ขอบคุณที่ครูเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

“ขอบคุณที่เข้ามาเป็นครูของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ขอบคุณที่มาเป็นครูจิ๊บของหนู รักครูค่ะ”

นักเรียนคนหนึ่งของครูจิ๊บสะท้อนให้ได้ยินเมื่อเรากำลังจะจบบทสนทนาและบอกลากัน นักเรียนคนนี้เป็นนักเรียนของครูจิ๊บ ศิษย์เก่าฯ รุ่นที่ 2 ในจุดหนึ่งของชีวิต ทั้งสองได้โคจรมาพบกันระหว่างที่ครูจิ๊บสอนอยู่ที่โรงเรียนแก่นทองอุปถัมภ์ จ.กรุงเทพ และประสบการณ์ของความเป็นครู 2 ปีนั้นได้สัมผัสใจของนักเรียนนับร้อยคน

     เรื่องราวของครูจิ๊บ เป็นหนึ่งในเรื่องราวของครูผู้นำฯ ของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนที่พวกเขาได้พบเจอในช่วงเวลา 2 ปี ในบทความนี้ เราได้พูดคุยกับเอิร์น ปัจจุบันเรียนอยู่ที่สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา ชั้นปีที่ 4 ลูกศิษย์ของครูจิ๊บ และนุ่น นักศึกษาปี 2 สาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ลูกศิษย์ของ ครูมิ้นท์ ศิษย์เก่าฯ รุ่นที่ 3 ครูทั้งสองเป็นต้นแบบทั้งในแง่การแก้ปัญหา การสื่อสาร และการวางแผนชีวิต ที่ทำให้นักเรียนที่เรียนกับพวกเธอได้รับทั้งความรู้และประสบการณ์ นำมาต่อยอดเพื่อการเติบโต และเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนเอง

     “ตอนแรกหนูเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. ก็ไม่รู้จักครูทีช (ครูจาก ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์) มาก่อนว่าเป็นยังไง แต่ก่อนหน้าครูจิ๊บก็มีครูตี๋มาก่อน แต่หนูไม่ได้เรียนด้วยมากเท่าครูจิ๊บ”

     “ความประทับใจกับครูที่ทีชคือ ความใกล้ชิด เพราะครูทีชอายุไม่เยอะเท่าครูท่านอื่นๆในโรงเรียน  เป็นคนที่ Gen ไม่ห่างกัน แล้วมีความเข้าใจในตัวนักเรียนเพราะอายุที่ใกล้กันค่ะ”

     เอิร์นเล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้มในระหว่างการสัมภาษณ์ออนไลน์ช่วงบ่ายวันหนึ่ง  จากสีหน้าของเธอ เรารู้สึกว่าเธอตื่นเต้น และอยากจะเล่าเรื่องของครูจิ๊บที่เธอรู้จักและได้สัมผัส

     “ครูจิ๊บสอนคณิตศาสตร์ และหนูชอบที่ครูสอนแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้ไปแบบรีบๆ ครูจิ๊บพยายามจะทำให้การสอนเข้าถึงเด็กๆ ทุกคน”

     เมื่อเราถามถึง First Impression หรือความประทับใจแรกที่เอิร์นมีต่อครูจิ๊บ เราได้ค้นพบว่าเธอปลื้มครูจิ๊บอยู่พอสมควร

     “ตอนเจอครั้งแรก คิดว่าครูจิ๊บเหมือนนางฟ้าเลย ครูจิ๊บเป็นคนใจเย็นมาก และจะบอกว่ายังไงดี คือมีออร่าน่ะค่ะ และเป็นคนสุขุมเรียบร้อยด้วย”

     ในสายตาของเธอ ครูผู้หญิงตัวเล็กๆที่ชอบใส่เสื้อเชิ้ตกับกระโปรงพริ้วๆคนนี้ทำมากกว่าการสอน เพราะยังเป็นคนที่ให้คำปรึกษาจนเธอหาคำตอบสำหรับเรื่องสำคัญได้

     “แบบอย่างที่ดีที่ได้จากครูจิ๊บ คือ ความเข้าอกเข้าใจคนอื่น ครูจิ๊บพยายามเข้าใจทุกคน ตอนหนูจบ ม. 3 แล้วคิดไม่ออกว่าจะไปเรียนอะไรต่อ ไปสายสามัญ หรือสายอาชีพดี ครูจิ๊บก็ช่วยแนะนำและซัพพอร์ตทุกอย่าง หนูคิดว่าอยากไปสอบโรงเรียนอื่น ครูจิ๊บก็ให้กำลังใจ บอกให้สอบเลย อ่านหนังสือเลย”

     “จากที่ได้สัมผัสกับครูจิ๊บ ทำให้หนูอยากเป็นคนที่เข้าใจคนอื่นบ้าง”

     ในสายตาของเอิร์น ครูจิ๊บอาจจะดูเหมือนบุคคลต้นแบบ แต่ความเป็นต้นแบบนั้นไม่ได้มาจากความแข็งแกร่งอย่างเดียว แม้กระทั่งตัวตนที่อ่อนแอของครูคนนี้ ก็เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กนักเรียนธรรมดาคนหนึ่งอย่างเธอ

     “อีกเรื่องที่เรียนรู้จากครูจิ๊บ และยังนำมาใช้จนทุกวันนี้ คือการเจอปัญหาแล้วแก้ด้วยความใจเย็น  ครูจิ๊บจัดการปัญหาได้หมดเลย บางทีเจอเด็กดื้อแล้วครูจิ๊บแอบไปร้องไห้ แต่ยังสามารถกลับมาสยบทุกปัญหาด้วยความใจเย็น ไม่ใช้อารมณ์”

     การรับมือกับเด็กนักเรียนที่มีพื้นฐานหลากหลาย อาจจะเป็นความท้าทายหนึ่งที่ครูผู้นำต้องเจอ เช่นเดียวกับ ครูมิ้นท์ ที่สอนที่โรงเรียน โรงเรียนพระวิสุทธิวงส์ ปทุมธานี ซึ่งเธอต้องรับมือกับเรื่องนี้ด้วยความคิดสร้างสรรค์

     “สิ่งที่หนูชอบในการสอนของครูมิ้นท์ คือ ครูจะมีเกม และวิธีเก็บคะแนนน่ารักๆมาให้นักเรียนเล่นตลอด”

     นุ่น นักเรียนที่เคยเข้าโครงการกับครูมิ้นท์ จนได้ตีพิมพ์หนังสือทำมือของตนเอง เล่าย้อนกลับไปถึงการเรียนกับครูมิ้นท์เมื่อหลายปีก่อน

     “ครูมิ้นท์จะใช้แอพเก็บคะแนน เป็นตัวการ์ตูนที่เหมาะกับเด็กๆ ทำให้เด็กสนุก เพราะมันดูน่ารัก”

     “หนูมักจะตอบไม่ค่อยทัน เคยได้คะแนนจากครูมิ้นท์ แต่ไม่เคยได้เยอะจนได้รางวัล” นุ่นตอบด้วยน้ำเสียงเสียดายนิดหน่อย พร้อมทั้งยิ้มนิดๆ

     นุ่นเคยเข้าร่วมกิจกรรมทำหนังสือกับครูมิ้นท์  ในตอนนั้น เธอได้ทำหนังสือทำมือเกี่ยวกับการรังแก (Bully) ในโรงเรียน และประทับใจที่ครูมิ้นท์พาไปทำกิจกรรมข้างนอก  เธอได้นำหนังสือไปเสนอยังสถานที่ต่างๆ เช่น เซนทรัลเวิร์ล ร้านหนังสืออิสระ และมีผู้คนเข้ามาถามเกี่ยวกับแนวคิดที่ออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้  คนที่เข้ามาสัมภาษณ์บางครั้งก็เป็นนักข่าว และบรรณาธิการสำนักพิมพ์

     “จากกิจกรรมนี้ หนูได้เรียนรู้ที่จะกล้าแสดงออกมากขึ้น จากตอนแรกเป็นคนพูดน้อย ไม่ค่อยกล้าแสดงออก ก็ได้เจอคนมากขึ้น”

     ครูมิ้นท์ยังสอนบทเรียนของการปรับตัวเข้ากับเพื่อน และพูดจาอย่างระมัดระวัง ซึ่งนุ่นได้ใช้ติดตัวมาจนทุกวันนี้

     “บทเรียนที่ได้จากครูมิ้นท์คือ การอยู่กับคนอื่นเราต้องปรับตัว เดิมทีหนูเป็นคน Introvert มาก แต่พอมาอยู่กับเพื่อนหลายๆคน ก็อาจจะมีบางจุดที่เพื่อนไม่โอเคกับเรา อย่างเรื่องการพูด หนูก็เป็นคนพูดขวานผ่าซาก ครูมิ้นท์ก็บอกให้พูดให้ Soft ให้ชัดเจน อย่าตอบว่าไม่รู้ตลอดเวลา  บทเรียนนี้ส่งผลดีต่อหนูเยอะพอสมควร เช่น ในการทำงานกลุ่ม เราก็ Soft ขึ้น”

     ความระมัดระวังในการกระทำ อาจเป็นหนึ่งสิ่งที่ครูมิ้นท์สื่อสารกับนุ่น ตั้งแต่วันแรกที่ได้พบกัน

     “วันแรกที่เจอ ครูมิ้นท์แต่งตัวถูกระเบียบมากเลยค่ะ คือทางโรงเรียนก็จะมีกฎของโรงเรียนอยู่ และครูมิ้นท์ก็ทำตามมากๆ”

     “และครูมิ้นท์ก็น่ารักมาก วันแรกครูมิ้นท์ยังไม่สอนอะไรมาก แต่ให้นักเรียนละลายพฤติกรรม และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้พูดว่าคาดหวังอะไรจากห้องเรียน”

     สุดท้าย เมื่อเราได้ให้นุ่นและเอิร์นฝากอะไรบางอย่างถึงครูมิ้นท์ และครูจิ๊บ นุ่นตอบอย่างหนักแน่นว่า 

     “ขอบคุณทุกอย่างที่ครูมิ้นท์สอนมา ครูมิ้นท์เป็นคนใจเย็น สร้างสรรค์ และยุติธรรมมากๆในหลายเรื่อง หนูมีความสุขมากๆที่ได้เรียนกับครูค่ะ”

     ในส่วนของเอิร์น เธอตอบด้วยน้ำเสียงที่ซาบซึ้ง

      “ขอบคุณครูจิ๊บ ขอบคุณทุกความตั้งใจและทุกอย่างที่ทำให้ครูได้เข้ามาใน ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ทุกอย่างที่ครูจิ๊บตั้งใจ และทำด้วย Passion มาตลอด และความเป็นครูของครู มันไม่สูญเปล่า ขอบคุณที่เข้ามาเป็นครูของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ขอบคุณที่มาเป็นครูจิ๊บของหนู รักครูค่ะ”

     ในชีวิตคนเรามีโอกาสไม่บ่อยนัก ที่จะได้สัมผัสและเปลี่ยนแปลงชีวิตของใครสักคนหนึ่งให้เติบโตไปในทางที่ดีขึ้น โอกาสนี้อยู่ในมือของครูผู้นำฯ ทุกรุ่นของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ซึ่งแต่ละคนมีวิธีการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และสร้างผลกระทบที่แตกต่างกันไป เรื่องราวของครูมิ้นท์ และครูจิ๊บ เป็นเพียงหนึ่งในแรงบันดาลใจจากศิษย์เก่าของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ที่มีความตั้งใจอยากเปลี่ยนแปลงอนาคตการศึกษา พวกเขาทุกคนหวังเหมือนกันว่า ในวันหนึ่ง เด็กไทยทุกคนจะเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเสมอภาค