต้องทำวิธีไหน แต่เราให้เขาเปิดหน้าเกมในโทรศัพท์มือถือที่ชอบเล่น แล้วให้เขาลองคุยกันเองว่า คนที่เล่นเกมชนะมาแล้ว 1000 ครั้ง หมายความเขาเก่งกว่าคนที่ชนะ 500 ครั้งหรือไม่ และสุดท้ายเราจึงโยงเข้าเนื้อหาเรื่องเปอร์เซ็นต์ ให้เขาเข้าใจว่า การจะเปรียบเทียบความเก่งได้ต้องใช้วิธี ให้ทุกคนแข่ง 100 ครั้งเท่ากัน แล้วใครชนะเยอะกว่าจะคิดออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ว่าใครเก่งกว่ากัน”

ครูบีมยกตัวอย่างวิธีการสอน ซึ่งเธอว่าผลลัพธ์ที่ได้ออกมาดีเป็นที่น่าพอใจ โดยวัดได้จากทั้งผลการเรียนและเสียงสะท้อนกลับจากตัวนักเรียนเอง จนทำให้เธอพิสูจน์ตัวเองและลบข้อกังขาที่ผู้อำนวยการโรงเรียนและครูในโรงเรียนตั้งข้อสงสัยว่า ครูทีชฯ ที่ไม่ได้จบครูและไม่มีประสบการณ์ทางด้านการเรียนการสอนมาเลยอย่างเธอจะเป็นครูได้อย่างไร (ครูบีม เรียนจบจากคณะวารสารศาสตร์ สาขาโฆษณา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

“การได้รับการยอมรับจากผู้อำนวยการและครูในโรงเรียนนับเป็นเรื่องดีที่ส่งผลไปถึงการเปลี่ยนวิสัยทัศน์เดิมๆ ทำให้ทั้งผู้อำนวยการ และครูในโรงเรียนเริ่มเปิดใจกับการเรียนการสอนในรูปแบบ Active Learning ถึงแม้เขาจะยังมีความคิดว่าการสอนแบบนี้อาจจะไม่เหมาะกับตัวเขาหรือครูทุกคนอาจสอนแบบนี้ไม่ได้ แต่อย่างน้อยเขาก็เริ่มมีความสนใจ เริ่มเห็นข้อดีและหันกลับมามองห้องเรียนของตัวเองมากขึ้น นับเป็นโอกาสในการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่ช่วยดึงศักยภาพของนักเรียนและครูออกมาได้มากขึ้น”

ครูบีมเล่าว่า การได้เข้ามาเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงทำให้เธอได้เห็นว่าสิ่งที่เธอลงมือทำสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ อย่างน้อยที่สุดก็เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นกับนักเรียนของเธอ

“เด็กๆ เริ่มเข้าใจ และสนุกกับวิชาคณิตศาสตร์มากขึ้น ถามว่าถ้าให้ย้อนเวลากลับไปจะยังเลือกสมัครเข้ามาเป็นครูทีชฯ ไหม… ตอบได้แบบไม่ต้องคิดเลยว่า เลือกค่ะ”

คำตอบของครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่น 6 เปล่งออกมาอย่างเต็มเสียง พร้อมกับอธิบายต่อว่า แม้เธอจะเลือกทำเช่นเดิม แต่เหตุผลในการก้าวเข้ามาในวันนี้กลับแตกต่างออกไป

“เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เราเข้ามาด้วยความคิดอยากเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ แต่ความตั้งใจนั้นทำให้เราเองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งเรื่องการเชื่อมั่นในศักยภาพของคนอื่นและเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากำลังนำมาต่อยอดในการพัฒนาตัวเองอยู่ในตอนนี้ ถ้าเราไม่เชื่อมั่นในตัวเอง วันนี้เราอาจยังคงติดอยู่กับคอมฟอร์ตโซนเดิมๆ ไม่สามารถก้าวไปสู่เป้าหมายในชีวิตได้ เหตุผลในวันนี้จึงเปลี่ยนไป เพราะเราอยากเห็นความหลากหลายของศักยภาพมนุษย์เกิดขึ้นในประเทศไทยให้มากขึ้นกว่าที่มีอยู่”

ปัจจุบัน ครูบีมกำลังเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับด้าน User Experience ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอได้แรงบันดาลใจจากการเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงของ Teach For Thailand

“ครูทีชฯ สอนให้เรารู้จักเข้าใจนักเรียน เมื่อเราเข้าใจเขาแล้ว เราจึงเริ่มออกแบบสิ่งที่ตอบสนองความต้องการของเขา ซึ่งสิ่งที่เรากำลังศึกษาเพิ่มเติมอยู่ในตอนนี้ จะนำไปสร้างเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ไม่ได้ยัดเยียดความรู้เข้าไปในระบบการศึกษาหรือเข้าไปในโรงเรียนโดยที่เด็กๆ อาจไม่ต้องการ

ฝากถึงคนที่กำลังคิดว่าการเป็นครูทีชฯ สร้างประโยชน์อะไรบ้าง สำหรับคนที่อยากแก้ไขปัญหาการศึกษา การเป็นครูทีชฯ ทำให้คุณได้เข้าใจถึงรากของปัญหาการศึกษาไทยอย่างแท้จริง ทำให้เข้าใจว่านักเรียนต้องการอะไรในชีวิต และเมื่อถึงวันที่จบจากโครงการนี้ไปแล้ว คุณอยากจะไปแก้ไขหรือทำสิ่งใดเพิ่มเติม คุณจะสามารถนำไปต่อยอดในการคิดแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด

ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงจะไม่คิดเองว่าสิ่งนี้ดีแล้วให้นักเรียนทำ แต่ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงจะคิดแบบ Student First คือเราต้องรู้ว่านักเรียนต้องการอะไร แล้วค่อยคิดหาวิธีที่จะตอบสนองความต้องการของนักเรียน หรือหาสิ่งที่สามารถดึงศักยภาพของนักเรียนออกมาได้จริงๆ  และสิ่งนี้คือ Core Value ของ Teach For Thailand ที่สามารถขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาได้อย่างแท้จริง” นี่เป็นข้อคิดทิ้งท้ายที่ครูบีมขอส่งต่อถึงคนที่มีใจอยากก้าวเข้ามาเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นต่อไป