ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 7

สานสัมพันธ์สู่ความร่วมมือที่บ้านเกาะรัง

การทำงาน ปรับตัว ใช้ชีวิต และสานสัมพันธ์กับเพื่อนครูและผู้บริหารในโรงเรียน ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่แปลกใหม่สำหรับครูทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ถือเป็นความท้าทายพอๆ กับการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะสำหรับครูณา (ฮุษณา หมัดตะพงศ์) ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 7 ผู้มีบ้านเกิดที่หาดใหญ่ในชุมชนชาวมุสลิม แต่ได้มาเรียนรู้การปรับตัวและใช้ชีวิตร่วมกับครูและนักเรียนโรงเรียนบ้านเกาะรัง และชุมชนในจังหวัดลพบุรี

การเรียนรู้ ปรับตัว และสานสัมพันธ์

“เทอมแรก เรากังวลมาก เพราะไม่รู้จะปรับตัวเข้ากับเขาอย่างไร อาหารการกินก็แตกต่างกัน เวลาเขาชวนกินอะไรเราก็ร่วมวงกินข้าวกับเขาไม่ได้ เราเลยเกร็งๆ ทำตัวไม่ค่อยถูก คิดถึงบ้านมากเลยค่ะ” ครูณาเล่าย้อนถึงตอนเริ่มงานที่โรงเรียนใหม่ๆ

แต่ความสัมพันธ์ที่ดี มักมีจุดเริ่มต้นจากการกระทำเล็กๆ เช่น การกล่าวทักทายด้วยคำว่า “สวัสดี” ถึงแม้ครูณาจะทำตัวไม่ถูกในช่วงแรก แต่ก็ยกมือสวัสดีครูผู้ใหญ่ทุกครั้งที่พบหน้า และแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนกับเพื่อนครูทุกคน

“เทอมที่สอง เราตั้งใจปรับตัวเข้าหาเพื่อนครู ถึงจะกินของเขาไม่ได้ แต่เราเอาอาหารไปร่วมวงกับเขาได้ เลยคิดว่าเริ่มจากการทำข้าวยำ เราก็ไปซื้อเครื่องเคียงมา แล้วให้แม่ส่งปลาป่น มะพร้าวคั่ว น้ำบูดูมาจากบ้าน แล้วชวนครูทุกคนมากินร่วมกัน ทั้งห้องธุรการ ห้องการเงิน เราก็ทำให้เพื่อนครูกินทุกจาน” ครูณาเล่าด้วยเสียงหัวเราะ

ปาร์ตี้ข้าวยำในวันนั้นเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนครู เพราะทำให้ต่างฝ่ายต่างเกิดความสนใจในการทำความรู้จักวัฒนธรรมและอาหารการกินที่แตกต่างของกันและกัน เพื่อนครูเองก็ได้แนะนำอาหารท้องถิ่นให้ครูณารู้จัก ส่วนครูณาเองก็เริ่มร่วมทานข้าวเที่ยงกับเพื่อนครู และมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากขึ้น

การสร้างความร่วมมือ

การจะสร้างสรรค์ห้องเรียนให้ส่งเสริมการเรียนรู้และเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียน รวมทั้งปฏิบัติภารกิจครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ให้สำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือ การสนับสนุน และความช่วยเหลือมากมายจากทั้งเพื่อนครู เจ้าหน้าที่ และผู้บริหารในโรงเรียน ตลอดจนผู้ปกครองและผู้คนในชุมชนด้วย

ครูณาสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคนรอบข้างและพยายามช่วยเหลืองานทุกอย่างในทุกโอกาส ล่าสุดครูณามีความคิดริเริ่มในการสร้างพื้นที่ภาษาอังกฤษในโรงเรียน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนด้วยระบบ Brain Based Learning (BBL) โดยอาศัยการสร้างบันไดคำศัพท์ทั้งในระดับชั้นประถม มัธยมต้น และมัธยมปลาย เพื่อให้นักเรียนได้เห็นคำศัพท์บ่อยๆ และเกิดการจดจำเรียนรู้ เมื่อนำโครงการนี้ไปเสนอครูพี่เลี้ยงและขออนุมัติจากผู้บริหาร ก็ได้รับการสนับสนุนจากทั้งผู้บริหารและครูในโรงเรียนเป็นอย่างดี ทางโรงเรียนช่วยสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ ผู้บริหารก็ชื่นชม และเพื่อนครูก็ให้ความสนใจและมีส่วนร่วมในกิจกรรม

การสร้างแรงบันดาลใจ

ห้องเรียนของครูณา เน้นการเรียนการสอนแบบ Active Learning คือการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการลงมือทำและใช้กระบวนการคิด เพราะครูณาอยากให้ห้องเรียนมีความสนุก ให้เด็กๆ ชอบเรียนหนังสือ รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กที่อ่อนภาษาอังกฤษมีความรู้สึกที่ดีต่อการเรียนภาษาอังกฤษ

ครูณาเล่าว่ามีอยู่คาบหนึ่งที่ได้ทำบัตรคำศัพท์ไปติดไว้ตามสนามฟุตบอลนอกห้องเรียน แล้วให้เด็กๆ ไปจดคำศัพท์มาให้ครบ เด็กๆ ก็สนุกที่ได้ออกไปเรียนนอกห้องเรียน เพื่อนครูเห็นก็สนใจและเห็นด้วยกับวิธีการสอนแบบนี้ บางคนก็มาสอบถามและมีแนวคิดที่จะนำไปใช้

 “ทุกคาบ ทุกวัน เรามานั่งตัดกระดาษ ทำสื่อการสอน พอเพื่อนครูเห็นก็เริ่มมาขอคำปรึกษาว่า ทำอย่างไรให้เด็กสนใจเรียน ทำอย่างไรให้เด็กเข้าใจ ทำอย่างไรให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรม ณาก็ถ่ายทอดประสบการณ์ เขาก็รับฟัง ครูณาได้เสนอเว็ปไซต์ที่ชื่อว่า Pinterest ซึ่งเป็นเว็ปที่รวบรวมรูปไอเดียและสื่อการสอนของคนทั่วโลก เพื่อนครูต่างให้ความสนใจและก็เริ่มทำสื่อการสอนเพื่อใช้กับนักเรียนในห้องเรียนและยังเป็นส่วนหนึ่งในการทำผลงานทางวิชาการไปด้วย” ครูณาเล่าเสริม

ความภาคภูมิใจ

ถึงแม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่การได้ช่วยงานเพื่อนครูในโรงเรียนก็เป็นส่วนหนึ่งในความภาคภูมิใจของครูณา ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเพื่อนครูตัดต่อรูปภาพในคอมพิวเตอร์เพื่อจัดทำอัลบั้มสำหรับนักเรียนที่เรียนจบ ให้คำแนะนำเพื่อนครูด้านการจัดทำสื่อการเรียนการสอน

นอกจากนี้ เมื่อผู้บริหารโรงเรียนมีแนวคิดที่จะติดตามรายละเอียดด้านการเข้าสอนของครูทั้งหมด ครูณายังได้ใช้ประสบการณ์จากการทำงานที่ผ่านมา เพื่อช่วยจัดทำแบบฟอร์มบันทึกการเข้าสอนให้โรงเรียนได้ใช้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเก็บข้อมูลของโรงเรียน

ครูณาได้ทราบมาว่า ครูในโรงเรียนได้กล่าวชมเชยครูผู้นำจากทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ให้เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิยุวพัฒน์ฟัง และรู้สึกภาคภูมิใจอย่างมากที่ได้เข้าร่วมโครงการครูผู้นำของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์

ความประทับใจ

ครูณาประทับใจในความช่วยเหลือของชาวบ้าน ชุมชน และเพื่อนครูมาก “เมื่อปลายปีที่แล้ว โรงเรียนน้ำท่วม บ้านพักของเราที่อยู่ใกล้โรงเรียนก็โดนน้ำท่วมด้วย ชาวบ้านที่รู้ว่าบ้านครูณาอยู่ใกล้โรงเรียนก็เอารถขนอ้อยมาช่วยกันขนของหนีน้ำ นี่เป็นประสบการณ์น้ำท่วมครั้งแรกในชีวิต เราไม่มีบ้านอยู่นาน 2 สัปดาห์ ก็ไปอยู่บ้านเพื่อนครู 2 คน คนละสัปดาห์” ครูณาเล่าพลางอมยิ้มไปด้วย

นอกจากนี้ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนก็ให้ความสนิทสนมและเอ็นดูครูณาเป็นอย่างดี มีการชวนไปตลาด ไปทำกิจกรรมร่วมกัน ส่วนเด็กนักเรียนก็เคารพนอบน้อม เวลาเจอกันในโรงเรียนก็ทักทายสวัสดีครูตลอด แม้เวลาเจอกันนอกโรงเรียนก็ยังจอดรถเพื่อสวัสดีครู

การมีส่วนร่วมของโรงเรียนต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของนักเรียน

ในมุมมองของครูณา ผู้บริหารต้องทำให้โรงเรียนเป็นโรงเรียนแห่งความสุข โดยต้องเริ่มทำให้ครูในโรงเรียนมีความสุขก่อน เมื่อครูในโรงเรียนมีความสุขแล้ว ก็สามารถสร้างห้องเรียนแห่งความสุขที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียนได้

นอกจากนี้ ผู้บริหารจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์และร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนให้ก้าวทันต่อบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไปได้ ดังนั้นจึงต้องเป็นผู้นำในการสนับสนุนให้ครูร่วมสร้างสรรค์การเรียนการสอนที่ปรับเปลี่ยนได้ทันต่อบริบททางสังคมในปัจจุบัน

“โรงเรียนก็เปรียบเสมือนแปลงเพาะปลูก เรามีหน้าที่ร่วมกันเตรียมดินที่ดี ให้นักเรียนมีพื้นที่ในการเรียนรู้ที่ปลอดภัย และเติบโตกลายเป็นต้นไม้ในแบบที่เขาอยากจะเป็นได้โดยไม่มีข้อจำกัด” ครูณากล่าวทิ้งท้าย

6 profile

บทสัมภาษณ์ ครูณา (ฮุษณา หมัดตะพงศ์) ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 7

โรงเรียนบ้านเกาะรัง จังหวัดลพบุรี