Zero Waste
โครงการลดขยะ
จุดเริ่มต้นของการสร้าง
ความเปลี่ยนแปลง

ครูทิ้ง (ศุภชัย นำรุง)

การสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา นับเป็นวัตถุประสงค์หลัก และภารกิจสำคัญของครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ที่ผ่านการคัดเลือกมาอย่างเข้มข้นทุกคน แต่นอกจากการเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว การก้าวเข้ามารับหน้าที่ครูผู้นำฯ ยังสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต ที่ช่วยให้ก้าวต่อไปของพวกเขาแต่ละคนมีความแข็งแกร่งเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ต่อไปในอนาคตด้วย

เช่นเดียวกันกับ “ครูทิ้ง-ศุภชัย บำรุง” ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่น 7 ที่กำลังทำหน้าที่ให้ความรู้แก่นักเรียน โรงเรียนบ้านป่าซางนาเงิน จังหวัดเชียงราย ซึ่งนอกจากจะทุ่มเทให้ภารกิจการสอนแล้ว ครูทิ้งยังได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ Zero Waste โครงการที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยลดปริมาณขยะในโรงเรียนให้เหลือน้อยที่สุด

ครูทิ้งเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเข้ามารับผิดชอบ
โครงการว่า“โรงเรียนบ้านป่าซางนาเงิน
เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่อยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิ
แม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีนักเรียนตั้งแต่
ชั้นอนุบาล 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 แต่ด้วยความที่
โรงเรียนอยู่บนพื้นที่สูงและห่างไกลมากทำให้ปัจจุบัน
มีครูในโรงเรียนทั้งหมดเพียง 9 คน

ครูทุกคนที่นี่จึงมีภารกิจที่ยุ่งมาก อย่างตัวเราเองเฉพาะหน้าที่การสอนนักเรียน มีทั้งหมด 30 คาบต่อสัปดาห์ ครูคนอื่นก็ไม่ต่างกัน ดังนั้นจึงไม่มีใครสามารถปลีกตัวมาช่วยเราทำโครงการ Zero Waste ได้ ซึ่งตอนแรกเราก็มีความลังเลเช่นกันว่าควรรับทำหรือไม่ เพราะงานที่รับผิดชอบอยู่มีไม่น้อยเลย”

แม้จะมีคามลังเลอยู่บ้าง แต่ท้ายที่สุดครูทิ้งก็ตกปากรับคำเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ Zero Waste ซึ่งเขาบอกว่า เมื่อตัดสินใจแล้ว ก็ตั้งใจทำทุกอย่างให้ดีที่สุด

“โครงการนี้เริ่มต้นจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มีเป้าหมายการลดขยะของทุกพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิฯ ทั้งหมด โดยจะมีศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ เริ่มต้นเราต้องให้ข้อมูลความรู้ตามแนวทางที่ศูนย์เรียนรู้ฯ กำหนดไว้แก่ทุกคนในโรงเรียน ให้เข้าใจว่า ขยะแบ่งออกเป็น 6 ประเภท คือ ขยะย่อยสลายได้, ขยะขายได้, ขยะพลังงาน, ขยะปนเปื้อน, ขยะอันตราย และขยะในห้องน้ำ เพื่อให้ทุกคนรู้จักการแยกขยะ ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการของระบบการจัดการขยะ”

ครูทิ้งเล่าถึงความคืบหน้าของโครงการให้ฟังว่า Zero Waste เป็นโครงการที่เพิ่งเริ่มต้นดำเนินการ โดยอยู่ในขั้นตอนของการออกแบบระบบ และประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนแต่ละห้องของทุกชั้นเรียนมีการแยกขยะ ซึ่งมีครูประจำชั้นเป็นผู้รับผิดชอบดูแล และมีนักเรียนส่วนกลางที่ครูทิ้งเป็นผู้ดูแลทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมขยะจากจุดคัดแยกมาไว้ที่ธนาคารขยะ เพื่อเก็บข้อมูลบันทึกสถิติของขยะแต่ละประเภท จากนั้นจึงคัดแยกขยะที่ขายได้รวบรวมไว้ให้โรงเรียนนำไปขายทุกเดือน

แม้จะอยู่ในช่วงเริ่มดำเนินการ แต่โครงการ Zero Waste ได้รับความร่วมมือจากครูและนักเรียนเป็นอย่างดี

“ทุกคนมีความเห็นตรงกันว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี แต่นักเรียนอาจยังมีความสับสนเรื่องความทับซ้อนของการแยกขยะอยู่บ้าง อย่างถุงขนม ถ้าสกปรกมากๆ แทนที่จะเป็นขยะพลังงาน ก็จะกลายเป็นขยะปนเปื้อน เราเลยแก้ปัญหาด้วยการจัดให้มีการสาธิตการแยกขยะอย่างถูกวิธีหน้าเสาธงเพื่อสร้างความเข้าใจ

จริงๆ ที่โรงเรียนมีปัญหาเรื่องบริบทของการจัดการขยะอยู่แล้ว ที่ผ่านมานอกจากขยะที่นำไปขายได้ ขยะที่เหลือส่วนใหญ่จะนำไปทิ้งรวมกันที่บ่อขยะชุมชนในป่า ซึ่งเมื่อประชากรเริ่มเพิ่มจำนวนขึ้น ขยะก็ล้นบ่อ หากโครงการ Zero Waste ดำเนินไปได้ด้วยดี จะสามารถช่วยลดปัญหานี้ได้ ซึ่งถือว่าทุกอย่างเริ่มต้นไปได้ด้วยดีและเริ่มมีความเป็นระบบมากขึ้น”

จุดกำจัดขยะของชุมชนก่อนโครงการ Zero Waste

แม้จะมีความทุลักทุเลอยู่บ้างแต่เมื่อทุกอย่างดำเนินไปตามแผน ผลลัพธ์ที่ตามมาทำให้เจ้าของโครงการอย่างครูทิ้งอิ่มใจไม่น้อย

“การทำโครงการ Zero Waste ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง มันอาจไม่ง่ายสำหรับการเริ่มต้นแต่หากเราตั้งใจจริงก็ไม่มีอะไรยากเกินไป จากนี้ไปความยากยิ่งกว่าการเริ่มต้นคือ จะทำอย่างไรให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน ตอนนี้ยังเหลือเวลาในการทำงานที่นี่อยู่ประมาณปีครึ่ง เราเลยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องทำให้โครงการนี้ดำเนินต่อไปอย่างยั่งยืนให้ได้”

การจัดเตรียมสถานที่เพื่อแยกขยะ

แผนการต่อไปของครูทิ้งจึงมุ่งเน้นไปที่สาเหตุของปัญหา คือลดการสร้างขยะที่ไม่จำเป็นให้ได้มากที่สุด อย่างเช่น งดรับถุงพลาสติกเวลาออกไปซื้อของนอกโรงเรียน งดจำหน่ายน้ำอัดลมและขนมถุง เปลี่ยนมาจำหน่ายขนมปี๊บและน้ำหวาน โดยให้นักเรียนเตรียมภาชนะของตัวเองสำหรับใส่น้ำและขนม เป็นต้น

นอกจากนั้น ครูทิ้งยังตั้งใจวางแผนเรื่องการบันทึกข้อมูลต่างๆ ให้มีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ ทำเป็นไฟล์งานที่ทุกคนสามารถนำไปใช้งานต่อได้ง่าย

“หากข้อมูลทุกอย่างถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบ คนที่นำไปปฏิบัติต่อจะสามารถนำไปดำเนินการได้ง่าย หรือคิดวางแผนนโยบายต่อยอดต่อไปได้เลย ซึ่งหากเราสามารถจัดการระบบการจัดการขยะและลดปริมาณขยะในโรงเรียนได้ ในอนาคตจะสามารถขยายวงกว้างออกไปถึงชุมชนได้ เมื่อทุกคนในชุมชนให้ความสำคัญกับเรื่องขยะ ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็จะลดลง เท่านี้ทุกอย่างก็จะสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน”

ครูทิ้งเล่าว่าโครงการ Zero Waste เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เขาได้ใช้ความรู้ความสามารถ ขณะเดียวกันยังทำให้ได้เรียนรู้และเข้าใจถึงหัวใจสำคัญของการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ว่า

ทุกการเปลี่ยนแปลงล้วนเริ่มต้นจากการลงมือทำ!