งานที่ทำให้อยากตื่นมาทำในทุกๆวัน

นอกเหนือจากความรู้เกี่ยวกับศาสนาและปรัชญาแล้ว สิ่งที่มะนาว-ชาลินี นินนานนท์ ได้จากวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล คือความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับบริบทปัญหาในสังคม ซึ่งเมื่อเธอได้มารู้จักกับโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง ที่มีเป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมปัจจุบัน มะนาวจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการผู้นำฯทันที

นอกเหนือจากความรู้เกี่ยวกับศาสนาและปรัชญาแล้ว สิ่งที่มะนาว-ชาลินี นินนานนท์ ได้จากวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล คือความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับบริบทปัญหาในสังคม ซึ่งเมื่อเธอได้มารู้จักกับโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง ที่มีเป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมปัจจุบัน มะนาวจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการผู้นำฯทันที

คุณค่าของการทำประโยชน์เพื่อคนอื่น

นอกจากจะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาระดับชาติแล้ว มะนาวเล่าว่าการได้มาเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อสอนวิชาคณิตศาสตร์ ณ โรงเรียนปิยะบุตร์ จังหวัดลพบุรีนั้น ตอบโจทย์ของเธอในหลายๆด้าน “นาวชอบสอน ชอบถ่ายทอดความรู้ เวลาสอนเด็กแล้วจะรู้สึกมีความสุข รู้สึก Fullfill เราอยากจะทำงานที่เรามีความสุขกับมัน เราอยากที่จะตื่นขึ้นมาทำมันในทุกๆวัน แล้วอีกอย่างที่มันตอบโจทย์เลยคือมันเป็นงานที่เราได้ทำเพื่อสังคม ได้ทำเพื่อคนอื่น มันให้เรารู้สึกว่าเรามีคุณค่า สิ่งที่เราทำมันมีประโยชน์ต่อคนอื่น ต่อสังคม

บทเรียนจากผู้คนมากมายหลากหลายที่มา

แม้จะไม่ได้จบสายตรงเพื่อมาเป็นครู แต่มะนาวมองว่ามีหลากหลายทักษะจากวิทยาลัยศาสนศึกษาที่เธอได้นำมาประยุกต์ใช้ในการเป็นครูผู้นำฯ โดยเฉพาะทักษะการเข้าใจคนและการเข้าใจมุมมองของคนอื่นโดยไม่ด่วนตัดสิน ซึ่งถือว่าเป็นทักษะที่มีประโยชน์อย่างมากในบริบทของครูผู้นำที่ต้องเจอคนมากมายหลากหลายที่มา และการที่ได้มาเจอผู้คนมากมายในบริบทที่ต่างไปจากที่เคยเจอ ยังถือเป็นโอกาสให้มะนาวเองได้รับหลายบทเรียนสำหรับชีวิตของเธออีกด้วย “แต่ละคนเติบโตมาไม่เหมือนกัน เราสามารถที่จะเติบโตหรือพัฒนาได้ดีในสิ่งแวดล้อมหรือบริบทที่ต่างกัน ถ้าเราอยากพัฒนา หรือเปลี่ยนแปลงบางส่ิงบางอย่าง เราจะต้องเข้าไปทำความเข้าใจในความแตกต่างนั้น เราไม่สามารถที่จะใช้ pattern เดียวกับทุกอย่างได้ เราต้องเข้าไปเรียนรู้จริงๆ แล้วค่อยๆแก้ให้มันเหมาะกับบริบทนั้นๆ” 


อีกหนึ่งบทเรียนที่มะนาวได้เรียนรู้จากการเป็นครูผู้นำฯ ผู้ซึ่งต้องทำงานในบริบทท้าทายและมีความเกี่ยวเนื่องกับผู้คนมากมาย ทำให้เธอได้เข้าใจว่า “ทุกการกระทำของเรามันมีผลกับทั้งตัวเองและคนอื่น ฉะนั้น ถ้าเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากสร้าง อยากพัฒนาอะไรบางอย่าง เราต้องลงมือทำ”

พัฒนาตัวเอง พัฒนานักเรียน

หนึ่งสิ่งที่มะนาวได้เริ่มต้นลงมือทำตลอด 1 เทอมของการสอนที่ผ่านมานั้น คือการพัฒนาทักษะและทัศนคติของตนเอง เนื่องจากโครงการผู้นำฯเน้นให้ครูผู้นำฯพัฒนาทักษะและทัศนคติรวม 6 อย่างให้แก่นักเรียน ได้แก่ ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) ทักษะการตระหนักรู้ (Awareness) ทักษะการทํางานร่วมกับผู้อื่นไปสู่เป้าหมายร่วมกัน (Collaboration) ความพยายามไปสู่เป้าหมาย (Grit) ความเชื่อว่าระดับความสามารถของตนเองพัฒนาได้ (Growth Mindset) และความรับผิดชอบในการเรียนรู้ของตนเอง (Agency) มะนาวจึงได้พัฒนาทักษะและทัศนคติเหล่านี้ของตนเองไปด้วย “ในทุกคลาสเรียนเราจะต้องออกแบบการสอนให้นักเรียนพัฒนาสิ่งเหล่านี้ ซึ่งการที่เราจะไปพัฒนานักเรียนได้ เราต้องมีสิ่งเหล่านี้เองก่อน เลยกลายเป็นว่าเราต้องพัฒนาตัวเองไปด้วย” 

มะนาวยกตัวอย่างการพัฒนาทักษะการตระหนักรู้ของตัวเองว่า ทุกวันหลังจากทำงานและทำกิจกรรมทุกอย่างเสร็จ เธอจะใช้เวลานั่งทบทวนส่ิงที่ตัวเองทำไป ความรู้สึกของตัวเองต่อสิ่งที่ได้ทำ พัฒนาการ และความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง หรือ อย่างทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น มะนาวก็ได้ฝึกฝนเป็นประจำ เพราะต้องทำงานร่วมกับนักเรียน เพื่อนครู ชุมชน หรือแม้กระทั่งทีมงานจากมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์

ทักษะนอกห้องเรียน

มะนาวได้มีโอกาสเป็นครูฝึกซ้อมนักเรียนไปแข่งขัน A-Math ซึ่งตอนแรกนั้น เธอไม่สามารถหานักเรียนไปเข้าร่วมการแข่งขันได้ จนได้มาเจอนักเรียนคนหนึ่งที่ยอมลงแข่งโดยไม่เต็มใจเท่าไรนัก แต่แพ้ให้กับคำอ้อนวอนของเธอ ซึ่งมะนาวก็ได้ตกลงกับนักเรียนคนนี้ว่า ให้ลองมาซ้อมก่อน แล้วค่อยตัดสินใจว่าจะลงแข่งหรือไม่ แต่ปรากฏว่าหลังจากมาซ้อมได้เพียงไม่กี่วัน นักเรียนคนดังกล่าวกลับติดใจ และขอมาซ้อมเป็นประจำ “วันนี้ผมว่างครับ ผมอยู่ได้ถึงเย็นครับ” เป็นประโยคที่ทำให้มะนาวรู้สึกประทับใจ เพราะถึงแม้สุดท้ายเขาจะไม่ได้ชนะการแข่งขัน แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาทักษะใหม่ของนักเรียนของเธอ

 

ซึ่งทักษะนอกห้องเรียนนั้นเป็นสิ่งที่มะนาวให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะเธออยากเห็นนักเรียนเกิดการพัฒนาในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้ ทัศนคติ หรือนิสัย เธออยากเห็นนักเรียนรู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร อยากเป็นอะไร มีความสามารถอะไร แล้วพัฒนาความถนัดของตัวเองอย่างเต็มศักยภาพ และเธออยากเห็นโรงเรียนมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเรียนรู้และการเติบโตของนักเรียนที่มีความแตกต่างกัน เธอเล่าว่าทุกวันนี้โรงเรียนมีต้นทุนทางสภาพแวดล้อมในระดับหนึ่ง แต่เธอมองว่ายังมีพื้นที่ให้พัฒนาได้อีกมาก เช่น ปัจจุบันยังไม่ได้มีกิจกรรมหรือชุมนุมที่หลากหลาย ซึ่งถ้านักเรียนมีความถนัดที่นอกเหนือจากในห้องเรียน ก็จะไม่มีโอกาสและพื้นที่ให้นักเรียนพัฒนาความถนัดเหล่านั้น มะนาวจึงอยากทำชมรมหรือจัดกลุ่มกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อให้นักเรียนมีทางเลือกในการพัฒนาตัวเองและทักษะอื่นๆนอกห้องเรียน

ขอมีปริญญาอีกหนึ่งใบ

มะนาวมีความตั้งใจอยากเรียนต่อปริญญาโททางด้านจิตวิทยาหลังจากจบโครงการผู้นำฯและทำงานด้านนี้ต่อเนื่อง เพราะเมื่อผนวกความสนใจเดิมของตนเข้ากับประสบการณ์กับนักเรียนในโรงเรียนแล้ว ทำให้มะนาวอยากจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาที่นักเรียนพบเจอในรายบุคคล ซึ่งการเจอคนและปัญหาที่หลากหลายจากการได้เข้ามาทำงานในโรงเรียน และได้ลองให้คำปรึกษาและแนะนำแนวทางแก้ไขในระหว่างการเป็นครูผู้นำฯ ทำให้เธอมีความเข้าใจคนอื่นมากขึ้น ซึ่งเป็นข้อมูลและประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ในการศึกษาและทำงานด้านจิตวิทยาต่อไปในอนาคต

ถ้าสนใจก็สมัครเลย

มะนาวมองว่าคนที่เรียนศาสนศึกษามานั้น จะมีความเข้าใจในปัญหาสังคม และความเข้าใจผู้คน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ปฏิบัติหน้าที่ครูผู้นำฯที่ต้องทำงานร่วมกับผู้คนหลากหลายที่มาได้เป็นอย่างดี ผู้เข้าร่วมโครงการผู้นำฯทุกคน “จะได้อะไรกลับไปเยอะ ทั้งได้พัฒนาตัวเอง ได้ทำเพื่อคนอื่น ทำเพื่อสังคม เราจะเป็นส่วนเล็กๆที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกได้ในวงกว้าง … คำนวณดูแล้วเงินเดือนก็เพียงพอให้เราใช้ชีวิตอยู่ได้ แถมได้ทำเพื่อคนอื่นด้วย เลยรู้สึกว่ามันคุ้มค่ามากๆ”

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับการเปลี่ยนแปลงอนาคตการศึกษาไทย นักเรียนไทยนับร้อยและตัวคุณ ผ่าน ‘โครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ เป็นระยะเวลา 2 ปี ผ่านการสอน และ ทำงานร่วมกับเครือข่าย โรงเรียน ชุมชน ผู้ปกครอง 

สมัครได้แล้วตั้งแต่วันนี้ที่…https://tft-fellowship.org