ความพยายาม
ในการเข้าถึงนักเรียน
ที่นำไปสู่ความสัมฤทธิ์ผล
ในการสอนออนไลน์

ครูอาลียา (นูรอาลียา บินเจ๊ะมะ)

อย่ายอมแพ้ในตัวผู้เรียน

ประโยคเตือนใจที่ได้รับตั้งแต่เริ่มก้าวเข้าสู่สถานะการเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงของทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ที่ “ครูอาลียา -นูรอาลียา บินเจ๊ะมะ” ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่น 7 ยึดเป็นหลักสำคัญในการทำงาน นับเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยให้เธอฝ่าฟันอุปสรรคจากการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นปัญหาของทั้งครูและนักเรียนส่วนใหญ่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงหนักหน่วงอยู่ในขณะนี้

“ตั้งแต่เริ่มเข้าเทอม 2 มา เรียกได้ว่าการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์เต็มรูปแบบ 100% และยังไม่มีกำหนดว่าจะได้กลับมาเรียนที่โรงเรียนกันอีกเมื่อไหร่ ที่ โรงเรียนเกาะจันทร์พิทยาคาร จังหวัดชลบุรี ที่เราได้รับมอบหมายให้เป็นครูประจำอยู่จะใช้วิธีการสอนออนไลน์ผ่าน Google Meet และเสริมด้วยโปรแกรม Windows Odyssey ซึ่งต้องยอมรับว่าการสอนออนไลน์โดยรวมแล้วค่อนข้างเหนื่อยเพราะเราไม่สามารถจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนของเราได้เต็มที่ เด็กนักเรียนไม่สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนออนไลน์ได้ 100% แม้ว่าในช่วงสัปดาห์แรกของการเปิดเรียนจะดูเหมือนว่าได้รับผลตอบรับที่ดี มีนักเรียนเข้าเรียนประมาณ 70-80% แต่เมื่อผ่านไปประมาณ 2-3 สัปดาห์ จำนวนนักเรียนที่เข้าเรียนก็ลดลงจนน่าตกใจ”

ครูอาลียาเริ่มต้นเรื่องราวของบทเรียนออนไลน์ที่ดูเหมือนว่าหนทางจะไม่ค่อยราบรื่นเท่าไรนัก เพราะทั้งตัวเธอรวมถึงครูส่วนใหญ่ในโรงเรียนไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าแต่ละคาบวิชาจะมีนักเรียนเข้าเรียนและเข้าถึงการเรียนการสอนมากน้อยเพียงใด

“ปัญหาหลักคือ การเข้าถึง แม้โรงเรียนจะมีการจัดเก็บข้อมูลโดยการให้ครูที่ปรึกษาประจำชั้นสอบถามและรวบรวมข้อมูลว่า แต่ละห้องมีนักเรียนสามารถเข้าเรียนได้จำนวนเท่าไหร่ แต่เมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริงๆ เราไม่สามารถยึดถือตามข้อมูลเหล่านั้นได้ บางคนที่แจ้งว่าสามารถเรียนได้ ก็ไม่ได้เข้าเรียน บางคนเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย บางคนไม่สามารถตามส่งงานได้ บางคนพ่อแม่ไม่มีเงินเติมอินเตอร์เน็ตให้ลูกเรียน หรือบางคนเข้าเรียนได้แต่ลืมส่งงาน เด็กแต่ละคนก็มีปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่างกันไป”

เสียงเล่าของครูอาลียาที่กล่าวถึงอุปสรรคและปัญหาที่พบระหว่างการเรียนการสอนออนไลน์ ซึ่งแม้จะสร้างความเครียดและความกังวลใจให้เธอบ้าง แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาไม่ว่าจะรูปแบบใดให้สัมฤทธิ์ผลตามภารกิจของการเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง ปัญหาต่างๆ จึงค่อยๆ คลี่คลาย

“การที่จะทำให้นักเรียนกลับมาเข้าถึงระบบการเรียนการสอนให้มากที่สุดคือ การติดตามพูดคุยกับนักเรียน เมื่อพบว่าปัญหาการไม่เข้าเรียน หรือ การไม่ส่งงานของเขาคืออะไร เราก็ช่วยเขาหาทางออก อย่างนักเรียนชั้น ม. ต้น ยังใช้วิธีการคุยแบบเป็นกลุ่ม แต่นักเรียนชั้น ม. 4 จะขอคุยตัวต่อตัวทีละคนเลย คนที่ต้องช่วยครอบครัวทำงาน ก็คุยกับเขาว่า ว่างเวลาไหน สามารถตามงานทำงานส่งได้หรือไม่ ถ้าบ้านไหนไม่สะดวกเรียนออนไลน์ก็ใช้วิธีปริ๊นท์งานแล้วเอาไปให้ที่บ้าน ทุกอย่างต้องยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ เวลาเขาเข้าเรียนก็พยายามพูดสร้างพลังใจให้เขาไม่ท้อ”

แม้ยังพบว่ามีนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการเรียนการสอน โดยที่ไม่เคยเข้าเรียนหรือไม่สามารถติดต่อได้อยู่บ้าง แต่ครูอาลียาเล่าว่า ผลจากความมุ่งมั่นพยายามเข้าหา ทำให้นักเรียนเข้าถึงการเรียนการสอนของเธอให้ได้มากที่สุด นับว่าเป็นที่น่าพอใจ

“การต้องคอยเฝ้าติดตามนักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนชั้น ม. 4 ที่เราติดตามเป็นรายคนต้องใช้พลังสูงมาก ทุกวันพอสอนเสร็จก็ต้องคอยนัดนักเรียนคุย ผลที่ได้กลับมาแม้จะไม่สำเร็จ 100% แต่นักเรียนสามารถกลับเข้าระบบการเรียนการสอนได้มากขึ้น รับผิดชอบส่งงานดีขึ้น เราก็หวังว่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้าสำเร็จตามเป้าได้จริง อย่างน้อยก็จะได้เป็นตัวอย่างให้ครูท่านอื่นในโรงเรียนเห็น และอาจช่วยสร้างพลังให้เขาได้บ้าง ซึ่งถ้าทำได้ดี ครูทุกคนก็มีพลังใจพร้อมที่จะคอยติดตามนักเรียนมากขึ้น ปัญหาต่างๆ ก็จะหมดไปอย่างยั่งยืน”

ครูอาลียาฝากประโยคสั้นๆ ทิ้งท้ายให้คนเป็นครูทุกคนถึงเคล็ดลับการเรียนการสอนออนไลน์ให้สัมฤทธิ์ผลว่า

เราอาจจะรู้สึกเหนื่อยแต่อยากบอกครูทุกคนว่า
อย่ายอมแพ้!