เติมเต็มการศึกษา เปลี่ยนห้องเรียนจากพลังของครูสังคม

โครงการพัฒนาเครือข่ายผู้นำครูสังคมศึกษา (Social Studies Program) คือโครงการที่ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เริ่มขึ้นเพื่อสร้างเครือข่ายการเรียนรู้เชิงวิชาชีพและยกระดับงานของครูวิชาสังคมในโรงเรียน รวมถึง สานต่อเครือข่ายกับครูผู้นำของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เราเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงการศึกษาที่ยั่งยืนต้องมีความร่วมมือจากผู้นำทุกภาคส่วน โดยเฉพาะคุณครูในระบบ เราจึงเริ่มต้นโครงการนี้เมื่อปี 2564 ปัจจุบัน 12 จังหวัดที่เข้าร่วมในโครงการ และเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดในห้องเรียน ในบทความนี้ เราได้สัมภาษณ์ ‘ครูรัตนชาติ สาระโป’ จากโรงเรียนบ้านแม่งอนขี้เหล็ก จังหวัดเชียงใหม่ และ ‘ครูสุทธาสินีย์ ฉวีศักดิ์’’ จากโรงเรียนราชินีบูรณะ จังหวัดนครปฐม คุณครูทั้งสองได้เข้าร่วมกิจกรรมสิบปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ในเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว และได้ให้สัมภาษณ์ถึงโครงการพัฒนาเครือข่ายผู้นำครูสังคมศึกษาและสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ไว้อย่างน่าสนใจ

โครงการนี้ ให้ประโยชน์อะไรกับคุณครูบ้าง? 

     ครูสุทธาสินีย์ให้ความเห็นว่า “ได้ประโยชน์รอบด้าน มีการอบรมด้านการจัดการเรียนรู้ตั้งแต่การออกแบบจนถึงการจัดทำแผน เมื่อนำไปใช้ก็มีกระบวนการการนิเทศก์แบบกัลยาณมิตร เพื่อสะท้อนคิดและเติมเต็มจากส่วนที่เป็นข้อจำกัด รวมถึงเสริมแนวทางดึงศักยภาพของนักเรียนออกมาให้ได้มากยิ่งขึ้น”

     นอกจากนี้ ยังช่วยแนะนำวิธี ‘เก็บตก’ และดูนักเรียนทุกคนในชั้นเรียนอย่างทั่วถึงผ่านการแนะนำและส่งเสริมให้ครูติดตามนักเรียน “ระหว่างการสอน ครูอาจจะลืมนักเรียนบางคนโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่เมื่อครูติดตามเพิ่มเติมในภายหลัง ปรากฏว่า นักเรียนมีความเป็นผู้นำสูง และมีความเป็นเฉพาะบุคคลที่น่าสนใจ”

     ส่วนครูรัตนชาติ เน้นยำในเรื่องของการจุดไฟให้กับตนเอง ซึ่งโครงการนี้ช่วยเขาได้มาก

     “สิ่งที่ชัดมากก็คือ ช่วงอบรบออนไลน์ช่วยเติมไฟในตัวเรา ทำให้รู้สึกมีแรงไปสู้ต่อ วันไหนที่ได้เจอเพื่อนๆ และอาจารย์อรรถพล (1) มักได้รับคำแนะนำดีๆ เช่น หากเหนื่อยจากการสอนควรไปโฟกัสตรงไหน เริ่มใหม่ยังไง  ครูในเครือข่ายซึ่งมีประสบการณ์ร่วมกันก็มีการแลกเปลี่ยนวิธีการ”

     นอกจากนั้น การอบรมที่ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ จัดให้กับครูรัตนชาติ ยังช่วยเสริมความมั่นใจเกี่ยวกับการนิเทศก์ห้องเรียน

     “ตอนนี้รู้สึกว่า การนิเทศก์ไม่ได้น่ากลัวอย่างเมื่อก่อน ไม่ได้มาจับผิดเรา ในทางตรงข้ามกลับทำให้เรามั่นใจขึ้นมาก หลังจากนั้น การสอนของเราก็เรามีโฟกัสที่ดีขึ้น มองนักเรียนได้รอบด้านมากขึ้น” 

     “ห้องเรียนเราเปลี่ยนไปเพราะเราสนใจนักเรียนมากขึ้น”

     การต่อยอดแนวคิดการประเมินผลนักเรียน เป็นอีกจุดหนึ่งที่ครูสุทธาสินีย์กล่าวถึง

     “การอบรมให้ความสำคัญกับการสะท้อนผล (Reflection) จากนักเรียน โดยใช้แหล่งอ้างอิงจากบทความวิชาการด้านการศึกษา ทำให้เราสามารถหยิบประเด็นตรงนี้ไปทำการวิจัยในชั้นเรียนได้”

สิ่งใดที่เปลี่ยนไปบ้าง หลังจากการอบรม ?

     ครูสุทธาสินีย์กล่าวว่า “เราได้รับการเติมไฟเรื่อยๆ แล้วเราก็เอาไฟนี้ไปเติมให้คนอื่นเช่นกัน บางคนที่เขาเหนื่อยล้าก็ดูมีความหวังขึ้น”

     ส่วนครูรัตนชาติเล่าถึงห้องเรียนที่กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัย

     “อาจารย์อรรถพลบอกว่า การที่บางทีนักเรียนไม่แสดงความคิดเห็นไม่ใช่ว่าเขาไม่รู้เรื่อง เราเลยเปลี่ยนวิธีคิด ให้นักเรียนที่ไม่อยากตอบไปตอบในคาบหน้า ทำให้ห้องเรียนปลอดภัยมากขึ้น เวลานักเรียนอยากพูดก็พูดออกมาได้เอง”

     “นักเรียนก็ยอมรับว่าเราเข้าใจเขาและมาปรึกษาเรา เราก็ไม่ได้มองนักเรียนว่าใครเก่งใครอ่อน แต่นักเรียนทุกคนเรียนรู้ไปด้วยกันได้ เราใส่ใจความต้องการของนักเรียนในห้องมากขึ้น”

“เติมเต็มการศึกษา สานต่ออนาคต” มีความหมายว่าอย่างไร 

     ครูสุทาศินี – “การศึกษาคือการพัฒนา คนเราจะพัฒนาตัวเองแบบไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาด้านความรู้ ทักษะ กระบวนการ สิ่งเหล่านี้จะไปเติมเต็มทั้งตัวเขาและผู้อื่น รวมถึงสังคม สุดท้ายจะนำไปสู่การพัฒนาและการเดินหน้าสู่อนาคต”

     ครูรัตนชาติ – “ชอบคำนี้ครับ โรงเรียนของผมเป็นโรงเรียนชายขอบ นักเรียนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ คำว่า ‘เติมเต็มการศึกษา’ เลยทำให้รู้สึกว่านักเรียนของผมก็จะได้เรียนรู้เหมือนกับนักเรียนในเมือง ซึ่งตอบโจทย์สิ่งที่ผมกำลังทำและเป็นคำที่ให้กำลังใจได้ดีมาก”

     “นอกจากนี้ ผมก็ให้ความสำคัญกับการ “สานต่ออนาคต” หากนักเรียนของผม จบ ม.3 แล้วอยากช่วยงานพ่อแม่หรืออยากทำงานหาเงินเอง นี่ก็เป็นอนาคตที่เขาเลือก ฉะนั้น เราก็เติมเต็มในส่วนการทำงาน ว่าทำยังไงให้มีความสุข เลี้ยงดูครอบครัวได้ อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ ครูเข้าใจอนาคตที่นักเรียนอยากได้ และเติมเต็มให้”

     โครงการพัฒนาเครือข่ายผู้นำครูสังคมศึกษา เป็นอีกหนึ่งโครงการของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ นอกเหนือจากโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง เรามีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา และทำให้เด็กไทยทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน 

สามารถอ่านเรื่องราวอื่นๆ เกี่ยวกับเราได้ที่เว็บไซต์ /

  1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักการศึกษา และเป็นที่ปรึกษา ผู้ร่วมออกแบบโครงการ และผู้ประสานงาน ในโครงการพัฒนาเครือข่ายผู้นำครูสังคมศึกษา