Hack Thailand 2575: คลุกวงในกับปัญหา เพื่อพัฒนาอย่างรู้จริง

สิ่งหนึ่งที่ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงหลายคนสะท้อนออกมาอย่างชัดเจน ว่าได้รับจากการทำงานเป็นครู 2 ปี ก็คือ “การได้เข้าไปเห็นปัญหาการศึกษาจริงๆ” จากเด็กระดับหัวกะทิในมหาวิทยาลัยชั้นนำที่ไม่เคยคลุกคลีกับการศึกษาในโรงเรียนที่มีปัญหา พวกเขาได้ลงพื้นที่และคลุกวงในกับปัญหา จนมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มีความหมายว่าอย่างไร”

     เช่นเดียวกับภีม ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 8 ของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ซึ่งกำลังสอนอยู่ในโรงเรียนสามพรานวิทยา จังหวัดนครปฐม เขาเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการศึกษา และได้มีส่วนร่วมในงาน Hack Thailand 2575 ที่จัดโดย Thai PBS และเครือข่ายภาคี ในวันที่ 18-20 เมษายน 2566 เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสะท้อนมุมมองของคนในออกไปให้บุคคลภายนอกได้ทราบ – ภีมจบจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และทำงานกับภาคเอกชนอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนจะเบนเข็มมาทำงานด้านการศึกษา เพราะเป็นสิ่งที่เขามองว่าเป็นคุณค่าของชีวิตที่เขาต้องการ

     “ผมผูกพันกับการศึกษามาตั้งแต่แรก เพราะสมัยเรียนได้ทำค่าย และเป็นประธานชมรม พาคนไปออกค่ายการศึกษาของคณะ แต่พอเรียนจบเราก็คาดหวังกับตัวเองว่าอยากหาเงินเยอะๆ เลยไปเป็นเซลส์เคมีภัณฑ์ ซึ่งก็ได้เงินดี แต่พอใช้ชีวิตไปแล้วมันไม่มีความสุข เพราะไม่ใช่คุณค่าของชีวิตที่ผมต้องการ”

     “ก็เลยพยายามสร้างความตระหนักรู้ (Awareness) ในตัวเอง ว่าอะไรคือสิ่งที่เราต้องการ และค้นพบว่า สิ่งที่เราอาจจะอยากทำที่สุดคืองานเกี่ยวกับการศึกษา เพราะทุกครั้งที่ได้สอน ได้ออกค่าย ได้พูดคุยกับนักเรียน ผมมีความสุขมาก รู้สึกว่าสิ่งที่ผมทำมันมีความหมาย พอตกตะกอนได้ โฆษณาของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ก็เด้งขึ้นมาพอดี”

     ภีมได้พูดคุยสอบถามคนรู้จักที่เคยทำงานกับ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ และพบว่า การทำงานมีความท้าทายมาก แต่เมื่อเขามาทำจริง เขากลับมีความสุข  ตอนนี้เขาทำงานสอนที่โรงเรียนสามพรานวิทยามาหนึ่งปีครึ่งแล้ว โดยเทอมนี้เป็นเทอมสุดท้ายที่จะได้อยู่ที่นี่

     “อาทิตย์แรกที่เข้ามาทำ ผมทุ่มเทมากนะ ตั้งใจมาก อยากรู้ว่านี่คือสิ่งที่เราอยากทำจริงๆหรือเปล่า และพอมาทำจริง ผมก็บอกกับตัวเองเลยครับว่าชีวิตต่อจากนี้ผมขอถวายให้การศึกษา ผมมีความสุขกับงานที่ทำ ก่อนหน้านี้ มีหลายคนเตือนผมว่าระวังหมดไฟ แต่ผมอาจจะต่างจากคนอื่นนิดหน่อยตรงที่ไม่ได้เป็นคนมีไฟตลอดเวลา แต่จะดูว่า เราทำตรงไหนให้ดีขึ้นได้บ้างอยู่ตลอด ก็หาช่องที่จะทำให้มันดีขึ้นไปได้”

     “มันเป็นเหมือนการมาลองว่า ที่เราคิดไว้ พอมาทำในห้องเรียน มันทำได้จริงมั้ย”

     เมื่อถามว่า ภีมคิดอย่างไรกับกระบวนการคัดเลือกของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ที่ทำให้ได้คนเก่งๆหลายคนเข้ามา และแต่ละคนก็ยังผลักดันการศึกษาต่อแม้จะจบจากโครงการไปแล้ว เขาตอบว่า

     “ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ มีขั้นตอนในการคัดคนเยอะมาก อาจจะถึง 6-7 รอบ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า คนที่เข้ามาใน TFT มักจะมี Passion อยู่แล้ว  ส่วนขั้นตอนก็มีหลากหลายมาก ทั้งการสัมภาษณ์ ทดสอบการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) และการสร้างสถานการณ์จำลอง ผมว่ามันทำให้เราเห็นการตอบสนองต่อสถานการณ์จริงของคนที่มาสมัคร”

     สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ภีมได้รับจากการเข้าร่วมในโครงการของ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ คือ การ “เข้าไปทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง (Empathize)” กับปัญหา

     “ไม่มีใครเข้าใจปัญหามากกว่าคนที่ทำงาน ทั้งในบริบทของโรงเรียน นักเรียน เราจะได้รู้ว่าเราทำวิธีการไหนได้บ้าง ได้เอาตัวเองมาเจอปัญหา และเรียนรู้วิธีการที่แก้ปัญหาได้จริง”

     ด้วยมุมมองจากคนหน้างาน ภีมจึงไปเข้าร่วมโครงการ Hack Thailand 2575: 48 ชั่วโมงพลิกโฉมประเทศไทยสู่ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง จัดขึ้นโดย Thai PBS และภาคีเครือข่าย ซึ่งเป็นโครงการที่รวมกลุ่มคนทั้งภาคสังคม ประชาชน และการเมือง มาร่วมออกแบบนโยบายแล้วสะท้อนไปให้คนภาครัฐได้รับฟัง โดยมองภาพว่า อีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

     เมื่อถามถึงเป้าหมายการเข้าร่วมโครงการนี้ ภีมตอบว่า ตนเองมีเป้าหมายอยู่ 2 อย่าง

     “เป้าหมายอย่างแรกคือ อยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนที่มีความต่างเชิงบริบท เช่น คนที่อยู่ในโรงเรียนเอกชน หรือทำงานในภาพใหญ่ของประเทศ หรืออาจารย์ และนักการเมือง เขามีมุมมองอย่างไร ถ้าจะปรับการศึกษาในภาพใหญ่จริงๆ จะมีแนวทางแก้ยังไงบ้าง”

     “อย่างที่สองคือ อยากเป็นกระบอกเสียงให้กับปัญหาที่เราเจอ คุยกับคนอื่นว่า คุณเป็นเหมือนเรามั้ย ปัญหาของคุณเป็นยังไง”

     โครงการ Hack Thailand 2575 มีการแบ่งเวทีแลกเปลี่ยนออกเป็น 12 เวที ครอบคลุมหลากหลายประเด็น และการศึกษาเป็นหนึ่งในนั้น  ในหนึ่งเวทีจะมีผู้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน 8-9 คน จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนกัน 3 วัน 2 คืน

     “ในเวทีมีผู้เข้าร่วมหลายภาคส่วน เช่น นักเรียน ครูในระบบ ผู้บริหารโรงเรียน ผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงตัวแทนจากพรรคการเมืองด้วย”

     “เราได้มองหลายๆมุมในการผลิตครู ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ”

     เมื่อถามว่า ภีมได้รับสิ่งต่างๆ ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไหม เขาตอบว่า

     “ได้ตามเป้า โดยเฉพาะข้อสอง คือเต็มที่มาก นอกจากนั้นยังได้สิ่งที่เราจะเอามาใช้ในห้องเรียนต่อด้วย เช่น วิธีการของโรงเรียนรุ่งอรุณ เขาจะใช้การพูดคุยกับเด็ก และให้เด็กลงมือทำจริงเพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์  เขาโฟกัสที่การเรียนรู้มากกว่าตัวชี้วัด เราก็เอามาคิดว่า ของเราทำได้ไหม ถ้าเด็กเราพื้นฐานไม่ดี ตรงกลางที่เราพอจะประยุกต์ใช้ได้คืออะไร”

     “การเรียนรู้กับตัวชี้วัด เราต้องเอาทั้งคู่ เพราะเด็กก็ต้องไปสอบโดยใช้ตัวชี้วัดของกระทรวงด้วย”

     ในตอนท้ายของการสนทนา ภีมได้แบ่งปันเป้าหมายระยะสั้น และระยะยาวที่เขาตั้งเอาไว้

     “เป้าหมายระยะสั้นของผมคือ อยากหาประสบการณ์ในภาคการศึกษาในแวดวงที่แตกต่าง แบบไม่ใช่ในโรงเรียน เช่น คนวางหลักสูตร หรือภาคเอกชน เพื่อเก็บประสบการณ์ในด้านการศึกษาหลายๆแบบ”

     “ส่วนเป้าหมายระยะยาว ผมอยากเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษา (หัวเราะ) อยากเป็นรัฐมนตรีที่เคยเป็นครูมาก่อน มีอำนาจ มีเสียงที่ดังกว่านี้ และทำให้เกิดผลกระทบ (Impact) ได้จริง”

     ปัจจุบัน ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ มีศิษย์เก่าจำนวนมากที่ยังคงทำงานผลักดันการศึกษาไทยแม้จะจบจากโครงการไปแล้ว  เพราะเมื่อใครสักคนได้เห็นปัญหา พวกเขาก็ไม่อาจอยู่เฉยโดยไม่มีส่วนร่วมได้  เครือข่ายศิษย์เก่า รวมทั้งครูผู้นำฯในปัจจุบันของเรา ยังคงเดินหน้าผลักดันประเด็นการศึกษาไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ในวันหนึ่ง เด็กไทยทุกคนมีการศึกษาคุณภาพอย่างเท่าเทียม และสามารถกำหนดอนาคตของตนเองได้