สะท้อนการเปลี่ยนแปลง สร้างแรงบันดาลใจให้ครูพี่เลี้ยง

งานของครูพี่เลี้ยงไม่ได้หมายถึงการให้คำแนะนำแก่ครูผู้นำฯ เท่านั้น เพราะหลายครั้ง ครูพี่เลี้ยงก็ได้เรียนรู้บางอย่างจากครูผู้นำฯ ด้วย เช่นเรื่องราวของ ครูตู่ ครูหมู และครูติ๊ดตี่ ครูพี่เลี้ยงทั้งสามคนในบทความนี้

“ครูแพรวมีวิธีการสอนที่เข้าใจเด็ก เด็กคนไหนเรียนรู้ได้เยอะก็สนับสนุน เด็กกลุ่มไหนเรียนรู้ช้า ก็จะค่อยๆ สอนจากขั้น 1 ไป 2 ทำให้เด็กตามคนอื่นทัน และไม่หงุดหงิดเวลาเด็กตามไม่ทัน เห็นน้องพยายามเข้าใจความต่างของนักเรียน เราก็คิดว่าบางทีเราก็ไม่เข้าใจเวลาเด็กทำไม่ได้ แต่จริงๆเด็กแค่มีความสามารถในการเรียนรู้ไม่เท่ากัน”

     เสียงสะท้อนจากครูตู่ กัญญา พุทธินาม ครูภาษาอังกฤษ โรงเรียนบ้านเจดีย์แม่ครัว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นครูพี่เลี้ยงของครูแพรว ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 9  ครูตู่ได้รับแรงบันดาลใจจากครูแพรวหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสอนนักเรียน หรือความทุ่มเทและพยายาม และยังชื่นชมครูผู้นำฯ คนอื่นๆ จาก ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ด้วย

     “ครูจากทีชทั้งสองคนตั้งใจในการสอนนักเรียนให้มีความรู้เรื่องวิชาการ และการใช้ชีวิต มุ่งมั่นตั้งใจและพยายาม  อย่างครูแพรวมีประสบการณ์ชีวิตเยอะ ก็จะไม่ได้เน้นสอนแต่วิชาการอย่างเดียว”

     “ในด้านการจัดการเรียนการสอน ก็มีลำดับชัดเจน มีการนำเข้าสู่บทเรียน และใช้สื่อหลากหลาย เช่น บางครั้งครูแพรวก็ใช้คลิปเสียงมาสอนภาษา กระบวนการเรียนการสอนใช้เทคโนโลยี เป็นประโยชน์และทันสมัย”

     การเป็นครูพี่เลี้ยงไม่ได้หมายถึงการให้คำแนะนำ หรือสอนงานครูแพรวเท่านั้น เพราะหลายครั้ง ครูตู่ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากครูแพรวด้วย

     “เราไม่ได้เป็นครูพี่เลี้ยงที่สอนเขาอย่างเดียว หลายครั้งเราก็ได้เรียนรู้จากเขาด้วย” ครูตู่แสดงความเห็น

     ประสบการณ์การร่วมเรียนรู้เป็นจริงเช่นเดียวกันกับครูติ๊ดตี่ ธมลวรรณ รุ่งวิภูษณะ ครูสอนวิทยาศาสตร์และเคมี จากโรงเรียนสามพรานวิทยา จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นครูพี้ลี้ยงของครูภีม ครูผู้นำฯ รุ่น 8

     “ครูภีมเปิดใจ รับฟัง และเข้าถึงเด็ก มีการแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับการสอนตลอด เช่น มีการถามว่า ‘ถ้าเป็นพี่สอน จะทำยังไง’” ครูติ๊ดตี่เล่า “ตอนแรกที่จะได้รู้ว่าเป็นครูพี่เลี้ยงก็กดดัน เพราะไม่รู้ว่าจะได้เจอครูแบบไหน แต่พอได้เจอภีม เขาก็ดีอยู่แล้ว ได้แลกเปลี่ยนไอเดียการสอนและจิตวิทยาการสอนกับภีม”

     ในด้านการสอน ครูภีมก็ทำได้โดดเด่นเช่นเดียวกับทัศนคติ

     “ภีมเป็นคนที่แอคทีฟ มีความรับผิดชอบสูง มีไอเดียการสอนที่ทำให้เด็กมีส่วนร่วมกับกิจกรรม และไม่ได้เน้นแค่การบรรยายอย่างเดียว นอกจากนั้นยังให้คำปรึกษากับนักเรียนในชั้นเรียนได้ด้วย ทำให้นักเรียนอยากเข้าหา อยากเข้ามาเรียนกับครูภีม” ครูติ๊ดตี่บอก

     “แม้ครูจากทีชจะไม่ได้เรียนครูมา แต่ภีมทุ่มเทให้เด็กและมีความเป็นครูสูง เป็นคนสมัยใหม่ที่ปรับเข้าหาคนรุ่นเก่าได้ มีทักษะการปรับตัวสูง”

     คำว่า “แม้ไม่ได้จบครูมาแต่ทำได้” เป็นอีกคำหนึ่งที่ออกจากปากของครูหมู กมลรัตน์  เจริญงามทรัพย์ ครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนท่าข้ามพิทยาคม จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นครูพี่เลี้ยงของครูแนน ครูผู้นำฯ รุ่นที่ 8

     “ไม่ว่าโรงเรียนจะทำอะไร น้องเขาก็ทำหมด แนนเป็นคนที่มีพัฒนาการ ไม่น่าเชื่อว่าไม่ได้จบครู แต่มีความสามารถเท่ากับครูในโรงเรียนคนหนึ่ง” ครูหมูแบ่งปันความประทับใจ

     “สำหรับทัศนคติต่อโครงการนี้ คือ ดีมาก อยากได้ครูจากที่นี่อีก โดยเฉพาะครูคณิตศาสตร์ที่ขาดแคลน ครูที่มีอยู่แล้วก็แบกกันหนัก เรียกได้ว่าครูจากทีชมาต่อชีวิตให้พี่เลย เพราะถ้าสอนหนักไป เด็กก็จะไม่ได้เต็มที่”

     ความเข้าใจและเข้าถึงนักเรียน ดูจะเป็นสิ่งที่ครูหมูเห็นได้ในตัวครูแนนเช่นกัน

     “เวลาสอนเด็ก ครูแนนจะไม่ใช้อารมณ์ ใช้จิตวิทยาทำให้เด็กทำตามได้อย่างมีความสุข เด็กๆก็อยากไปทำงาน ทำกิจกรรมร่วมกับครูแนน เราก็คิดในใจว่า ทำยังไงจะทำให้ได้แบบน้อง”

     นอกเหนือจากนั้น ความทุ่มเทและพยายามก็เป็นอีกสิ่งที่ครูหมูสัมผัสได้ด้วย

     “น้องพูดเสมอว่า ‘เขาจ้างหนูมา เลยไม่กล้าลาบ่อย อยากทำงานให้สมกับเงินเดือนที่ได้มา’ เราไม่ค่อยได้ยินคำนี้จากปากเด็กรุ่นใหม่ สิ่งที่น้องทำเป็นความมุ่งมั่น และน้องก็ได้ใช้เงินค่าจ้างอย่างคุ้มค่า ตอนนี้น้องใกล้จะจบจากโครงการ ก็รู้สึกเสียดายและไม่อยากให้ไป”

     นี่เป็นเพียงเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งจากครูพี่เลี้ยงที่ได้ทำงานร่วมกับครูผู้นำฯ ของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์  ทุกคนได้รับแรงบันดาลใจทั้งในด้านการทำงานและทัศนคติ  ครูผู้นำฯ ของเราเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้เริ่มจากตนเอง และใช้การเลือกสิ่งที่ถูกต้องขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงไปยังคนรอบๆข้าง สะท้อนไปยังนักเรียน โรงเรียน และชุมชน