2 ปีสู่ความเข้าใจถึงต้นต่อปัญหาการศึกษาไทยที่แอบไว้ใต้พรม

ดนย์-พัทธดนย์ บุตรไชย มีความฝันว่าอยากจะเป็นครูมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เพราะเขาได้รับแรงบันดาลใจจากครูท่านหนึ่ง ผู้ซึ่งพลิกชะตาชีวิตของเด็กหลังห้องอย่างตัวเขาเอง ผ่านการใส่ใจและรับฟัง ดนย์จึงมีความรู้สึกว่าคนเป็นครูนั้น มีความสำคัญโดยเฉพาะยิ่งต่อเด็กที่มีปัญหา “นี่คือสิ่งที่เราอยากเป็นในอนาคต เราอยากเป็นคนแบบนี้ ที่อยู่กับเด็กแบบนี้”

ดนย์-พัทธดนย์ บุตรไชย มีความฝันว่าอยากจะเป็นครูมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เพราะเขาได้รับแรงบันดาลใจจากครูท่านหนึ่ง ผู้ซึ่งพลิกชะตาชีวิตของเด็กหลังห้องอย่างตัวเขาเอง ผ่านการใส่ใจและรับฟัง ดนย์จึงมีความรู้สึกว่าคนเป็นครูนั้น มีความสำคัญโดยเฉพาะยิ่งต่อเด็กที่มีปัญหา “นี่คือสิ่งที่เราอยากเป็นในอนาคต เราอยากเป็นคนแบบนี้ ที่อยู่กับเด็กแบบนี้”

โอกาสสานฝันในการเป็นครู

เมื่อดนย์สอบติดคณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนที่จะรู้ผลจากคณะศึกษาศาสตร์หรือครุศาสตร์ เขาจึงไม่กล้าที่จะสละสิทธิ์ แต่เมื่อใกล้จบปี 4 และได้มารู้จักกับมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ และโครงการการคัดเลือกครูผู้นำฯโดยชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ดนย์ผู้ซึ่งมีความเข้าใจในบริบทของจังหวัดเชียงใหม่อยู่แล้วผ่านการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย จึงคว้าโอกาสในลู่ทางที่เป็นการสานฝันเดิมของตนเอง และเข้าร่วมโครงการผู้นำฯในรุ่นที่ 8 

 

ดนย์เล่าว่าแม้เขาจะไม่ได้จบจากคณะครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์มานั้น แต่ความรู้จากคณะรัฐศาสตร์ก็มีประโยชน์มากมายในบทบาทหน้าที่ของการเป็นครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ณ โรงเรียนแม่วินสามัคคี จังหวัดเชียงใหม่  “คณะรัฐศาสตร์สาขาการเมืองการปกครองนั้น จะเรียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคนกับอำนาจเป็นหลัก ซึ่งทฤษฎีที่เกี่ยวข้องเหล่านี้สามารถนำมาปรับใช้ในมุมของความสัมพันธ์ของผมกับนักเรียน เพื่อนครู และชุมชน” ความสามารถในการพัฒนาความสัมพันธ์จึงทำให้เขาสามารถดูแลนักเรียนได้เป็นอย่างดี ทำงานร่วมกับเพื่อนครูได้อย่างง่ายดาย และ เข้าใจชุมชนในมุมมองของนักศึกษารัฐศาสตร์คนหนึ่ง

บทเรียนล้ำค่า และทักษะเพื่ออนาคตผู้นำ

ประสบการณ์จากโครงการผู้นำฯนั้น ได้มอบทั้งความเข้าใจในปัญหาการศึกษาไทย และทักษะมากมายให้ดนย์นำไปประยุกต์ใช้ในอนาคต ซึ่งในส่วนของปัญหาการศึกษาไทยนั้น ดนย์ได้เรียนรู้ว่ามิติของคำว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีหลากหลายแง่มุม “ก่อนหน้านี้ ผมยอมรับว่าผมเติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลาง ที่พอมีเงินในการส่งบุตรหลานเรียน เราก็เรียนในโรงเรียนเอกชน ซึ่งเราเข้าใจมาตลอดว่าเด็กหลุดจากระบบการศึกษาเพราะเค้าไม่อยากเรียน จนกระทั่งเรามาที่นี่ ลองมานั่งคุยกับเด็กดู แล้วเจอว่าเด็กหลายคนมีความต้องการที่จะเรียน แต่บางครั้งการเรียนไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตเค้า หรือบางครั้งเค้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากทางบ้านด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือบางครั้งเป็นเรื่องของสัญชาติที่มีผลต่อการดำเนินชีวิต ทำให้ผมรู้สึกว่ามันมีมากกว่าแค่คำว่าเด็กไม่อยากเรียนต่อหรืออยู่ในระบบการศึกษาต่อ … มันทำให้คิดได้ว่า การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเราไม่สามารถแก้ไขแค่กระบวนการเดียวได้ มันต้องแก้ไขหลายๆอย่าง ซึ่งมันต้องทำงานร่วมกันหลายฝ่ายมาก”

ในส่วนของทักษะนั้น สิ่งที่ดนย์พัฒนาได้อย่างดีมาตลอดตั้งแต่เริ่มทำงานคือการ Holding Judgement หรือการชะลอการตัดสิน “ตอนแรกสงสัยว่าทำไมต้องชะลอการตัดสินด้วย แต่พอมาอยู่ในระบบโรงเรียนจริงๆ แล้วเจอว่าปัญหามันมาจากหลายสาเหตุ ถ้าเรารีบตัดสินใจ ตัดสินถูกผิด สิ่งที่ตามหาคือกระบวนการแก้ไขปัญหาที่มันไม่ตรงจุด ผมเลยรู้สึกว่าทักษะนี้ ทำให้ผมสามารถเผชิญปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียนได้ไม่ว่า มันช่วยให้เราพัฒนาการตัดสินใจทั้งกับตัวเองและเสริมสร้างทักษะนี้ใหเกับนักเรียนได้” 

อีกหนึ่งทักษะคือเรื่องการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพราะในห้องเรียนไม่ได้มีแค่เฉพาะนักเรียนที่ไม่เรียน “มันมีตั้งแต่นักเรียนเข้าเรียนสาย นักเรียนไม่มีอุปกรณ์ หรือมีกิจกรรมแทรกเข้ามา ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้นั้น เราไม่สามารถเอามาใส่ลงไปในแผนการสอนได้ เพราะเราไม่มีทางรู้ล่วงหน้า เพราะฉะนั้นหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เราก็ต้องคิดและปรับแผนอย่างรวดเร็ว เพื่อจัดการให้คาบเรียนนั้นบรรลุวัตถุประสงค์ที่เราตั้งไว้”



จากนักเรียนสู่รุ่นน้องในคณะ

ด้วยความที่ดนย์จบคณะรัฐศาสตร์มา เขาจึงรีบคว้าโอกาสในการสอนวิชาประวัติศาสตร์ให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมปลายด้วย ซึ่งนอกเหนือจากการสอนแล้ว เขาได้พูดคุยกับนักเรียนมัธยมปลายเรื่องการเรียนต่อมหาวิทยาลัยและเล่าประสบการณ์ในรั้วมหาวิทยาลัยของตนเอง ไปจนถึงแนวทางในการประกอบอาชีพให้นักเรียนฟัง สิ่งที่พยายามสื่อสารให้กับนักเรียนคือ “อาชีพในโลกนี่มันมีเยอะมาก คุณไม่จำเป็นต้องตีกรอบตัวเอง” ดนย์ยังจำได้ดีว่าเขาสอนเด็กๆของเค้าอย่างไร และเมื่อมหาวิทยาลัยประกาศผลสอบเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หนึ่งในนักเรียนของเขาก็ได้ทักมาหาและบอกว่า “ ‘ครู! หนูเป็นรุ่นน้องคณะครูแล้วนะ’ … คือเรียนคณะเดียวกับผม สาขาเดียวกับผม ซึ่งมันก็เป็นอะไรอธิบายไม่ถูกเหมือนกันครับ มันรู้สึกดีมากๆ” 


แต่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะเรียนต่อ ซึ่งดนย์เคารพในการตัดสินใจ แต่ในฐานะครูคนหนึ่ง ดนย์อยากให้เด็กๆของเขามีทักษะในการเคารพการตัดสินใจของตัวเอง และเชื่อมั่นในตัวเอง ว่าจะพวกเขาสามารถจะเรียนรู้หรือบรรลุเป้าหมายที่เขาตั้งไว้ ไม่ว่าเส้นทางของเด็กนักเรียนจะลงท้ายที่การเรียนมหาวิทยาลัย หรือประกอบอาชีพอะไรก็ตาม “กล้าที่จะตั้งเป้าหมายกับตัวเอง กล้าที่จะผิดพลาด กล้าที่จะเรียนรู้ กล้าที่จะทำเป้าหมายให้สำเร็จ และอยู่กับสิ่งที่ตัวเองตัดสินใจให้ได้” ดนย์วาดภาพของนักเรียนของเขาไว้แบบนั้น

อนาคตในสายงานเชิงนโยบาย

ส่วนตัวดนย์สนใจงานในส่วนราชการที่มีอำนาจในเชิงนโยบาย “ต้นปีหน้าคาดว่าน่าจะมีการเปิดสอบตำแหน่งปลัดอำเภอ ซึ่งปลัดอำเภอต้องดูแลกิจการภายในอำเภอทั้งหมด แล้วแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นก็คือโรงเรียน ถ้าผมอยากจะสนับสนุนการศึกษา ผมก็สามารถใช้เครือข่ายในอำเภอ ในการส่งเสริมการศึกษาในพื้นที่ของตัวเองได้” ซึ่งนี่น่าจะเป็นเส้นทางสายอาชีพที่เป็นรูปเป็นร่างที่สุดสำหรับเขา ณ ตอนนี้ ซึ่งการทำงานในฐานะครูผู้นำฯ ทำให้ดนย์ได้เห็นกระบวนการทำงานหลายๆอย่าง ได้เห็นการทำงานของหน่วยงานรัฐ ได้เห็นว่ากว่าจะมาเป็นแนวทางการสอนในห้อง ต้องผ่านอะไรมาบ้าง ได้เห็นขั้นตอนการดำเนินงาน การนำไปใช้ และการเอาไปปรับแก้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเขาในการเอาไปปรับใช้ในอนาคตกับเส้นทางในสายงานนโยบาย

เข้าร่วมสังคมคนอยากเปลี่ยนแปลงสังคม

สำหรับคนที่สนใจสมัครโครงการผู้นำฯ ดนย์แนะนำว่า “ถ้าคุณมีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตเด็ก เพื่อพัฒนาคนหรือพื้นที่ ผมว่าโครงการนี้ตอบโจทย์ แต่ในขณะเดียวกัน หากจะมาสมัคร ก็ควรจะต้องมีความต้องการหรือแรกผลักดันที่สูง เตรียมตัวมาให้ดี และมีความเชื่อมั่นในตัวเองในระดับหนึ่งเพราะ การเข้ามาทำงานมันมักจะมีความคาดหวังในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีของมันคือคุณจะได้ทำงานตามแผนที่คุณวางไว้ แต่ข้อเสียคือบางครั้งความคาดหวังของคุณอาจแปรเปลี่ยนมาเป็นแรงกดดัน ซึ่งมันจะค่อยๆก่อตัวขึ้นและเปลี่ยนความตั้งใจของคุณโดยที่คุณไม่รู้ตัว ซึ่งจากประสบการณ์ของผม ผมมีคำแนะนำสั้นๆ เพื่อให้คุณไม่เกิดสภาวะการกดดันตนเอง คือ ‘การที่คุณตื่นนอนขึ้นมา และไปพบเจอนักเรียนของคุณ สอนเขาอย่างตั้งใจและรับฟังเขาอย่างตั้งใจ ชีวิตเขาก็เปลี่ยนแปลงไปแล้วครับ’”

“ส่วนถ้าเป็นน้องจากคณะเดียวกับผม ผมรู้สึกว่า สิ่งที่คุณเรียนมาตลอด 4 ปี มันจะได้ใช้ใน 2 ปีนี้แน่นอน ถ้าคุณคิดว่าคุณต้องการนำความรู้ที่ได้จากมหาวิทยาลัย มาต่อยอด มาสร้างผลกระทบให้กับสังคม ผมคิดว่าทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ตอบโจทย์คุณได้แน่นอน … ผมมองว่าระยะเวลา 2 ปี กับประสบการณ์ที่ได้ กับการได้รู้จักสังคมดีๆ การได้รู้จักผู้คนที่หลากหลาย การได้เห็นปัญหาการศึกษาที่มันมีความซับซ้อนมากกว่าที่คุณเคยรู้ และการสร้างผลกระทบเชิงบวกในระบบการศึกษา  … ผมว่ามันมีคุ้มค่ามากในระยะเวลา 2 ปี

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับการเปลี่ยนแปลงอนาคตการศึกษาไทย นักเรียนไทยนับร้อยและตัวคุณ ผ่าน ‘โครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ เป็นระยะเวลา 2 ปี ผ่านการสอน และ ทำงานร่วมกับเครือข่าย โรงเรียน ชุมชน ผู้ปกครอง 

สมัครได้แล้วตั้งแต่วันนี้ที่…https://tft-fellowship.org