ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 4

Leadership In Teach
For Network –
สัมภาษณ์ครูใหม่ รุ่น 4

ภูมิ (ภูมิ เพ็ญตระกูล)

By หมิวกัลยรัตน์ อภิวัฒโนดม

ผู้นำที่ดีต้องเป็นคนที่พร้อมจะ take ownership
ในงานที่ทำ

ภูมิ เพ็ญตระกูล – จากครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียน สู่ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงนโยบายการศึกษาไทย

ภูมิ-ภูมิ เพ็ญตระกูล ศิษย์เก่าครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่น 4 ที่ยังคงเดินหน้าทำงานในสายงานด้านการศึกษา โดยนำประสบการณ์และสิ่งที่เขาได้เห็น ได้เข้าใจ ผ่านมุมมองของการเป็นครูในโรงเรียนเป็นเวลา 2 ปี ที่จังหวัดนครสวรรค์ มาเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสู่การทำงานในสายงานนโยบายด้านการศึกษา ในกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

โดยสิ่งที่พี่ภูมิทำนั้น คือการรับผิดชอบโครงการต่าง ๆ ที่อยู่ใน Portfolio ของตนเอง ซึ่งทุกโครงการล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างแท้จริง และหากหลายๆ โครงการดำเนินจนสำเร็จ เราจะได้เห็นภาพการศึกษาไทยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ในระดับบุคคลหรือโรงเรียน แต่เป็นถึงในระดับนโยบายของประเทศเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม การทำงานในเส้นทางสายนี้ ย่อมไม่ได้โรยด้วยกลับกุหลาบเสมอไป เพราะด้วยความคลุมเครือของโจทย์ในงาน ทำให้พี่ภูมิต้องใช้ทักษะหลายอย่างเพื่อจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ทักษะความเป็นผู้นำ’ ซึ่งขาดไม่ได้เลยสำหรับการต้องรับผิดชอบโครงการต่าง ๆ นอกจากนี้ พี่ภูมิยังเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์และทักษะความเป็นผู้นำที่องค์กรยุคใหม่กำลังต้องการด้วย

อยากให้พี่ภูมิช่วยเล่าหน่อยว่า หลังจบโครงการ 2 ปีแล้ว ทำอะไรบ้าง?

หลังจบการเป็นครูก็ทำงานด้านการศึกษาต่อนี่แหละ ตอนนี้ทำอยู่ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ถ้านึกภาพไม่ออกว่าคืออะไร ให้นึกถึงภาพทุนนักเรียนยากจนพิเศษ ที่ครูต้องออกไปคัดกรองตอนไปเยี่ยมบ้านเด็กช่วงต้นเทอม แล้วถ้าเราพบว่านักเรียนคนไหนมีแนวโน้มยากจนถึงเกณฑ์ก็จะให้ทุนการศึกษาไปปีละ 3,000 บาท โดยตำแหน่งที่พี่ทำตอนนี้คือ นักวิเคราะห์และบริหารโครงการวิจัยด้านการผลิตและพัฒนาครู (Research Portfolio Manager) เป็นคนดู Portfolio เรื่องทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาครูและสถานศึกษา สนับสนุนทั้งความต้องการและองค์ความรู้ของประเทศ และสนับสนุนทีมอื่น ๆ ในองค์กรด้วย

ใน Portfolio ที่พี่ภูมิต้องดูแลมีอะไรบ้าง?

ใช่นะ ถ้าจะพูดถึงในมุม leadership ก็เกี่ยวข้องเยอะอยู่

ถ้ามีโปรเจกต์เข้ามา สิ่งที่พี่จะทำมีอะไรบ้าง?

จริงๆ ก็มีหลายโครงการเลยนะ เช่น PISA for School เป็นโครงการที่เราต้องการเอาข้อมูลผลการประเมินที่เป็นที่ยอมรับที่สุดในโลก มาเป็นกระจกสะท้อนให้โรงเรียนใช้ในการพัฒนาตัวเอง ทีนี้หลายๆ คนคงเคยได้ยินคำว่า PISA มาแล้วแหละ ที่เขาจะชอบบอกว่า ประเทศไทยมีคะแนน PISA รั้งท้ายในอาเซียน ซึ่งทาง OECD ที่เป็นคนคิดค้น PISA ขึ้นมา เขามีคำถามว่า ผลการสอบ PISA ไม่เคยได้เอาไปใช้ประโยชน์เลย เราก็เลยนำ framework เดิมที่มีอยู่นี่แหละ มาใช้ปรับชุดข้อสอบและวิธีการรายงานผลใหม่ ให้มีการรายงานผลได้ในระดับสถานศึกษา โดยตอนนี้ยังอยู่ใน phase 1 อยู่ ก็ต้องลองมาดูกันหลังจากนี้ว่าจะเป็นอย่างไร

เชื่อว่าหลาย ๆ คนก็คงติดตามและรอลุ้นอยู่เหมือนกัน ทำให้อยากรู้ต่อเลยว่า นอกจากโครงการนี้แล้ว ใน Portfolio ของพี่ภูมิมีโครงการอะไรอีกบ้าง?

มีอีกโครงการหนึ่งชื่อว่า Fundamental School Quality Level (FSQL) ทำร่วมกับ World Bank เน้นที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือในถิ่นทุรกันดาร สิ่งที่เราทำร่วมกับ World Bank คือ เราทำโมเดลเพื่อที่จะหาโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Small Protected School ที่มาที่ไปของชื่อนี้คือ เรามักจะได้ยินเรื่องการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้สามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่โรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลเนี่ยมันควบรวมไม่ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น ในเมื่อเขาแก้ปัญหาด้วยการควบรวมไม่ได้ แล้ววิธีจัดสรรงบประมาณแบบในปัจจุบัน มันทำให้โรงเรียนมีปัญหาขาดแคลนทรัพยากร เช่น ขาดครู มีครูไม่ครบชั้นเรียน ซื้อคอมพิวเตอร์ไม่ได้ เป็นต้น 

สิ่งที่พี่ทำในโครงการนี้ เพื่อแก้ปัญหาที่ว่าไปคืออะไร?

อันดับแรกเลยคือ หาโรงเรียนเหล่านี้ให้เจอ หลังจากนั้น เราจะพยายามทำหลักเกณฑ์ใหม่ว่า โรงเรียนที่จัดการศึกษาได้ดีพอมันควรจะมีอะไรบ้าง แล้วก็จะทำเป็นระบบฐานข้อมูล แก้ระบบข้อมูลเดิมที่เรียกว่า Education Management Information System (EMIS) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งถ้าโครงการนี้สำเร็จ เราก็จะได้เห็นภาพกันว่า โรงเรียนไหนขาดแคลนทรัพยากรอะไรบ้าง ขาดแคลนอย่างไร ต้องเติมอะไรเท่าไหร่บ้าง แล้วก็เป็นไปได้ว่าการจัดสรรงบประมาณในอนาคตก็จะเป็นไปตามกรอบแนวคิดนี้ ไม่ใช่แค่เอางบประมาณมาคิดตามรายหัวเด็กเท่านั้น

ถือว่าเป็น 2 โครงการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนโยบาย การศึกษาไทยที่น่าสนใจมากๆ

ใช่ อันนี้ก็จะเป็น 2 โครงการหลัก ๆ ที่พี่ดูแลอยู่นะ ส่วนงานอีกประเภทหนึ่งที่พี่ดูแลคือ เรื่องการประเมินผลโครงการ ตอนนี้เราพยายามทำวิจัยเพื่อจะหาทางวัด learning outcome ผ่านการวัด executive function ความน่าสนใจของมันก็คือ ในประเทศไทยยังไม่เคยมีวิจัยที่วัดผล executive function อย่างจริงจัง นอกจากนี้เราก็ยังเจอปัญหาว่า เวลาที่เราไปจัด workshop เกี่ยวกับ active learning หรือ project-based learning สิ่งที่คุณครูสะท้อนออกมาคือ เขามองว่าสุดท้ายนักเรียนก็ต้องสอบอยู่ดี และเขายังไม่เชื่อว่ากระบวนการสอนแบบนี้จะทำให้คะแนนสอบของเด็กดีขึ้นได้

ดังนั้นการที่เราทำวิจัยตรงนี้ จะช่วยให้เรามีหลักฐานเพื่อยืนยันหรือพิสูจน์ว่า active learning ไม่ใช่แค่นำไปสู่ทักษะทางศตวรรษที่ 21 ที่ยั่งยืนมากขึ้น แต่จะแสดงให้เห็นด้วยว่า มันช่วยนำไปสู่ผลคะแนนสอบที่ดีขึ้นได้จริงๆ

หากโครงการที่ทำอยู่ดำเนินไปจนสำเร็จ เราน่าจะได้เห็นภาพการศึกษาไทยค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งโครงการ PISA for School ที่โรงเรียนก็จะได้ข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับนำไปใช้พัฒนาตัวเอง หรือโครงการ Fundamental School Quality Level (FSQL) ที่อาจจะถึงขั้นช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีจัดสรรงบประมาณใหม่เลยก็ได้ หรือแม้แต่การทำวิจัยเพื่อพิสูจน์ว่าวิธีการสอนแบบ active learning มันมีประสิทธิภาพจริง ๆ ทั้งหมดนี้เป็นงานภาคนโยบายที่พี่ภูมิกำลังรับผิดชอบดูแลอยู่

‍อยากฟังมุมมองของพี่ภูมิว่า ‘ความเป็นผู้นำ’ หรือ ‘Leadership’ ในความคิดของพี่คืออะไร?

โห ตอบสนุกเลยนะคำถามข้อนี้ (หัวเราะ)

สำหรับเรา เราว่าต้องเป็นคนที่พร้อมจะ take ownership ในงานที่ทำ กล้ารับผิดชอบ บริหารจัดการความคลุมเครือได้ พร้อมแก้ปัญหา สามารถ empower และ delegate งานได้ ซึ่งความคิดสร้างสรรค์ก็มีส่วนนะ เอาไว้คิดวิธีจัดการแก้ปัญหา จัดการความคลุมเครือ แต่ใดๆ ก็ตาม เราว่า ทักษะการเป็นผู้นำที่ดีอีกอย่างหนึ่งคือ การทำงานร่วมกับคนอื่นได้ ต้องมีทั้ง empathy และทักษะการสื่อสารที่ดี คือต้องเป็นคนที่สามารถรับข้อมูล ไม่ว่าจะฟังหรืออ่านได้อย่างลึกซึ้ง สามารถประมวลผล สื่อสารออกไปได้อย่างชัดเจน และเลือกวิธีการสื่อสารได้อย่างเหมาะสม

จากประสบการณ์การเป็นคุณครูในโรงเรียน 2 ปี ช่วยพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำเหล่านี้ยังไงบ้าง?

อย่างน้อยเราก็ได้เห็น insight การทำงานในโรงเรียนที่คนอื่นอาจจะไม่มี แต่ถ้าพูดถึงความเป็นผู้นำเลย เราคิดว่าที่ได้เยอะที่สุดในการทำงานที่ Teach For Thailand คือเรื่องของ empathy และ communication มันฝึกให้เราต้องพยายามอ่านว่านักเรียนกำลังคิดอะไรอยู่ เขาต้องการอะไร เราจะจัดการยังไง

ส่วนในเรื่องการสื่อสาร เราก็ต้องมาคิดว่าเราจะสื่อสารกับนักเรียนยังไงให้สามารถพาห้องเรียนไปข้างหน้าได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการทำงานร่วมกับคนอื่น เพราะเราจะต้องมีงานหรือโปรเจกต์ที่ทำร่วมกับคนอื่นเสมอ ทั้งหมดนี้มันก็ช่วยฝึกให้เราสังเกตคนอื่น เพื่อจะได้เข้าใจเขามากขึ้น รู้ว่าเขาต้องการอะไร คิดว่าถ้าสื่อสารแบบนี้ออกไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น 

อีกอันหนึ่งก็คือ ทักษะการแก้ปัญหา เพราะเรามีปัญหาต้องแก้เสมอ และสุดท้ายก็คือการ take ownership เพราะการที่เราอยู่ในสภาพแวดล้อมของการศึกษาไทย ไม่มีใครมากำกับดูแลเราจริงๆ นะ เราเดินเข้าไปในห้องเรียน ก็มีแค่เรากับนักเรียน เพราะฉะนั้นการที่เรา take ownership จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และคนที่สามารถอยู่ใน Teach For Thailand ได้เป็นเวลา 2 ปี มันช่วยฝึกให้เรา take ownership กับงานของตัวเอง ไม่มีใครมาสั่งให้เราต้องทำ 1 2 3 4 เรามีเป้าหมายของเราในภาพใหญ่ แล้วเราก็เดินตามเป้าหมายนั้น ดังนั้นเราคิดว่า ตรงนี้มันก็เป็นสนามฝึกที่สำคัญ

เราต้องคิดขึ้นมาเองว่าเราต้องทำอะไร แล้วก็กำหนด ขั้นตอนการทำงานของตัวเอง แล้วลงมือทำจนสำเร็จ

จากวันแรกของการทำงานใน Teach For Thailand จนถึงวันสุดท้าย ได้พัฒนาอะไรขึ้นบ้าง?

เอาจริงๆ สำหรับเรานะ วันที่เราสอนในโรงเรียนเนี่ย เราไม่ได้เข้าใจเรื่องการ take ownership ขนาดนั้น เราก็ยังตั้งคำถามในหัวอยู่ตลอดถึงการสนับสนุนต่างๆ จากองค์กร แต่สุดท้ายเราก็ได้คำตอบว่า ทั้งหมดนี้มันขึ้นอยู่กับตัวเราทั้งนั้นแหละ ซึ่งมันก็ย้อนกลับไปอย่างที่เราบอกว่า ผู้นำที่ดีคือคนที่สามารถรับผิดชอบในงานที่ตัวเองทำได้ ไม่ต้องมีคนมาสั่งให้ทำอะไร และ Teach For Thailand ก็สอนให้เราสะท้อนคิด (Reflect) กับตัวเองมากพอให้เรารู้ได้ว่าอะไรที่เป็นปัญหา จนในวันนี้เราเข้าใจมัน แล้วเราก็สามารถจัดการมันได้

จำเป็นไหมว่า ผู้นำต้องเห็นศักยภาพของคนอื่นแล้วดึงออกมาใช้ให้ได้?

ไม่จำเป็น 100% ของพวกนี้คนเป็นผู้นำต้องเรียนรู้เรื่อยๆ อยู่แล้ว มันไม่จำเป็นว่ามาถึงแล้วต้องรู้เลยว่าใครเป็นอะไรอย่างไร แต่แน่นอนว่าการที่ผู้นำเห็นศักยภาพของคนแต่ละคน มันก็จะนำไปสู่การใช้คนให้เหมาะกับงานด้วย หรือ Put the right man on the right job นั่นแหละ แต่ถ้าถามว่าเรื่องนี้เป็นแก่นของความเป็นผู้นำเลยไหม? เราว่าก็ยังไม่ใช่เพราะมีผู้นำหลายคนที่อาศัยความรู้เรื่องนี้จากคนอื่นก็ได้เหมือนกัน

แล้วสำหรับพี่ภูมิ ‘หัวใจสำคัญของการเป็นผู้นำที่ดี’ คืออะไร?

สำหรับเรามันคือการที่สามารถ Bring everyone on the same page ได้ คือทำให้คนอื่นเข้าใจตรงกันกับเราว่า วัตถุประสงค์หลักของงานคืออะไร ซึ่งทุกคนไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยหรือเข้าใจตรงกันกับเราทุกอย่าง แต่อย่างน้อยต้องสามารถทำให้เกิดแนวทางปฏิบัติเพื่อให้งานเดินหน้าต่อไปได้ โดยสิ่งนี้มันจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยทักษะความเป็นผู้นำที่ดีตามที่เล่าไปก่อนหน้านี้ ก็คือ การ take ownership กล้ารับผิดชอบ มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถจัดการความคลุมเครือ สามารถแก้ปัญหาได้ มี empathy และมีทักษะการสื่อสารที่ดี

คนที่มีทักษะความเป็นผู้นำที่ดี มีโอกาสได้เปรียบกว่าคนที่ ขาดทักษะด้านนี้ไหม?

ได้เปรียบอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่ตลาดแรงงานต้องการสุดๆ โดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งกำลังขาดคนแบบนี้ ถ้าเราไปลองคุยกับ HR ของบริษัทใหญ่ๆ เขาบอกว่าเวลาคัดเลือกคน ถ้าไม่ได้เป็นสายงานเทคนิคโดยเฉพาะนะ เขาต้องการคนที่ สามารถแก้ปัญหาเองได้ เรียนรู้เองได้ ไม่จำเป็นต้องให้สอนอะไรเยอะ แค่ให้โจทย์ไปกว้างๆ ก็สามารถตีความโจทย์เองได้ เพราะฉะนั้น เขาก็ต้องการคนที่มีทักษะความเป็นผู้นำแบบนี้แหละ นอกจากนี้เราคิดว่า ถ้าทักษะการสื่อสารดี มี empathy ทำให้คนมาทำงานร่วมกับเราเพื่อเป้าหมายเดียวกันได้ มันก็จะนำไปสู่วิธีการแก้ไขปัญหาหรือวิธีการขับเคลื่อนที่ดีขึ้น

ได้นำทักษะความเป็นผู้นำเหล่านี้ ไปใช้ต่อยอดในงานที่ทำ อย่างไรบ้าง?

ทักษะที่ต้องใช้ในการทำงานตอนนี้มันต้องจัดการความคลุมเครือเยอะ ด้วยรูปแบบในการทำงานหรือองค์กรที่จริงๆ ก็เพิ่งตั้งตัวมาได้ไม่นานเท่าไหร่ ระบบมันเลยยังไม่แข็งแรง ดังนั้นก็ต้องเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องจัดการวางระบบให้ทีมด้วย แล้วลองนึกภาพว่านักวิเคราะห์ระดับเริ่มต้น (Entry Level) แบบเรา กับองค์กรที่มีงบประมาณมหาศาล กับคนอีกประมาณ 70 คน แต่ไม่ค่อยมีระบบงานเท่าไหร่ ลองนึกดูว่าต้องใช้ทักษะอะไรบ้าง ในการที่พนักงานอย่างเราสามารถเข้าไปจัดการกับเรื่องนี้ได้ หรือทำงานของเราต่อไปได้

“องค์กรยุคใหม่มันไม่ได้เป็นแบบ Top-down มาบอกว่าเราต้องทำ 1 2 3 4 เขาต้องการแค่ให้โจทย์มากว้างๆ แล้วเราไปจัดการเองได้ เพราะฉะนั้นมันก็ กลับมาตอบคำถามเดิมที่ว่าทักษะความเป็นผู้นำที่สำคัญที่ต้องมีก็คือ การจัดการความคลุมเครือ มีความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา การสื่อสารที่ดี เท่านั้นเอง”