ครูผู้นำที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงมากกว่าแค่ในห้องเรียน
พร-ภัทรานิษฐ์ ฤทธิแสง ใช้เวลาเพียง 3 ปีครึ่งในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อนที่จะได้รับปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์มาครอบครอง ด้วยความที่เรียนจบเร็วกว่าคนอื่น พรจึงได้มีโอกาสได้ไปลองทำงานบริษัท แต่ไม่นาน พรก็ค้นพบว่าโลกในมหาวิทยาลัยกับโลกในการทำงานนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

พร-ภัทรานิษฐ์ ฤทธิแสง ใช้เวลาเพียง 3 ปีครึ่งในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อนที่จะได้รับปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์มาครอบครอง ด้วยความที่เรียนจบเร็วกว่าคนอื่น พรจึงได้มีโอกาสได้ไปลองทำงานบริษัท แต่ไม่นาน พรก็ค้นพบว่าโลกในมหาวิทยาลัยกับโลกในการทำงานนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

สะพานเชื่อมระหว่างชีวิตในมหาวิทยาลัยและโลกการทำงาน
ด้วยความที่พรเป็นนักศึกษาที่ตั้งหน้าตั้งตาเรียน ไม่ค่อยได้ใช้ชีวิตข้างนอก แถมไม่มีประสบการณ์การทำงาน พรจึงประสบปัญหาในการปรับตัวให้เข้ากับโลกการทำงานนี้ พรจึงมองว่าโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงนั้นตอบโจทย์ความต้องการในช่วงชีวิตดังกล่าว “โครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้โอกาสเด็กจบใหม่ในการปรับสภาพ และสร้างความคุ้นชินให้กับโลกภายนอกก่อน … ทางโครงการเองไม่ได้ปล่อยให้เราไปเผชิญโลกด้วยตัวเอง มีระบบที่คอยดูแล คอยประคองเราอยู่ พรเลยคิดว่าตรงนี้ตอบโจทย์”

ระยะเวลาสั้นๆที่ให้ทั้งทักษะ ประสบการณ์ และความเข้าใจในปัญหาการศึกษา
หลังจากที่เข้าร่วมโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 9 ในฐานะครูวิทยาศาสตร์ประจำโรงเรียนวังน้อยพนมยงค์วิทยา จังหวัดอยุธยาได้เพียงหนึ่งเทอม พรกลับได้อะไรมากมายกว่าแค่การปรับตัวเข้าสู่โลกการทำงาน
พรได้เรียนรู้และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เพราะพรต้องพัฒนาและปรับตัวให้พร้อมรับกับห้องเรียนที่เหนือการควบคุมของตัวเอง พรได้เรียนรู้ที่จะสื่อสารด้วยความเข้าใจในวันที่ต้องปลอบนักเรียนที่นั่งร้องไห้เพราะบวกเลขไม่ได้ และพรได้เรียนรู้ที่จะรับฟังและให้คำปรึกษา เพราะเด็กเข้าหาครูพรเพื่อขอคำแนะนำทั้งเรื่องเรียนและเรื่องส่วนตัว
แต่ที่พรได้รับมากที่สุดคงจะเป็นความเข้าใจในปัญหาการศึกษาผ่านชีวิตของนักเรียนของตน
“ก่อนหน้านี้ เราพอจะรู้ว่าการศึกษาไทยมีปัญหาในเชิงระบบอย่างไร แต่เรารู้เผินๆ เราไม่ได้รู้ว่ามันหนักหนาสาหัสขนาดไหน แต่พอได้เจอหน้างานจริง มันเป็นปัญหาที่โคตรลึก”
พรเล่าว่าเด็กในโรงเรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน หลายคนมีเรื่องราวที่ยิ่งกว่าละคร พ่อแม่ต้องทำงานเพื่อหาเงินและไม่มีเวลาดูแลลูกๆ เด็กเองก็ไม่รู้ว่าพ่อแม่จะมีเงินส่งให้เรียนต่อได้หรือไม่ นอกจากนี้หลักสูตรก็อาจจะยังไม่ทันสมัยเท่าที่ควร ทำให้เด็กไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เรียนนั้นมีประโยชน์อย่างไร เด็กจึงไม่สนใจเรียน และไม่คาดหวังกับอนาคตของตัวเอง ซึ่งหากเด็กเหล่านี้ไม่ได้เรียนต่อ ก็ยากที่จะหางาน ยากที่จะมีรายได้ “มันเหมือนเป็นการส่งต่อความยากจนข้ามรุ่น ซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติ”

เป้าหมายในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศ
ปัญหาที่พรได้ประสบด้วยตนเองในระยะเวลาเพียงสั้นๆ ทำให้พรยิ่งมั่นใจกับความตั้งใจในการเรียนต่อปริญญาโททางด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองที่เคยคิดไว้แต่แรก เพราะพรมองว่าแผนพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ของประเทศเรานั้น ยังไม่ชัดเจนและขาดความเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศ พรจึงอยากมีโอกาสที่จะถ้าได้เข้าไปทำงานที่สามารถกำหนดนโยบายในระดับชาติ

ข้อคิดส่งท้ายสำหรับคนที่ยังลังเลในการส่งใบสมัครโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง
เมื่อถามว่าอยากฝากอะไรถึงคนที่สนใจสมัครโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง พรตอบอย่างมั่นใจว่าคนที่จะสมัครควรถามตัวเองก่อนว่าต้องการอะไรจากโครงการ เพราะพรนั้นมองหาประสบการณ์เพื่อให้ใช้การขอทุนเรียนต่อปริญญาโท ซึ่งโครงการนี้สอดคล้องกับเป้าหมายของพร และพรก็พบกว่าโครงการนี้ให้มากกว่าแค่ประสบการณ์ เพราะพรได้เติบโต ได้ใช้ชีวิตเป็นของตัวเองอย่างอิสระ และได้กระโดดออกจาก Comfort Zone
พรยังแถมส่งท้ายด้วยข้อคิดสั้นๆที่พรใช้ในการดำเนินชีวิตว่า “ก่อนอายุ 30 พรอยากจะไปให้สุดกับชีวิต อยากที่จะลอง เพราะถ้าไม่ได้ลองก็ไม่รู้ว่าเราอยากหรือไม่อยากที่จะทำอะไร พรไม่อยากที่จะอยู่ๆจบมาแล้วทำงานเดียวตั้งแต่ 22 จน 60 ชีวิตไม่เคยได้ทำอย่างอื่นเลย”
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับการเปลี่ยนแปลงอนาคตการศึกษาไทย นักเรียนไทยนับร้อยและตัวคุณ ผ่าน ‘โครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ เป็นระยะเวลา 2 ปี ผ่านการสอน และ ทำงานร่วมกับเครือข่าย โรงเรียน ชุมชน ผู้ปกครอง
สมัครได้แล้วตั้งแต่วันนี้ที่…https://tft-fellowship.org