สร้างได้ทุกอย่าง แม้เริ่มจากความไม่รู้

“ถ้าเราสร้างบางอย่างจากสิ่งที่คนต้องการอยู่แล้ว เช่น อยากสร้างสระว่ายน้ำ เพราะมีคนอยากว่ายน้ำ มันไม่ยาก แต่การสร้างอะไรบางอย่างจากสิ่งที่คนไม่รู้ว่าตัวเขาเองก็ต้องการ เป็นสิ่งที่ท้าทายยิ่งกว่า”

     โรงเรียนวังเหนือวิทยา จังหวัดลำปาง มีความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อห้องแนะแนวถูกเปลี่ยนเป็นห้องให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา  นักเรียนได้เข้ามาระบายถึงเรื่องในปัจจุบัน เช่น เรียนไม่เข้าใจ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆอย่างการเลือกอาชีพในอนาคตของตนเอง  มีตัวแทนนักเรียนไปแข่งขันด้านการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาจนชนะเหรียญเงินระดับประเทศ และยิ่งไปกว่านั้น โรงพัก โรงพยาบาล และชุมชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการด้านสุขภาพจิตนี้ด้วย – ทั้งหมดนี้อาจเหมือนภาพฝันที่กลายเป็นจริงของ ครูเฟรนด์ ชัยวิญญ์ สุทธิบุญ ศิษย์เก่าฯ รุ่นที่ 8 ของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์

     “ปัญหาสุขภาพจิต เป็นเหมือนปัญหาที่อยู่ใต้พรม คนมีปัญหานี้เยอะไม่แพ้สุขภาพทางกาย แต่กลับไม่มีพื้นที่ให้พูด  สำหรับนักเรียน แค่วิชานี้ยาก ครูสอนไม่รู้เรื่อง ก็เป็นปัญหาสำหรับเขาแล้ว”

     “หลายครั้ง ปัญหาเรื่องสุขภาพจิต เป็นเรื่องของความไม่รู้  เพราะคนมักไม่ตระหนักรู้ว่าตัวเราในตอนนี้ไม่โอเค เราต้องทำให้ตระหนักรู้ ยอมรับเรื่องนี้ก่อน จึงจะไปต่อได้”

     จากพื้นฐานของคนทำงานด้านสุขภาพจิต ครูเฟรนด์เรียนจบปริญญาโทด้านจิตวิทยาการปรึกษา และต่อเฉพาะทางด้านศิลปะบำบัดโดยตรง  เขาทำงานเป็นนักศิลปะบำบัดก่อนที่จะมาเข้าร่วม ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์

     “หลายครั้งที่ผมเจอเด็กๆที่มาบำบัด และเห็นว่าปัญหาที่ทับถมของพวกเขาเป็นส่วนของปลายน้ำแล้ว นอกจากนั้น ก็ไม่ใช่เด็กปลายน้ำทุกคนที่ผมได้เจอด้วยซ้ำ ยังมีเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางจิตวิทยาได้  เราก็เลยอยากรู้ว่า เราจะสามารถช่วยเด็กๆเรื่องไหนได้บ้างทางสุขภาพจิต และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มาเข้าร่วม ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์”

     บทบาทผู้ช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต กับบทบาทของครู ดูจะมีส่วนคาบเกี่ยวกันอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ส่วนเดียวกันเสียทีเดียว เราเลยถามครูเฟรนด์ว่า สำหรับเขา บทบาทของครู หมายถึงอะไร

     “บทบาทของครูมันใหญ่มาก เป็นเหมือนการสร้างแบบพิมพ์ใหม่ๆให้ดี และมีความสำคัญไม่ใช่แค่ในเชิงวิชาการ แต่ยังมีเรื่องอื่น เช่น วิเคราะห์ความถนัดของเด็ก เป็นเหมือนผู้จัดการทีมที่วางให้คนนี้เล่นกองหน้า ให้ตัวสำรองพัก หรือโค้ชให้คนในทีมรู้อะไรเพิ่มขึ้น”

     “การเป็นครู เป็นมากกว่าการสอน”

     ห้องให้คำปรึกษาจิตวิทยานี้ เกิดจากความร่วมมือของทั้งครูเฟรนด์ ครูแนะแนว ครูหัวหน้าหมวดสังคม และผู้อำนวยการโรงเรียน โดยครูเฟรนด์ได้ริเริ่มโครงการตั้งแต่ตอนอยู่เทอม 2 พ.ศ. 2565 โดยเขาเริ่มจากการดูว่าตัวเองมีความถนัดอะไร  ทางโรงเรียนนั้นมีห้องให้คำปรึกษาอยู่แล้ว แต่ไม่มีครู หรือนักจิตวิทยามาประจำ  เขาจึงเริ่มหาเพื่อนครูที่มีความสนใจเดียวกันมาร่วม และประชาสัมพันธ์ออกไป

     ผลตอบรับถือว่าออกมาดี เพราะมีนักเรียนมาจองคิวรับคำปรึกษา และนักเรียนแกนนำยังมีส่วนช่วยในเรื่องการจัดคิวอีกด้วย

     เมื่อถามว่า ภาระงานที่เพิ่มขึ้นมาด้านบริการสุขภาพจิตเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของครูเฟรนด์ไหม เขาบอกว่า

     “โหลดงานไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก ผมใช้วิธีคุยกับทางโรงเรียน และหาเวลาครึ่งวันของบางวันมาประจำที่ห้องนี้ นอกจากนั้น การทำงานตรงนี้ยังทำให้งานของเราง่ายขึ้นด้วย เพราะเด็กที่เข้ามาปรึกษากับเราจะรู้สึก Connect กับเรา พอเขากล้าพูด และได้ระบาย ก็ทำให้เรียนรู้ได้ดีขึ้น จากแต่ก่อน เขาสับสนว่าไม่มีคนเข้าใจ ไม่รู้จะทำอย่างไร และทำแบบนั้นแบบนี้ก็กลัวผิด”

     ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจที่ครูเฟรนด์ได้เรียนรู้จากการทำห้องให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา คือ นักเรียนหลายคนไม่มีเป้าหมายชีวิต

     “สำหรับนักเรียนหลายคน ความเข้าใจของเขา มีแค่อาชีพ หมอ วิศวะ สถาปนิก พอเขาได้มาปรึกษากับเรา เขาก็อึ้งว่า มันมีอาชีพอื่นด้วยหรอ อย่างเช่น อาชีพครีเอเตอร์ พอเขารู้ เขาก็มีตัวเลือกเพิ่มมากขึ้น อาจจะเพิ่มจาก 3 ตัวเลือก เป็น 10 ตัวเลือก ซึ่งเขาอาจจะไม่ได้เลือกทั้งหมด แต่ต้องเห็นก่อนว่ามันมี”

     ในเทอมที่ 3 ครูเฟรนด์ได้ขยายผลกระทบของห้องจิตวิทยาไปสู่ระดับชุมชน ด้วยการให้โรงเรียน โรงพัก โรงพยาบาล และชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการนี้ด้วย

     “ปัญหาสุขภาพจิต เป็นปัญหาที่ต้องแก้ด้วยสหวิชาชีพ คือ มีหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมจัดการ อย่างในเทอมที่แล้ว ก็มีการลงไปคุยกับผู้ใหญ่บ้าน เช่น มีเด็กคนหนึ่งขาดเรียน พอสอบถามก็พบว่าเขาไม่รู้ว่าจะเชื่อมโยงกับครูอย่างไร”

     “หลายครั้ง ปัญหาก็อยู่ที่ความไม่รู้ เช่น คนไม่รู้ว่านักจิตวิทยาคืออะไร และในพฤติกรรมของเด็ก อะไรคือการเรียกร้องความสนใจ และอะไรคือปัญหาที่แท้จริง”

 

     หลังจากมีการร่วมมือกัน ก็เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งในชุมชน เช่น มีการทำแบบฟอร์มสำหรับใช้กับห้องให้คำปรึกษา ซึ่งแบบฟอร์มนี้สามารถนำไปอ้างอิงต่อตอนส่งตัวให้โรงพยาบาลได้เลย และในส่วนของโรงเรียนก็มีความเปลี่ยนแปลง อย่างครูปกครองก็มีทีท่าที่เข้าหาและเข้าใจเด็กมากขึ้น

     ด้วยดวงตาที่เป็นประกาย ครูเฟรนด์ได้เล่าย้อนกลับไปถึงความสำเร็จอีกหนึ่งอย่าง คือ การส่งนักเรียนไปแข่งโครงการ Youth Counselor เพื่อนใจวัยทีน ในการแข่งขันศิลปหัตถกรรมครั้งที่ 70 จังหวัดน่าน

     “โครงการนี้เป็นโครงการที่ค้นหาเด็กนักเรียนแกนนำ ที่จะคอยเป็นหูเป็นตา ให้คำปรึกษา ประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้นของเพื่อนๆ ก่อนส่งต่อให้ครูดูแลต่อไป ในการแข่งขัน จะมีเคสที่เตรียมมาให้แล้ว และให้เด็กให้คำปรึกษาโดยใช้ทักษะทางจิตวิทยา”

     “ปรากฏว่า โรงเรียนวังเหนือวิทยาได้รางวัลเหรียญเงินระดับประเทศ ทั้ง ม.ต้น และ ม.ปลาย”

     จากความสำเร็จของห้องให้คำปรึกษาเล็กๆที่ริเริ่มโดยครู 3 คน และความสำเร็จของโครงการแข่งขัน ขยายผลเป็นการหาตัวแทนห้องเรียนละ 1 คนมาเข้าร่วมอบรม เพื่อให้ช่วยดูแลปัญหาด้านจิตใจของเพื่อนนักเรียน ก่อนจะส่งต่อให้คุณครู เรื่องที่น่าทึ่งคือ นักเรียนแกนนำ 2 คน ได้ค้นพบว่าตนเองทำสิ่งนี้ได้ดี และเข้าเรียนต่อคณะด้านจิตวิทยา

     สำหรับบทบาทของครูเฟรนด์ ที่จะอยู่ที่โรงเรียนวังเหนือวิทยาเป็นปีสุดท้าย เขาตั้งเป้าหมายว่า หลังจบโครงการ จะไปเป็นนักจิตวิทยาประจำที่โรงพยาบาลพะเยา ช่วยสานต่อโครงการจิตวิทยาในโรงเรียนนี้ หรืออาจทำงานเป็นผู้แนะนำครูผู้นำฯของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ต่อไป

     “2 ปีนี้ของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ เป็นสองปีที่คุ้ม และใหม่มาก ที่ได้สร้างอะไรบางอย่างจากความไม่รู้ของคน เหมือนกับเป็นการก่อปราสาททรายขึ้นมาโดยที่เราไม่รู้ว่ามันจะเป็นยังไง แต่ผลของการเปลี่ยนแปลงมันยั่งยืน  ในฐานะครูผู้นำฯที่คนในพื้นที่ไม่รู้ว่าเราเป็นใคร ถือเป็นจุดแข็ง ที่สายตาทุกคู่จะจับจ้องมาที่เรา ซึ่งตรงนี้เราต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะกลายเป็นคนผลักดันอนาคตต่อไป”