ครูสร้างครู
“เราเข้าใจว่าความลำบากมันเป็นยังไง เพราะเราลำบากมาก่อน” เป็นเหตุผลที่ดึงดูดให้ ฝน-บุปผา พงศ์ชนะ ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่น 9 ได้มารู้จักกับ แพรวรุ่ง แม้นรัตน์ และ กนกวรรณ วินัย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนชิตใจชื่น ที่เธอทราบมาว่าครอบครัวของนักเรียน 2 คนนี้มีความยากจนอย่างมาก
แต่ความยากจนก็มิอาจหยุดยั้งความปรารถนาของนักเรียนทั้งสองที่จะศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งทางโรงเรียนชิตใจชื่น จังหวัดปราจีนบุรีเอง ก็เล็งเห็นถึงความปรารถนาอันแรงกล้านี้ จึงเลือกให้ แพรวรุ่ง และ กนกวรรณ ได้รับทุนภายใต้มูลนิธิเซอเวียร์ที่ทางโรงเรียนมีสายสัมพันธ์อยู่
แต่เส้นทางก็ไม่ได้ราบรื่น เพราะกำหนดการในการรับทุนไม่เป็นอย่างที่คาด จนจวนเจียนวันที่นักเรียนจะต้องจ่ายค่าเทอม แถมทางมูลนิธิเองก็มีข้อกำหนดว่าผู้รับทุนจะต้องศึกษาต่อที่คณะพยาบาลเท่านั้น ซึ่งมหาวิทยาลัยในแถบปราจีนบุรีและฉะเชิงเทรานั้นไม่มีคณะดังกล่าว
เมื่อได้ชื่อว่าเป็นครูผู้นำฯแล้ว เธอจึงตัดสินใจขออนุญาตทางโรงเรียน และคุณครูที่เกี่ยวข้องทุกท่าน ว่าเธอจะดำเนินการประสานงานเรื่องการขอทุนนี้ให้แก่นักเรียนเอง ซึ่งทางโรงเรียนก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ฝนเป็นผู้ดำเนินการ เพราะทุกคนเห็นตรงกันว่า อย่างไรแล้วผลประโยชน์สูงสุดก็ตกอยู่ที่นักเรียนทั้งสอง “ฝนเป็นแค่ตัวกลางที่เข้าไปช่วยเหลือนักเรียนเท่านั้น” ฝนกล่าวอย่างถ่อมตน
“ฝนก็ได้พูดคุยกับทางมูลนิธิไปเบื้องต้นว่า เด็ก 2 คนนี้ไม่สามารถไปเรียนพยาบาลได้เนื่องจากในละแวกปราจีน ฉะเชิงเทราแถวนี้ไม่ได้มีคณะพยาบาล เด็กต้องไปแถวอุบลฯเลย ซึ่งไกลออกไป แต่ด้วยเพราะเด็กไม่ได้อยากไปไกลบ้านขนาดนั้น ก็เลยตัดสินใจคุยกับมูลนิธิว่า ถ้าเด็กเรียนคณะอะไรที่จบมาแล้วพอจะเป็นอาชีพที่จับต้องได้ เช่น คณะครุศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ฉะเชิงเทรา ทางมูลนิธิจะโอเคหรือไม่ ซึ่งทางมูลนิธิก็ทำการพิจารณาช่วงนึงแล้วก็ติดต่อมาให้นักเรียนทั้ง 2 ส่งเรียงความ ส่งรูปภาพเพื่อให้ทางมูลนิธิพิจารณา” ฝนเล่าอย่างตื่นเต้น
เมื่อได้ทราบเช่นนั้นแล้ว ฝนจึงรีบประสานงานกับนักเรียนเพื่อให้ทั้งสองส่งข้อมูลทุกอย่างตามที่มูลนิธิต้องการอย่างครบถ้วน “ซึ่งหลังจากนั้นไม่เกิน 3 วัน เค้าก็ขอเลขบัญชีนักเรียนเลย ซึ่งหนูดีใจมาก เพราะนั่นหมายความว่านักเรียนได้ทุนแน่ๆ 100% ไม่นานเงินก็เข้าบัญชีเลยค่ะ คนละ 10,000 บาท ซึ่งเพียงพอสำหรับค่าเทอมในปีแรก” ฝนเล่าด้วยความภูมิใจ
“ขอบคุณครูมาก ที่ทำให้หนูได้เรียนต่อ เพราะถ้าครูไม่ช่วยประสานงานให้ก็ยังมองไม่ออกว่าจะใช้เงินของใคร พ่อหาไม่ทันอยู่แล้ว ครอบครัวหนูหาไม่ทัน” เป็นข้อความที่ฝนจำได้ขึ้นใจในวันที่เธอเข้าไปเยี่ยมเด็กๆที่บ้านหลังจากที่แพรวรุ่ง และ กนกวรรณ ได้เป็นนักศึกษาคณะครุศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ฉะเชิงเทราอย่างเต็มตัว
“เป็นคำขอบคุณที่มองไปในแววตาแล้วรู้สึกว่าเราเต็มที่แล้ว เราภูมิใจมากๆ” ซึ่งมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์เองก็ภูมิใจที่ฝนได้ใช้ภาวะความเป็นผู้นำ ผลักดันนักเรียนจนได้เรียนต่อในคณะครุศาสตร์เพื่อไปเป็นครูในอนาคต และขอขอบคุณที่ฝนไม่ยอมให้คำว่า “โชคชะตา” มากำหนดอนาคตทางการศึกษาของใคร