แรงใจและไฟฝัน ลมใต้ปีกสานอนาคตเด็กไทย
“มีครั้งหนึ่งเดินทางจะไปประชาสัมพันธ์โครงการ แล้วรถเสียบนทางด่วน เราก็เลยคิดว่าจะทำอะไรดีระหว่างรอ ก็เลยเอาป้ายคัตเอาท์ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ มาวางประชาสัมพันธ์ข้างทางด่วน”
ทราย ณิชา พิทยาพงศกร ปัจจุบันเป็นนักวิจัยและที่ปรึกษาอิสระ หนึ่งในทีมผู้ก่อตั้ง ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ รำลึกความหลัง ในวันที่เธอต่อสู้ฟันฝ่ากับทีม เพื่อให้องค์กรนี้ตั้งขึ้นได้
“เราคุยกับทีมว่า ไม่รู้ว่าจะตั้งองค์กรนี้ได้มั้ย ถ้าไม่ได้ก็ถือว่าได้ลอง และแยกย้ายกลับไปทำงานเอกชนเหมือนเดิม”
ในเรื่องราวของการก่อตั้งองค์กรเพื่อการศึกษา ที่หวังจะเป็นผู้จ้างงานอันดับหนึ่งที่คนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพเลือก มีผู้คนมากมายที่อยู่เบื้องหลัง เป็นเสมือนลมใต้ปีกที่ส่งให้ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ สานอนาคตเด็กไทยมาได้ 10 ปีแล้ว
(จากซ้ายไปขวา) เพชร พิชญุตม์, ทราย ณิชา, อาจารย์แอ๋ม รศ.ดร. กฤตินี,
(บน) อาจารย์ลัดดา รศ. ลัดดา, (ล่าง) ตาล วัชรีพรรณ, โม ชนากานต์
ทราย ณิชา พิทยาพงศกร
หนึ่งในนั้นคือ เพชร พิชญุตม์ จิรภิญโญ ปัจจุบันเป็น Co-Founder ของบริษัทสตาร์ทอัพด้านสุขภาพ Bareindo อดีตหัวหน้าฝ่าย Talent Acquisition ที่มีดีกรีจบจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้มีแรงบันดาลใจในการทำงานเพื่อสังคม
“เราเคยเป็น Consult แก้ปัญหาให้องค์กรเอกชน ก็เลยมาคิดว่าเราเป็นคนทำงานหนัก ไม่กลัวปัญหายากๆ ทำไมไม่ลองมาแก้ปัญหาสังคมดู”
ปัญหาการศึกษาที่ว่ายากแล้ว กลับยากและซับซ้อนยิ่งกว่าเมื่อต้องเล่าให้นักลงทุนฟัง ในฐานะองค์กรไม่แสวงกำไร ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ในช่วงตั้งไข่ ต้องการเงินทุนสนับสนุน นั่นจึงเป็นบทบาทของ อาจารย์ลัดดา รศ. ลัดดา ภู่เกียรติ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต จุฬาฯ ผู้ทำงานการศึกษามาอย่างโชกโชน ที่จะช่วยให้เครื่องบินที่ชื่อ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ออกจากรันเวย์ได้
เพชร พิชญุตม์ จิรภิญโญ
“อาจารย์ลัดดาไปคุยกับผู้สนับสนุนคนหนึ่ง เขาถามมาว่า รับประกันได้ไหมว่าโรงเรียนในกรุงเทพจะเปลี่ยน ครูจะเปลี่ยนได้ภายใน 1 ปี” อาจารย์ลัดดานึกย้อนกลับไป
“แต่เราตอบเขาไปว่าไม่รับปาก เพราะการเปลี่ยนแปลงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายใน 1 ปี เราเองไม่ใช่ผู้วิเศษ”
การเดินทางของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เป็นการเดินทางที่ไม่ง่าย ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมาย ตั้งแต่แรกเริ่ม ที่ไม่มีคนเชื่อมั่นในสิ่งที่พวกเขาเชื่อ
“ในปี 2013 มีคนบอกไว้ว่าองค์กรเราตั้งที่ไทยไม่ได้หรอก” เพชรเล่า “เด็กจบใหม่มหาวิทยาลัยชั้นนำขนาดนั้น เงินเดือนสูงขนาดนั้น ไม่มีใครมาทำตำแหน่งแบบนี้”
แต่ข้อดีอย่างหนึ่งของการสร้างสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ก็คือ มันจะผลักดันให้ทุกคนใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างถึงขีดสุด และหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ช่วยวางภาพลักษณ์ และการสื่อสารขององค์กรให้สัมผัสใจผู้คนได้ ก็คือ อาจารย์แอ๋ม รศ.ดร. กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาการตลาด สถาบันศศินทร์ จุฬาฯ
รศ. ลัดดา ภู่เกียรติ
“ความท้าทายของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ คือ เรื่องคน ซึ่งจะแตกต่างจากองค์กรต้นแบบอย่าง ทีช ฟอร์ อเมริกา” อาจารย์แอ๋มแบ่งปันเรื่องราว “ที่อเมริกา เวลาบอกว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลง ถือเป็นจุดขาย แต่สำหรับเมืองไทย มันทำให้ผู้สมัครกลัว คิดว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าที่ตัวเองจะทำได้”
“เราไม่สามารถ Position ตัวเองแบบฝรั่งเต็มๆ ได้ ต้องเอาความตั้งใจของผู้สมัครเป็นตัวหลัก และเน้นศักยภาพที่จะปั้นคนเหล่านั้น”
อาจารย์แอ๋มยังเล่าถึงอุปสรรคอีกอย่างหนึ่ง คือ “Candidate Pool มันเล็กมาก คนที่มีศักยภาพและสนใจอยากเป็นครูมีน้อยมาก เราต้องแก้ด้วยระบบการจูงใจที่แตกต่างจากบริษัทเอกชน บอกว่ามันเป็นการลงทุนในอนาคตของตนเอง และได้รับโอกาสพัฒนาความเป็นผู้นำ ทำให้หลังผ่านไปสองปี เส้นทางอาชีพชัดเจนและมีอนาคตกว่าทำงานบริษัทเอกชนทั่วไป”
ในช่วงแรก ทรัพยากรทุกอย่างของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ มุ่งเน้นไปที่การหาผู้สมัคร ทางทีมผู้ก่อตั้งได้ทำทุกวิถีทางที่จะนำเสนอองค์กรให้กับเด็กมหาวิทยาลัย และอุปสรรคที่เข้ามาในช่วงนั้น ก็คือการชุมนุมปิดกรุงเทพ
“เราเข้าไปในมหาวิทยาลัยไม่ได้ เพราะมีการชุมนุม” ทรายบอก “ก็เลยคิดว่าจะทำยังไงดี สุดท้ายได้เอาสื่อประชาสัมพันธ์ กับใบปลิวไปแจกในม็อบ”
โม ชนากานต์ วาสะศิริ
“เราขายไอเดียว่า การปฏิรูปที่แท้จริงเริ่มต้นขึ้นจากการเปลี่ยนการศึกษา”
“ทีมทุกคนบุกและฝ่าฟันกันเข้าไปจริงๆ” เพชรเสริม “เวลาที่เจอทางตัน ทุกคนก็จะวนไปเรื่อยๆ จนหาทางออกได้”
อีกหนึ่งในบุคคลที่ช่วยหาทางออกในด้านการเงินและติดต่อผู้สนับสนุน ก็คือ ต้อง ยศวีร์ นิรันดร์วิชย ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและพัฒนาธุรกิจดิจิทัล เฮลท์ บริษัท ทรู ดิจิทัลกรุ๊ป จำกัด ผู้เชื่อในจุดแข็งว่า ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ สามารถเดินหน้าได้ เพราะมีโมเดลที่ประสบความสำเร็จจากต่างประเทศมาก่อนแล้ว
“ความเป็น ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ 3 คำ คือ กล้าเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมแพ้ และมุ่งเอาความสำเร็จเป็นหลัก” ต้องเล่า “เราถูกปฏิเสธ แต่ก็ยังเชื่อในพันธกิจของการเปลี่ยนแปลง และเห็นความสำเร็จมาก่อน เราจึงคิดว่ามันทำได้แน่ๆ”
ด้วยความมุ่งมั่นของทีมผู้ก่อตั้ง การปรับภาพลักษณ์ และการขยายเครือข่ายหาผู้สนับสนุนหลักจากทุกฝ่าย ทำให้ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เริ่มออกเดินทางที่จุดนับหนึ่ง หลังจากนั้นเริ่มมีการรับสมัครสมาชิกทีม อย่างเช่น โม ชนากานต์ วาสะศิริ ที่ทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมและสนับสนุน (Learning and Development Officer) (ปัจจุบันเป็นอดีต Content Development Manager บริษัทสตาร์ทอัพด้านการศึกษา StartDee) และตาล วัชรีพรรณ ศรีทับทิม (ปัจจุบันเป็นผู้จัดการทั่วไป ที่บริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่ง) ที่รับตำแหน่งผู้ดูแลระบบ
ดร. แอ๋ม - กฤตินี ณัฎฐวุฒิสิทธิ์
“งานที่ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ถือเป็นงานแรก และเป็นงานที่มีความหมาย” โมบอกด้วยน้ำเสียงยินดี “เป็นการเติมเต็มแพสชันของตนเองที่จะทำงานเพื่อคนอื่น แม้ในส่วนของโมจะไม่ได้ไปเป็นครู แต่เราพัฒนาครู เพื่อให้ครูได้ไปพัฒนาเด็กอีกที”
สำหรับตาล ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เป็นที่รวมของคนที่ไม่หยุดในการพัฒนาตนเอง
“การทำงานที่นี่ทำให้ได้ความรู้เยอะมาก เป็นการสร้างสตาร์ทอัพที่ทางเต็มไปด้วยหนามตลอด แต่ทุกคนที่เห็นปัญหาไม่กลัวปัญหาเลย”
“การทำงานที่นี่ทำให้เราได้ทักษะการเผชิญหน้ากับปัญหา ความกระหายที่จะเรียนรู้ และความเชื่อว่าเราทำได้ทุกอย่าง อยู่กับว่าตั้งใจมั้ย” ตาลเสริม
จุดเริ่มต้นของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ อาจเป็นเหมือนคำพูดของอาจารย์ลัดดา ที่เล่าว่าเธอสนใจแนวคิดขององค์กรเพราะโจทย์นี้
“ทำยังใงให้การศึกษาไทยสู้คนอื่นได้?” อาจารย์ลัดดาเล่าถึงความคิดแรกเกี่ยวกับ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ที่เธอได้ยิน “หนึ่งในวิธีที่ทำให้เกิดสิ่งนี้ คือ การทำงานให้คนเปลี่ยนความคิด”
ในฐานะคนที่ทำงานการศึกษามาหลายสิบปี อาจารย์ลัดดาแบ่งปันว่า “อาจารย์ลัดดาตอนนี้ตายตาหลับ เพราะมีคนรุ่นใหม่ จิตใจดี มีจิตสาธารณะมาช่วยเปลี่ยนแปลง”
“การเปลี่ยนการศึกษาไทยไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากที่จะเปลี่ยน ตอนนี้ที่ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ กำลังจะครบ 10 ปี ถือว่าเป็นไปตามความฝัน และวัตถุประสงค์ขององค์กรทุกประการ ที่จะค่อยๆ สร้างความเปลี่ยนแปลง และซึมซับความเปลี่ยนแปลงนั้น”