ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 3

Leadership In Teach
For Network –
สัมภาษณ์ครูใหม่ รุ่น 3

ครูเก่ง (อภิชัย แซ่ตั้ง)

By หมิวกัลยรัตน์ อภิวัฒโนดม

อยากให้นักเรียนมีวินัย แล้วตัวเรามีวินัยหรือเปล่า?

เก่ง อภิชัย แซ่ตั้ง – จากครูสอนคณิตศาสตร์สู่เส้นทางการเป็นวิศวกร

เก่ง-อภิชัย แซ่ตั้ง ศิษย์เก่าครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 3 ของ Teach For Thailand ผู้จบคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาโลหการ หลังจากนั้นเขาได้เข้ามาเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ในโครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งพี่เก่งเคยตอบไว้ว่า สาเหตุที่เรียนวิศวะ แล้วมาทำงานเพื่อสังคมนั้น เป็นเพราะ ‘อยากใช้สิ่งที่ตัวเองเรียนมาให้เกิดมิติการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม และถ้ามีวิศวกรในด้านพัฒนาสังคมในสาขาที่ตัวเองสมัครได้ เขาเองก็ตั้งใจที่จะสมัครแน่นอน’

“พอมาเป็นครูแล้วก็พบเลยว่า สิ่งที่คิดไว้มีจริงบ้างไม่จริงบ้าง การเป็นครูไม่ใช่แค่สื่อสารอย่างเดียว แต่ต้องมีทุกทักษะที่จำเป็นในการพัฒนาคน โดยเฉพาะทักษะการเป็นผู้นำที่จำเป็นต่อการพัฒนานักเรียนให้ไปสู่เป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นจิตวิทยา การวางแผนจัดการชั้นเรียน การออกแบบการสอน เป็นต้น” ซึ่งพี่เก่งนำกระบวนการ gamification มาใช้ในการออกแบบการเรียนการสอนด้วย ซึ่งเขาได้เขียนเล่าไว้ในเฟซบุ๊กของตนเองที่นี่ : https://www.facebook.com/khun.keng2/posts/10206932718993697

ถึงแม้ว่าสุดท้าย พี่เก่งจะกลับมาทำงานเป็นวิศวกรตามสายที่ตัวเองเรียนมา แต่ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เขาได้เรียนรู้ตลอดช่วงเวลา 2 ปีของการเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะทักษะการทำงานกับคน และทักษะความเป็นผู้นำ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งไม่ว่าจะไปทำงานในสายงานใดก็ตาม วันนี้เราจึงจะมาอ่านเรื่องราวหลังจบโครงการ 2 ปีของเขาให้มากขึ้น รวมถึงทักษะที่เขาได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้ในงานที่ทำ

ช่วยเล่าไทม์ไลน์การทำงาน หลังจากจบโครงการ 2 ปีไปแล้วจนถึงตอนนี้ให้ฟังหน่อย?

ด้วยความที่เราเรียนจบวิศวกรรมมา หลังจากจบโครงการ เราไปเป็นวิศวกรแบบจริงจังเลยที่บริษัทสัญชาติเยอรมัน ทำเกี่ยวกับผลิตชิ้นส่วนเครื่องบิน งานที่เราทำตอนนั้นคือเป็น Project Engineer ทำอยู่เกือบ 2 ปี แล้วก็ย้ายมาเป็น Project Engineer อยู่ที่อีกบริษัทหนึ่ง 

ขึ้นชื่อว่า Project Engineer น่าจะเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะความเป็นผู้นำและการบริหารจัดการสูงแน่ๆ

ใช่นะ ถ้าจะพูดถึงในมุม leadership ก็เกี่ยวข้องเยอะอยู่

ถ้ามีโปรเจกต์เข้ามา สิ่งที่พี่จะทำมีอะไรบ้าง?

จริงๆ การเป็น Project Engineer มันต้องยุ่งกับคนเยอะมาก สิ่งที่เราต้องเคลียร์อย่างแรกเลยคือ เรื่องตารางเวลาการทำงานต่างๆ ว่าแต่ละงานย่อยๆ จะจบเมื่อไหร่ แล้วมันก็จะมีคำๆ หนึ่งคือ ‘Plan the worst, do the best’ คือแพลนในกรณีที่สิ่งเลวร้ายที่สุดอาจจะเกิดขึ้น มาตรฐานของเราที่ตั้งไว้ เวลาไปนำเสนองานที่ไหนก็ตามแต่ อันนั้นคือ worst case นะ 

ฟังดูคล้ายๆ กับการวางแผนระยะยาวก่อนจะเปิดเทอมเลย

ใช่ๆ มันคือการวางแผนนั่นแหละ เพราะการเป็นผู้นำ มันทำให้เราต้องทำงานกับคนเยอะขึ้น ดังนั้นการมีแผนที่ดีมันจะช่วยป้องกันหรือรักษาอะไรหลายๆ อย่างในองค์กรได้ ทักษะการวางแผน จึงเป็นอย่างหนึ่งที่จำเป็นสำหรับการเป็นผู้นำนะ

งั้นขอถามก่อนเลยว่า สำหรับพี่เก่งแล้ว ‘ความเป็นผู้นำ’ หรือ ‘Leadership’ คืออะไร?

คำแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวพี่เลยคือ ‘เป็นทุกอย่าง’ คือ ‘เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว’ (หัวเราะ)

ขนาดนั้นเลย?

คือถ้าเอาในสายงานพี่นะ การเป็น Project Engineer เราก็จะดูงานเป็น job ไป เราต้องเป็นคนนำทุกอย่าง คำว่านำในที่นี้ไม่ได้หมายถึงไปสั่งนะ แต่นำแบบ ‘ทำอย่างไรให้โปรเจกต์นั้นบรรลุเป้าหมาย’ ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพจริงๆ พี่มองว่า ‘leadership’ เหมือนพ่อแม่ คือต้อง ‘เป็นต้นแบบให้ลูก’ ซึ่งมันก็จะมีทั้ง พ่อแม่ที่ทำให้ลูกลำบาก กับพ่อแม่ที่ผลักดันให้ลูกพัฒนา

พ่อแม่สองแบบนี้ ถ้าเปรียบเป็นหัวหน้าจะเป็นหัวหน้าแบบไหน?

ส่วนใหญ่คนเราเวลาทำงานร่วมกันเนี่ย มันก็จะมีผลทางด้านความรู้สึก อย่างการรู้สึกถึง comfort zone ดังนั้น การเป็นพ่อแม่ที่ทำให้ลูกลำบาก ก็เปรียบเสมือนกับหัวหน้าที่ทำให้ลูกน้องไม่รู้สึกถึง comfort zone เช่น ลูกน้องกลัวว่าหัวหน้าจะลงโทษเวลาต้องตัดสินใจอะไร หรือมีผลกระทบถึงขั้นต้องรับผิดชอบเอง อาจจะโดนเตือนหรือโดนไล่ออก ส่วนหัวหน้าที่ดีก็มีหลายแบบ เช่น ระบุสิ่งที่ลูกน้องต้องทำทุกอย่างไว้ให้ทีมอย่างชัดเจนหมดแล้วว่าต้องทำอะไรบ้าง นอกจากนี้หัวหน้าที่ดีก็มีอีกแบบคือ หัวหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของลูกน้อง 

จากประสบการณ์การเป็นเฟลโล่ว 2 ปี ได้ช่วยพัฒนาทักษะ ความเป็นผู้นำของพี่อย่างไรบ้าง?

จริงๆ ตอนเข้าร่วมโครงการ ช่วงแรกก็จะมีการอบรมหรือ Institute ทำให้เราได้เห็นทฤษฎีที่แตกต่างออกไปจากตอนที่เราเรียนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เนื่องจากเราเรียนวิศวกรรมมา แต่ที่ช่วยพัฒนาเราได้เยอะมากจริงๆ เลยคือตอนเป็นครูในโรงเรียน 2 ปีเนี่ยแหละ ซึ่งทักษะความเป็นผู้นำที่เราต้องมีแน่ๆ ตอนเป็นครูก็จะมีหลายอย่าง เช่น การออกคำสั่งให้ชัดเจน การเป็นแบบอย่างที่ดี (Role Model) การผลักดันให้นักเรียนกล้าที่จะมีส่วนร่วมในห้องเรียน การ Coach แล้วก็การ Facilitate

ยกตัวอย่างตอนเป็น Role Model ในโรงเรียนให้ฟังหน่อย

ตอนเป็นครูเนี่ย มันก็มีสิ่งที่ต้องทำหลายอย่าง อยากให้นักเรียนมีวินัย แล้วตัวเรามีวินัยหรือเปล่า? อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของการเป็น role model ที่ดี แล้วอย่างตอนเป็นครูนะ จะมีคนคอยจับตาดูเราตลอด คนๆ นั้นก็คือนักเรียนนั่นเอง เขาจะชอบทักเวลาเราทำในสิ่งที่บอกไม่ให้เขาทำ (หัวเราะ) เราก็เลยต้องเปลี่ยนนิสัยไปโดยปริยาย เช่น เมื่อก่อนเราอาจจะตื่นสาย แต่พอเราไปสายวันหนึ่งนะ โดนทักแล้วทักอีก ทักเป็นเดือน สุดท้ายเราจะไม่กล้าสายอีกต่อไปเลย (หัวเราะ) แล้วเราก็เลยกลายเป็นคนที่ ถ้าพูดเรื่องเวลากับนักเรียน เราก็ต้องมีวินัยมาก รวมถึงเรื่องการแต่งกายด้วย ก็เหมือนที่วัฒนธรรมไทยมักบอกว่า โรงเรียนก็เหมือนบ้านหลังที่สอง หรือ คุณครูก็เป็นเหมือนพ่อแม่คนที่สอง มันก็ใกล้เคียงกับความเป็นผู้นำที่ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นพ่อแม่

เรื่องนักเรียนทักนี่จริงมากค่ะ (หัวเราะ) แล้วเห็นตอนแรกพี่เก่งบอกว่ามีเรื่องการรักษาผลประโยชน์ด้วย อยากรู้ว่าตอนเป็นครูนี่มีประสบการณ์ที่ได้ฝึกทักษะนี้มั้ยคะ?

นอกจากสอนวิชาการปกติแล้ว เรายังเป็นครูฝ่ายปกครองด้วย ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะเข้ามาหาเราหมดเลย (หัวเราะ) อย่างถ้านักเรียนโดนตำรวจจับ เราก็ต้องไปช่วยประกันตัวเขาออกมา เพราะโทรไปหาผู้ปกครองแล้วไม่มีใครรับ เราก็ต้องช่วยนักเรียนก่อน หรืออย่างเรื่องทะเลาะวิวาท ครูทั้งโรงเรียนก็มองว่าต้องเอานักเรียนคนนี้ออกแน่ๆ แต่เราก็จะถามเขาก่อนว่า เขายังอยากเรียนไหม? ถ้ายังอยากเรียน เราก็หาทางสนับสนุนเขา อาจจะแค่ให้พักการเรียนไปก่อนตามกติกา เพื่อให้เขายังได้รักษาสภาพการเป็นนักเรียนอยู่ เพราะบทบาทที่เราไปตอนนั้นคือเพื่อผลักดันการศึกษาไทยให้เท่าเทียม ดังนั้นถ้านักเรียนหลุดออกจากระบบไปแล้ว มันก็ยากที่เราจะดึงเขากลับมา

ฟังดูแล้ว เหมือนเราก็เป็น comfort zone ให้เขาในระดับหนึ่งเลยนะ

ใช่ๆ มันคือการสร้าง comfort zone แหละ 

อยากถามลึกลงไปอีกนิดหนึ่งว่า พี่สร้าง comfort zone ให้เกิดขึ้นในทีมได้อย่างไร?

Comfort zone สำหรับพี่ มันเกิดจากความเชื่อใจ (trust) เกิดจากความรู้สึกที่ดี ดังนั้นพี่ก็จะมองว่า ทำอย่างไรให้คนในทีมรู้สึกดีกับเรา ทำอย่างไรให้เขารู้ว่าเรารักษาผลประโยชน์ของเขา เช่น พี่ตั้งระยะเวลาการทำงานสำหรับคนๆ หนึ่งไว้ 2 สัปดาห์ แต่พี่รู้อยู่แล้วว่าคนนี้ทำเสร็จช้าแน่ๆ พี่ก็ให้เขาเลือกว่า ‘ระหว่างวันพุธกับวันศุกร์ เขาจะเลือกวันไหน?’ ซึ่งเขาก็จะเลือกวันที่ช้าที่สุดเสมอ เราก็จะเผื่อวันให้เขาไปอีก ดังนั้นงานที่เขาทำก็จะเสร็จทันเวลาของหัวหน้า เขาก็จะไม่โดนตำหนิ แต่จริงๆ คือเราคิดไว้แล้ว มันก็คล้ายๆ เด็กนั่นแหละ ที่เราต้องรู้นิสัยของเขาก่อนเวลาจะให้ทำอะไร ถ้าครูรู้จักเด็กทุกคน มันก็จะทำให้เกิดความเชื่อใจ แล้วก็นำไปสู่ comfort zone

แล้วหลังจากสร้าง comfort zone แล้ว มีการ coach หรือ facilitate ทั้งนักเรียนและทีมอย่างไรบ้าง?

ถ้าเป็นในมุมของการ coach เนี่ย คือเนื่องจากงานที่พี่ทำมันเป็นโปรเจกต์ ดังนั้นการตรงเวลาเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะมันจะส่งผลกระทบต่อเงินที่สูญเสียไป แล้วคำว่าโปรเจกต์เนี่ย มันคือการดึงทุกคนมารวมกันเป็นทีมโปรเจกต์ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์หนึ่ง และปล่อยผลิตภัณฑ์ออกไปให้ตรงเวลา ดังนั้นอะไรที่มันมีปัญหา เราก็ต้องเข้าไปคุยว่า เกิดอะไรขึ้น มีปัญหาอะไร มีไอเดียอะไรไหม? นี่คือกระบวนการ coaching ของพี่นะ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่พี่ทำเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ส่วนการ facilitate อันนี้ก็ต้องทำอยู่แล้ว เช่น ถามว่าใครทำอะไรไปถึงไหน เราก็ต้องช่วยตามเพื่อให้งานมันเสร็จทันเวลา เหมือนตอนช่วยให้นักเรียนทำงานกลุ่มให้เสร็จทันเวลานั่นแหละ

ขอเคล็ดลับหน่อยค่ะ หลักการ coaching ของพี่มีอะไรบ้าง?

หลักง่ายๆ ที่พี่ใช้เลยก็คือ 5W 1H นั่นแหละ ก็คือใคร ต้องทำอะไร ที่ไหน วิธีการคืออะไร กำหนดส่งงานคือเมื่อไหร่? ประมาณนี้ ซึ่งพี่มองว่าอุปนิสัยของคนเรามันเกิดจากการทำอะไรแบบสม่ำเสมอ ในการที่เราจะไป coach คนอื่น กว่าเราจะเปลี่ยนพฤติกรรมเขาได้มันไม่ง่าย เอาง่ายๆ คือให้เขาเริ่มลงมือทำให้ได้ก่อน หลังจากนั้นก็กระตุ้นให้เขาทำต่อไปเรื่อยๆ เราก็เอาทักษะนี้มาใช้กับตัวเองด้วยเช่นกัน

หัวใจสำคัญของการเป็นผู้นำที่ดีสำหรับพี่คืออะไร?

ความสม่ำเสมอ (Consistency) ในสิ่งที่ทำ พี่ให้อันนี้เป็น key หลักเลย เพราะความสม่ำเสมอมันจะเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาให้เกิดนิสัย ซึ่งคนเป็นผู้นำจะต้องมี ขอยกตัวอย่างเรื่องการลดน้ำหนักของพี่เอง มันไม่ใช่ว่า เราวิ่งวันเดียว 10 ชั่วโมงแล้วมันจะจบนะ สิ่งที่เราควรทำจริงๆ คือเราควรจะวิ่งวันละ 20 นาที สัก 1 ปี อะไรประมาณนี้นะ อีกอย่างต้องสร้าง comfort zone ที่ดีให้กับทีมได้ ถ้าคุณสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ทีมไม่ได้ คุณจะไม่เป็นผู้นำที่ดีเลย