ต่อเชื้อไฟให้แก่ระบบการศึกษา พันธกิจของศิษย์เก่า
ระยะเวลา 2 ปี ในโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็นเวลามากพอที่ใครบางคนจะได้ทำความเข้าใจปัญหาการศึกษา และเป็นระยะเวลาที่ทำให้ศิษย์เก่าที่จบจากโครงการฯ มีแรงบันดาลใจทำงานในวงการการศึกษาต่อไป เช่นเรื่องราวของกรีน และซีม ที่ตัดสินใจเปิดโรงเรียนเอกชนในจังหวัดบ้านเกิดของตนเอง
“ตอนนั้นผมตั้งเป้าว่าจะเปิดโรงเรียนเป็น Home School ให้ได้ภายใน 5 ปี ตอนนี้ 4 ปีปลายก็สามารถตั้งได้แล้ว และยังมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ กลุ่มวิชาต่างๆ ที่ดูเป็นที่ต้องการมาเสริมอีก”
“สิ่งที่โรงเรียนของผมช่วยแก้ปัญหาได้ก็คือการเข้าไปเติมเต็มสิ่งที่โรงเรียนในระบบไม่สามารถเติมเต็มได้ เช่น เด็กอ่านหนังสือไม่ออก ไม่อยากไปโรงเรียน หรือในกรณีเด็กมหาวิทยาลัย ก็ช่วยแก้ปัญหาที่เด็กไม่รู้ว่าจะเลือกอนาคตอย่างไรดี”
เรื่องเล่าจากกรีน กรีนฐิณญาภัทร์ ลาเตะ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร THEKREEN: HomeSchool โรงเรียนที่สอนและให้คำปรึกษานักเรียนตั้งแต่ 2 ขวบไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะทำสานต่ออาชีพในสายงานการศึกษา กรีนเป็นศิษย์เก่าฯ รุ่นที่ 4 และตลอดระยะเวลาโครงการได้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนเก้าเลี้ยววิทยา จังหวัดนครสวรรค์ โรงเรียนของกรีนตั้งอยู่ที่สงขลา จังหวัดบ้านเกิดของเขาเอง เส้นทางของโรงเรียนเริ่มต้นขึ้นหลังจากกรีนจบจากโครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงมาประมาณ 4 เดือน
“หลังจากจบจากโครงการครูผู้นำฯ ผมกลับบ้านมาพักผ่อนก่อน ตอนนั้นพอดีเป็นช่วงโควิด ทำให้โรงเรียนทยอยปิด และนักเรียนแถวบ้านไม่ได้ไปโรงเรียน ผมก็เลยได้เริ่มสอนหลานๆ และก็มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น จนขยายเป็นโรงเรียนอย่างทุกวันนี้”
“โรงเรียนของเราดูแลเด็กในหลายระดับ ตั้งแต่ประถม มัธยมต้ม ก็สอนทุกวิชา มีความเป็น Hybrid คือ บางทีเน้นสอนพิเศษและติว และกับบางกลุ่มก็มาเข้าโรงเรียนเป็นประจำในฐานะ Homeschool โดยไม่ได้เข้าโรงเรียนในระบบก็มี”
นอกจากเป็นผู้บริหารโรงเรียนของตัวเองแล้ว กรีนยังได้เป็นที่ปรึกษาให้กับโรงเรียนในพื้นที่ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมของการเรียนที่เป็นมิตรต่อเด็กๆ
“เรื่องมันเริ่มจาก มีคนสังเกตเห็นว่านักเรียนที่มาเรียนที่โรงเรียนผมมีความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด คนก็เริ่มถามว่าไปเรียนมาที่นี่หรอ ทำไมเปลี่ยนไป มีคนที่โรงเรียน เช่น ครูในโรงเรียนส่งลูกมาเรียนกับผม หลังจากนั้นก็เลยมีการเชิญให้ผมไปทำงานร่วมกับทางโรงเรียน” กรีนเล่า
“ผมได้ทำ MOU กับโรงเรียนประถมในพื้นที่ เป็นที่ปรึกษาด้านการสร้างห้องเรียนที่ทำให้นักเรียนอยากเรียน ถ้าถามว่ามีผลกระทบต่อเด็กกี่คน น่าจะไม่ต่ำกว่า 5,000 คน เพราะได้ทำงานกับผู้บริหารโดยตรง”
นอกเหนือจากงานในส่วนของการพัฒนาห้องเรียนแล้ว สำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ โรงเรียนของกรีนก็ได้สร้างผลกระทบกับเด็กกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน
“ผมยังได้ทำงานร่วมกับโรงพยาบาล ช่วยกันเช็คภาวะสมาธิสั้น และออทิสติกในเด็ก ซึ่งผลปรากฏว่าทางโรงเรียนของผมสามารถตรวจสอบได้แม่นยำกว่าโรงเรียนในระบบ“
ในอีกทางหนึ่ง ศิษย์เก่าอีกคนหนึ่งที่มีความโดดเด่นไม่แพ้กันในการสร้างผลกระทบต่อในแวดวงการศึกษา ก็คือ ซีม อุซมา ดารามั่น ครูผู้นำฯ รุ่นที่ 2 ซีมนั้นมีพื้นฐานที่ครอบครัวทำโรงเรียนมาอยู่แล้ว และเคยคิดว่าไม่อยากทำงานในระบบการศึกษาต่อ แต่มีบางอย่างทำให้เธอเปลี่ยนใจ
“หลังจบจาก TFT ซีมคิดว่าจะไปทำงานสายเอกชนต่อ แต่สุดท้ายพบว่า องค์ประกอบที่หายไปในงานเอกชนก็คือ วินาทีที่เราได้แรงบันดาลใจจากการที่คนคนหนึ่งได้เรียนรู้แล้วภูมิใจกับการเรียนรู้ของตนเอง” ซีมเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น
“หลังจากนั้นซีมได้กลับไปช่วยงานธุรกิจโรงเรียนที่บ้าน โดยทำกับคุณแม่ สิ่งที่พบคือ ได้ทำให้เด็กได้ยิ้มและหัวเราะทุกวัน เป็น Vibe ที่มันโอบอุ้มเรา และทำให้เกิดความสุขในการเรียนรู้และเติบโต – ซีมเคยออกจากสายงานการศึกษาไป แต่สุดท้ายก็คิดถึงสิ่งนี้ที่ขาดหายไปและเติมเต็มชีวิต”
นอกเหนือจากช่วยบริหารกลุ่มโรงเรียนประทีปศาสน์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นโรงเรียนของครอบครัวเธอแล้ว ซีมยังได้เปิดสถาบันสอนภาษาอังกฤษยีราฟ ซึ่งเป็นธุรกิจของตัวเธอเองเพียงคนเดียว
“จุดเริ่มต้นคือเราคิดว่าในพื้นที่ยังขาดโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษดีๆอยู่ ตอนนี้เปิดมาได้ 1 ปีแล้ว เพิ่งมีเด็กๆที่จบคอร์สแรก ตอนแรกซีมสอนเองหมดเลย แต่ในระยะยาวคิดว่าอยากทำงานบริหาร” ซีมแบ่งปัน
เมื่อถามถึงผลกระทบที่ซีมได้สร้างให้เกิดจากงานต่างๆของเธอ เธอตอบว่า
“ซีมเชื่อในการเปลี่ยนแปลงระดับปัจเจก (Individual) อย่างเช่น ถ้าเราสอนเด็ก 40 คน เราจะให้ทุกคนเป็นที่สุดไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้คือให้เด็กได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ ติดอาวุธให้เขาเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็นในอนาคต”
“แต่ถ้าถามถึงผลกระทบต่อระบบการศึกษาในภาพใหญ่ อาจตอบเป็นตัวเลขได้ว่า มีนักเรียนที่ทำงานด้วยกัน 2,000 กว่าคนในเครือโรงเรียน และคนเหล่านี้จะโตขึ้นไปเป็นส่วนสำคัญของสังคม”
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของศิษย์เก่า ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ที่ยังคงสร้างผลกระทบอย่างต่อเนื่องในระบบการศึกษา แม้จะจบจากโครงการครูผู้นำฯ ไปแล้ว คนเหล่านี้ยังคงเป็นเชื้อไฟให้แก่การศึกษาไทย ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีการของตนเอง ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือ สักวันหนึ่ง เด็กไทยทุกคนจะเข้าถึงการศึกษาคุณภาพได้อย่างเท่าเทียมกัน