ทักษะจากโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่จะพาคุณ “รอด” ในทุกสถานการณ์

เมื่อไลน์กลุ่มเพื่อนของ ฟร้อง-ณัฏฐา ริมฝาย ดังขึ้นพร้อมกับข้อมูลโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง ฟร้องผู้ซึ่งกำลังหมดไฟในงานปัจจุบัน และมองหา Passion ของตัวเองอยู่นั้น ไม่รอช้าที่จะรีบกดเข้าไปดูข้อมูล

อยากให้เด็กนักเรียนทุกคนได้เรียนเหมือนกับที่เด็กในกรุงเทพได้เรียน

     แรกเริ่มนั้นฟร้องหวังเพียงแค่ไปได้เข้าอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพตัวเอง แต่เมื่อได้ศึกษาข้อมูล และวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างละเอียดแล้วนั้น เธอพบว่าโครงการนี้ตอบโจทย์และหลายคำถามคาใจที่เธอมีตลอดมา โดยเฉพาะในมุมของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะฟร้องเองก็เป็นอีกหนึ่งในคนที่ได้ประสบปัญหาดังกล่าวมากับตัว “เราเป็นเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่งที่ทุก Summer เราต้องบินมาเรียนที่กรุงเทพ เพื่อที่จะให้ตัวเองได้มีความรู้เท่ากับคนที่อยู่ในเมือง เราก็เลยมี Question mark ในหัวตลอดเวลาว่า หลักสูตรก็เหมือนกันทั้งประเทศ แต่ทำไมเราถึงเรียนไม่เหมือนกัน เราก็เลยอยากที่จะเอาตัวเองไปเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นสื่อกลางในฐานะคนที่เคยได้รับความรู้จากมหาวิทยาลัยในกรุงเทพและจากการเป็นติวเตอร์ในกรุงเทพ อยากให้เด็กนักเรียนทุกคนได้เรียนเหมือนกับที่เด็กในกรุงเทพได้เรียนโดยที่ไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม” ซึ่งพอคิดได้อย่างนี้แล้ว ฟร้องจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้ทันทีทันใด

     ปัจจุบันนี้ฟร้องปฏิบัติหน้าที่เป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 9 สอนวิชาคณิตศาสตร์ ณ โรงเรียนชุมชนวัดทับมา จังหวัดระยอง ฟร้องเล่าว่าความรู้พื้นฐานในวิชาคณิตศาสตร์ที่ได้จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้นเป็นประโยชน์อย่างมากในบทบาทครูผู้นำฯที่ต้องส่งต่อความรู้ด้านวิชาการ เมื่อผนวกกับประสบการณ์การทำกิจกรรมต่างๆในมหาวิทยาลัยแล้ว ฟร้องมีทั้งความรู้และทักษะที่จำเป็นในการเป็นผู้ให้แก่นักเรียนของเธอ

บทเรียน ทักษะ และกำลังใจ

     แต่การร่วมโครงการทำให้ฟร้องได้ค้นพบว่าเธอไม่ได้มาเพื่อให้อย่างเดียวเท่านั้น แม้จะผ่านมาเพียงแต่ 1 เทอมแต่ฟร้องได้รับหลายๆบทเรียนและทักษะที่เปลี่ยนชีวิตเธอไปอย่างส้ินเชิง ฟร้องยอมรับว่าก่อนมาร่วมโครงการนั้น เธอจะมีความเป็น Perfectionist อยู่ไม่น้อย “เวลาจะทำอะไรก็จะตั้งเป้าหมายก่อน แต่พอมันไปไม่ถึงตามคาด ก็จะหงุดหงิดและมีคำถามอยู่ในใจว่าทำไมนักเรียนถึงไปไม่ถึงเป้าที่เราตั้งไว้ จนเราต้องกลับมานั่งตั้งสติ และทำความเข้าใจได้ว่าเค้าก็แค่เด็ก พฤติกรรมหรือสิ่งที่เค้าทำมันก็มีเหตุผลของมัน เค้ามีปัญหาเหมือนกับที่เรามี เพราะเค้าก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง” เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้ว ฟร้องพบว่าชีวิตของตัวเองมีความยืดหยุ่นมากขึ้น “อันนี้ต้องขอบคุณเลย เพราะว่ามันก็ผ่อนเราไปด้วย เหมือนเจอทางสายกลาง มองโลกเปลี่ยนไปเลย”

 

     ความเป๊ะของฟร้องถูกท้าทายในบริบทโรงเรียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนนอกเหนือจากจะได้เรียนรู้ที่เป็นคนที่มีความยืดหยุ่นแล้ว เธอยังได้พัฒนาทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ารายวัน “หลายๆครั้งครูไม่พอ ทำให้แผนที่เราเตรียมมาต้องหยุดชะงัก แล้วเปลี่ยนไปสอนอีกห้องแทน กลายเป็นว่าต้องเปลี่ยนกิจกรรม และหาวิธีทำให้เด็กทั้ง 3 ห้องอยู่กับเราทั้งวันให้ได้ เราเลยต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเยอะมากๆ” และนอกจากจะถูกบริบทท้าทายแล้ว ฟร้องยังโดนนักเรียนท้าทายไม่เว้นแต่ละวัน แต่เธอกลับมองเห็นแต่ข้อดีจากประสบการณ์นี้ “จริงๆฟร้องเป็นคนแอบขี้เกียจนิดๆ แต่พอมาเจอเจ้าหนูจำไมประจำห้อง เค้าเลยกลายเป็นตัวกระตุ้นให้เราต้องเตรียมคำตอบ หรือคาดการณ์เด็กในแต่ละวันว่าเด็กคนนี้จะถามอะไรเลย ก็ต้องหาความรู้ไปเยอะ ก็ติดเป็นนิสัยไปเลย ทำให้เรากลายเป็นคนใฝ่รู้ อยากเรียนรู้อะไรเยอะขึ้น”

    ฟร้องไม่เพียงรับแค่บทเรียนและทักษะจากการเป็นครูผู้นำฯเท่านั้น อีกหนึ่งสิ่งที่เธอได้กอบโกยจากการเป็นครูผู้นำฯคือเรื่องราวดีๆที่คอยเป็นพลังใจให้เธอต่อสู้ในวันเหนื่อยล้า เธอเล่าว่าเธอเป็นครูสายอุปกรณ์ ซึ่งอุปกรณ์คู่ใจของครูคณิตคนนี้คือปากกาหลากสี เมื่อถึงเวลาสอนฟร้องมักจะให้นักเรียนออกมาคิดเลขหน้ากระดาน โดยจะให้เด็กๆได้เลือกสีปากกาที่ชอบได้ตามใจ ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยที่เธอไม่ได้คิดอะไร แต่กลับมีนักเรียนคนหนึ่งเขียนกระดาษให้ feedback ก่อนออกจากห้องเรียนว่า “ขอบคุณครูมากๆเลยค่ะที่เปิดโอกาสให้เลือก แม้กระทั่งสีปากกาก็ได้เลือก ก่อนหน้านี้ไม่เคยได้เลือกอะไรเลย … มันทำให้เรารู้สึกว่า แค่สีปากกาที่ไม่ใช่เรื่องใหญ่แต่มันไปแตะหัวใจเค้า เค้าออกมาคิดเลขหน้ากระดานแล้วเค้ามีความสุข ได้เลือกสีปากกา” ซึ่งเมื่อได้รับรู้อย่างนี้แล้ว ครูฟร้องก็มีความสุขไม่แพ้นักเรียนของเธอเช่นกัน

จากนี้จนจบโครงการ

     แต่แน่นอนว่าเส้นทางของครูผู้นำฯนั้นไม่ได้โรยไปด้วยกลีบกุหลาบและเรื่องราวที่ดีต่อใจเพียงอย่างเดียว เพราะหลายๆเรื่องก็สร้างความน่าตกใจไม่น้อย ฟ้องเล่าถึงครั้งที่เธอถามนักเรียนว่า “หากนักเรียนทำผิด คุณครูต้องทำอย่าง” ซึ่งนักเรียนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ตีเลยครู” ซึ่งเป็นคำตอบที่ทำให้เธอเข้าใจแล้วว่าทำไมเด็กในโรงเรียนของเธอจึงขาดความมั่นใจ และไม่กล้าตอบคำถาม เธอจึงตั้งเป้าหมายที่จะแก้ปัญหาเรื่องความมั่นใจนี้ให้ได้ก่อนจะจบโครงการโดยการสร้างข้อตกลงร่วมกันในห้องเรียนว่า “ถ้าผิดช่างมัน เดี๋ยวครูแก้ให้ เพื่อนที่รู้ก็จะแก้ให้ ห้าม Bully เพื่อนถ้าเพื่อนตอบผิด” ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ฟร้องมุ่งหวังอยากเห็นนักเรียนของเธอเกิดความกล้า มีความมั่นใจ และมีความเชื่อว่าตัวเองสามารถพัฒนาและเติบโตได้ 

     ส่วนหลังจากจบโครงการไปแล้วนั้น ฟร้องวางแผนไว้ว่าอยากหาคอร์สเรียนเกี่ยวกับเด็ก เกี่ยวกับการสอน หรือจิตวิทยาเด็กเล็กที่ต่างประเทศ เพราะอยากรู้ว่าเด็กไทยที่เจอมา 2 ปี กับเด็กต่างชาติที่เจอระบบการศึกษาอีกแบบต่างหรือเหมือนกันอย่างไร และอยากทำงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาหลังจากเรียนจบ แต่เธอก็ยอมรับว่าเส้นทางของเธอนั้นยังไม่แน่นอน 

     แต่หนึ่งสิ่งที่ฟร้องมั่นใจแน่นอนคือการมาทำโครงการนี้ทำให้เธอมีภาวะความเป็นผู้นำ เธอเล่าว่าหลายๆครั้งเธอและเพื่อนครูผู้นำฯในโรงเรียนต้องริเริ่มหลายๆอย่างเพื่อเป็นตัวอย่าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ทำให้เธอมีความเป็นผู้นำในตัวอย่างเหลือล้น และเธอมั่นใจว่าภาวะความเป็นผู้ “เป็นสิ่งที่จำเป็นในทุกอาชีพอยู่แล้ว ไม่ว่าจะอาชีพไหนก็ตาม”

กด Click ส่งใบสมัครด่วนๆ

     สำหรับคนที่สนใจสมัครโครงการ ฟร้องแนะนำให้ลองเปิดใจ และกล้าที่จะออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเองเพราะว่าโครงการนี้ทำให้เธอหลุดออกจากความกลัวของตัวเอง “พอเรามาเจอบริบทโรงเรียน มันทำให้เราพร้อม และมั่นใจในทักษะที่ได้จากโครงการนี้ มันจะทำให้เราไปรอด ยังไงก็รอด อย่าลังเลที่จะสมัคร สมัครเลย แล้วจะได้อะไรที่เปิดประสบการณ์ความว้าวแบบสุดๆไปเลย”

     ส่วนน้องๆมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฟร้องอยากจะบอกว่า “โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก ถ้ามีโอกาสแล้ว อย่าปล่อยให้โอกาสมันหลุดไปเพราะสิ่งที่ได้กลับคืนมามันมากกว่าการไป Take course มันมากกว่าอะไรที่เม็ดเงินสามารถซื้อได้ กด Click ไปส่งใบสมัคร ตอบคำถามเลยค่ะ ด่วนๆ”

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับการเปลี่ยนแปลงอนาคตการศึกษาไทย นักเรียนไทยนับร้อยและตัวคุณ ผ่าน ‘โครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ เป็นระยะเวลา 2 ปี ผ่านการสอน และ ทำงานร่วมกับเครือข่าย โรงเรียน ชุมชน ผู้ปกครอง 

สมัครได้แล้วตั้งแต่วันนี้ที่…https://tft-fellowship.org