ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 6

Change Their Future, Change Yours #3

ครูมายด์ (ปภัสรินทร์ อนันต์ศิระบวร)

ครูมายด์ (ปภัสรินทร์ อนันต์ศิระบวร)
ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 6

วุฒิการศึกษา
ปริญญาตรี คณะสังคมศาสตร์สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
อายุ 26 ปี

สอนวิชาคณิตศาสตร์ มัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 2

โรงเรียนบ้านสบเตี๊ยะ จังหวัดเชียงใหม่

รู้จัก TFT ได้อย่างไรทำไมถึงสมัครเข้าร่วมโครงการ

รู้จักโครงการนี้มาตั้งแต่ 1 ปีก่อนจบปริญญาตรี พอช่วงใกล้เรียนจบ โครงการนี้ก็ขึ้นมาหน้าfeed บนเฟซบุ๊ก พอเราได้อ่านรายละเอียดก็รู้สึกว่าเหมาะกับตัวเราเพราะเราเป็นสายเด็กเรียน มีความรู้ความเข้าใจในวิชาพื้นฐานชอบติวหนังสือให้เพื่อน การได้ถ่ายทอดความรู้น่าจะเป็นงานถนัดของเรา เพราะเป็นแรงบันดาลใจให้เราได้พัฒนาตนเองพัฒนาคนอื่น และพัฒนาประเทศชาติไปพร้อมกัน เรารู้สึกว่าสิ่งที่ทำตรงนี้มีคุณค่าทำให้เราได้ค้นหาตนเอง

วันแรกที่สอนรู้สึกอย่างไรบ้าง

วันแรกเรารู้สึกตื่นเต้นกลัวว่านักเรียนจะไม่ให้ความร่วมมือ นักเรียนนั่งกันนิ่งมาก แต่เวลาให้ทำอะไรก็ให้ความร่วมมือดีเราเริ่มจากละลายพฤติกรรม แนะนำตัว ทำกิจกรรมร่วมกัน และตั้งกฎในห้องเรียน

เมื่อสอนจบจบเทอม / ปีการศึกษาแล้วมองย้อนกลับไปรู้สึกอย่างไร

รู้สึกดีใจที่ได้สอนจนถึงทุกวันนี้ เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของตนเองหลายด้านไม่คิดว่าเราจะเติบโตมากขนาดนี้

เด็กนักเรียนที่สอนเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่อย่างไร

ด้านทัศนคติ ลักษณะนิสัย เด็กๆมีความรับผิดชอบมากขึ้น มีความพยายามมากขึ้น มี growth mindset มากขึ้น เพราะมีครู TFT ในโรงเรียนทั้งสามคนช่วยกันเวลานักเรียนพูดคำที่แสดงความคิดเชิงลบ เราจะพยายามเสริมพลังด้านบวกให้ ด้วยการแทนที่ด้วยคำพูดดีๆจนเด็กๆ ติดเป็นนิสัย เวลาเห็นเพื่อนบอกว่าทำไม่ได้ ก็บอกว่าทำได้สิอย่างเพิ่งไปตัดสินก่อน เด็กๆ รู้จักเตือนกันเอง มีการเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นกระตือรือร้นมากขึ้น มีส่วนร่วมมากขึ้น เช่น ในช่วงแรกเราจะเขียนคำคมก่อนเริ่มเรียนต่อมาเด็กๆ ก็ไปหาคำคมมาเขียนเอง โดยที่เราไม่ต้องขอ

ด้านความรู้วิชาคณิตศาสตร์ นักเรียนบอกเราว่า “ครูเชื่อไหมว่าตอนเรียนชั้นประถมหนูไม่เคยเข้าใจวิชาคณิตศาสตร์เลย หนูทำไม่ได้ ลอกเพื่อนตลอดพอเรียนกับครูแล้วเก่งขึ้น ทำโจทย์ได้ด้วยตนเอง มีปลาว่ายอยู่เต็มหัวเลย” ตอนนี้ต่อให้เด็กทำโจทย์ไม่ได้เขาก็พยายาม ไม่ลอกเพื่อนแล้ว

ตัวเราเองเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมก่อนเข้าร่วมโครงการอย่างไร

เราเติบโตทางจิตวิญญาณและความคิดเรารับฟังคนอื่นมากขึ้น เข้าใจคนอื่นมากขึ้น เข้าใจและเห็นใจคนอื่นมากขึ้น ไม่ด่วนตัดสินคนอื่นมีทักษะการฟังและการสื่อสารเพิ่มมากขึ้น เรารู้จักพูด รู้จักจังหวะ รู้จักฟังรู้ว่าแต่ละคนคิดอย่างไร ในขณะเดียวกันเราก็รู้จักตัวเองไปด้วยว่าเรารู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์นี้และจะเผชิญหน้ากับมันอย่างไร

ภาระงานอื่นนอกจากการสอน

ทำงานชุมนุม เป็นพิธีกรวันภาษาไทยงานวันเด็ก มีส่วนร่วมในงานกีฬาสี งานเลือกตั้งสภานักเรียน ช่วยงานครูท่านอื่นๆ เช่น ช่วยจัดงานปัจฉิมนิเทศ

มีมุมมองต่อการศึกษาไทยอย่างไร

การศึกษาไทยจะดีขึ้นได้ถ้าให้เด็กได้มีส่วนร่วม มีบทบาทในการเรียน เราต้องมองว่าเด็กเป็นคนสำคัญการศึกษาปัจจุบันมองว่าเด็กเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งที่สนับสนุนคนเป็นครูแต่ไม่มองประโยชน์ที่จะเกิดกับเด็กจริงๆ ว่าต้องเข้าหาเด็กอย่างไร หรือสร้างให้เด็กมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ได้อย่างไรเราต้องรู้จักรับฟังปัญหาว่าเด็กต้องการอะไร ถ้าเราไม่ฟังเสียงเด็ก แต่สอนโดยให้เด็กฟังเสียงเราเด็กจะดื้อ เขาจะต่อต้าน และไม่เห็นความสำคัญว่าจะเรียนไปทำไม ต้องทำตามผู้ใหญ่บอกเท่านั้นหรือเด็กจะทำทุกทางให้เกิดการยอมรับ แต่ถ้าการศึกษายอมรับเด็ก ดึงเด็กเข้ามามีส่วนร่วมเด็กจะพัฒนาได้ดีมาก เพราะเขารู้สึกมีส่วนร่วม

เมื่อจบโครงการแล้ววางแผนอนาคตไว้อย่างไร

เราคิดว่า เมื่อจบโครงการแล้วอยากมองหางานที่มีความมั่นคงในระดับหนึ่งโดยอยากสอบเข้ารับราชการ ตามสายที่เรียนมาในกระทรวง ซึ่งถึงจะไม่ได้สนับสนุนงานด้านการศึกษาโดยตรงแต่ก็เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนองค์กรให้เห็นความสำคัญของการศึกษาได้เช่น ตำแหน่งปลัดอำเภอ เมื่อได้ลงชุมชน สัมผัสกับชาวบ้าน เราก็สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีในการผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ในชุมชนได้เป็นการขับเคลื่อนภาคสังคม และศึกษาแนวทางว่าเราจะมีส่วนผลักดันการศึกษาได้อย่างไรบ้างเพราะเราเชื่อว่าการศึกษามีส่วนช่วยในการพัฒนาคน เพื่อพัฒนาประเทศ

เรื่องราวความประทับใจของการเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่อยากแบ่งปัน

มีความประทับใจเพื่อนครูในโรงเรียนที่คอยให้ความเอ็นดูช่วยเหลือ และสนับสนุน พอเรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันก็ทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุขมีการแชร์ความรู้สึกกัน ปรึกษากัน

นอกจากนี้ ยังมีนักเรียนสองคนที่เราสอนหนังสือให้แบบตัวต่อตัวเพราะเด็กยังอ่านหนังสือไม่ได้ แม้จะขึ้น ม.1 แล้ว เรารู้สึกว่าการอ่านเป็นเรื่องสำคัญถ้าจะเรียนรู้ด้วยตนเองต้องอาศัยการอ่านด้วย เพราะการที่แค่ดูหรือฟัง ไม่ดีเท่ากับการอ่านแล้วตกตะกอนความคิดเองเราสอนเด็กทั้งสองคนทุกเย็นโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ตอนนี้ทั้งสองคนเริ่มสะกดคำได้แล้วปิดเทอมไปเราก็กลัวว่าเด็กจะลืมไหม แต่เราประทับใจที่เด็กทั้งสองก็มีความรับผิดชอบมาเข้าเรียนเอง สอนกันเอง ฝึกอ่านกันเองทั้งที่ก็ยังอ่านไม่คล่องด้วยกันทั้งคู่แต่เขาก็ช่วยกันเรียน ผู้ปกครองก็เห็นความสำคัญและสนับสนุนให้เรียนตอนเย็น เราอยากติดตามพัฒนาการของเด็กๆไปเรื่อยๆ แม้จะจบโครงการไปแล้ว

อยากฝากอะไรถึงน้องๆที่กำลังตัดสินใจจะสมัครเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นต่อๆ ไป

การที่เข้ามาทำงาน ต้องใช้ใจเพราะเราเจอความท้าทายทุกวัน ทุกชั่วโมง ทุกคาบที่สอน เราต้องอยากพัฒนาตัวเองพัฒนานักเรียน พัฒนาประเทศชาติ เราต้องอดทน มุ่งมั่นแล้วจะได้รู้จักตัวเองในอีกแบบ เด็กๆ ก็เหมือนครูที่หล่อหลอมและทำให้เราได้เกิดการเรียนรู้ทำให้เราเห็นตัวตนของเราในอีกรูปแบบหนึ่ง

ถ้าท้อหรืออยากถอยขอให้นึกถึงเหตุผลแรกที่ก้าวเข้ามาร่วมโครงการ ซึ่งทุกคนมีเหตุผลที่ต่างกันให้ย้อนไปดูเหตุผลของตนเอง แล้วให้มองไปยังเป้าหมายต่อไป ว่าเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งตัวเรา นักเรียน และประเทศชาติ อยากให้มองสองแบบทั้งมองย้อนกลับไปและมองไปข้างหน้า