ล้อมวงศิษย์เก่าทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ถกประเด็นการศึกษาไทยร่วมกับกรุงเทพมหานคร

กิจกรรม TFT Roundtable Talk ที่มูลนิธิทีช ฟอร์ไทยแลนด์ ได้จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 25 มีนาคม 2566 นั้น มีเป้าหมายสำคัญคือการเปิดพื้นให้คนที่มีประสบการณ์ตรงจากหน้าห้องเรียนอย่างกลุ่มศิษย์เก่าทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ได้มาร่วมกับแบ่งปันประสบการณ์ และมุมมองเกี่ยวกับการศึกษาไทย อันจะนำไปสู่หนทางในการหาความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาในระดับประเทศต่อไป ซึ่งมูลนิธิฯ ได้รับเกียรติจากคุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมวงสนทนากับ คุณวิชิตพล ผลโภค ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ศิษย์เก่าฯ กว่า 10 ชีวิต และกลุ่มผู้สมัครโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 10

อยากเป็นคนลงมือแก้ แม้ปัญหาจะใหญ่แค่ไหนก็พร้อมรับมือ

     หากพูดถึงโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงแล้ว หลายคนอาจจะนึกถึงครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในโรงเรียน แต่แท้จริงแล้วนั้น ศิษย์เก่าฯ ถือว่าเป็นกลุ่มคนที่สำคัญไม่แพ้กับครูผู้นำฯ ที่เราลงแรงผลักดันและปลุกปั้นมาตลอด 10 ปี

     ตลอดเวลาการสนทนานั้น สิ่งแรกที่สัมผัสได้ชัดเจนคือศิษย์เก่าฯ ทุกคนมีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะเป็นผู้ลงมือทำ “เวลาถามใครเรื่องปัญหาการศึกษา ทุกคนพูดได้หมดว่ามันคืออะไร แต่จะมีกี่คนที่อยากจะเข้าไปอยู่ตรงนั้น ไปทำ ไปแก้จริงๆ มากกว่าแค่ออกความเห็น เลยคิดว่าถ้าเราได้เป็นส่วนที่ได้เข้าไปจริงๆ ไปดูว่ามันเกิดอะไรขึ้น เข้าไปพยายาม มันน่าจะเป็นอะไรที่ตอบโจทย์” นูนู่-ธัญสรา นวตระการ หนึ่งในตัวแทนศิษย์เก่าฯ เล่าถึงเหตุผลที่ตนตัดสินใจเข้าร่วมโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 6 

     นอกจากจะได้ลงมือทำในเวลา 2 ปีแล้ว ครูผู้นำฯ ยังได้พัฒนาศักยภาพ และทัศนคติผ่านการทำงานในบริบทท้าทายเป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งหนุงหนิง-ณัฐชญา แดนโพธิ์ ศิษย์เก่าฯ รุ่น 6 อธิบายว่า “Teach For Thailand มี Support System ที่ดี และเค้าจะ Plant seed ในตัวคุณว่าคุณจะสามารถจัดการกับทุกความท้าทายในโลกใบนี้ได้ จริงๆนะ ไม่ได้เว่อร์”

เข้าใจในปัญหาก่อนคิดจะสร้างการเปลี่ยนแปลง

     แต่สิ่งสำคัญที่โครงการผู้นำฯมอบให้นอกเหนือจากพื้นที่ให้ลงมือปฏิบัติและทักษะความเป็นผู้นำ คือความเข้าใจในปัญหาการศึกษาอย่างแท้จริง เพราะเราเชื่อว่าหากอยากเปลี่ยนแปลงสิ่งใดแล้ว เราจำเป็นต้องมีความเข้าใจก่อน ซึ่งการเข้าใจในระบบการศึกษาที่ดีที่สุดคือการเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในโรงเรียน เพราะการฟังจากสื่อหรือจากปากคนอื่น ไม่สามารถทำให้เห็นภาพได้ทั้งหมด ว่าปัญหาอยู่ที่จุดไหน และควรจะได้รับการแก้อย่างไร จึงเป็นที่มาว่าทำไมศิษย์เก่าฯ ทุกคนที่มาร่วมกิจกรรมถึงได้รู้ลึก รู้จริง และเข้าใจถึงปัญหาการศึกษาอย่างถ่องแท้จากการได้ไปลงสนามเคียงข้างครูในระบบเป็นเวลา 2 ปีเต็ม 

     จากการเห็นนักเรียนไม่ได้รับโอกาสที่มีคุณภาพ ผู้ปกครองไม่ได้มีทรัพยากรที่เพียงพอ และคุณครูถูกตีกรอบจากระบบ ทราย-สิริกานต์ แก้วคงทอง ศิษย์เก่าฯ รุ่น 1 มองว่าปัญหาคือระบบนิเวศน์ทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน จากการเห็นคุณครูในโรงเรียนขยายโอกาสต้องสอนเพียงเพื่อให้เด็กได้คะแนน O-Net ผ่านเกณฑ์โดยไม่ได้คำนึงถึงทักษะอื่นๆที่จำเป็น เมี่ยว-ศิรินทร์ ตั้งพรไพบูลย์ ศิษย์เก่าฯ รุ่น 2 มองว่าปัญหาคือแนวทางการประเมินซึ่งยังไม่ได้มีการวางแผน เพื่อตอบโจทย์แนวทางการพัฒนาเยาวชน และประเทศในระยะยาว จากการได้ทำงานใกล้ชิดกับชุมชนและผู้ปกครองจนเห็นถึงศักยภาพในท้องถิ่นระหว่างการเป็นครูผู้นำ ภูมิ เพ็ญตระกูล ศิษย์เก่าฯ รุ่น 4 มองว่า นอกเหนือจากการเพิ่มทรัพยากรแล้ว ปัญหาคือการหาทางใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

วงการนี้เข้าแล้วออกยาก

     เมื่อเจอปัญหา ทุกคนจึงต้องการแก้ไข ทำให้ 2 ปีกับโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นให้คนรุ่นใหม่จากหลากหลายสาขายังคงอยู่ในวงการการศึกษาแม้จะจบโครงการไปแล้วก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น ทีม-เดชาธร วรพันธุ์ อดีตนิสิตวิศวะจุฬาฯ ผู้ผันตัวมาเป็นเจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของมูลนิธิสยามกัลมาจล, ฟลุ๊ค-จิราวุฒิ จิตจักร อดีตนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ผู้ผันตัวมาเป็นนักวิชาการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือมด-ธมนวรรณ อั๋นประเสริฐ อดีตนักศึกษาคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ผันตัวมาเป็นเจ้าหน้าที่พัฒนาศักยภาพครูและนักโภชนาการโครงการฟู๊ด ฟอร์ กู๊ด ของมูลนิธิยุวพัฒน์

หาจุดร่วมบนความแตกต่างเพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาการศึกษาไทย

     นอกเหนือจากการแบ่งปันประสบการณ์ทั้งในระหว่างการเป็นครูผู้นำและการเดินทางในเส้นทางสายอาชีพของตนเองแล้วนั้น กิจกรรม TFT Roundtable Talk ยังเปิดโอกาสให้เครือข่ายศิษย์เก่าฯ ได้หาพื้นที่ จุดร่วมความสนใจ และแนวทางในการแก้ปัญหาการศึกษาร่วมกันผ่านบทบาทและทรัพยากรในองค์กรของตน “การมี Network ของศิษย์เก่าฯ ในทุกภาคส่วน ทำให้เราเข้าใจว่าแม้ศิษย์เก่าแต่ละคนจะไม่สามารถอยู่ภายใต้รูปแบบของการจัดการที่เหมือนกัน แต่ใช่ว่าจะทำงานร่วมกันไม่ได้ … เราต้องการเครือข่ายที่มีความหลากหลาย ที่จะเข้ามาส่งเสียง เข้ามารับฟัง เข้ามาลงมือทำ วงนี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อหาต่อไปว่า เราจะร่วมมือกันอย่างไร เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาเพื่อไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” ศุภเกียรติ ยมบุญ ผู้จัดการทีมเครือข่ายศิษย์เก่าฯ ของมูลนิธิฯ และศิษย์เก่าฯรุ่น 1 อธิบายถึงพลังของเครือข่ายผู้นำฯ ที่กระจายตัวอยู่ในทุกภาคส่วน

กรุงเทพมหานครพร้อมผลักดันทุกความร่วมมือ

     ในส่วนของตัวแทนภาคกรุงเทพมหานครอย่างท่านรองผู้ว่าศานนท์ ก็เห็นด้วยกับแนวทางการปฏิบัติของมูลนิธิฯ ไม่น้อย ท่านรองเล่าว่ายังจำได้ดีถึงวันที่ได้คุยกับคุณ Wendy Kopp ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารองค์กร Teach For All ว่าเป้าหมายขององค์กรนั้น คือการสร้าง “คน” คนที่เริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นครู 2 ปี และใช้ 2 ปีนี้เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตอันยาวไกล ที่จะไปพัฒนาการศึกษาต่อไป “อย่างที่ประเทศเปรูนั้น กระทรวงการศึกษาก็ได้นำศิษย์ของทีช ฟอร์ เปรู หลาย 10 คนมาช่วยงาน ผมฝันเหมือนกันที่จะพัฒนากรุงเทพโดยมี Alumni Teach For Thailand มาช่วยงาน” และด้วยความที่ท่านรองฯ ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ไม่ได้จบครุศาสตร์แต่มีความสนใจเกี่ยวกับการศึกษาอย่างมาก กิจกรรมร่วมกับศิษย์เก่าทีช ฟอร์ ไทยแลนด์จึงเป็นการเปิดความคิด เพราะเต็มไปด้วยไอเดียมากมายจากหลากหลายมุมมอง อันจะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือจากทุกฝ่ายซึ่งเป็นแนวทางการแก้ปัญหาของกรุงเทพมหานคร 

     “วันนี้มาฟังแล้วได้รับรู้ถึง Passion ของแต่ละคน อยากมาร่วมมือ ต่อยอดเพื่อสร้างการศึกษาให้มันดีขึ้น … จัดแบบนี้บ่อยๆก็ได้นะครับ แล้วเอาแผนของ กทม. มาให้ดูเลย มาช่วยกันออกความเห็น ผมว่าทุกคนมีศักยภาพที่เราจะช่วยกันได้” ท่านรองฯกล่าวส่งท้าย

     เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ต้องบอกตามตรงว่าเราภูมิใจไม่น้อยที่ศิษย์เก่าฯ ของเราได้กลายเป็นอีกหนึ่งกลุ่มคนแถวหน้าในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในวงการศึกษาไทย เราดีใจที่ความตั้งใจตลอด 10 ปีที่ผ่านมาได้สร้างบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพกว่า 200 ชีวิต ผู้ซึ่งสร้างผลกระทบให้แก่เด็กไทยได้กว่า 1 แสนคนต่อปี ผู้ซึ่งจะร่วมมือกันฝ่าฟันอุปสรรคและสร้างเปลี่ยนแปลงให้การศึกษาไทย ผู้ซึ่งจะไม่ยอมให้คำว่า “โชคชะตา” มากีดขวางอนาคตการศึกษาของใคร ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ศิษย์เก่าทีช ฟอร์ ไทยแลนด์”